Home>>รีวิว>>Mac mini 1st Time – ใช้ Mac mini เป็นครั้งแรก แถมยังใช้รุ่นชิป M1 อีก ความรู้สึกแรกเป็นแบบนี้นี่เอง
ภาพด้านบนของ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 จากด้านบน ซึ่งวางอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่
รีวิว

Mac mini 1st Time – ใช้ Mac mini เป็นครั้งแรก แถมยังใช้รุ่นชิป M1 อีก ความรู้สึกแรกเป็นแบบนี้นี่เอง

แม้ผมจะเป็นสาย Windows มาเกือบ 30 ปี แต่ผมก็ไม่ใช่มือใหม่ในสาย macOS นะ ผมใช้ MacBook มาตั้งกะปี 2011 หรือเมื่อสิบปีที่แล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมก็เกิดรู้สึกว่า macOS และแอปต่างๆ มันพัฒนาไปมากพอที่จะเอามาใช้เป็นคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานในออฟฟิศได้แล้ว โปรแกรมที่ผมใช้ส่วนใหญ่ในการทำงาน ก็มีเวอร์ชันสำหรับ macOS กันหมด ประกอบกับความเห่อ อยากลองใช้ชิป Apple M1 กะเขาบ้าง แถมเพื่อนๆ บล็อกเกอร์หลายคนก็บอกว่า Mac mini สิคุ้ม ถ้าเรามีจอ คีย์บอร์ด และเมาส์อยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจจัด Mac mini มาซะเลยครับ และได้ลองเล่น ได้เอามาทำงานวันเศษๆ แล้ว ก็พอจะสามารถเอามาเล่าได้แล้วว่า ความรู้สึกประทับใจครั้งแรกมันเป็นแบบนี้นี่เอง

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

Mac mini ตัวนี้ ผมควักกระเป๋าซื้อเอง ใช้เองครับ ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากใคร (แต่ถ้าใครอยากจะเอื้อเฟื้อกับผม ผมยินดีมาก 555) และแม้ว่าผมจะได้เล่นในระยะเวลาสั้นๆ แต่เนื่องจากผมก็ไม่ใช่มือใหม่ในวงการ macOS และผมก็มีประสบการณ์ในการรีวิวคอมพิวเตอร์ทั้งโน้ตบุ๊กและ All-in-One และมีประสบการณ์ในการใช้งานคอมพิวเตอร์มาเกือบสามสิบปี ผมก็คิดว่าผมน่าจะเล่าประสบการณ์แรกใช้มันได้ แม้จะใช้งานไปแค่วันเศษๆ แหละ

หน้าตาของ Mac mini รุ่นที่ใช้ชิป Apple M1 นี่ก็ไม่ได้แตกต่างจาก Mac mini รุ่นใช้ชิป Intel ซักเท่าไหร่นะครับ แต่ถ้าเทียบกะรุ่นล่าสุดด้วยกัน Mac mini ชิป Intel เขาจะใช้สีเทาสเปซเกรย์ครับ แต่ ชิป Apple M1 จะเป็นสีเงิน

รุ่นมันเขียนว่าเป็นมินิ แต่ในความเป็นจริง มันไม่มินิเลยนะครับ ขนาดใหญ่เอาเรื่อง เมื่อเทียบกับพวก Windows PC อย่างพวก Intel NUC ที่แม้จะหนากว่า (เป็น PC ที่ผมใช้อยู่ที่ออฟฟิศในตอนนี้ และกำลังจะเอา Mac mini ตัวนี้ไปแทนที่) แต่ขนาดเล็กกว่ามากๆ หรือ Chuwi LarkBox ที่ขนาดโคตรเล็กมาก

ภาพด้านบนของเครื่อง Mac mini รุ่นใช้ชิป Apple M1 ตัวเครื่องเป้นสีเงิน มีโลโก้ Apple สีดำ เป็นมันวาว อยู่ตรงกลาง

ด้านหลังของ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 ก็จะคล้ายๆ กับรุ่นชิป Intel แต่ความแตกต่างที่เห็นชัดคือจำนวนพอร์ตครับ ชิป Intel เขาจะมีพอร์ต Thunderbolt 3/USB-C (USB 3.2 Gen 2) มาให้ 4 พอร์ต แต่รุ่นชิป Apple M1 เขาจะให้พอร์ต Thunderbolt/USB 4 มาสองพอร์ต (รองรับ USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps ด้วย)

