เดี๋ยวนี้คนเราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น และด้วยความที่พวกเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาไปมาก ส่งผลให้พวกอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) มีฟีเจอร์ที่เข้ามาช่วยติดตามกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เริ่มตั้งแต่การนับจำนวนก้าวที่เราเดินในแต่ละวัน การออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ เรื่อยไปจนถึงการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SPO2) และการนอนหลับ แต่ในขณะที่การติดตามกิจกรรมอื่นๆ นั้น เซ็นเซอร์มีความสามารถในการวัดได้ค่อนข้างโอเค การนอนหลับนั้น ปกติต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะมากๆ ในขณะที่สมาร์ทวอทช์นั้นส่วนใหญ่จะมีแค่การตรวจจับการเคลื่อนไหวและการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แล้วแบบนี้มันน่าเชื่อถือแค่ไหนกันนะ?
ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องนี้มันเกิดขึ้นตอนที่ผมเผอิญไปเจอบทความ Are sleep trackers accurate? Here’s what researchers currently know ของเว็บ The Coversation เข้า ซึ่งมันน่าสนใจมาก เพราะใจความสำคัญคือ งานวิจัยเพื่อประเมินผลความแม่นยำของอุปกรณ์จำพวก Sleep tracker นั้น มีความแม่นยำแต่ราวๆ 78% ของการตรวจจับ ช่วงตื่น และ ช่วงหลับ ของคนเรา และถ้าต้องประเมินว่าเราใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะหลับ กลับมีความแม่นยำแค่ประมาณ 38% เท่านั้นเอง ซึ่งในบทความนี้ และอีกบทความหนึ่งของ New York Times ชื่อ The Sad Truth About Sleep-Tracking Devices and Apps ก็เขียนตรงกันว่า การให้คะแนนคุณภาพการนอนหลับของพวกอุปกรณ์หรือแอปพวกนี้ อาจส่งผลในแง่ลบกับผู้ที่มีปัญหาในการนอนเพิ่มเข้าไปอีก เพราะจะทำให้พวกเขาหมกมุ่นอยู่แต่กับการพยายามทำให้คะแนนคุณภาพการนอนสูงขึ้น และเผอิญว่า การพยายามข่มตาให้หลับ เป็นอีกวิธีนึงที่ทำให้คนหลับยากขึ้น … ซะงั้นอ่ะ!!
วงจรของการนอนหลับ Light, Deep และ REM และการวัดผล
ถ้าเราไม่สนใจสิ่งที่อธิบายในแอปที่ตรวจจับการนอน แล้วไปหาข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลอะไรพวกนี้ เราจะพบว่าเขาแบ่งวงจรของการนอนหลับของเราเป็นสองช่วงหลัก คือ
1. ช่วงหลับธรรมดา (Non-Rapid Eye Movement หรือ Non-REM) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะย่อย คือ ระยะแรก จะเป็นช่วงเริ่มหลับ สมองแค่ทำงานช้าลง ช่วงนี้เราจะถูกปลุกให้ตื่นง่าย ตื่นมาแล้วไม่งัวเงีย เป็นช่วง 10-15 นาทีแรกของการหลับ ระยะที่สอง จะเป็นช่วงเคลิ้ม กินเวลาประมาณ 60-70 นาที และช่วงที่สาม เป็นช่วงหลับลึก ช่วงนี้ร่างกายจะเริ่มไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกแล้ว
2. ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement หรือ REM) ช่วงนี้ก็ตามชื่อภาษาอังกฤษเลย คือ ลูกตาเราจะกรอกไปมา ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราฝัน กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายคลายตัว หยุดทำงาน ยกเว้นหัวใจ กระบังลม (เพราะถ้าหยุดก็ตายสิ) และกล้ามเนื้อตา
