Home>>บทความ How-to>>QNAP NAS 101 EP29: ใช้ประโยชน์จากพอร์ต LAN ที่มีหลายพอร์ต ด้วย Port trunking และ Link aggregation
บทความ How-toQNAP User Guide

QNAP NAS 101 EP29: ใช้ประโยชน์จากพอร์ต LAN ที่มีหลายพอร์ต ด้วย Port trunking และ Link aggregation

ผู้ใช้งาน QNAP NAS เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมบางรุ่นมันมีพอร์ต LAN มาให้เยอะเหลือเกิน ยิ่งรุ่นสำหรับ SMB ก่อนที่ QNAP เขาจะใส่พอร์ต 2.5GbE มาให้เนี่ย บางรุ่นมีให้มา 4 พอร์ตเลยด้วยซ้ำ ผู้ใช้งานบางท่านเดาถูกว่ามันมีเอาไว้เพื่อเพิ่มแบนด์วิธให้กับ QNAP NAS แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ได้ง่ายๆ แบบนั้นครับ ในบล็อกตอนนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า พอร์ต LAN เยอะๆ เนี่ย เอาไว้ทำอะไรกันได้บ้าง และจะใช้ประโยชน์จากมันเต็มที่นี่ต้องทำยังไง

พอร์ต LAN เยอะแยะ เพิ่มแบนด์วิธให้กับ QNAP NAS ได้ยังไง

พอเห็นพอร์ต LAN เยอะแยะ ก็เดากันได้แหละว่ามันเอาไว้เพิ่มแบนด์วิธ ถ้าเป็นพอร์ต 1GbE ก็พอร์ตละ 1Gbps ถ้าเป็นพอร์ต 2.5GbE ก็พอร์ตละ 2.5Gbps มีกี่พอร์ตก็คูณกันไป ในทางทฤษฎีมันก็ง่ายๆ แบบนั้นแหละ แบนด์วิธที่เยอะอะ มันจะทำให้ QNAP NAS รองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้มากขึ้น ในขณะที่ยังให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่เพียงพอ เช่น ถ้าเราเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่าน LAN 1GbE ถ้า QNAP NAS มันเสียบสาย LAN แค่พอร์ตเดียว เวลาเราต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลทางทฤษฎีก็จะได้ 1Gbps เต็มๆ ฮะ แต่พอเสียบเป็นสองเครื่องแล้วใช้งานพร้อมกัน สองเครื่องนี้ก็จะแชร์แบนด์วิธ 1Gbps กันไป ถ้าจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตัวหารก็เยอะขึ้นไปอีก

นอกจากนี้มันยังมีไว้เพื่อเป็นตัวสำรองในกรณีที่พอร์ต LAN พอร์ตใดพอร์ตนึงเสียไป มันก็จะยังมีพอร์ตสำรองที่ทำงานต่อไปได้

แล้วมันมีการเลือกตั้งค่ายังไงบ้าง?

แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเสียบสาย LAN ครบทุกพอร์ตแล้วแบนด์วิธจะเพิ่มตามจำนวนพอร์ตที่ใช้เลยนะครับ มันต้องมีการตั้งค่าก่อน ซึ่งวิธีการตั้งค่าเพื่อเพิ่มแบนด์วิธให้กับ QNAP NAS มีสองวิธีคือ

การทำ Service binding เพื่อกำหนดว่า Service ไหนจะไปใช้งานผ่านทางพอร์ต LAN พอร์ตไหน ซึ่งการทำวิธีนี้มันไม่ใช่การรวมแบนด์วิธ แต่เป็นการกระจายแบนด์วิธออก มันจะเหมาะสำหรับกรณีที่ต้องการการันตีแบนด์วิธสำหรับบริการบางอย่าง แต่หากมีผู้ใช้งานจำนวนมากๆ แบนด์วิธก็จะโดนหารอยู่ดี

