Home>>บทความ How-to>>ใช้ QNAP NAS ให้กรองโฆษณาน่ารำคาญบนเว็บออกด้วย AdGuard
AdGuard: Don't let them track your data
บทความ How-toQNAP User Guide

ใช้ QNAP NAS ให้กรองโฆษณาน่ารำคาญบนเว็บออกด้วย AdGuard

ผมเคยเขียนถึงการใช้ QNAP NAS รัน Pi-hole ที่เป็นซอฟต์แวร์บล็อกโฆษณาน่ารำคาญบนเว็บไปแล้ว แต่วิธีนั้นอาจจะวุ่นๆ หน่อย เพราะต้องมีการติดตั้ง Docker งั้นในบล็อกตอนนี้จะขอเอาวิธีแบบง่ายๆ มาพูดถึงบ้างนะครับ นั่นคือการใช้แอปชื่อ AdGuard ครับ

คำเตือน

แอป AdGuard นี่ไม่ใช่แอปที่ดาวน์โหลดได้จาก App Center ของ QNAP ฉะนั้นหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมาจะว่าเขาไม่ได้นะฮะ อันนี้ถ้าจะลองใช้ ต้องแบกรับความเสี่ยงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นเอาเอง

แอป AdGuard ต้องดาวน์โหลดมาจากเว็บ Qnapclub Store ครับ เวอร์ชันล่าสุด ณ เวลาที่เขียนบล็อกตอนนี้อยู่คือ 0.104.0 ครับ ดาวน์โหลดไฟล์ .qpkg มาแล้ว ก็ทำการติดตั้งผ่าน App Center ได้ครับ

ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ก็เปิดใช้งานแอปตัวนี้เลย อย่าเพิ่งตกใจเวลาที่เจอหน้าต่างแจ้งเตือนว่าแอปนี้ไม่สนับสนุน Secure connections (https://) ยังอยากจะเปิดแอปนี้ไหม เราคลิก Yes ไปนะ

มันก็จะเปิดหน้าต่างเบราวเซอร์มากอีกหน้านึง เพื่อเริ่มการติดตั้ง ขั้นตอนการติดตั้งก็มีแค่ 5 ขั้นตอน ง่ายๆ คือหน้าแรกมันเป็นแค่หน้าจอ “ยินดีต้อนรับ” เราคลิกปุ่ม Get started ไปได้เลย จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะเป็นการเซ็ต IP address สำหรับเข้าถึง Admin Web Interface และกำหนด IP address ให้กับ DNS server ซึ่งในที่นี้หมายถึง ตัวแอป AdGuard (หรือก็คือ QNAP NAS ของเรานั่นแหละ) จะทำตัวเป็น DNS server ครับ

เพราะเราใช้ QNAP NAS ที่มีการใช้ Web admin อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเจอ Error ว่า listen tcp 0.0.0.0:80 bind: address already in use เพราะพอร์ต 80 มันคือพอร์ต Web server ที่ QNAP NAS ใช้ไปแล้ว (ยกเว้นเราจะเซ็ตให้ QNAP NAS ไปใช้พอร์ตอื่นสำหรับ Web server) ฉะนั้นที่เราต้องทำก็คือเปลี่ยนเลขพอร์ตใหม่ครับ เปลี่ยนเป็นเลขอะไรก็ได้ ขอให้ข้อความแจ้งเตือนแดงๆ มันหายไป ส่วนตัวเลือกจาก Drop-down menu ยังเลือกเป็น All interfaces ได้ครับ ถ้าเกิดว่าเรามีการต่อสาย LAN ของ QNAP NAS ไว้หลายอัน ทำให้ NAS ตัวนึงมี IP address หลายชุด มันจะได้ทำให้เราสามารถเข้าถึงหน้าจอ Dashboard ของ AdGuard จาก IP ไหนก็ได้

ถัดมาคือ DNS server อันนี้พอร์ตอยากแนะนำให้ใช้พอร์ตมาตรฐานคือ 53 แต่ตรง Listen interface อะมันจะขึ้น Error อยู่ เราจะไม่ไปเลือก All interfaces ครับ แค่ไปคลิกเลือก IP address ใดๆ ซักอันที่เป็น IP address ของ QNAP NAS ของเรา (อยู่ในวง LAN เดียวกะที่เราใช้) แค่นี้ก็โอเคแล้ว

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย คลิก Next ไป

ขั้นตอนที่สาม คือการเซ็ต Username กับ Password อันนี้คนละเรื่องกับ Username และ Password ของ QNAP NAS และไม่สามารถเชื่อมถึงกันได้ (แอบเสียดาย) เราก็เลือกตามสะดวกครับ เรียบร้อยก็คลิก Next

เมื่อเสร็จเรียบร้อย มันก็จะมีหน้าจอสรุปให้ฟังว่าถ้าจะใช้งาน AdGuard ก็จะต้องไปเซ็ตพวก Router หรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้หันมาใช้ DNS server ของ AdGuard โดยอ้างอิง IP address ที่เราเลือกไว้ตอนขั้นตอนที่สอง ซึ่งในหน้านี้ มันก็จะสอนวิธีเซ็ต DNS server บนระบบปฏิบัติการต่างๆ เอาไว้ให้ครับ คลิกเลือกดูเอาเอง อันนี้ผมจะไม่ไปสอนถึงตรงนั้นนะฮะ ถ้าติดขัดอะไร แนะนำให้ไปแชทคุยกันใน LINE OpenChat ครับ