แต่พวก Sleep tracker ทั้งหลาย เขาเปลี่ยนไปเป็นสามช่วง ได้แก่ Light sleep, Deep sleep และช่วง REM แทน โดยผมเข้าใจว่า เขารวมเอาระยะที่หนึ่งและสองของช่วงหลับธรรมดาเป็น Light sleep และเอาช่วงที่สามมาเป็น Deep sleep นั่นแหละ (เดาเอานะ แต่ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นได้แล้ว)

ว่ากันว่า เวลาเรานอน ร่างกายเราก็จะผ่านวงจรการนอนหลับแบบเนี้ย สลับกันไปครับ แต่ละรอบกินเวลา 90-120 นาที ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเรานอนได้เต็มๆ กี่นาทีนั่นแหละ หารกันออกมาก็จะได้เป็นจำนวนรอบ ซึ่งแต่ละช่วงของการหลับฝัน มันจะมีประโยชน์ต่อร่างกายไม่ใช่เพียงแค่เรื่องบรรเทาความเหนื่อล้าเท่านั้นนะ แต่รวมไปถึงเรื่องความจำระยะสั้นและระยะยาวด้วย เดี๋ยวตอนท้ายบทความจะทิ้งลิงก์ไว้ให้อ่านเพิ่ม
Polysomnography หรือการทำ Sleep test
การทำ Sleep test นี่ปกติเขาไว้ใช้วินิจฉัยคนที่มีความผิดปกติในการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ ง่วงนอนกลางวัน นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ ซึ่งมันมีการตรวจวัดหลายแบบอีก และใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไป แต่ American Academy of Sleep Medicine (AASM) เขาแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ตามจำนวนสิ่งที่ต้องตรวจวัด และสภาพแวดล้อมต่างๆ ครับ อันนี้รายละเอียดให้ไปอ่านเอกสารชื่อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น: การวินิจฉัยและการตรวจการนอนหลับในปัจจุบัน ของอาจารย์แพทย์หญิงบุษราคัม ชัยทัศนีย์ เอานะครับ อยู่หน้า 2-5 แต่สรุปสั้นๆ เอาเป็นว่า เวลาจะวัดที่ระดับ 1-3 อ่ะ เขาใช้ตัวแปรต่างๆ เยอะมาก อย่างต่ำๆ ก็ 4 ตัวแปรแล้ว มีทั้งคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าลูกตา วัดลมหายใจทางจมูกหรือปาก การเคลื่อนไหวของทรวงอก ระดับออกซิเจนในเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ฯลฯ แต่การวัดระดับที่ 4 เนี่ย เขาจะวัดตัวแปรประมาณ 1-2 อย่าง เช่น วัดระดับออกซิเจนในเลือด หรือลมหายใจเข้าออก และไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเฝ้าด้วยนะ

แล้วพวก Sleep tracker เขาวัดการนอนหลับยังไง?
เขาก็วัดในระดับที่ 4 ที่พูดถึงไปในหัวข้อเมื่อกี้แหละครับ วัดจากตัวแปร 1-3 ตัว เท่าที่เซ็นเซอร์ของสมาร์ทวอทช์ หรือ Sleep tracker จะวัดได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด และ การเคลื่อนไหวขณะนอนหลับ แล้วจะมีการพัฒนาอัลกอริทึมในการตรวจจับข้อมูลจากเซ็นเซอร์พวกนี้ มาประเมินว่าเราหลับหรือตื่นอยู่ และหลับอยู่ในระดับไหน ซึ่งจะแม่นหรือไม่แม่นยังไง ก็อยู่ที่ความสามารถของเซ็นเซอร์และอัลกอริทึมแล้วครับงานนี้
ทีนี้ผมก็อยากรู้อยากเห็นไง แล้วก็เผอิญว่าผมมี Samsung Galaxy Watch Active 2 กับ Fitbit Versa 3 อยู่กะตัว แล้วมีบทสนทนาคุยกับคุณหมอเรื่องบทความที่ว่า Sleep tracker ไม่แม่นยำนี่แหละ ว่าอยากรู้ว่าแม่นไหม คงต้องไปทดสอบกับ Sleep test จริงจัง ซึ่งปัญหาก็คือ มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 8,000 – 16,000 บาท อยู่ที่ว่าจะทำลึกซึ้งขนาดไหน คุณหมอปกรัฐ หังสสูต ก็เลยแนะนำว่า ทำไมไม่ลองใส่สองเรือนแล้วเทียบกันดูก่อนล่ะ? เออ นั่นสิ
