หลังๆ มานี้ การรีวิวสมาร์ทโฟนเรือธงนี่ ถ้าไม่ใช่ว่าผมซื้อมาใช้เอง หรือภรรยาเป็นคนใช้ ผมก็ไม่ได้คิดว่าการรีวิวจะน่าสนใจซักเท่าไหร่นะ เพราะก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามันต้องดี มันต้องเมพ แต่กลับกัน ถ้าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นราคาประหยัด ผมอยากรู้มากว่า มันจะทำออกมาได้ดีขนาดไหน ภายใต้ค่าตัวที่ไม่แพง อย่าง Wiko Power U20 ที่ได้มาให้รีวิวนี่ ค่าตัว 2,999 บาท แต่ขอสปอยล์ไว้ก่อนตรงนี้เลยว่า มันน่าสนใจกว่าที่คิดอีกแฮะ ใครงบน้อยนี่ผมอยากแนะนำตัวนี้เลย
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Wiko Power U20 นี้ ผมได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก Wiko Thailand ให้ยืมมารีวิวนะครับ แต่ก็เช่นเคย เราจะรีวิวกันตรงๆ ชอบตรงไหน ตรงไหนควรปรับปรุง เราก็จะชี้แจงกันให้ทราบแบบไม่หมกเม็ด
ก่อนอื่น ขอแซะแบรนด์ใหญ่หลายๆ ยี่ห้อ กับเทรนด์ “รักษ์โลก” ที่ออกมาลดขนาดกล่องให้บางลง และเลิกแถมหัวชาร์จกับหูฟัง Wiko Power U20 นี่ก็มาแนวรักษ์โลกเช่นกัน แต่เลือกที่จะจัดการกับกล่องมากกว่า คือ เปลี่ยนมาใช้กระดาษรีไซเคิล และเอาพวกพิมพ์สีฉูดฉาดออกไป แต่ยังคงให้หูฟัง 3.5 มม. หัวชาร์จแบบ 10 วัตต์ 5V 2A มาให้ มีฟิล์มกันรอย และเคสซิลิโคนใสมาให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปหาเพิ่ม

พิจารณาแล้วผมชอบแนวทางของ Wiko นะ คือลดความหรูหราของกล่อง ลดความซับซ้อนของการออกแบบกล่อง เพื่อให้ประหยัดทรัพยากร แต่ในขณะที่ยังให้สิ่งจำเป็นสำหรับใช้งานสมาร์ทโฟนมาครบ เพราะมันตอบไม่ได้นี่นาว่าลูกค้าจะมีอุปกรณ์พวกนี้อยู่แล้วหรือเปล่า แล้วอุปกรณ์ที่พวกเขามี ได้มาตรฐานหรือไม่ ลองคิดง่ายๆ นะครับ ตัว Wall charger หรือที่ชาร์จแบตเตอรี่เนี่ย ถ้าซื้อแบบไม่ได้มาตรฐานมา นอกจากเสี่ยงต่อการมีปัญหากับอุปกรณ์แล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าด้วย เราได้เห็นข่าวที่ชาร์จแบตเตอรี่ไหม้ แบตเตอรี่ระเบิด หรือไฟช็อตระหว่างชาร์จกันเยอะแยะแล้วนี่นา

Wiko Power U20 นี่เป็นสมาร์ทโฟนจอใหญ่เบิ้มมาก ขนาดหน้าจอ 6.8 นิ้ว ความละเอียด 720×1,640 พิกเซล อัตราส่วนการแสดงผล 20.5:9 ความคมชัดระดับ 270ppi ดีไซน์กล้องหน้าแบบหยดน้ำ ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ขอบจอโค้งนิดๆ ให้พอสวยงาม เห็นว่าหน้าจอใช้กระจก Panda King Glass ในการป้องกันพวกรอยขีดข่วน
Panda King Glass คืออะไร?
