วันก่อนนู้นเมื่อนานมาแล้ว ได้มีโอกาสไปพบกับพี่เอซ ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่ต้องการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหารปลอดภัย และการบริโภคอย่างยั่งยืนในสังคม และได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เขามีการนำน้ำดื่ม greenery water ที่บรรจุในกระป๋องอลูมิเนียมไปแจกในงาน Thailand Influencer Awards 2020 แทนการแจกน้ำดื่มที่บรรจุขวด PET ดูแปลกตาดีครับ เพราะปกติเครื่องดื่มที่บรรจุในกระป๋องอลูมิเนียมแบบนี้มักจะเป็น น้ำอัดลม เบียร์ หรือเครื่องดื่มชูกำลังซะมากกว่า เลยได้มีโอกาสคุยกับพี่เขาอยู่พักใหญ่ๆ เกี่ยวกับเหตุและผลของการใช้กระป๋องอลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ของน้ำดื่ม และก็เลยถือโอกาสหาข้อมูลเพิ่มเติมเองด้วย แล้วเอามาเล่าสู่กันอ่านครับ ว่าน้ำดื่มบรรจุกระป๋องมันจะรักษ์โลกกว่าการใช้ขวด PET บรรจุยังไง แล้วมันยังมีข้อจำกัด ความท้าทายอยู่ที่ตรงไหน
จะพลาสติก หรือ กระป๋องอลูมิเนียม คุณภาพของน้ำดื่มไม่ได้แตกต่าง แต่กระป๋องอลูมิเนียมดีกว่าตรงที่…
ในทางทฤษฎีแล้ว คุณภาพของน้ำดื่ม จะขึ้นอยู่กับน้ำที่นำมาใช้และกระบวนการในการผลิต ซึ่งน้ำดื่มส่วนใหญ่ก็ผลิตด้วยกระบวนการ Reverse Osmosis (หรือเรียกสั้นๆ ว่า RO) และฆ่าเชื้อด้วย O3 กันทั้งนั้น ฉะนั้นในแง่ของคุณภาพน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานจริงๆ ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก แต่น้ำดื่มที่บรรจุกระป๋องอลูมิเนียมจะดีกว่าการบรรจุบนกระป๋อง PET ตรงที่
● อายุการจัดเก็บยาวนานกว่า เพียงแต่ในแง่ของน้ำดื่มนั้น หลายคนอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มาก เพราะคนเราต้องดื่มน้ำทุกวัน วันละหลายๆ แก้วอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสเก็บเอาไว้นานๆ เท่าไหร่
● อลูมิเนียมเป็นโลหะ นำความร้อนความเย็นได้ดีกว่าพลาสติก ไอ้ความร้อนนี่ไม่ค่อยมีคนสนใจหรอก แต่ไอ้ความเย็นนี่สิมันเยี่ยมมากครับนาย เพราะแช่เย็นแล้ว น้ำจะเย็นเร็วกว่าการแช่น้ำที่บรรจุขวด PET ครับ ขนาดตู้เย็นที่บ้านผมที่ไม่ค่อยเย็นเท่าไหร่ ยังแช่น้ำออกมาแล้ว เย็นกว่าแช่ด้วยขวดพลาสติกเยอะ
แม้ว่าขวด PET ก็รีไซเคิลได้ แต่ว่าสู้กระป๋องอลูมิเนียมไม่ได้ตรงที่…
แม้ว่าจะไม่ใช่น้ำดื่มทุกยี่ห้อที่จะมีการพิมพ์ไว้ที่ฉลากข้างขวดว่าขวด PET สามารถรีไซเคิลได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ขวด PET นี่รีไซเคิลได้ครับ แต่มันก็มีข้อด้อยอยู่หลายข้อเลย ไม่ว่าจะเป็น
● การรีไซเคิลที่ถึงแม้จะบอกว่าสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% แต่ แต่มันไม่ได้หมายความว่าจะรีไซเคิลกลับมาเป็นขวดน้ำดื่ม หรือใช้บรรจุอาหารได้นะครับ พวกพลาสติก PET ที่รีไซเคิล จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกที่เรียกว่า rPET ซึ่งแม้ว่าในบางประเทศเขาจะเชื่อมั่นในคุณภาพของเม็ดพลาสติก rPET ว่าสามารถนำมาใช้ทำภาชนะบรรจุอาหารได้แล้ว แต่ในประเทศไทย กฎหมายยังห้ามไม่ให้นำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่กับบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ซึ่งครอบคลุมรวมไปถึงเม็ดพลาสติกอย่าง rPET ด้วย (ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันให้สามารถนำ rPET มาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารได้) แต่เป็นที่คาดการณ์กันว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ก็จะเริ่มหันมาใช้ขวดที่เป็น rPET กันมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า และบางแบรนด์เราก็เริ่มได้เห็นการเปลี่ยนมาใช้ rPET แล้ว เช่น เนสต์เล่ ในสหรัฐอเมริกา ส่วนกระป๋องอลูมิเนียมนั้น อัตราการนำมารีไซเคิลสูงสุดคือ 75% และนำไปใช้บรรจุอาหารได้เช่นเดิมด้วย เพราะอลูมิเนียมยังคงรักษาคุณสมบัติของตัวมันเองเอาไว้ได้ แม้จะถูกรีไซเคิลแล้ว

