เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้รับเชิญทางอีเมลให้ไปร่วมงาน Thailand Influencer Awards 2020 ที่จัดโดยเทลสกอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์ และระบบบริหารจัดการอิลฟูลเอนเซอร์ครบวงจร ด้วยความที่ห่างหายจากวงการบล็อกเกอร์ (ที่ตอนนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินฟูลเอนเซอร์ไปแล้ว) ไปนาน เลยขอถือโอกาสไปอัปเดตซะหน่อย และมีอินฟูลเอนเซอร์หลายคนที่ผมติดตามอยู่ และอยากจะไปเจอตัวเป็นๆ ซะที แต่ไปงวดนี้เลยมีอะไรมาเก็บตกที่อยากจะบันทึกเก็บไว้เผื่ออ่านเองด้วย
แม้จะผ่านไปสิบกว่าปีแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย การตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์ยังถือเป็นเรื่องใหม่มากนะครับ จากข้อมูลที่ทางเทลสกอร์นำเสนอในงานนี้ ระบุว่าตลาดอินฟูลเอนเซอร์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณสองพันล้านบาท (หมายถึงเม็ดเงินที่ใช้ด้านนี้) ซึ่งจิ๊บจ๊อยมากถ้าเทียบกับประเทศจีนที่มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้ส่วนนึงเข้าใจได้นะ เพราะคนจีนมีจำนวนเยอะกว่ามาก และจากที่เคยได้ยินมา คนจีนนิยมซื้อแบรนด์ที่ตนเองรู้จักซะมาก และซื้อตามคำแนะนำของเพื่อน หรือดูรีวิวของพวกอินฟูลเอนเซอร์เป็นหลัก การตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์จึงสำคัญ
ผมนี่อยู่ในวงการโซเชียลมีเดียยุคแรกๆ แบบ Facebook เพิ่งมา Twitter เพิ่งมี (ผมเล่น Twitter ประมาณปีที่สองที่มันเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย จะเรียกว่ารุ่นสองก็ได้) YouTube ก็ยังใหม่มากในเมืองไทย สมัยนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักคำว่าบล็อกเกอร์เลย นับประสาอะไรกับอินฟูลเอนเซอร์ แต่เดี๋ยวนี้ บล็อกเกอร์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอินฟูลเอนเซอร์เท่านั้นเอง

ช่องทางที่อิลฟูลเอนเซอร์ใช้ติดต่อกับผู้ติดตาม รูปแบบของเนื้อหาที่อินฟูลเอนเซอร์สร้าง ประเภทของเนื้อหา แต่สิ่งสำคัญคือการวางแผนใช้อินฟูลเอนเซอร์จะต้องมีความคมมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าภายใต้ Marketing funnel นั้น คุณต้องการให้อินฟูลเอนเซอร์ช่วยเพิ่มอะไรให้แบรนด์หรือสินค้าของคุณ การรับรู้แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ (Awareness), ยอดรับชม (Views), การมีปฏิสัมพันธ์ (Engagement), ยอดเข้าชมเว็บไซต์ (Clicks), ที่อยู่ติดต่อสำหรับใช้ทำ Re-marketing (Leads) หรือเปลี่ยนให้เป็นลูกค้าไปเลย (Conversions) กันแน่

โลกเปลี่ยนไป ความนิยมในการเสพเนื้อหาก็เปลี่ยนไป คอนเทนต์ที่นิยมทำให้ในปัจจุบันก็จะมีตามด้านบนครับ หลายๆ ชื่อนี่ผมก็งงๆ ว่า อะไรเป็นอะไร บอกตรงๆ เปิดหูเปิดตามาก โดยเฉพาะ Silver ที่มาบางอ้อตอนได้เห็นตัวอย่างว่าเป็นพวกเนื้อหาสำหรับผู้สูงอายุอะไรประมาณนี้ (จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือเปล่า)
วิธีการที่แบรนด์จะเลือกใช้งานอินฟูลเอนเซอร์ก็คือ พิจารณาให้ดีๆ ว่าคอนเทนต์แบบที่อินฟูลเอนเซอร์ทำอยู่นั้น มันปรับเข้ากับตัวแบรนด์หรือสินค้าได้หรือไม่ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าการที่พวกเขามีผู้ติดตามก็เพราะว่าพวกเขามีรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ และประเภทคอนเทนต์เฉพาะตัว หากแบรนด์ไปขีดเส้นให้พวกเขาเดินมากเกินไป มันจะเสียความเป็นตัวตนของอินฟูลเอนเซอร์ไป แบรนด์ไหนทำแบบนี้แล้วผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็อย่าไปตำหนิอินฟูลเอนเซอร์ล่ะ เพราะคุณไปทำให้เขาต้องสร้างเนื้อหาที่คนติดตามเขาไม่สนใจเอง
สำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปนั่งไล่ติดตามดูว่าเดี๋ยวนี้มีอินฟูลเอนเซอร์เป็นใครกันบ้าง ก็ต้องแวะมาเก็บเล็กผสมน้อยตรงนี้บ้างแหละ แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณทำการตลาดดิจิทัลโดยมีเอเจนซี่ช่วย เอเจนซี่เขาก็จะมีรายชื่อแนะนำให้เหมาะสมตามความต้องการของเราอยู่แล้ว แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงหน่อย และเราอาจจะต้องคอยตรวจสอบซ้ำอีกรอบว่าอินฟูลเอนเซอร์ที่เขาเสนอมา มันเหมาะสมกับเราไหม จริตตรงกันไหม
และนั่นแหละ คือจุดที่เทลสกอร์เข้ามาแทรกครับ คือ ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างอินฟูลเอนเซอร์ และนักการตลาด เหมือนตลาดนัดแรงงานนั่นแหละ แต่เป็นเฉพาะทางในเรื่องการตลาดผ่านอินฟูลเอนเซอร์ จุดเด่นอีกอย่างคือ มันมีกลุ่ม Micro influencer ให้เลือกด้วย เผื่อใครงบน้อย แต่อยากได้ Impact สูง ก็ไปไล่เลือกดูได้ครับ เขามีการคำนวณคะแนน Engagement มาให้ด้วย

ส่วนใครจะได้รางวัลอะไรในงาน Thailand Influencer Awards 2020 บ้าง ดูจาก Gallery ด้านล่างนี่นะครับ