ผมเคยเขียนบล็อกบ่นๆ ไปแล้วว่า Unlimited plan ไม่มีอยู่จริง โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ WordPress ที่ผมใช้อยู่นี่แหละ เพราะเดี๋ยวนี้คอนเทนต์จำพวกมัลติมีเดีย ทั้งรูปและวิดีโอ มันมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ผู้คนสร้างขึ้นมาได้ง่ายขึ้นมาก จนยากที่ผู้ให้บริการจะขยายพื้นที่เก็บข้อมูลให้ทันต่อการใช้งาน และล่าสุด Google ก็ออกมาประกาศแล้วว่าตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ก็จะไม่มีพื้นที่อัปโหลดรูปแบบไม่จำกัดอีกต่อไปแล้ว แต่สำหรับผู้ใช้ QNAP NAS แบบเราๆ ท่านๆ ก็ไม่ต้องห่วงอะไรมาก เพราะเรามี Photo Station และ Qphoto ให้ใช้ยังไงล่ะ
เก็บรูปบน QNAP NAS ดีกว่าบน Google Photos ตรงไหน?
ถ้าใครใช้ Google Photos จะรู้เลย สะดวกมาก เพราะติดตั้งแอปเสร็จ เซ็ตเรื่องการตั้งค่าอัปโหลดอัตโนมัติเอาไว้ ที่เหลือมันทำให้เสร็จสรรพ แถมช่วงฮันนีมูนของบริการนี้คือ ถ้าเราอัปโหลดรูปแบบ High Quality (คือ มีการบีบอัดข้อมูลรูปเล็กน้อย เพื่อให้ไฟล์เล็กลงก่อน) เราจะอัปโหลดขึ้นได้ไม่จำกัดเลย (แต่อีกหน่อยก็จะทำแบบนี้ไม่ได้แล้วนะ) แถม Google Photos ก็มีฟีเจอร์ฉลาดๆ ในการบริหารจัดการรูปเยอะมาก แล้วแบบนี้ QNAP NAS มันจะดีกว่าตรงไหน?

การเก็บรูปไว้บน QNAP NAS อาจจะไม่ได้ฟีเจอร์เท่ากับบน Google Photos แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่ดีกว่าเก็บบน Google Photos ดังนี้
● ภาพของเรา จะอยู่ในการควบคุมของเรา 100% ถ้าอยู่บนบริการของ Google Photos เราต้องทำตามกฎและข้อตกลงการใช้บริการของ Google Photos ซึ่งเราไม่ค่อยได้อ่านกันหรอก เช่น ข้อนึงใน Terms of Service ของ Google Photos คือ เราจะให้สิทธิ Google ในการ ดัดแปลง หรือสร้างเวอร์ชันอื่นของรูป จากเนื้อหาที่เราอัปโหลดไป ซึ่งมันคือที่มาที่ Google สามารถลดทอนขนาดไฟล์ แปลงไฟล์ หรือสร้างพวกวิดีโอ หรือตกแต่งภาพ มาแนะนำให้เราใช้ได้ โดยอ้างอิงจากรูปที่เราอัปโหลดขึ้นไป ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานทั่วๆ ไป อาจจะไม่แคร์มาก แต่สำหรับบางคน นั่นคือ Google จะได้เห็นรูปของเราทั้งหมดนะ (ก็แหงล่ะ เราอัปโหลดไปเก็บไว้ที่บริการของเขานิ) แต่ถ้าเราเก็บภาพไว้บน QNAP NAS ของเรา มันอยู่กับเรา เราคือผู้ควบคุมทั้งหมด
● ไม่ต้องกลัวกฎใหม่ เงื่อนไขการใช้งานใหม่ๆ ของ Google ที่อาจจะมาในอนาคตอีก ซึ่งเราก็ไม่รู้จริงๆ นั่นแหละ ว่ามันจะมีอะไรเพิ่มมาอีกในอนาคต แต่ถ้าอยู่บน QNAP NAS ของเรา เราคือผู้กำหนดเอง
● เนื้อที่มหาศาลสำหรับเก็บรูป เพราะส่วนใหญ่แล้ว ไฟล์รูปที่ถ่ายด้วยสมาร์ทโฟนจะถูกปรับความละเอียดไว้ที่ราวๆ 12 ล้านพิกเซล ซึ่งจะมีขนาดไฟล์ราวๆ 2-4MB ส่วนใครเล่นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์บางรุ่นที่ขนาดรูปได้ 48-50 ล้านพิกเซล ก็จะมีขนาดไฟล์ราวๆ 16MB ถ้าเราใช้ QNAP NAS แบบ 2-bay ทำ RAID1 โดยใส่ฮาร์ดดิสก์ 2TB 2 ลูก เราจะมีเนื้อที่สำหรับเก็บรูปแบบ 12 ล้านพิกเซลราวๆ 3.75 แสนรูป แต่ถ้าเราเก็บรูป 48 ล้านพิกเซล ก็จะเก็บได้ประมาณ 93,750 รูป ถ้าเราถ่ายรูปเฉลี่ย 100 รูปต่อวัน เราจะมีเนื้อที่เก็บรูปความละเอียด 12 ล้านพิกเซลไปได้ราวๆ 10 ปี แต่ถ้าเราเก็บรูปความละเอียด 48 ล้านพิกเซล ก็จะได้ราวๆ 2 ปีครึ่ง เลยทีเดียว นี่คือคิดที่ว่าใส่ฮาร์ดดิสก์แบบไซส์เล็กๆ นะ
นอกจากนี้ รูปภาพที่เก็บบน QNAP NAS ที่มีการวางแผนเรื่องการสำรองข้อมูลมาดี เช่น ทำ RAID1 หรือ RAID5 ไว้เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายกรณีฮาร์ดดิสก์เสีย หรือมีการทำ Snapshot เอาไว้เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหายจากการเผลอลบ เผลอเซฟทับ เราก็จะมั่นใจได้ว่ารูปภาพความทรงจำทั้งหลายของเรา จะอยู่กับเราอย่างปลอดภัย ดีกว่าไปมักง่าย เซฟรูปทั้งหมดลง External HDD ที่นอกจากจะยากต่อการบริหารจัดการแล้ว โอกาสที่รูปจะหายเพราะฮาร์ดดิสก์พังก็สูงด้วย
รู้จัก Photo Station กันก่อน
แอป Photo Station เป็นฟีเจอร์นึงของ QNAP NAS ที่เข้ามาช่วยเรื่องบริหารจัดการภาพถ่ายทั้งหมดที่มีบน NAS ของเรา โดย Default แล้ว มันไปดึงไฟล์รูปภาพทั้งหมดที่มีอยู่บน QNAP NAS ออกมาแสดงเลย ซึ่งตัว Photo Station จะแสดงภาพทั้งหมดที่อยู่ใน Shared Photos (หมายถึง รูปที่ถูกเก็บอยู่ใน Shared Folder) ออกมาให้ดูเป็นแบบ Timeline ไล่ตามวันเดือนปีที่ถ่ายภาพเลย