งงละสิ ว่า Panda King Glass คืออะไร บางคนเรียก Panda Glass มันเหมือนหรือต่างอะไรจาก Gorilla Glass ที่เป็นที่นิยมใช้กันในสมาร์ทโฟน ผมก็ไปหาคำตอบมาให้ เพราะผมก็งงเหมือนกัน 555 ไม่คิดว่าเขียนรีวิวมือถือ จะต้องมาทำหัวข้อย่อยในการอธิบายเพิ่มแบบนี้
Panda King Glass นั้นเป็นของ Tunghsu Group ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ครับ เป็นกระจกประเภท อัลคาไล-อลูมิโนซิลิเคต (Alkali-aluminosilicate) ซึ่งในแง่ของความแข็งแรงทนทาน เทียบกับ Gorilla Glass จะเป็นยังไงนั้น ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบอีกที แต่มีข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตว่ากันว่า Vivo V20 ที่ใช้กระจก Panda MN228 นี่ มีความแข็งแรงทำคะแนนได้ 700 จาก Vickers Hardness Test ซึ่งสูงกว่า Gorilla Glass 5 ที่ได้คะแนนระหว่าง 601-638 แต่ในกรณีของ Wiko Power U20 นี่ ไม่แน่ใจว่าใช้กระจก Panda King Glass รุ่นไหนนะครับ

สีที่ผมได้มารีวิวเป็นสีดำ แต่ไม่ได้ดำสนิทนะ เขาเรียกว่า Slate Grey ที่ออกแบบให้มี Noise สีขาวกระจายอยู่เต็มฝาด้านหลัง แล้วเคลือบให้มีลักษณะมันวาวอีกที ดูสวยดีมาก เดี๋ยวนี้สมาร์ทโฟนราคาประหยัดก็เน้นทำออกมาให้ดูสวย น่าพกพามากขึ้น นอกจากนี้สีอื่นที่มีให้เลือกก็คือ Navy Blue สีน้ำเงิน และ Mint ที่จะสีออกเขียวอ่อนๆ
ด้านหลังนี่เราก็ได้เห็นกล้องหลัง 3 ตัว พร้อมกับคำว่า AI ด้วย มันเป็นกล้องดิจิทัลความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ที่เป็นกล้องหลัง กับความละเอียด 2 ล้านพิกเซลทำหน้าที่เป็น Depth sensor กับกล้องอีกตัว สำหรับให้ข้อมูลกับ AI ครับ
รอบๆ ตัวเครื่อง Wiko Power U20 นั้น ก็คล้ายๆ กับสมาร์ทโฟนทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ด้านล่างมีลำโพงของตัวเครื่องเป็นแบบโมโน มีพอร์ต Micro USB แล้วก็รูไมโครโฟน ด้านขวามือเป็นปุ่มสามปุ่ม ไล่จากบนลงล่างคือ ปุ่ม Assistant ที่ใช้เรียก Google Assistant ขึ้นมา ตามมาด้วยปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่ม Power ส่วนด้านขวาเป็นถาดใส่ซิมการ์ด ที่รองรับ 2 ซิมแบบนาโนซิม และยังสามารถใส่ MicroSD card ได้ด้วย
โดยรวม Wiko Power U20 ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ใหญ่เบิ้ม แต่สวยนะ และก็ไม่ต้องห่วงเรื่องไม่มีฟิล์มกันรอยหรือเคสขาย เพราะแถมมาให้หมดแล้ว แต่การจะติดฟิล์มเองนี่ก็ต้องมีฝีมือและความอดทนหน่อย ในการรีวิวนี้ผมไม่ได้ติดนะครับฟิล์ม เพราะติดเองละก็ฟิล์มพังแน่นอน โคตรมั่นใจในฝีมือตัวเอง