แต่ที่เหลือ ก็จะมีปุ่ม Power, ช่องเสียบสายไฟ AC, พอร์ต Gigabit LAN, HDMI 2.0 และพอร์ต USB-A 2 พอร์ต ซึ่งสองพอร์ตนี้จะรองรับ USB 3.2 Gen 1 (แบนด์วิธ 5Gbps) และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. กับช่องระบายความร้อน (ด้านในมีพัดลม) อยู่

ด้านหลังของ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 เป็นแถบพลาสติกสีดำ ที่มีพวกพอร์ตต่างๆ อยู่

ใครที่มีอุปกรณ์พะรุงพะรัง บอกเลยจะรำคาญกับจำนวนพอร์ตที่น้อยนิดนี้มาก บางคนจะรู้สึกว่า พอร์ต USB-A 2 พอร์ตนั่นเอาไปเสียบคีย์บอร์ดกับเมาส์สองอันก็จบแล้ว แต่จริงๆ ผมก็อยากจะบอกว่าหา USB 2.0 Hub มาเสียบจะช่วยประหยัดพอร์ตได้ดีกว่า เพราะแบนด์วิธระดับ 5Gbps มันเวอร์วังไปสำหรับจะเอาไปใช้กับคีย์บอร์ดและเมาส์แบบพอร์ตละชิ้นนะ ส่วน Apple อะ อยากให้เราไปใช้ Magic Keyboard (สีเงิน 4,290 บาท สีเทาสเปซเกรย์ 4,790 บาท) กับ Magic TrackPad 2 (สีเงิน 4,290 บาท สีเทาสเปซเกรย์ 4,790 บาท) หรือ Magic Mouse 2 (สีเงิน 2,290 บาท สีเทาสเปซเกรย์ 3,290 บาท) มากกว่า เพราะมันเชื่อมต่อผ่านบลูทูธไง ไม่เปลืองพอร์ต แต่ก็นะ โคตรแพงอ่ะครับ

และแน่นอนว่า ใครอยากได้พอร์ตเพิ่ม ไปหา USB-C adapter มาเสียบได้ครับ (Cheotech หรือ UGREEN ก็มีให้เลือก ประหยัดกว่าซื้อของ Apple) ซึ่งเจ้านี่รองรับการต่อออกจอสูงสุด สองจอพร้อมกัน โดยผ่าน HDMI 2.0 ได้ความละเอียดสูงสุด 4K ที่ 60Hz แต่ถ้าต่อผ่านพอร์ต Thunderbolt 4 นี่ก็จะได้ความละเอียดสูงสุด 6K ที่ 60Hz ที่ต้องหาให้ได้คือ จอที่ประสิทธิภาพดีขนาดนี้ตะหาก 555 และบอกตรงๆ นะ คนที่ซื้อแค่ Mac mini รุ่นชิป Apple M1 ตัวถูกสุด 22,900 บาทแบบผม กะเอาไปใช้กับจอ LG 29″ Ultrawide 2,560 × 1,080 พิกเซล ฮะ (และ ณ ตอนที่รีวิวอยู่บ้านนี่ ใช้แค่จอ 15.6″ FHD ยี่ห้อ Hali ที่เป็น OEM จีนด้วยซ้ำ)

ภาพถ่ายด้านมุมของ Magic TrackPad 2

จริงๆ ผมมีเมาส์ใช้นะ แต่ผมตัดสินใจกัดฟันซื้อ Magic TrackPad 2 มาครับ เพราะว่าต้องยอมรับว่า Gesture ของ Apple มันช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ค่อนข้างดีมากทีเดียว ในระยะยาวถือว่าใช้แล้วคุ้มก็แล้วกัน ตัว Magic TrackPad 2 นี่ดีไซน์เรียบง่ายมาก คือ สวยน่าทะนุถนอมจนเกินไป ด้านล่างนี่เป็นดีไซน์ผิวกระจก มีโลโก้ Apple สีขาวอยู่ตรงกลาง ด้านบนเป็นผิวกระจกด้าน ขนาดใหญ่มาก เรียกว่ามีพื้นที่ให้ลากนิ้วพอสมควรเลย

