Home>>รีวิว>>แอป Clubhouse คืออะไร ทำไมทั่วโลกอยู่ๆ ตื่นตัวใช้กัน?
ภาพกราฟิกแสดงไอคอนของแอป Clubhouse และตัวอย่างหน้าจอแอป พร้อมข้อความว่า "แอป Clubhouse มันคืออะไร ทำไมอยู่ๆ คนมาฮิต? แล้วจะเข้าไปสมัครใช้งานได้ยังไง?"
รีวิวบ่นเรื่อยเปื่อย

แอป Clubhouse คืออะไร ทำไมทั่วโลกอยู่ๆ ตื่นตัวใช้กัน?

Clubhouse เป็นแอปแนวโซเชียลมีเดียแบบใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา โดยนักพัฒนาคือ Alpha Exploration Co. และเป็นไปตามสไตล์ของบริการใหม่ที่เพิ่งถือกำเนิด ในระหว่างที่ทดลองให้บริการอยู่ ก็จะมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้งาน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มให้คนเข้ามาใช้ได้มากขึ้น โดย Clubhouse ใช้สไตล์เดียวกับ Gmail ในช่วงแรกเริ่ม นั่นคือ เป็น Invite-only หรือก็คือ ต้องให้ผู้ใช้งานที่มีบัญชีอยู่แล้วเป็นคนเชิญสมาชิกใหม่เข้ามา จริงๆ แล้วก็ควรจะถูกใช้อยู่ในวงจำกัดครับ แต่ทำไมอยู่ๆ มันถึงมีคนเล่นกันโครมๆ ล่ะ? เผอิญว่าผมได้น้องที่อยู่ที่ญี่ปุ่นเชิญเข้าไปลองใช้แล้ว ก็เลยจะขอมาเล่าสู่กันอ่านครับ ว่ามันเป็นยังไง

Clubhouse โซเชียลมีเดียสไตล์ใหม่

ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ผมคงมองว่า Clubhouse นี่จะคล้ายๆ กับห้องแชทแบบ IRC คือ ผู้ใช้งานก็จะเปิดห้องแล้วก็จะมีคนเข้ามารวมตัวกัน แล้วพูดคุยกัน แต่ต่างกันตรงที่แทนที่จะพิมพ์คุยกัน ผู้ใช้งาน Clubhouse ก็จะพูดคุยกันด้วยเสียงแทน ตามแนวคิดของเขาที่เรียกว่า Drop-in audio chat นั่นเอง โดยที่ภายในห้องก็จะแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 3 ชนชั้น คือ Moderator หรือผู้ดูแล, Speaker หรือ ผู้พูด/วิทยากร และสุดท้ายคือ Audience หรือผู้ฟัง

องค์ประกอบหลักๆ ของ Clubhouse มีสามส่วน คือ

• ตัวผู้ใช้งาน (User) ที่ผมรู้สึกว่าเขาจะเอาอย่าง Twitter คือ ให้กรอกข้อมูล ชื่อ-นามสกุล แล้วก็ใส่ Username ที่คล้ายๆ กับ Twitter handle ครับคือ มี @ นำหน้า แล้วตามด้วยชื่อ Username ของเรา (อย่างของผมก็คือ @kafaak ฮะ) ผู้คนสามารถมากดติดตามเราได้ เราก็กดติดตามพวกเขาได้เช่นกัน ตามๆ กันไว้เพื่อจะได้สามารถสร้างห้องกับพวกเขาได้ (เราต้องเชิญเขาเข้าห้อง เขาจะเข้าไม่เข้าก็เป็นอีกเรื่อง)

• ตัวห้องเสวนา ซึ่งจะมีสามแบบ คือ Open คือ ใครเข้ามาก็ได้ คนอาจจะค้นหาห้องแล้วเจอแล้วมาร่วมได้, Social นี่เขาบอกว่าเปิดห้องแล้ว “คนที่เราติดตามเขาอยู่ หรือ People I follow” ก็จะสามารถมาเข้าร่วมได้ (ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมไม่ใช่เปิดให้ “คนที่ติดตามเรา หรือ People who follow me” เป็นคนเข้ามาร่วมหว่า) และสุดท้ายคือ Closed คือห้องปิด ให้เข้าได้เฉพาะคนที่เราเชิญเท่านั้น ซึ่งห้องแบบ Social และ Closed นั้น เราจะสามารถเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาภายหลังก็ได้ พอเปิดแล้วก็จะกลายเป็นห้อง Open ไป

