Home>>รีวิว>>รีวิว Ninebot Kickscooter E25 จากประสบการณ์ผู้ขี่ Ninebot Kickscooter ES2 มามากกว่า 2,000 กิโลเมตร
Ninebot Kickscooter E25
รีวิว

รีวิว Ninebot Kickscooter E25 จากประสบการณ์ผู้ขี่ Ninebot Kickscooter ES2 มามากกว่า 2,000 กิโลเมตร

สำหรับคนที่กำลังมองหาสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าของ Segway Ninebot อยู่ ตอนนี้ก็จะมีทางเลือกสองทางคือ รุ่น ES2 ที่เป็นรุ่นเดิม แต่ราคาลงมาเหลือ 19,900 บาทแล้ว กับ Ninebot Kickscooter E25 ที่เป็นรุ่นใหม่ มีพัฒนาการมากขึ้น แต่ราคาก็กลับมาเหมือน ES2 ตอนออกมาใหม่ๆ คือ 25,900 บาท ผมขอสปอยล์ไว้ก่อนเลยว่า หากมีงบพอ ก็จัดรุ่น E25 ไปเลยดีกว่านะฮะ อันนี้มาจากประสบการณ์ขี่ที่เทียบกันระหว่าง ES2 และ E25 แล้ว

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

แม้ว่าสกู๊ตเตอร์ 3 คันก่อนหน้าที่ผมเคยรีวิวจะเป็นแบบซื้อมาใช้เอง แต่งวดนี้ Ninebot Kickscooter E25 ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจากบริษัท เมคไอโอ จำกัด ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ให้ยืมมารีวิวครับ และการรีวิวครั้งนี้ ก็จะเป็นการรีวิวในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการขี่ Ninebot Kickscooter ES2 ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้ามามากกว่า 2,000 กิโลเมตรด้วย

เอาจริงๆ เลยนะครับ ถ้าไม่ได้มี Ninebot Kickscooter ES2 มาวางเทียบละก็ อาจจะไม่ทันสังเกตเลยด้วยซ้ำ ว่า Ninebot Kickscooter E25 นี่แตกต่างจาก Ninebot Kickscooter ES2 ที่เป็นรุ่นก่อนหน้าตรงไหน เพราะดีไซน์ของเจ้านี่ อ้างอิงมาจากรุ่น ES2 มันจะเป็นสกู๊ตเตอร์สไตล์ที่เน้นสะดวกขี่และพกพา เหมาะกับการใช้ในระยะทางไม่ไกลมาก เพราะสเปกคือวิ่งได้ไกลสุดที่ 25 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่สามารถพับเก็บ แล้วนำไปขึ้นระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า หรือ เรือ ได้สะดวก

ถ้าใครอยากรู้ว่าสองรุ่นนี้แตกต่างกันตรงไหนยังไงบ้าง อ่านบล็อก “Ninebot Kickscooter E25 รุ่นล่า ต่างจาก Ninebot Kickscooter ES2/ES4 อย่างไรในความรู้สึกของคนขี่สกู๊ตเตอร์” ที่ผมเคยเขียนเอาไว้ได้ครับ

Ninebot Kickscooter E25

ถ้าได้ขี่ Ninebot Kickscooter ES2 มาจนชิน แล้วมาขี่ Ninebot Kickscooter E25 ละก็ จะรู้สึกได้ว่าตัวรถมีความสูงขึ้น และยืนได้มั่นคงขึ้นด้วย ทั้งนี้เพราะล้อมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 9 นิ้ว ตัวฐานวางเท้า นอกจากจะมีความยาวมากขึ้น และตัวฐานเองก็ถูกออกแบบมาเป็นแนวราบมากขึ้น บอกเลยว่ายืนสบายเท้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ

ภาพระยะใกล้ของส่วนแฮนด์ของ Ninebot Kickscooter E25 ที่เป็นกระดิ่ง

อย่างไรก็ดี คอของสกู๊ตเตอร์ และความกว้างของแฮนด์ยังเท่าเดิมนะครับ แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือกระดิ่ง ที่มีแถมมาให้ เป็นแบบถอดออกได้ เวลาเราประกอบตัวสกู๊ตเตอร์ เราก็ต้องเอากระดิ่งมาติดตั้งเอง ฉะนั้นใครจะไม่ใช้ก็ไม่ว่ากัน แต่ผมแนะนำว่าหา Handlebar มาติดเสริมก่อน ค่อยติดกระดิ่งกับ Handlebar อีกทีจะดีกว่าครับ เสียงของกระดิ่งดังกังวาลดีมาก ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเวลาขี่แล้วมีคนเดินขวาง เราจะสามารถดีดกระดิ่งเตือนเขาได้