● การรีไซเคิลขวด PET ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่มาก (เมื่อเทียบที่การรีไซเคิลขยะน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับอลูมิเนียม นั่นเพราะว่าในกระบวนการรีไซเคิล มันก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยเลย (ขยะที่เป็นวัสดุอื่นๆ ก็เช่นกัน) ในขณะที่รีไซเคิลอลูมิเนียม 1 กิโลกรัม ลดก๊าซ CO2 ได้ถึง 3.71 กิโลกรัม อีกทั้งพลังงานที่ต้องใช้ในการรีไซเคิลอลูมิเนียมก็น้อยกว่าการผลิตใหม่มากถึง 90%-95% (แล้วแต่ว่าอ้างอิงข้อมูลจากที่ไหนละนะ)

● ผู้บริโภคไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการรีไซเคิลขวด PET ซักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ไม่ได้มีการปลูกฝังวินัยในการแยกขยะ อ้างอิงราคาจากเว็บไซต์วงศ์พาณิชย์ ราคาขายขยะขวด PET แบบขวดใส ที่เขาเรียกว่า No.1 ขวดน้ำ PET ใส (ณ วันที่เขียนบล็อกนี้อยู่) อยู่ที่กิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่ราคาขายกระป๋องอลูมิเนียมของโค้กอยู่ที่กิโลกรัมละ 31 บาท และหากเป็นกระป๋องอลูมิเนียมหนาทั่วไปก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 39 บาท ถ้าต้องแบกน้ำหนัก 1 กิโลกรัมเท่ากัน เก็บกระป๋องอลูมิเนียมไปขายนี่คุ้มกว่าเห็นๆ
ทว่า… บรรจุภัณฑ์ที่เป็นอลูมิเนียมก็ยังมีข้อจำกัดอยู่
แต่ถ้าไม่พูดถึงข้อจำกัดเลย เดี๋ยวจะหาว่าผมเอาแต่อวยบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมนะครับ จริงๆ แล้ว จากที่ได้ลองบริโภคดูแล้ว ผมก็พบว่ามันมีข้อจำกัดความท้าทายอยู่หลายอย่างทีเดียวที่อาจจะทำให้หลายๆ คน ยังไม่เลือกที่จะซื้อน้ำดื่มบรรจุกระป๋องอลูมิเนียม นั่นก็คือ
● ราคาของน้ำดื่มบรรจุกระป๋องอลูมิเนียมอย่าง greenery water นี่แพงกว่าที่บรรจุขวด PET ประมาณ 3-4 เท่า พูดง่ายๆ ซื้อมาดื่มกระป๋องเดียว (330 มิลลิลิตร) นี่ซื้อที่บรรจุกระป๋อง PET ได้ 2 ขวด (1.2 ลิตร) นี่ยังไม่นับกรณีที่ 7-Eleven จัดโปรโมชันลดราคาอีกนะ

● ฝา EOE (Easy Open End) ของกระป๋องอลูมิเนียม เปิดแล้วก็คือต้องดื่มให้หมด เก็บเอาไว้มีโอกาสหกหล่นเลอะเทอะ (ผมเจอมากับตัว กับผู้เข้าร่วมงาน Thailand Influencer Awards 2020 นี่แหละ ดื่มไม่หมด วางไว้ หกจ้า เปียกเลย) ในขณะที่ขวด PET นี่ปิดฝาเกลียวเก็บไว้ดื่มที่หลังได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว กระป๋องอลูมิเนียมสามารถนำฝาปิดแบบเกลียวได้นะ แต่ต้นทุนแพงขึ้นอีกโขเลย ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาแพงเข้าไปอีก จนคนเมินเลยแหละ
● ในแง่ของการเปิดขึ้นมาดื่มเลย พวกกระป๋องอลูมิเนียมก็อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า ต้องเช็ดฝากระป๋องก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเก็บไว้ยังไง ไอ้ครั้นจะไปหยิบหลอดพลาสติกมันใส่ เดี๋ยวก็ไม่รักษ์โลก (หลอดกระดาษก็ไม่ใช่อะไรที่จะหาได้ง่ายๆ เมื่อต้องการใช้ ไม่งั้นก็ต้องพกหลอดส่วนตัวแล้วละ) แต่ขวด PET เนี่ย มันบิดฝาเกลียวแล้ว กระดกได้ มั่นใจกว่า เพราะส่วนปากขวดมันโดนฝาปิดเอาไว้
● ตัวเลือกของขนาดบรรจุของกระป๋องอลูมิเนียมยังจำกัด
เอาเป็นว่า น้ำดื่มบรรจุกระป๋องอลูมิเนียมก็จะเป็นทางเลือกสำหรับคนอยากรักษ์โลก
ณ ตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่าน้ำดื่มบรรจุกระป๋องอลูมิเนียมคงจะไม่ใช่อะไรสำหรับคนทั่วไปครับ ด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด PET ทั่วไปถึง 3-4 เท่า มันเป็นปัจจัยให้คนมองข้ามอย่างมาก ถ้าอยากรักษ์โลกแบบประหยัดเงิน น่าจะเลือกซื้อพวกกระบอกน้ำดื่มมาพกพาจะดีกว่า ไปกดน้ำจากตู้น้ำดื่มที่ออฟฟิศ หรือกรอกน้ำมาจากบ้าน อะไรแบบนี้ (ปัจจุบันผมทำแบบนี้อยู่) แต่ถ้ารักษ์โลกและพร้อมจ่าย จริงๆ กระป๋องละ 12 บาทก็ไม่ได้เรียกว่าแพงเวอร์วังอะไร ราคาต่อปริมาณ ถูกกว่าน้ำอัดลม เพียงแต่เราเจอการเปรียบเทียบจากน้ำดื่มบรรจุขวด PET ก็เท่านั้นเองแหละ จริงๆ มันถูกกว่าน้ำเปล่าบรรจุขวด PET ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาอีกนะ 555