รอบๆ ตัว Magic TrackPad 2 มีแค่สวิตช์สำหรับเปิดปิด และพอร์ต Lightning สำหรับชาร์จแบตเตอรี่เท่านั้นเอง ระหว่างชาร์จแบตเตอรี่อยู่ก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง การเชื่อมต่อกับเครื่อง Mac mini นี่เป็นแบบไร้สาย ใช้บลูทูธ และเริ่มใช้งานง่ายมาก ตามสไตล์ Apple คือ ตอนผมเอามาถึงบ้าน กำลังคิดเลยว่า เพิ่งเปิดเครื่อง Mac mini ขึ้นมา อาจต้องหาเมาส์มาเสียบไหม เพราะต้องไปตั้งค่าเชื่อมต่อของ Magic TrackPad 2 แต่ไม่ใช่เลยครับ เราแค่เปิดสวิตช์แล้วเดี๋ยว Mac mini เราก็จะตรวจเจอเองเลย ง่ายดี

ภาพด้านบนของ Magic TrackPad 2 สีเงิน

ส่วนคีย์บอร์ด ถ้าไม่ซีเรียกเรื่องดีไซน์ที่ต้องเข้ากันได้กับตัวเครื่องและ Magic TrackPad 2 ละก็ ใช้พวกคีย์บอร์ดที่เราคุ้นเคยกันได้สบายๆ ครับ นี่อยู่บ้านผมก็ไปคุ้ยๆ เอาคีย์บอร์ดไม้ไผ่ที่ผมเคยซื้อเอาไว้มาใช้ มันใช้ด้วยกันได้ไม่มีปัญหา แค่ตอนตั้งค่า macOS มันอาจจะไม่รู้จักคีย์บอร์ด มันก็จะให้เรากดปุ่มข้างๆ ปุ่ม Shift ข้างซ้ายและขวา เพื่อจะได้สรุปว่าคีย์บอร์ดเป็นมาตรฐานไหน จากนั้นก็พร้อมใช้

ภาพระยะใกล้ของคีย์บอร์ดไม้ไผ่ ที่แสดงให้เห็นปุ่ม Ctrl, Windows key, Alt, Shift และปุ่มอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

มันจะงงๆ หน่อยเวลาที่เราจะกดปุ่มแหละ ถ้าเรารู้ว่าปุ่มอะไรของ Windows มันหมายถึงปุ่มอะไรบน macOS ให้คิดแบบนี้ครับ

WindowsmacOS
CtrlCtrl
Windows keyCommand
AltOption

ใครที่คุ้นเคยกับการใช้ macOS แล้วชินกับการกด Command + Space เพื่อเปลี่ยนภาษา ต้องไปเซ็ตใน System Preferences เพื่อเปลี่ยนมาเป็น Option + Space แทนครับ เพราะคีย์บอร์ดสำหรับ Windows PC ปุ่ม Alt มันจะอยู่ข้างๆ Spacebar ครับ และเวลาที่กดแคปหน้าจอทำ Screenshot หรือเรียก Spotlight ขึ้นมา จะงงๆ หน่อย เพราะปุ่ม Windows key คือ Command ครับ แต่ไม่ได้งงมาก และใช้ๆ ไป เดี๋ยวก็คุ้น

ปุ่ม Home กับปุ่ม End ของ Windows ก็ใช้บน macOS ไม่ได้ เพราะเขาใช้ Command + ลูกศรขึ้น แทน Home และ Command + ลูกศรลง แทน End นี่คืออะไรที่คนที่ชินกับคีย์บอร์ดของ Windows จะงง ว่าเอ๊ะ ทำไมอยู่ๆ ปุ่มมันใช้ไม่ได้(วะ) ส่วนใครที่ใช้คีย์บอร์ดของ Apple เลยจะงง ว่าปุ่มมันหายไปไหน(วะ)

หน้าจอโปรแกรม Blackmagicdesign Disk Speed Test แสดงผลการทดสอบความเร็วของ SSD ของ Mac mini ชิป Apple M1

ตัว SSD ที่มาพร้อมกับ Mac mini ชิป Apple M1 ประสิทธิภาพดี แต่ไม่สุด ความเร็วในการอ่านและเขียน อยู่ที่ระดับ 2.5-2.7GB/s เท่านั้นเอง (แรงสุดตอนนี้ที่ผมใช้คือ 3.5GB/s) แถมมันถอดเปลี่ยนไม่ได้นะครับ แต่ในความเห็นของผม ผมว่าไม่จำเป็นต้องไปจ่ายแพงอีก 7,000 บาทเพื่อเอารุ่นที่ความจุ 256GB เลย กรณีของผม ผมไปหากล่องใส่ SSD แบบ NVMe ที่รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Thunderbolt 3 มาใช้ แล้วเอามาใช้เป็นที่เก็บข้อมูลแทนดีกว่า