หน้าจอการตั้งค่า Service binding ของ QNAP NAS

● การทำ Port trunking (พวก Network switch อาจจะเรียกว่า Link aggregation) แบบนี้คือการรวมแบนด์วิธของแต่ละพอร์ตมาด้วยกันจริงๆ ซึ่งจะมีวิธีการรวมหลากหลายแบบ แล้วแต่เราจะเลือกอีกนั่นแหละ ซึ่งบล็อกตอนนี้เราจะพูดถึงการทำ Port trunking นี่แหละครับ การทำขยายแบนด์วิธด้วยวิธีนี้ หากใช้กับ Network switch ที่เป็น Managed switch รองรับมาตรฐาน 802.3ad dynamic แล้ว มันจะขยายแบนด์วิธได้ตามจำนวนพอร์ต LAN ที่เรารวบเข้าไว้ด้วยกัน นั่นหมายความว่า สมมติเรารวบ 1GbE พอร์ตไว้ด้วยกัน 2 พอร์ต แบนด์วิธได้ 2Gbps ถ้าเราเอาคอมพิวเตอร์ต่อผ่าน LAN 1GbE สองเครื่อง ก็หารกันได้แบนด์วิธสูงสุดไปคนละ 1GbE เต็มๆ หากมากกว่านี้ก็เช่นเคย ตัวหารเพิ่ม แต่ว่าเรามีแบนด์วิธไว้ให้หารเพิ่มด้วยเช่นกันไง และการทำ Port trunking นั้น มันไม่ได้มีไว้แค่เพิ่มแบนด์วิธเท่านั้นนะ แต่มันมีไว้เพื่อเป็นสำรองเพื่อให้แน่ใจว่าระบบจะไม่ล่ม แม้การ์ดเน็ตเวิร์กบางตัวจะใช้งานไม่ได้

หน้าจอการตั้งค่า Port trunking ของ QNAP NAS

การทำ Port trunking บน QNAP NAS

ขั้นตอนการทำไม่ยากเลยครับ ก่อนอื่นก็ไปเปิดแอป Network & Virtual Switch แล้วไปที่ Network > Interfaces แล้วคลิกตรงไอคอน + Port Trunking เพื่อเริ่มการตั้งค่า

หน้าจอ Network & Virtual Switch ของ QNAP NAS

ในหน้าจอ Port Trunking ก็คลิกที่ปุ่ม Add ครับ

หน้าจอ Port trunking ของ QNAP NAS

ในหน้าจอ Port Trunking(Add) นี่ให้เราเลือกว่าเราจะรวบพอร์ตไหนมารวมกันบ้าง ในหน้าจอนี้มันจะแสดงเฉพาะพอร์ตที่เราสามารถเลือกได้ครับ ซึ่งปกติก็ควรจะแสดงทั้งหมดที่เรามีอะนะ พอเราเลือกเรียบร้อยแล้ว เราก็คลิกปุ่ม Next

หน้าจอ Port trunking (Add) ของ QNAP NAS แสดงรายชื่อ Adapter 1 และ Adapter 2 ให้เลือก

ถามว่าต้องเลือกทั้งหมดไหม? ไม่จำเป็นครับ มันอยู่ที่ว่าเราต้องการตั้งค่าแบบไหน สำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กร อาจจะเลือกที่จะรวบแค่บางพอร์ต แล้วทำไปควบคู่กับการทำ Service binding เพื่อที่จะไม่แค่ขยายแบนด์วิธเท่านั้น แต่เป็นการการันตีแบนด์วิธให้กับบริการบางอย่างด้วย

หน้าจอ Port trunking (Add) ของ QNAP NAS แสดงตัวเลือกสองตัว คือ Directly connect two NAS without a switch (for VJBOD) และ General Switch (most common)

มันจะมีตัวเลือกให้เลือก 3 แบบ คือ

Direct connect two NAS without a switch (for VJBOD) อันนี้เขาเอาไว้ใช้สำหรับตอนที่เราจะเชื่อมต่อ QNAP NAS สองเครื่องเข้าด้วยกันผ่านพอร์ต LAN ซึ่งรองรับ Balance-rr (Round Robin) คือโหมดการรับส่งข้อมูลออกจากเน็ตเวิร์กการ์ดที่มาตามลำดับ ในโหมดนี้จะเป็น Fault tolerance กับ Load balancing หรือกระจายโหลดให้แต่ละพอร์ต LAN นั่นเอง

General Switch (most common) เป็นวิธีปกติที่เขามักจะใช้กัน เพราะมันรองรับกับสวิตช์ทั่วไปครับ ตัวนี้จะรองรับ Active-Backup, Balance-tlb และ Balance-alb ซึ่งทั้งหมดเนี่ย ก็เป็นการเน้นเรื่อง Fault tolerance และ Load balancing เป็นหลัก ซึ่งแต่ละแบบเป็นอย่างนี้ครับ