ประสบการณ์ในการใช้งาน Wiko Power U20
ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัด ราคาเฉียดสามพันบาท ตัวหน่วยประมวลผลก็เลยเป็นแบบประหยัด คือ MediaTek G35 เป็นแบบ Octa-core 2.3GHz ใช้ GPU PowerVR GE8320 มีแรมมาให้ 3GB กับความจุ 32GB ที่มีเนื้อที่ให้ใช้จริงประมาณ 21GB ครับ เพราะเนื้อที่ที่หายไป ต้องเอาไปใส่ตัวระบบปฏิบัติการและแอปต่างๆ ที่ให้มาในตอนแรก
ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนจอใหญ่ และให้แบตเตอรี่มาโหดมากคือ 6,000mAh ซึ่งเมื่อ CPU และ GPU ไม่ได้เป็นระดับไฮเอนด์แล้ว ว่ากันว่าถ้าใช้กันดีๆ เจ้านี่แบตอึดแบบอยู่ได้ 4 วันเลยทีเดียว น้ำหนักของตัวสมาร์ทโฟน Wiko Power U20 ก็เลยอยู่ที่ประมาณ 210 กรัม ถือว่าหนักอยู่ แต่เพราะมีขนาดใหญ่ เวลาถือก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าหนักขนาดนั้น

ตัวสมาร์ทโฟนที่มีขนาดใหญ่ ทั้งในแนวกว้างและแนวยาว ขนาดผมที่มือใหญ่ๆ ก็ยังใช้มือเดียวไม่สะดวกเลยครับ การใช้งานจึงเหมาะที่จะใช้สองมือเป็นที่สุด แต่ผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะชอบ เพราะจอใหญ่เบิ้มจริงๆ ยิ่งถ้าปรับขนาดฟอนต์ให้ใหญ่ขึ้น (ไปปรับได้ที่ Settings > Display > Advanced > Font Size) ยิ่งสบายเลย
เจ้านี่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันล่าสุดในปัจจุบันคือ Android 11 ครับ แต่เสียดายที่เป็นสมาร์ทโฟนราคาประหยัด เลยไม่ค่อยได้รับการอัปเดต Patch ซักเท่าไหร่ เพราะสังเกตว่า Security patch ยังคงอยู่ที่เดือนพฤศจิกายน 2020 อยู่ แต่สำหรับคนทั่วไป ไม่ได้รู้สึกอะไรหรอกครับ Android บางตัวที่ผมมี Security patch เลิกอัปเดตไปนานแล้ว ก็ไม่ได้โดนแฮกอะไร (การถูกแฮกมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ขอแค่อย่าซน)
แม้ว่าจะไม่มีการรองรับการสแกนลายนิ้วมือ แต่ Wiko Power U20 นี่มีฟีเจอร์การจดจำใบหน้า เพื่อปลดล็อกด้วยใบหน้าครับ แต่เป็นแบบง่ายๆ และซ่อนอยู่ในหัวข้อ Settings > Wiko features ครับ ฉะนั้นใครที่คุ้นเคยกับการไปหาที่ Settings > Security จะหาไม่เจอ (ผมก็หาไม่เจอในตอนแรก ต้องเสิร์ชหาเอาแทน เพราะรู้ว่ามันมีฟีเจอร์นี้) การปลดล็อกด้วยใบหน้าถือว่าทำได้ไม่เร็วมาก ก็ราวๆ 0.5-1 วินาที
ในส่วนของ Storage นั้น Wiko ใส่ Storage ที่มีความเร็วประมาณนึงเลย คือ ความเร็วในการเขียนประมาณ 60MB/s ความเร็วในการอ่านข้อมูล 150MB/s ถือว่าไม่เลวครับ แต่ถึงกระนั้น อาจจะเพราะหน่วยประมวลผลไม่ได้เป็นแบบประสิทธิภาพสูงมาก ก็เลยยังรู้สึกได้ว่าการใช้งานมีอาการหน่วงอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่อะไรที่น่าเกลียด โดยเฉพาะกับสมาร์ทโฟนราคา 2,999 บาทแบบนี้

