หลังจากที่เขียนถึง Clubhouse ไปเมื่อวันก่อน นั่นคือได้ลองวันแรก แต่ตอนนี้เล่นมาสัปดาห์เศษแล้ว ได้ลองทั้งไปฟัง ไปเป็นผู้พูด (Speaker) เป็นผู้คุมห้อง (Moderator) และเปิดห้องเอง เป็นทุกอย่างมาหมดแล้ว เลยคิดว่าน่าจะพอแชร์มุมมองของตัวเองได้บ้างล่ะ ว่ามองๆ แล้ว Clubhouse น่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง?
จุดเด่นของ Clubhouse ที่มีเหนือกว่าแพลตฟอร์ม Social media อื่นๆ ตรงที่มันมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยเสียง ซึ่งทำให้เหมือนโดนบังคับกลายๆ ว่าต้องเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ เท่านั้น ถึงจะพูดคุยกับคนอื่นได้ และน่าจะเป็นตัวจริงด้วย เพราะคงไม่สามารถให้ทีมงานมาพูดแทนได้แน่ และอีกเรื่องนึงคือ คนที่มาใช้ Clubhouse ส่วนใหญ่ มักจะเป็นพวก Early adopter ซึ่งจำนวนไม่น้อย เป็นพวกหัวกะทิในแต่ละวงการ โดยเฉพาะวงการเทคโนโลยี และ การตลาด แล้วพวกนี้เขาก็อยากลองของ และมาแชร์ประสบการณ์และความเห็นเยอะมาก กลายเป็นโอกาสที่ดีในการไปฟังพวกเขาเลยทีเดียว
Drop-in audio chat – สภากาแฟออนไลน์
อย่างแรกที่ผมคิดว่า Clubhouse เหมาะมาก ก็น่าจะเป็นสไตล์สภากาแฟออนไลน์ครับ มาตั้งห้องขึ้นมาชวนคุยในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนที่สนใจในหัวข้อไหนก็ไปเข้าห้องเข้ากลุ่มในหัวข้อนั้น เป็นแนวทางต้นตำรับจากทีมผู้พัฒนาเลยครับ ที่เขาเรียกว่าแพลตฟอร์มนี้เป็น Drop-in audio chat
และในจังหวะนี้ ก็อาจจะได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ติดตามกันภายในแพลตฟอร์ม ตลอดไปจนถึงบนแพลตฟอร์มอื่นๆ (ซึ่งตอนนี้ลิงก์ได้แค่ Twitter และ Instagram) กลายเป็นการสร้างเน็ตเวิร์กแบบย่อยๆ ไป
จัดรายการแบบ Interactive Podcast แบบสด แล้วค่อยไปปล่อยไฟล์บันทึกเสียงบนแพลตฟอร์ม Podcast จริงๆ อีกที
ผมนึกถึงรายการไอทีออนไลน์อย่าง TWiT (This Week in Tech) หรือ Tech Guy ของ Leo Laporte ที่เขาจัดรายการในสไตล์ Podcast และ Videocast ซึ่งในระหว่างรายการ ก็จะมีการให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้มาร่วมแชร์ความรู้ให้ผู้ฟัง และผู้ฟังก็สามารถโทรเข้ามาสอบถามความรู้จากทั้งตัว Leo Laporte เอง หรือผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมรายการได้ด้วย