ซึ่งเรายังสามารถจะ Browse ดูรูปตามโฟลเดอร์ที่เก็บภาพก็ได้ หรือเราจะสร้างอัลบั้ม หรือจะให้ QuMagie Core ช่วยจดจำใบหน้า เพื่อค้นหาภาพทั้งหมดที่มีคนคนนั้นอยู่ก็ทำได้ (ไม่แม่น 100% แต่ก็ช่วยได้เยอะมาก)
เราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ Photo Station สแกนรูปใน Shared folder ไหนบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้มันสแกนไปถึงโฟลเดอร์ต้องห้ามที่หลายๆ ท่านอาจจะมีอยู่ (เผื่อใครจะกังวล อิอิ) และในขณะเดียวกัน เวลาล็อกอินเข้า Photo Station ผู้ใช้งานก็จะได้เห็นเฉพาะรูปที่อยู่ใน Shared folder ที่ตัวเองมีสิทธิ์เข้าถึงเท่านั้น เช่น ตั้งค่าไว้ให้ Photo Station สแกนภาพที่มีอยู่ในโฟลเดอร์ A B และ C เอาไว้ ถ้า นาย ก. มีสิทธิ์เข้าถึงโฟลเดอร์ A และ B ในขณะที่นาย ข. มีสิทธิ์เข้าถึงแค่โฟลเดอร์ A เวลาที่นาย ก. เข้า Photo Station มา ก็จะเห็นแค่รูปที่อยู่ในโฟลเดอร์ A และ B เท่านั้น ส่วนนาย ข. ก็จะเห็นรูปแค่ที่มีอยู่ในโฟลเดอร์ A เป็นต้น

เวลาจะดูรูปพวกนี้ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ก็สามารถดาวน์โหลดแอป Qphoto บน Android หรือ iOS มา ถ้าเป็นบนคอมพิวเตอร์ สามารถเข้าได้ผ่าน URL ของ myQNAPcloud แบบนี้ครับ [ชื่อ myQNAPcloud ที่ตั้งไว้]/myqnapcloud.com/photo
อัปโหลดรูปจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไป QNAP NAS ผ่าน Qfile
อย่างไรก็ดี ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้ QNAP NAS เพื่อเก็บภาพ แล้วดูภาพ มันจะยุ่งยากกว่าการใช้ Google Photos นิดหน่อยครับ เพราะแอป Qphoto บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมันถูกออกแบบมาเพื่อไว้แสดงภาพที่เก็บอยู่บน NAS กับเพื่อให้ถ่ายรูปด้วยแอปนี้แล้วเก็บไปไว้บน NAS ได้เลย

แต่ถ้าเราอยากจะทำเหมือน Google Photos เราต้องใช้แอป Qfile แล้วตั้งค่าให้มันอัปโหลดรูปภาพจาก Camera roll ของเราไปไว้บน QNAP NAS แทน และน่าเสียดายที่มันไม่มีฟีเจอร์ในการลบรูปใดๆ ที่อัปโหลดเรียบร้อยไปแล้ว เราต้องไปไล่ลบรูปออกจากเครื่องเอาเองนะครับ
แต่เมื่อทำเสร็จขั้นตอนนี้แล้ว ก็เรียบร้อยเลยครับ Qfile จะสามารถอัปโหลดรูปทั้งหมดของเราไปไว้บน QNAP NAS ซึ่งเราควรตั้งค่าให้เป็น Background uploading ครับ จะได้ไม่ต้องคอยอยู่ที่แอปตลอดเวลาที่อัปโหลด แล้วเราจะเลือกให้อัปโหลดเฉพาะตอนที่เชื่อมต่อ WiFi ก็ได้ หรือจะต้องเสียบสายชาร์จอยู่ด้วยก็ได้