สำหรับคนที่คิดจะหาสมาร์ทโฟนมาเล่นเกมในราคาประหยัด ผมลองเอามาเล่น PUBG ดู มันก็พอเล่นได้นะ แต่ต้องปรับคุณภาพของกราฟิกให้ต่ำหน่อยละ และถ้าเราเลือกดาวน์โหลดทรัพยากรกราฟิกคุณภาพต่ำ ก็จะใช้เนื้อที่เก็บข้อมูลในตัวสมาร์ทโฟนน้อยด้วย เหมาะกับเนื้อที่ที่มีให้อยู่นะ แถมเจ้านี่หน้าจอใหญ่ดีด้วย แล้วแบตเตอรี่ก็ตั้ง 6,000 บาท ขาเกมงบน้อยน่าจะถูกใจ ลองเล่นไป 1 แมทช์ 38 นาที ใช้แบตเตอรี่ไป 5% ประมาณนั้น รู้สึกได้ว่ากราฟิกหยาบพอสมควร มีกระตุกนิดหน่อย เวลาหันไปมาในฉาก และเลื่อน Crosshair แบบละเอียดไม่ค่อยได้ แต่โดยรวม ถ้าเล่นแบบมือสมัครเล่น เน้นบันเทิง ก็ไหวอยู่ ถ้าใครเป็นมืออาชีพ กรุณาลงทุนกับสมาร์ทโฟนที่ใช้หน่อย
น่าเสียดายที่ลำโพงโมโนของเครื่อง เสียงเบาไปหน่อย คำแนะนำของผมคือ ใช้เสียบหูฟัง 3.5 มม. เล่นดีกว่าครับ และถ้าใครมีหูฟังแบบ 3.5 มม. ตัวโปรดอยู่แล้ว ใช้อันนั้นก็ได้ โอเคอยู่ ตัวสมาร์ทโฟนรองรับการทำตัวเป็นวิทยุ FM ด้วย แต่ต้องเสียบหูฟัง ให้หูฟังเป็นเสาอากาศครับ
ในส่วนของการถ่ายภาพ บอกตรงๆ ตอนแรกผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับสมาร์ทโฟนราคา 2,999 บาทแบบนี้ครับ แต่พอได้ลองใช้จริงๆ เท่านั้นแหละ เฮ้ย มันดีกว่าที่คิด คือ ถ้าไม่นับเรื่องที่ถ่ายแล้ว มันใช้เวลาแว้บนึงกว่าที่รูปจะถูกเซฟลงไปใน Gallery ให้ดูภาพได้ ถือว่าตัวกล้องของ Wiko Power U20 ทำได้ดีเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการรองรับ Burst shot ถ่ายรูปรัวๆ ก็ได้ ถ่าย HDR ก็โอเค แถมตัวกล้องยังมี AI ที่ตรวจจับได้ว่าเรากำลังถ่ายภาพอะไร ประมาณไหนอยู่ จะได้ปรับสีปรับแสงของภาพให้เหมาะกับรูปที่จะถ่าย
ภาพที่ถ่ายออกมา ถือว่าพอใช้ได้เลยครับ ไม่แย่ แต่เสียดายตรงที่ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ประมวลผลภาพจากที่ AI ตรวจจับได้ ยังปรับแต่งภาพให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ไม่ดีนัก เช่น ภาพท้องฟ้า ฟ้าก็ยังไม่ได้ถูกเร่งสีให้ฟ้าขึ้นซักเท่าไหร่ แต่อันนี้เป็นอะไรที่เข้าใจได้กับราคาค่าตัวสมาร์ทโฟน และเป็นอะไรที่เราแก้ได้ด้วยซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพเช่น Snapseed ไม่มีปัญหา