• คลับ (Club) หรือจะเรียกว่าห้องชมรมดี เป็นฟีเจอร์ที่อยู่ในช่วงทดลอง ผู้ใช้งานไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องไปขอให้เขาสร้างขึ้นมา (ซึ่งมีคนไปขอเยอะมาก จนไม่คิดว่าเขาจะมาทำให้เราในเร็ววันนี้) เห็นใน Q&A ของผู้พัฒนา เขาบอกว่าตอนนี้ผู้ใช้งาน 1 คน จะสามารถตั้งคลับได้ 1 คลับ (ถ้ามีคนมาทำให้เรานะ) แต่ในอนาคตจะเปิดให้เราตั้งคลับเองได้ในที่สุด

ลองเล่นแล้ว Clubhouse ก็คือห้องเสวนาด้วยเสียงเราดีๆ นี่เอง

อยู่ที่ว่าคุณจะเปิดห้องแบบไหน แล้วใช้งานยังไง มันอาจจะเป็นห้องสนทนาแบบเพื่อนฝูง เหมือนทำ LINE Group call ก็ได้ หรือจะกลายเป็นห้องประชุมสำหรับการทำงาน สไตล์ Online voice meeting แบบที่เราไม่เห็นหน้ากัน ไม่สามารถฉายสไลด์ให้ดูก็ได้ หรือยิ่งใหญ่สุดคือ อาจจะเปิดเป็นเวทีเสวนาขนาดใหญ่ มีวิทยากรมาพูดให้ฟัง เป็นงานแถลงข่าวให้นักข่าวมานั่งฟัง ก็ได้ทั้งนั้น แต่จุดสำคัญที่สุดคือห้องเสวนาใน Clubhouse นี่ เป็นห้องชั่วคราวเท่านั้น เมื่อจบการเสวนา ห้องก็จะถูกปิดไป และไอ้ที่คุยๆ กันไป ก็จะหายไปตลอดกาลด้วย ถ้าอยากจะบันทึกการเสวนาไว้ จำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์เสริมมาเพื่อใช้บันทึกเสียงกันเอาเอง

แต่จุดแข็งของ Clubhouse คือความสามารถในการควบคุมขั้นเด็ดขาดครับ คือ คนที่เป็น Moderator นี่มีความสามารถในการเตะคนออกจากห้องเสวนาได้ สามารถเลื่อนขั้นคนให้มาเป็น Speaker ก็ได้ หรือจะลดขั้นใครไปเป็นแค่ Audience ก็ได้ และ Audience ก็ทำได้แค่นั่งฟัง สามารถยกมือขึ้นมาได้ ถ้าเกิดเขากำหนดให้สามารถยกมือได้ และถ้าเขามีการตั้งกติกาไว้ว่า ถ้าใครยกมือ เขาจะพิจารณาให้พูดถาม เราก็อาจจะได้สิทธิพูด แต่จุดขายนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่พวกบริการ Online meeting ทั้งหลายไม่มี เพียงแต่ว่า Clubhouse เราสามารถทำได้ฟรีๆ เท่านั้นเอง

แล้วคิดว่าอนาคตของ Clubhouse จะเป็นยังไง แล้วเราจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง?

ถ้า Clubhouse มันไปรอด โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนกลุ่มที่เป็นพวก Celebrity, Infulencer, Thought leader หรือพวกสื่อและแบรนด์ต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นอะไรที่คนทั่วไปเขาจะมาสร้างห้องเสวนากัน เพราะฟีเจอร์พวกนั้น คนทั่วไปสามารถหาได้จากโปรแกรมแนว Instant messaging ในปัจจุบันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Telegram, LINE, Whatsapp ฯลฯ มันจะเป็นโซเชียลมีเดียแนวมืออาชีพ ที่เหล่า Celebrity, Influencer, Thought leader, สื่อและแบรนด์ต่างๆ มีผลิตคอนเทนต์เผยแพร่ เช่น

• เหล่า Celebrity, Influencer และ Thought leader มาเปิดห้องเสวนา เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ แบบ Exclusive ให้ได้ฟังกัน ลองนึกถึงคนอย่าง อ.วีระ ธีรภัทร ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือ พวก YouTuber สายการลงทุนอย่าง Kim Property Live หรือ Money coach ทั้งหลาย มาสร้างห้องแบบปิด แล้วให้เฉพาะคนที่ชำระเงินเข้ามาได้ เพื่อฟังการเสวนาพิเศษ สุด Exclusive สิครับ แต่อุปสรรคในตอนนี้ก็คือการบริหารจัดการให้เฉพาะคนที่ชำระเงินเข้ามาได้ยังยุ่งยาก เพราะเราต้องไปกด Follow คนพวกนั้นก่อน ถึงจะเชิญพวกเขาได้ แถมพวกเขาก็ต้องสมัครเป็นผู้ใช้งาน Clubhouse ก่อนด้วย วุ่นพอดู ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เสียตังค์ให้กับ Zoom แล้วทำ Webinar เลย เร็วกว่า คนฟังก็แค่ต้องลงแอป ไม่ต้องไปสมัครสมาชิกใดๆ