ด้านประสิทธิภาพเป็นยังไงบ้าง? ตอบยากครับ ผมไม่ได้มีโปรแกรม Benchmark สำหรับทดสอบอะไร และผมก็ไม่ได้ใช้งานโปรแกรมอะไรโหดมากๆ เลยตอบยากอยู่ครับว่าประสิทธิภาพดีมากน้อยแค่ไหน แต่จากที่ผมได้ลองฟังๆ คนที่เขาได้ใช้มา แล้วเขาใช้งานโหดจริง รวมถึงไปดูคลิปที่เขารีวิวการตัดต่อวิดีโอแบบโหดๆ มา เช่น คลิปด้านล่างนี่ ก็ต้องบอกเลยว่า สำหรับการใช้งานทั่วไป ยันไปถึงการตัดต่อวิดีโอประมาณนึง ชิป Apple M1 นี่น่าจะเหลือเฟืออยู่ครับ (ในวิดีโอด้านล่างนี่ เขาตัดต่อวิดีโอระดับ 8K, 12K เลย แต่ต้องอยู่บน Timeline ความละเอียดซัก 4K ที่อาจต้องลดความละเอียดในการแสดงผลลงบ้าง)

ข่าวดีคือ โปรแกรมที่คนนิยมใช้บน macOS เช่น Final Cut, Adobe Photoshop, Davinci Resolve อะไรพวกเนี้ย เขาออกแบบมาสำหรับชิป Apple M1 กันแล้ว (หรือก็ใกล้จะมีตัวรองรับออกมาแล้ว) ฉะนั้น โดยส่วนใหญ่ การซื้อมาใช้คือคุ้มครับ นี่ผมก็จัด Affinity Photo, Google Chrome, Microsoft 365 ที่เขาว่าออกแบบมารองรับ Apple M1 แล้ว กับรออัปเดต Davinci Resolve เวอร์ชัน 17.1 ที่จะรองรับ Apple M1 ด้วย

ส่วนหนึ่งของแอป iStat Menu ที่แสดงข้อมูลหน่วยความจำของเครื่อง Mac mini ชิป Apple M1 แสดงให้เห็นว่ามีหน่วยความจำเหลืออยู่ 3.98GB

ผมตั้งข้อสังเกตแบบนี้นะ แอปที่ทำออกมารองรับ Apple M1 นี่ทำงานได้รวดเร็ว มีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีมากทีเดียว ผมเปิด Safari ไปราวๆ 18 แท็บ ใช้ LINE อยู่ มีเปิด Davinci Resolve กับ Microsoft 365 ได้แก่ Outlook, Excel และ PowerPoint พร้อมกัน แรมมันก็ยังเหลือๆ แถวๆ 2.5GB อยู่ครับ คือจริงๆ แล้ว โปรแกรมแต่ละตัวกินแรมโหดมากเลยนะ แต่เหมือนกับว่า พอเราไม่ได้เปิดโปรแกรมนั้นเป็น Active window แล้วมันไม่ได้ทำงานอะไรอยู่เบื้องหลัง macOS มันมีการดึงเอาหน่วยความจำที่ไม่ได้ใช้กลับมาอะ

แต่ใครที่คาดหวังว่าแบบ กดเปิดแอปแล้วมันจะปุบปับเด้งขึ้นมาเลย อันนี้ไม่ใช่นะครับ มันอยู่ที่ว่าคุณเปิดแอปอะไรอะ แต่จากที่ผมลองเปิดมาหลายแอป ส่วนใหญ่เวลากดเปิดแล้ว ไอคอนแอปบน Dock มันจะเด้งดึ๋งๆ อยู่ประมาณ 1-7 ที แอปก็จะเปิดมาพร้อมใช้งานแล้ว ถือว่าทันใจอยู่ แต่ Safari ทำงานไวกว่า Google Chrome เยอะมาก จนผมแทบอยากจะเอา Safari เป็น Default browser ชิบเป๋ง แต่ติดตรงที่ผมผูกติดกับบัญชี Google เยอะอยู่