อ่านเข้าใจหมดแล้วก็คลิก Next คือเสร็จเรียบร้อยก็พร้อมใช้ ที่เหลือก็แค่ไปตั้งค่า DNS ของอุปกรณ์ของเราให้ชี้มาที่ QNAP NAS ครับ ในกรณีของผม ผมเซ็ตเอาไว้แค่สำหรับ WiFi ในบ้านเท่านั้นครับ ทีนี้ลองเปิดดูผลกันว่าเป็นยังไง ผมไปเซ็ตในคอมพิวเตอร์ Windows 10 แล้วลองเปิดเว็บอ่านการ์ตูนออนไลน์แบบ RAW อันนึงที่โฆษณาโคตรเยอะ น่ารำคาญ

หน้าเว็บอ่านการ์ตูนออนไลน์ที่มีโฆษณาอยู่ตรงมุมบนด้านขวา และวิดีโอโฆษณาตรงมุมด้านล่างขวามือ

ตอนที่ยังไม่ได้ใช้ AdGuard (ซ้าย) จะเห็นว่ามีโฆษณาแบบ Sticky note อยู่ด้านบนขวามือ และโฆษณาที่เป็นวิดีโออยู่ด้านล่างขวามือ โฆษณาแอบ 13+ นิดๆ ด้วย แต่พอใช้ AdGuard แล้ว (ขวา) จะเห็นว่าโฆษณาที่เป็น Sticky note หายไป ส่วนโฆษณา 13+ ที่เป็นวิดีโอ กลายเป็นโฆษณาแบบภาพแทน

ถ้าเราเข้ามาที่หน้า Dashboard เราจะเห็นว่ามันจะบอกรายละเอียดเลยว่ามีการบล็อกอะไรยังไงไปบ้าง บล็อกโดเมนอะไรไปบ้าง ซึ่งเราสามารถไปตั้งค่าเพิ่มเติมได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น

● General settings ที่ให้เราเลือกตั้งค่าต่างๆ ของ AdGuard ไม่ว่าจะเป็นความถี่ห่างในการอัปเดตรายชื่อโดเมนที่จะบล็อก จะตั้ง Parental control ไหม จะบังคับใช้ Safe search ไหม จะเก็บ Log นานแค่ไหน อะไรแบบนี้
● Filters เพื่อตั้งค่าเพิ่มรายชื่อโดเมนที่จะบล็อกเพิ่ม หรือโดเมนไหนที่จะยอมให้ผ่าน แม้กระทั่งบริการไหนที่จะบล็อกโดยสิ้นเชิง (อันนี้เหมาะสำหรับใครก็ตามที่อยากจะบล็อกการเข้าถึงพวก Facebook, Skype, Twitter, YouTube ฯลฯ ภายในเน็ตเวิร์กของตน) หรือแม้แต่สร้างกฎส่วนตัวขึ้นมาก็ได้

เท่าที่ลองใช้มา AdGuard ก็ค่อนข้างได้ผลดี ไม่แพ้ Pi-hole ครับ แต่ที่ผมใช้งวดนี้ ผมไม่ไปเซ็ตที่ Router เพราะเวลามีปัญหาเดี๋ยวป่วนครับ เลยเลือกที่จะเซ็ตไปทีละเครื่องๆ ดีกว่า ยังไงซะใช้งานเองภายในบ้าน อุปกรณ์มันไม่ได้เยอะอยู่แล้ว

มันบล็อกโฆษณาได้ค่อนข้างดีอยู่ครับ แต่ไม่ได้ขจัดจนหมดไป 100% นะครับ แต่โฆษณาที่น่ารำคาญใจหลายๆ อัน รวมถึงพวกโฆษณาแนววิดีโอ โดนบล็อกไปเกือบจะโดยสิ้นเชิงเลย กลายเป็นโฆษณาภาพแทน อะไรพวกนี้ ถ้ามีการอัปเดตรายชื่อพวก Ad network มากขึ้น ก็น่าจะดีกว่านี้ และการทำงานของเจ้านี่ก็คล้ายๆ กับ Pi-hole เลย รายชื่อพวกเว็บไซต์ที่เราจะบล็อกเพิ่ม ก็สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บของ AdGuard เลย มีคนทำไว้เป็นไฟล์ให้พร้อมอัปโหลดเข้าไปใน AdGuard ด้วย แต่จริงๆ แค่ไปเพิ่ม DNS blocklists ก็มีให้เลือกเพียบอยู่แล้วนะ นี่ผมก็ใส่เข้าไป 12 ลิสต์แล้ว

เอาจริงๆ คือ ใช้แล้วอาจจะรู้สึกว่าที่บ้านโฆษณาน้อยจัง แต่พอออกไปนอกบ้าน โฆษณาเยอะเหมือนเดิมเลย 555 บางทีก็อาจจะอยากทำ DNS server ของเราให้เข้าถึงจากนอกบ้านได้ผ่าน myQNAPcloud แต่ก็ต้องขอเตือนก่อนว่าหากไม่มั่นใจฝีมือด้าน Cyber security ของตนเอง อย่าหาทำนะครับ การเปิด Server ให้เข้าถึงได้จากภายนอก ก็เท่ากับเปิดช่องให้โจมตีเช่นกันนะครับ ถ้าอยากได้บริการของ AdGuard ตอนใช้เน็ตนอกบ้าน แนะนำไปใช้บริการของเขาโดยตรงเลย ฟรีๆ หรือจะดาวน์โหลดแอปของเขาก็ได้ (แต่จะมีข้อจำกัดตอนใช้ iPhone/iPad เพราะมันจะรองรับเบราวเซอร์เป็น Safari เท่านั้น)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า