     ➧ Active-Backup จะตั้งค่าให้พอร์ต LAN ทำงานแค่พอร์ตเดียว ส่วนที่เหลือจะเป็นตัวสำรองในกรณีที่พอร์ตที่ทำงานอยู่ (Active) อยู่ๆ ใช้งานไม่ได้
     ➧ Balance-tlb จะตั้งค่าเพื่อกระจายโหลดไปยังพอร์ต LAN แต่ละพอร์ตให้ช่วยกันส่งข้อมูลออกไป แต่ทราฟฟิกขาเข้าจะถูกรับมาทางพอร์ต LAN ที่กำหนดไว้ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่พอร์ต LAN ที่กำหนดไว้ใช้งานไม่ได้ มันจะเปลี่ยนไปใช้พอร์ต LAN อื่นแทน
     ➧ Balance-alb จะคล้ายๆ กับ Balance-tlb แต่ที่เพิ่มมาคือ ทราฟฟิกขาเข้าจะมีการทำ Load balancing ด้วย

Managed Switch (support Port Trunking/LACP) ซึ่งการตั้งค่าแบบนี้ ต้องใช้ควบคู่กับ Managed switch (ที่จะมีราคาแพงกว่าสวิตช์ปกติ) วิธีนี้จะรองรับ Balance-rr, Balance-xor, Broadcast และ 802.3ad dynamic การตั้งค่าในโหมดนี้ ต้องมีการไปตั้งค่าที่ฝั่งสวิตช์ด้วยนะครับ จะเลือกตัวเลือกแบบไหน ก็ต้องไปดูด้วยว่าสวิตช์ของคุณรองรับโหมดไหนบ้าง

     ➧ Balance-rr คือโหมดการรับส่งข้อมูลออกจากเน็ตเวิร์กการ์ดที่มาตามลำดับ
     ➧ Balance-xor คือโหมดการรับส่งข้อมูลโดยใช้อัลกอริธึม XOR คือเลือกดูที่ปลายทาง หากปลายทางเป็นที่เดียวกัน (พิจารณาจาก MAC address) ก็จะใช้พอร์ต LAN เดิมมาใช้ในการรับส่งข้อมูล นั่นหมายความว่า หากเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นก็จะเปลี่ยน
     ➧ Broadcast เป็นการตั้งค่าแบบ Fault tolerance คือ จะส่งข้อมูลเดียวกันออกจากพอร์ต LAN ทุกพอร์ต
     ➧ 802.3ad dynamic การตั้งค่านี้จะใช้อัลกอริธึมซับซ้อนในการรวมพอร์ต LAN ทุกพอร์ตเข้าด้วยกัน และมีการจัดการกับความเร็วและการรับส่งข้อมูลในแบบ Duplex การตั้งค่าแบบนี้ให้ทั้ง Fault tolerance กับ Load balancing ไปพร้อมๆ กัน

พอเลือกประเภทของสวิตช์ในขั้นตอนที่สองไปแล้ว ขั้นตอนที่สามก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกประเภทไหน ซึ่งคำอธิบายของตัวเลือกในขั้นตอนที่สามนี่ผมเขียนถึงไปเมื่อกี้แล้วนะครับ แต่ในกรณีที่อยากได้ประสิทธิภาพในการทำ Port trunking เต็มที่ ก็อยากแนะนำให้ใช้ 802.3ad dynamic ครับ แต่ต้องมี Managed switch ที่รองรับโหมดนี้นะ

หน้าจอ Port trunking (Add) ของ QNAP NAS ในขั้นตอนที่สาม แสดงตัวเลือกสำหรับการทำ Load balancing & Failover คือ Balance-rr, Balance-xor และ 802.3ad dynamic

พอเลือกได้เรียบร้อย ก็คลิก Apply ต่อครับ แต่นี่เป็นแค่การตั้งค่าบน QNAP NAS เท่านั้น หากใครเลือกประเภทเป็น Managed switch ต้องไปตั้งค่าที่ตัวสวิตช์ต่อนะครับ ซึ่งการตั้งค่าก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ว่าเป็นสวิตช์แบบไหน อันนี้ผมก็ไม่อาจจะช่วยได้จริงๆ ฮะ ผมเอาหน้าจอการตั้งค่า Link Aggregation ของฝั่งสวิตช์ของ IP-COM มาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ บนสวิตช์แต่ละยี่ห้อมันก็อาจจะแตกต่างกันออกไป ทั้งวิธีตั้งค่าและชื่อที่ใช้เรียกครับ

หน้าจอการตั้งค่า Link Aggregation ของ Managed switch

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า