แต่อะไรแบบนี้ ที่ต้องมีอุปกรณ์เยอะแยะไปหมด มันสามารถจบได้ด้วยแพลตฟอร์มเดียวเลย คือ Clubhouse โดยไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าสมาร์ทโฟน และหูฟังดีๆ ซักชุด จะมีสายหรือไร้สายก็ตามแต่ เพียงแต่ในช่วงเริ่มต้นแบบนี้ มันยังมีข้อจำกัดตรงที่แม้ว่าจะมีผู้คุมห้อง (Moderator) คอยเลือกคนมาเป็นผู้พูด (Speaker) และปลดเขาออกจากการเป็นผู้พูดได้ แต่ปัญหาคือ มันยังไม่สามารถทำการสกรีนคนได้ครับ ดังนั้นมันยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดคนที่เราเชิญขึ้นมาพูด เกิดเกรียน พูดจาหยาบคาย มันก็ไม่สามารถปิดกั้นได้ทันฮะ ก็ไม่รู้ว่าในอนาคต Clubhouse จะมีการอุดช่องโหว่ตรงนี้ไหม แต่ตอนนี้น่าจะยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะเท่าที่ดู ปัญหาที่เจอจะเป็นเรื่องการแย่งกันพูดซะมากกว่าการพูดหยาบคาย หรือ ก่อกวนในห้อง
จัดเสวนาแบบ Exclusive
แน่นอนว่าเราก็สามารถจัดงานเสวนาแบบสุด Exclusive ได้อีกเช่นกัน แต่ยังมีข้อจำกัดว่าเราต้องติดตามกันและกันอยู่ ถึงจะชวนคนมาเข้าร่วมห้องได้ สามารถตั้งค่าเพื่อไม่ให้คนที่เราไม่ได้เชิญมาร่วมก็ได้ เป็นการจัดเสวนาแบบ Exclusive เลย แต่อันนี้ ถ้าในอนาคต Clubhouse เขาเปิดฟีเจอร์ให้เอื้อต่อการทำอะไรแบบนี้ โดยไม่ต้องไปติดตามกันและกัน ก็จะทำให้สามารถสร้างรายได้ได้ด้วย แล้วทีม Clubhouse เองก็อาจจะสามารถทำรายได้จากทางได้ผ่านหลายๆ อย่าง เช่น Revenue sharing และอื่นๆ
โอกาสในการโชว์ของดีของเรา และขยายเน็ตเวิร์กของเราด้วย
อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าช่วงแรกเริ่มที่ Clubhouse เข้ามาสู่ประเทศไทย คนที่เข้ามาเล่นที่โปรไฟล์หรูๆ ทั้งนั้น คนนั้นเป็น CEO ที่นั่น คนนี้เป็น Founder ที่นี่ คนนู้นเป็น Specialist ด้านนู้น นอกจากมันจะเป็นโอกาสในการโชว์ของดีให้คนระดับ High profile ได้ฟังกัน และเป็นโอกาสในการสร้างเน็ตเวิร์กชั้นดีเลยครับ
ตอนอยู่ในห้องที่มีแต่สายการตลาด เผอิญว่ามีคนมาเห็นว่าผมดันมีคนติดตามอยู่ประมาณ 1.2K ก็เลยมาถามผมว่าแล้วทำยังไง ถึงจะสร้างยอดผู้ติดตามได้เยอะ คำตอบของผมก็ง่ายๆ เลยครับ ถ้าเราถนัดเรื่องไหน เราก็ไปเข้าห้องที่พูดคุยเรื่องนั้น และหาโอกาสยกมือ ขอแชร์ความเห็น เล่าประสบการณ์ด้วย ถ้าหาห้องเข้าไปแจมไม่ได้ ก็สร้างห้องมาเล่ากันเองเลยครับ Clubhouse ช่วงนี้มันคือการนำเสนอคอนเทนต์ที่แท้ทรู ความยากของมันคือ อาจจะเกิด Dead air เอาง่ายๆ ฉะนั้นถ้าจะให้ดี เตรียมหัวข้อให้พร้อม และหาเพื่อนคุยด้วยอีกซัก 1-2 คน การสนทนามันจะไหลลื่นขึ้นมาก
ถ้านึกไอเดียไม่ออก ลองตั้งห้องทำ Speed networking ก็ได้ ให้ผู้เข้ามาร่วมห้องมาผลัดกันขึ้นแนะนำตัวว่าเป็นใคร ทำอะไรอยู่ กำลังมองหาอะไร ให้ขึ้นมาพูดกันคนละ 1-2 นาทีฮะ คนเป็น Moderator สามารถปิดไมค์คนอื่นได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าใครจะพูดแทรก