• สื่อต่างๆ จัดรายการโน่นนี่นั่นบน Clubhouse คล้ายๆ พวกรายการวิทยุ ซึ่งเท่าที่ฟังจากญาติของผมที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ที่นั่นคนเล่นเยอะมากแล้ว และมีการจัดพวกรายการเกมต่างๆ มากมาย การที่ Clubhouse มันไม่เก็บบันทึกการพูดคุยเอาไว้ มันเป็นจุดแข็งมากๆ ของแพลตฟอร์ม เพราะการเสวนานี้จะเป็นอะไรที่สุดจะ Exclusive ไปในทันที พลาดแล้วพลาดเลย ยกเว้นจะมีคนบันทึกเอาไว้แล้วมาปล่อย แต่นั่นก็อาจจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าของเนื้อหาในทันที แต่อะไรที่สุดจะ Exclusive มากๆ แบบนี้ ผู้ฟังชาวไทยอาจไม่ปลื้ม เพราะพวกเขาจะเคยตัวกับการที่สามารถดูย้อนหลังได้แล้ว หากพลาดไป

• แบรนด์ต่างๆ สามารถจัดงานแถลงข่าวผ่าน Clubhouse ได้ ในกรณีที่ต้องการให้แถลงข่าวนี้เป็นงานกึ่งปิด กึ่ง Exclusive แบบที่ไม่เปิดเผยให้คนภายนอก (ยกเว้นนักข่าวจะเอาไปทำข่าว) ไม่เก็บเป็นหลักฐานว่าเคยแถลงเอาไว้ หรือต้องการ Engage กับลูกค้าของแบรนด์แบบ Exclusive ก็อาจจะทำผ่าน Clubhouse ได้หากเงื่อนไขของกิจกรรมคือ ไม่ต้องเจอตัว และแค่ใช้เสียงสื่อสารก็พอ แต่ก็อีกนั่นแหละ อะไรพวกนี้ มันมีแพลตฟอร์มแบบเสียเงิน จบเป็นครั้งๆ แต่มีฟีเจอร์เยอะแยะมากมายกว่าให้ได้เล่น

พอได้ไตร่ตรองดีๆ แล้ว ด้วยจุดเด่นของ Clubhouse ที่จะไม่เก็บบันทึกการเสวนาใดๆ เอาไว้เลย มันก็อาจจะทำให้เกิดไอเดียแปลกๆ ในการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็มองว่ามันเป็นดาบสองคมที่ทำให้คนไม่นิยมใช้กันได้เช่นกัน โดยเฉพาะในบางประเทศที่มีสไตล์ความชอบในการเสพสื่อที่แตกต่างไป

อยากเล่น Clubhouse บ้าง จะทำยังไง มันเป็น Invite only?

ตอนนี้ Clubhouse มีให้ดาวน์โหลดเฉพาะระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้นครับ ระบบปฏิบัติการ Android จะตามมาภายหลัง เขาว่างั้น ผมว่าคล้ายๆ ตอน Instagram ที่มีแต่บน iOS มาก่อน และจะล็อกอินได้ ต้องได้รับการเชิญจากผู้ใช้งานคนอื่นก่อน ซึ่งแต่ละคน มีสิทธิเชิญคนอื่นแค่สองคนเท่านั้นเอง ฉะนั้น อยากมาร่วมวงกันบน Clubhouse คุณมีทางเลือกสองทาง คือ

• ไปขอให้เพื่อนช่วย Invite เข้าไป ต้องลุ้นว่าจะขอทันไหม เพราะแต่ละคนมีสิทธิแค่ 2 Invite เท่านั้น (ไม่ต้องมาขอผม เพราะผม Invite ไปหมดแล้ว) และต้องระวังด้วยนะครับ การ Invite จะทำผ่าน SMS เท่านั้น โดยเราจะต้องเมมเบอร์ของคนที่เราจะ Invite เข้าไปใน Contact ของสมาร์ทโฟนก่อน หากใส่เบอร์ผิด แล้วกด Invite ไปมันก็จะเสีย Invite ไปฟรีๆ เลยนะ เพราะ Cancel ไม่ได้

• ไปลงแอป แล้วไปจองชื่อ Handle name เอาไว้ เราจะไปอยู่ใน Waiting list จากนั้นไปบอกให้เพื่อนที่มีบัญชี Clubhouse แล้ว เมมเบอร์เราไปไว้ใน Contact แอปมันอาจจะตรวจเจอว่าเราอยู่ใน Waiting list แล้วเตือนเพื่อนคนนั้นให้กด Let them in! เพื่อให้เราที่อยู่ใน Waiting list สามารถ Sign in ได้ (ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ Invite ใดๆ)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า