หน้าจอโปรแกรม Activity Monitor ของ macOS ที่แสดงรายชื่อแอปต่างๆ พร้อมอัตราการใช้พลังงานในรอบ 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี Mac mini ชิป Apple M1 ไม่สามารถแสดงศักยภาพของชิปนี้ได้ทั้งหมดหรอกครับ เพราะว่ามันต้องเสียบปลั๊กตลอดเวลา จริงอยู่ มันประหยัดไฟ มันทำงานเงียบเชียบมาก และขนาดเอามาตัดต่อวิดีโอหรือตกแต่งภาพเยอะแยะ ใช้งานโคตรหนัก มันก็ไม่ได้ร้อนอะไรมากมายเลย ขนาดตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม เอามือไปแตะยังไม่รู้สึกถึงความร้อนอะไรมากมาย แต่ถ้าเราได้ใช้ MacBook Air หรือ MacBook Pro ที่ใช้ชิป Apple M1 เราจะตระหนักถึงความสุดยอดของมันจริงๆ เพราะแบตเตอรี่จะอึดมาก แล้วด้วยความที่ macOS มีชื่อเรื่องที่ว่าไม่ต้องปิดเครื่อง แค่พับจอเก็บก็โอเคแล้ว ทำให้มันพร้อมใช้งานได้เสมอ นี่มันดีจริงๆ แต่สำหรับ Mac Mini แล้ว มันก็ยังต้องสั่ง Shutdown เครื่องจ้า เพราะคงไม่ดีแน่ที่จะเสียบปลั๊กค้างไว้แล้วเปิดมันเอาไว้ตลอด

ถามว่าความจุ 256GB พอใช้งานไหม? เป็นคำถามที่ดีมาก อย่างที่ผมบอกนะ มันอัปเกรด SSD ของตัวเครื่องเองไม่ได้ ถ้าจะเพิ่มความจุ ก็คือซื้อ SSD มาต่อผ่าน Thunderbolt แล้วใช้มันเป็น External SSD เพื่อเก็บพวกไฟล์งานแทน แบบนี้โอเค แต่มันจะพอสำหรับคุณไหม ต้องดูว่าคุณจะเก็บอะไรไว้กับตัวเครื่องบ้าง บอกก่อนเลยว่าเดี๋ยวนี้พวกโปรแกรมต่างๆ ขนาดไฟล์ไม่ใช่ย่อยๆ แล้ว โปรแกรมหลายๆ ตัว ขนาดไฟล์ 1-2GB กันเลยทีเดียว มีซัก 10 โปรแกรม ก็กินเนื้อที่ไปแล้วเกือบๆ 20GB ครับ ก็ลองดูละกันว่ามีอะไรที่ Apple เขายัดเยียดมาให้ใช้ แล้วคุณจะไม่เอาบ้างก็ลบออกไปซะ (เช่น Keynote, Pages, Numbers, iMovie, GarageBand อะไรพวกเนี้ย ถ้าไม่ใช้ เอามันออกไป ก็ได้เนื้อที่คืนมาเกือบ 5-6GB แล้ว) แต่จากที่ผมลองใช้ดู ในสไตล์ของผม ผมว่าเนื้อที่บนเครื่องน่าจะเหลืออยู่ซัก 80GB ล่ะ ถ้าเอา OneDrive มาเก็บไว้บนเครื่อง แต่เดี๋ยวพอผมเอาไปออฟฟิศ ผมก็คิดว่าจะเอามันไปเก็บไว้บน External HDD แทน

ณ ตอนนี้ ผมว่าถ้าใครอยากซื้อ Mac mini ชิป Apple M1 เพื่อเอามาทำงานด้านตัดต่อวิดีโอหรือตกแต่งกราฟิกแบบมือสมัครเล่นไปจนถึงทำมาหากินได้ประมาณนึง ด้วยโปรแกรมจำพวก Adobe Photoshop, Adobe Illustrator, Adobe Premier, Affinity Photo, Affinity Designer, Davinci Resolve, Final Cut Pro อะไรพวกเนี้ย ผมว่ามันคือคอมพิวเตอร์ที่คุ้มค่านะ ราคาเครื่องไม่แพงมาก แต่ประสิทธิภาพถือว่าดีพอสำหรับการใช้งานได้สบายๆ เผลอๆ ค่าจอดีๆ ที่จะเอามาใช้คู่กัน ยังจะแพงกว่าค่าเครื่องเลยด้วยมั้ง (Magic Keyboard กับ Magic TrackPad 2 สองตัวนี้ราคาก็เกือบจะ 40% ของราคาเครื่องแล้ว ให้ตายสิ) แต่ถ้าต้องการแบบ ครบจบในตัวเดียว แต่ไม่ซีเรียสเรื่องจอใหญ่ หรืออยากได้เพิ่มเรื่อง Mobility เอาไปใช้งานในร้านกาแฟด้วย อะไรแบบนี้ ผมว่า MacBook Air หรือ MacBook Pro ชิป Apple M1 อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าอยู่ดีนะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า