ล้อหน้าของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter E25

การขับเคลื่อนของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ายังคงอยู่ที่มอเตอร์ล้อหน้าเหมือนเดิม แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ล้อหลายอย่างเลย ตั้งแต่ขนาดที่เปลี่ยนมาเป็น 9 นิ้ว และเป็นยางตันแบบไฮบริด คือ ด้านนอกเป็นยาง แต่ด้านในเป็นโฟม ซึ่งออกแบบมาช่วยให้มีความนุ่มนวลในการขับขี่เข้าใกล้ยางลมมากขึ้น ในขณะที่ยางยังเป็นยางตัน ไม่รั่วไม่ซึมเหมือนเดิม

และหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีการติดแผ่นพลาสติกสะท้อนแสงทั้งด้านหน้า และด้านข้างของตัวสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อความปลอดภัยเวลาขับขี่เวลากลางคืน

ล้อหลังมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คือ บังโคลนหลังมีดีไซน์แบบรุ่น Ninebot Kickscooter MAX ซึ่งช่วยป้องกันน้ำดีดใส่แผ่นหลังเราได้ดีมาก และยังมีไฟท้ายอีกด้วย นอกจากนี้ ก็มีการเพิ่มระบบเบรกแม่เหล็กเข้าไป เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเบรก และลดระยะที่ต้องใช้ในการเบรกให้น้อยลงไปได้อีกราวๆ 1 เมตรเลย จากที่ผมลองขี่มา และหากขี่ด้วยความเร็วไม่สูง จะเบรกให้รถหยุดนิ่งได้ไวกว่าเดิมพอสมควร

ดอกยางของล้อ Ninebot Kickscooter E25

ดอกยางมีการออกแบบใหม่ โดยตัวเนื้อยางมีความแข็งแรงขึ้น มีหน้าสัมผัสยางกับผิวถนนมากขึ้น ดอกยางเท่าที่ลองขี่ดูแล้ว ก็ดูจะสึกหรอยากขึ้นด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ Ninebot Kickscooter ES2 ยังเป็นปัญหา เพราะแรงบิดมอเตอร์ที่สูง และผิวถนนที่ขรุขระ ทำให้ดอกยางของล้อหน้าของ ES2 หมดไวมาก

ประสบการณ์ในการขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter E25

เพื่อให้สามารถเขียนรีวิวได้อย่างเต็มเหนี่ยว เลยลองเอา Ninebot Kickscooter E25 ไปใช้ในหลายๆ สถานการณ์เลยครับ ตั้งแต่ขี่ไปซื้อพิซซ่าหน้าปากซอย ไปจนถึงการขี่ไป-กลับที่ทำงาน (ซึ่งปกติผมใช้ Ninebot Kickscooter ES4 หรือ MAX) ในระยะทางรอบละ 36 กิโลเมตร (ไปและกลับ เที่ยวละ 18 กิโลเมตร) ออกถนนใหญ่ และการติดรถยนต์ ไป Road trip เที่ยวต่างจังหวัดด้วย

ผู้ชายผมสั้น ใส่แว่น สวมเสื้อยืดคอวีสีฟ้า กางเกงขาสั้นสีกากี กำลังขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter E25 อยู่บนถนนบนสันเขื่อน

อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้น เจ้านี่ขี่สบายขึ้น เพราะล้อใหญ่ขึ้น ขับขี่นุ่มนวลขึ้น ฐานวางเท้าก็ยาวขึ้น มีพื้นที่เยอะขึ้นมาก นี่รวมไปถึงการขี่พร้อมกันสองคนด้วยนะครับ อย่างไรก็ดี ด้วยแรงมอเตอร์ในระดับปกติที่ 300 วัตต์ และเร่งไปได้สูงสุดที่ 700 วัตต์ ถ้าขี่ด้วยโหมด Normal (ที่บางคนเรียก S ขาว) จะหน่วงๆ หน่อย ถ้าซ้อนสอง ควรขี่ในโหมด Sport (ที่บางคนเรียกโหมด S แดง) จะทำให้ออกตัวคล่องกว่า และด้วยล้อที่ใหญ่ขึ้น Ninebot Kickscooter E25 นี่สามารถขึ้นเนินที่ชันๆ ได้ดีกว่า Ninebot Kickscooter ES2 เลยครับ แต่ยังด้อยกว่า ES4 และ MAX นะ

Ninebot Kickscooter E25 ที่ถูก

แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่โตขึ้น แต่การพับเก็บก็ยังทำได้สะดวก ใช้เท้าเหยียบ พับเก็บได้ในเวลาไม่กี่วินาที และบอกตรงๆ ว่า ออกแบบตัวสลักที่ยึดคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากับล้อหลังมาได้ดีขึ้น ยึดติดได้ง่ายกว่าเดิม และแกะออกได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ แค่ใช้นิ้วเดียวกดที่ตรงบังโคลนท้ายเบาๆ ก็สามารถปลดล็อก ยกคอสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมาได้สบายๆ แล้ว ในสภาพพับแบบนี้ ก็สามารถเก็บไว้ใต้โต๊ะ เวลาไปทานอาหารในร้านได้สบายๆ เวลาเข้าห้าง ก็เล่นสะดวก

ภาพขณะกำลังถือ Ninebot Kickscooter E25 ที่พับอยู่ลงบันไดสะพานลอย

น้ำหนักตัวรถ 14.4 กิโลกรัม ถือว่าเพิ่มมาพอสมควร สำหรับคนที่ขี่ Ninebot Kickscooter ES2 แล้วรู้สึกว่าหนัก เจ้านี่หนักกว่าอีกราวๆ 2.2 กิโลกรัมนะ หนักกว่า ES4 อีก บอกเลย แต่ผมถือ E25 ขึ้นลงสะพานลอยสบายๆ นั่นเพราะผมชินกับการถือ Ninebot Kickscooter MAX ที่หนัก 18.5 กิโลกรัมอยู่แล้วฮะ

Ninebot Kickscooter E25 ขณะกำลังจอดติดไฟแดงอยู่กับมอเตอร์ไซค์

ถ้าระยะทางวิ่งรวมไม่ไกลมาก ซัก 12-13 กิโลเมตร ขี่โหมด Sport (S แดง) จะทันใจกว่ามาก เพราะวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าระยะทางไกลกว่านั้น เช่น ผมขี่ไปทำงาน ระยะทาง 18 กิโลเมตร ก็จะต้องขี่โหมด Normal (S ขาว) ซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รู้สึกได้เลยว่าช้าลงไปมากครับ ถ้าต้องขี่ระยะทางไกลๆ ผมคิดว่าไปพิจารณา ES4 ที่ราคาเท่ากัน แต่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระยะทางไกลสุดได้ถึง 36 กิโลเมตร (ในโหมด Normal ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดีกว่า (แม้ตามสเปกจะบอกว่าได้สูงสุด 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่นั่นคงต้องวิ่งที่โหมด Eco ที่ความเร็วแค่ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอะครับ) หรือไม่ก็ไปใช้ Ninebot Kickscooter MAX ที่ได้ระยะทางสูงสุดราวๆ 48 กิโลเมตร ในโหมด Normal ที่ความเร็วสูงสุด 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปเลย อยู่ที่ว่าเรามีความจำเป็นต้องพับเก็บ ประหยัดเนื้อที่หรือเปล่า

Ninebot Kickscooter E25 จอดอยู่ที่หน้าร้าน The Pizza Company

แม้ว่าจะยังไม่ได้มีโอกาสได้ลองขี่ฝ่าฝนดู แต่จากประสบการณ์ที่ขี่ Ninebot Kickscooter MAX มากว่า 5,000 กิโลเมตร บอกได้เลยว่า Ninebot Kickscooter E25 นี่ให้ความรู้สึกของการเกาะถนนที่ดีเยี่ยมกว่า ES2 มาก บังโคลนดีไซน์เหมือนรุ่น MAX ทำให้หมดห่วงเรื่องน้ำดีดใส่หลังแน่นอน เวลาที่ผมขี่เข้าโค้ง หรือต้องเลี้ยวในทางแยก รู้สึกได้เลยแหละว่า E25 ให้ความรู้สึกมั่นใจในการขี่ใกล้เคียงกับรุ่น MAX

ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการขี่ตอนกลางคืน Ninebot Kickscooter E25 ได้รับการออกแบบมาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะมีไฟท้ายแล้ว (ES2 ไม่มี) มีแผ่นพลาสติกสะท้อนแสงติดด้านข้าง และไฟหน้าก็มีการปรับปรุงอีก ซึ่งถ้าเป็น Ninebot Kickscooter ES2 (ภาพซ้าย) จะเห็นว่าไฟหน้าจะส่องสว่าง เห็นถนนรอบๆ ได้ดี แต่ไฟจะกระจาย และคนที่เดินสวนมาก หรือรถที่สวนมาจะแสบตา เพราะไฟมันเข้าตา แต่ถ้าเป็น Ninebot Kickscooter E25 เนี่ย ไฟจะสว่างไม่กว้างเท่า แต่จะออกแนวมีโฟกัสที่ชัดเจน สามารถมองไกลๆ ได้ดีกว่า และคนหรือรถที่สวนทางมาจะไม่ถูกไฟแยงตา อันนี้มั่นใจเลย เพราะลองไปเดินมองมาแล้ว

สองเรื่องทิ้งท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือเรื่องของเบรก และการชาร์จแบตเตอรี่ครับ

• การเบรกของ Ninebot Kickscooter E25 นี่ การเพิ่ม Magnetic brake มาที่ล้อหลัง แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้หยุดกึกได้สนิทและไวเหมือนรุ่น MAX ก็ตาม แต่ระยะเบรกก็สั้นลงกว่ารุ่น Ninebot Kickscooter ES2 มากๆ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ขี่มาด้วยความเร็วไม่ได้สูงมาก
• แบตเตอรี่ของ Ninebot Kickscooter E25 ใหญ่กว่า ES2 นิดเดียว เรียกว่าไม่เห็นความแตกต่างก็แล้วกัน เวลาชาร์จแบตเตอรี่ ก็ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งแอบจะนานกว่าเดิมนิดหน่อย แต่ว่าเวลาใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน เราก็อาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างนี้มาก อย่างกรณีของผม ผมชาร์จตอนระหว่างทำงาน กับตอนกลางคืน ก็เสียบชาร์จทิ้งไว้จนเต็มนั่นแหละ มันเต็มก่อนที่เราจะเอาไปใช้งานอยู่แล้ว

บทสรุปการรีวิว Ninebot Kickscooter E25

ก็อย่างที่ผมสปอยล์ไปตอนต้น ถ้าเรามีงบพอ ผมก็อยากจะให้จัด Ninebot Kickscooter E25 เพราะในแง่ของการขับขี่ ให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าแน่นอน ทั้งความมั่นคง นุ่มนวล ขี่สบาย แต่ด้วยสนนราคา 25,900 บาท คุณอาจจะลังเลกับการเลือก Ninebot Kicscooter ES4 แทน เพราะแม้จะมีระยะเบรกมากกว่า ขี่ไม่นุ่มนวลและสบายเท่า แต่แลกมาด้วยระยะทางที่ขี่ได้ไกลสูงสุดมากขึ้น ความเร็วที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะลังเลกันอยู่จริงๆ

แต่หากคิดว่าจะซื้อแบตเตอรี่เสริม มาติดกับ E25 เพื่อจะได้เป็นรุ่น E45 ซึ่งจะได้ความเร็วสูงสุดมากขึ้น ระยะทางไกลขึ้น ผมก็อยากแนะนำให้ไปพิจารณา Ninebot Kickscooter MAX ดูครับ ราคาก็จะใกล้ๆ กับการเอาแบตเตอรี่เสริมไปใส่ E25 เลย จะใช้รุ่นไหน อยู่ที่ว่าต้องการพับเก็บประหยัดเนื้อที่ หยิบถือสะดวกกว่าหรือเปล่าเลยละครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า