ถ่ายภาพตอนเย็นๆ และตอนค่ำๆ Wiko Power U20 ทำคะแนนได้ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตำหนิ และจริงๆ แล้ว มันก็ทำได้ดีกว่าที่ผมคิดอยู่เยอะเลยนะ ถ้าเปิดโหมด HDR ไว้จะมีข้อเสียเวลาที่ถ่ายภาพของวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ เพราะความเร็วชัตเตอร์ไม่ได้เร็วเท่าไหร่ และส่งผลให้เกิดเงาเบลอได้
แต่ที่ผมประทับใจคือโหมดโบเก้ ถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ทำออกมาได้ดีทีเดียวเลยแหละ เทียบดูได้ครับ ภาพแบบปกติ กับแบบที่เบลอแบ็กกราวด์แล้ว หลอดไม่หายด้วย โอว ถือว่าทำได้ดีมาก สำหรับสมาร์ทโฟนราคาประมาณนี้ ผมว่ามันเป็นอานิสงส์จากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีนี่แหละ เลนส์มีความละเอียดสูงขึ้น ซอฟต์แวร์ก็ประมวลผลได้ดีขึ้น แยกแยะด้านหน้าและด้านหลังได้ดีขึ้นด้วย

ขนาดกล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ที่ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะความละเอียดแค่ 5 ล้านพิกเซลไง จริงๆ อยากได้ต่ำๆ ซัก 8 ล้านพิกเซล แต่เอาเข้าจริงๆ ถ่ายออกมาแล้ว ถ้าไม่ซูมจับผิดภาพ โพสต์ออกไปทั้งยังงั้นเลย มันก็เป็นเซลฟี่ที่มีคุณภาพดีพอจะโพสต์แชร์เพื่อนผ่าน LINE หรือ Social media ต่างๆ ได้นะ
เรียกว่าในแง่ของการถ่ายภาพ ถ้าใจเย็นๆ รอซัก 1 วินาทีเพื่อดูภาพได้ Wiko Power U20 นี่ คุณภาพของภาพถ่ายดีพอจะเอาไปถ่ายเวลาไปเที่ยวภูเขา ทะเล น้ำตก อะไรแบบนี้เลย และไม่อยากเชื่อว่ามันสามารถถ่ายภาพวิดีโอแบบ Timelapse ได้ด้วยซะงั้น นี่ 2,999 บาท จะทำอะไรเยอะแยะ 555
แบตเตอรี่ อึดอย่างที่เขาว่า แต่ก็อยู่ที่พฤติกรรมการใช้งานด้วย สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้งานเยอะมาก แบบผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เน้นใช้ LINE แชทกัน ส่งรูปบ้างอะไรบ้าง ผมว่า 2-3 วัน เอาอยู่ในการชาร์จทีเดียว แต่สำหรับผมมันก็อยู่ได้ข้ามวันเหมือนกันนะครับ กับพฤติกรรมการใช้แบบปกติของผม ที่ปกติจะต้องชาร์จซักรอบนึงแหละในตอนกลางวัน กันเหนียว แล้วกลางคืนค่อยชาร์จอีกรอบ ขนาดใช้สมาร์ทโฟนแบบที่แบตเตอรี่ 4,000+mAh แล้วนะ ก็นะ เจ้านี่แบตเตอรี่ 6,000mAh ไง ใช้ทั้งวัน แล้วกลับมาชาร์จตอนกลางคืนทีเดียว
บทสรุปการรีวิว Wiko Power U20
สั้นๆ เลย “ดีกว่าที่คิด” ครับ เป็นสมาร์ทโฟนราคา 2,999 บาทที่คุ้มมาก ใช้งานทั่วไปได้แน่นอน ใช้เล่นเกมก็ยังพอไหว แค่ต้องทำใจเรื่องคุณภาพของกราฟิกที่อาจดูไม่ดีนัก การเล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง ถือว่ารองรับได้หมด ในระดับสร้างความบันเทิง การถ่ายภาพถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิดที่สุดแล้ว ในบรรดาทุกอย่างที่ผมรีวิวไป