ว่าแล้วก็จัดเลยครับ ใส่สองเรือนพร้อมกัน ใส่ Samsung Galaxy Watch Active 2 ไว้ข้างซ้าย ส่วน Fitbit Versa 3 ไว้ข้างขวา เพราะ Fitbit มันมีตัวเลือกให้เลือกในแอปเพื่อบอกกับสมาร์ทวอทช์ได้ว่า เรากำลังสวมมันอยู่ในมือข้างถนัดหรือไม่ถนัด คิดว่าน่าจะทำให้ผลมันแม่นยำกว่า (เดาว่ามันคงปรับอัลกอริทึมไปตามมือข้างที่สวมด้วย) แล้วก็นอนครับ ผมนอนประมาณเที่ยงคืนเศษๆ แล้วตื่นมาตอนตีห้าสี่สิบกว่า แล้วนอนอีกทีหกโมงครึ่งโดยประมาณ ก่อนจะตื่นอีกทีเกือบๆ แปดโมงเช้า

Samsung นี่ UI ยาวมากครับ แต่สรุปว่ามันบอกว่าผมนอนไปรวมๆ แล้ว 6 ชั่วโมง 44 นาที และมีการหลับแบบ REM รวม 1 ชั่วโมง 55 นาที กับ Deep sleep 51 นาที (การแสดงผลของแอป Samsung มันให้ผมต้องเลือกดูช่วงการหลับสองช่วง เพราะมันมองว่าผมตื่นนานเกินไป ไม่ใช่การตื่นแบบปกติ ดังนั้นมันเลยมองว่าผมนอนสองรอบ รอบแรก 5 ชั่วโมง 26 นาที และรอบสอง 1 ชั่วโมง 18 นาที) โดยได้คะแนนประสิทธิภาพการนอนหลับ 91% (Samsung บอกว่าคำนวณจากระยะเวลาที่หลับจริงหารด้วยระยะเวลาที่นอน ซึ่งระยะเวลาที่หลับจริงคือ Light sleep + Deep sleep + REM)
ดู Fitbit บ้างครับ มันบอกว่าผมนอนไปทั้งหมด 6 ชั่วโมง 30 นาที โดยที่นอนแบบ Deep ไป 59 นาที และ REM 1 ชั่วโมง 32 นาที แต่ซอฟต์แวร์ของ Fitbit นี่มองการตื่นมาช่วงนึงของผม (ซึ่งเป็นการจงใจตื่น) เป็นช่วง Awake ของการนอน ก็เลยได้ข้อมูลมาแบบต่อเนื่อง ไม่ต้องแยกดูเหมือนของ Samsung และผมได้คะแนนการนอนหลับ 86 คะแนน ซึ่งก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน แต่วิธีการคำนวณคะแนนนั้น Fitbit ไม่ได้บอกแบบละเอียด แค่บอกว่าประเมินจากสามปัจจัยหลัก คือ ช่วงเวลาที่หลับและตื่น, ช่วงเวลาที่เราอยู่ใน Deep และ REM กับอัตรการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่า ทั้ง Samsung Galaxy Watch Active 2 กับ Fitbit Versa 3 นี่ได้คะแนนประเมินออกมาใกล้เคียงกัน (แม้ว่าจะใช้เกณฑ์ประเมินที่แตกต่างกัน) และยังวัดระยะเวลาในการนอน การตื่น และช่วง Deep Sleep และ REM ได้ใกล้เคียงกันประมาณนึง (แต่ช่วง Light sleep นี่ห่างกันไปประมาณ 30 นาทีเลย)
สรุปแล้ว สำหรับผม ผมว่า…
จำไว้ให้ขึ้นใจว่าสมาร์ทวอทช์และพวก Sleep tracker นี่ไม่ใช่เครื่องมือทางการแพทย์ แม้ว่าเซ็นเซอร์มันอาจจะถูกพัฒนามาจนดีระดับที่แม่นยำพอสมควร แต่ก็อย่างที่บอกไปตอนต้น การทำ Sleep test แบบจริงจัง เขามีการวัดอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าได้ผลแม่นยำมากๆ
ส่วนผลของการตรวจวัดการนอนหลับและคะแนนที่ได้จากพวก Sleep tracker หรือ สมาร์ทวอทช์นี้ ผมว่าพอเชื่อถือได้ แต่ตัวเราเองต้องร่วมประเมินด้วย โดยใช้ความรู้สึกเรานี่แหละ ว่าเมื่อคืนนี้เรานอนหลับแล้วรู้สึกสดชื่นไหม ยังไง คะแนนพวกนี้มันอาจจะช่วยเตือนเราได้ ว่าเราอาจมีปัญหาด้านการนอนหลับ และหากมีก็ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาครับ
ภาพประกอบบล็อก People photo created by yanalya – www.freepik.com