ในระหว่างการทำ Networking เนี่ย สนใจใคร ก็สามารถแตะไปที่อวาตารของผู้เข้าร่วมฟังในห้อง แล้วแตะเลือก Start a closed room together เพื่อชวนเขาไปคุยกันเป็นการส่วนตัว เพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้นได้อีกด้วยนะ ผมมองว่า Clubhouse นี่ก็คิดมาดีประมาณนึงเลย
ฝั่งเซเล็บ หรือ คนระดับ High profile ก็เอามาใช้เป็นเครื่องมือ Engage กับแฟนๆ หรือผู้ติดตามได้
อย่างเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมก็มีโอกาสได้ไปแจมห้องชื่อ เมื่ออาจารย์บอมชวนหนุ่มกรรชัยมาเล่น clubhouse ก็กลายเป็นห้องที่ได้พี่หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย มาเป็นแขกรับเชิญ ตอบคำถามทุกอย่างที่ผู้ฟังแต่ละท่านในห้องอยากรู้ ก็ทำหน้าที่เป็นผู้คุมห้อง แล้วค่อยๆ เชิญคนขึ้นมาทีละชุด แล้วจัดคิวให้ได้สอบถามคำถามกัน ก็อยากบอกว่าติดลมบนมาก คนเข้ามาหลายร้อยเลยทีเดียว (สูงสุดรู้สึกจะไปเกือบๆ ห้าร้อยคน) สรุปคือจัดไปเกือบ 4 ชั่วโมง กว่าจะตัดบท ให้พี่หนุ่มได้ไปพัก 555

เหล่าเซเล็บและคนดังทั้งหลาย ก็สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ครับ หาทีม Moderator มาช่วยดูแล จัดคิว อาจจะมีผู้ดำเนินรายการด้วยอีกซักคน มาพูดคุยแล้วก็มีปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับหรือผู้ฟังกันได้ มันดีกว่าพวกถ่าย Live แล้วมีปฏิสัมพันธ์ผ่านคอมเมนต์ของโพสต์เยอะมาก ตอนนี้ก็เห็นเซเล็บหลายคนมาเล่นกันแล้ว น้าเน็ก วู้ดดี้ ก็มาแล้วเช่นกัน ก็จะรอดูว่าจะเป็นยังไงต่อไป
คนสื่อสารมวลชนกับนักการเมืองกำลังศึกษา Clubhouse อยู่
และผมว่ามันก็ยังมีอะไรให้ทำได้ในฝั่งของสื่อสารมวลชนครับ จริงๆ แล้วมันก็คล้ายๆ กับการจัด Podcast สด หรือ เสวนา ที่ผมพูดถึงไปข้างต้นแหละ แต่ผมเห็นคนสื่ออย่าง คุณสุทธิชัย หยุ่น, พี่ต่าย ศรีสุดา, โย พรีพล อนุตรโสตถิ์ (ชัวร์ก่อนแชร์), พี่เอิ้น ปานระพี ระพิพันธุ์ (IT24Hrs) เข้ามาเล่นกันแล้ว คงกำลังมองๆ อยู่ว่าจะยังไงต่อ
ฟากนักการเมืองก็ไม่ชักช้าเหมือนกันนะ วันก่อนเห็น คุณกรณ์ จาติกวณิช แห่งพรรคกล้า และ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้ามาแจมแล้ว คุณหญิงหน่อยนี่ Engage หนักมาก ขอบอก อีกท่านที่เห็นคือ คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน แต่ไม่รู้ว่าคุณอภิรักษ์เขาจะพูดคุยเรื่องการเมืองอีกไหม เพราะเห็นว่าเมื่อวันก่อนไปเข้าห้องในหัวข้อ Plant-based food อะ