ในการที่จะให้เราสามารถเข้าถึง QNAP NAS ที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ จากอินเทอร์เน็ตได้นั้น เมื่อเราได้ Public IP มาแล้วแต่มันไม่ใช่ Fixed IP (หมายถึง IP address มันจะมีโอกาสถูกเปลี่ยนไปหากมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใหม่ หรือทาง ISP จ่าย IP address ใหม่มาให้เรา) เราต้องใช้บริการที่เรียกว่า Dynamic DNS เข้ามาช่วยจับคู่ IP address ของเรา กับชื่อโดเมน (หรือบางคนเรียก URL) ที่เราจะใช้เรียกแทน IP address ของเรา ซึ่งในกรณีนี้ ทาง QNAP เขามีบริการ myQNAPcloud ไว้ให้ใช้ แต่ถ้าเกิดเราอยากได้ชื่อโดเมนแบบอื่น หรือ ปกติก็ใช้บริการ Dynamic DNS ที่อื่นอยู่แล้ว เราจะใช้บริการที่นั่นแทน myQNAPcloud ได้ไหม? คำตอบคือ ได้ครับ
ผู้ใช้งาน QNAP NAS หลายคน ไม่ทันรู้ตัวว่ามีฟีเจอร์นี้ เพราะเวลาเซ็ตบริการ Dynamic DNS ของ QNAP NAS เขาจะไปเซ็ตที่แอป myQNAPclou กัน ซึ่งนั่นเอาไว้เซ็ตบริการของ QNAP อย่างเดียว แต่หากต้องการใช้บริการ Dynamic DNS ของที่อื่น เราต้องไปที่ Network & Virtual Switches ครับ

เข้ามาที่ Network & Virtual Switch แล้ว ดูตรงหัวข้อ Access Services > DDNS เราจะเห็นหน้าจอโปรแกรมแบบด้านบนนี้ สำหรับใครที่ใช้ myQNAPcloud อยู่แล้ว เราก็จะเห็นรายการนี้อยู่ในรายชื่อของบริการ DDNS (ย่อมาจาก Dynamic DNS) อยู่ ถ้าเราอยากจะเพิ่มบริการอื่นเข้าไป ก็คลิกที่ปุ่ม Add

ถัดมาจะเป็นการตั้งค่าบริการ Dynamic DNS ซึ่งก็จะมีการตั้งค่าที่เหมือนๆ กัน ก็คือ
● Select DDNS server ให้เราเลือกว่าจะใช้บริการของที่ไหน ซึ่งมีให้เลือกเยอะ และหลายๆ ที่ ก็คุ้นๆ กันอยู่ เช่น สำหรับผม No-IP กับ Google Domain นี่คุ้นมาก
● Username ก็คือ Username สำหรับล็อกอินไปใช้บริการ Dynamic DNS นั่นแหละ
● Password ก็คือรหัสผ่านสำหรับล็อกอินไปใช้บริการ Dynamic DNS
● Hostname คือ โดเมนเนมที่เราได้เลือกใช้กับบริการ Dynamic DNS
● Check the external IP address automatically เอาไว้ตั้งเวลาสำหรับการตรวจสอบและอัปเดตให้ Dynamic DNS เขารู้ว่าปัจจุบัน IP address ของเราเป็นอันไหนอยู่ ตั้งได้ระหว่าง 5 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จริงๆ ไม่ต้องตั้งถี่ก็ได้ เพราะไม่ได้มีการอัปเดตบ่อยอยู่แล้ว แต่หากตั้งห่างเกินไป เกิดมีการเปลี่ยนขึ้นมาจริงๆ เว็บก็อาจจะล่มไปพักใหญ่ๆ ได้เช่นกัน อันนี้แล้วแต่จะเลือกเลย
● URL ไม่ต้องไปสนใจ เพราะว่ามันเป็น URL สำหรับ API ของบริการ Dynamic DNS นั้นๆ เวลาเราเลือกตรง Select DDNS server แล้ว ค่าใน URL มันจะเปลี่ยนเอง
● Current WAN IP คือ IP address ของเราในตอนนี้
พอเซ็ตค่าเสร็จ ก็คลิกปุ่ม Apply

เมื่อเรียบร้อยแล้ว ก็จะปรากฏรายการของ Dynamic DNS ที่เราเพิ่มเข้าไปมาในหน้าจอ อย่างในกรณีนี้ผมใช้บริการของ NO-IP เป็นต้นครับ ง่ายๆ แค่นี้เลย เพียงเท่านั้น คุณก็สามารถเข้าถึง QNAP NAS ของคุณ ด้วย URL อื่น ที่ไม่ใช่แค่ myQNAPcloud แล้วละครับ

และเมื่อใช้บริการ Dynamic DNS รายอื่นได้แบบนี้ เราจะสามารถจดโดเมนเนมเองมาใช้กับ QNAP NAS ได้ด้วยนะครับ (แน่นอน เสียตังค์นะ เป็นรายปี) แต่ในกรณีของการใช้บริการ Dynamic DNS รายอื่นแบบนี้ ถ้าอยากจะใช้การเชื่อมต่อผ่าน HTTPS ก็ต้องไปหาทางเอา SSL certificate กันเอาเองนะครับ จะเป็นของฟรีอย่าง Let’s Encrypt ก็ได้ แต่จะน่ารำคาญหน่อย เพราะเราจะต้อง Renew ใหม่ทุก 90 วัน ซึ่งถ้าเราใช้ myQNAPcloud อะ มันจะทำให้เราโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นกรณีนี้เราต้องทำเอง หรือใครจะใช้เงินแก้ปัญหาก็ได้ ไปหาบริการแบบเสียเงินเอาเป็นรายปี เช่นของ NO-IP ตกปีละ $20 ครับ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่แพงนะ รวมๆ กับค่าจดโดเมนเนมด้วย (ถ้าจะเอาชื่อแบบตามใจฉันได้จริงๆ) ก็จะมีค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณปีละ 1,000 – 2,000 บาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจดโดเมนเนมอะไร บริการของใคร และในกรณีของ SSL ก็เลือกเอาแบบง่ายๆ ไม่แพง เหมาะกับการใช้ส่วนตัว)