Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>บริการ 1.1.1.1 with WARP ของ Cloudflare คืออะไร ทำไมคนถึงหันมาใช้กันเยอะขึ้น? แล้วมันต่างจาก VPN ยังไง?
1.1.1.1 with WARP
บ่นเรื่อยเปื่อยซอฟต์แวร์แบ่งปันความรู้

บริการ 1.1.1.1 with WARP ของ Cloudflare คืออะไร ทำไมคนถึงหันมาใช้กันเยอะขึ้น? แล้วมันต่างจาก VPN ยังไง?

เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนหันมาสนใจบริการอย่าง 1.1.1.1 with WARP ของ Cloudflare มากขึ้น หลายๆ คนใช้บริการนี้เพราะรู้ว่ามันทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงพวกเว็บไซต์บางอย่างที่ถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงได้ในประเทศไทย แต่จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ก็ไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว บริการ 1.1.1.1 with WARP ของ Cloudflare นี้มันเป็นยังไง ผมลองค้น Google ดู ก็เห็นมีแต่คนสอนใช้ ไม่ค่อยพูดถึงว่ามันช่วยอะไรเราได้บ้าง และอะไรที่มันไม่ได้ช่วย ก็เลยขอมาเขียนเรียบเรียงให้ได้อ่านกันหน่อยครับ

ทุกอย่างเริ่มที่ DNS ก่อน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเวลาเราจะเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ใดๆ เราจะพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ที่เราเรียกว่า โดเมนเนม (Domain name หรือ URL ของเว็บไซต์) เช่น บล็อกของผมก็ kafaak.blog เป็นต้น คอมพิวเตอร์เราก็จะส่งคำขอไปที่เซิร์ฟเวอร์ที่ชื่อว่า DNS (Domain Name Server) ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนโอเปอเรเตอร์ที่ชุมสายโทรศัพท์สมัยก่อน ที่จะคอยแปลงโดเมนเนมให้กลายเป็นไอพีแอดเดรส (IP address) ของเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการเว็บไซต์นั้น เมื่อได้ไอพีแอดเดรสมาแล้ว คอมพิวเตอร์ของเราก็จะทำการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ เพื่อขอข้อมูลเว็บมาได้ โดยปกติแล้ว เมื่อเราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จะทำการส่งค่า DNS มาให้โดยอัตโนมัติ หรือก็คือ บอกมาให้เสร็จสรรพว่า หากจะเข้าถึงเว็บไซต์ใดๆ ให้ส่งคำขอไปที่เซิร์ฟเวอร์นี้นะ

บริการ 1.1.1.1 ก็คือบริการ DNS ที่ Cloudflare จัดให้ใช้ได้ฟรีๆ ครับ เราสามารถไปตั้งค่าบนเราเตอร์ที่เราใช้ต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้าน, คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตของเราได้ เพื่อแทนที่ DNS ที่ทาง ISP เตรียมไว้ให้

ถามว่าทำไมเราต้องไปใช้บริการ DNS ของที่อื่นล่ะ ในเมื่อ ISP ก็ให้มาแล้ว? คำตอบก็คือข้อใดข้อหนึ่งด้านล่างนี่ หรืออาจจะหลายข้อ หรือทุกข้อรวมกันครับ นั่นคือ

● เผื่อจะได้ความเร็วในการเข้าเว็บที่เร็วขึ้นอีกนิด เพราะบางที DNS ของ ISP มันทำงานช้าครับ ถ้าเราใช้บริการจากผู้ให้บริการระดับโลกอย่าง 1.1.1.1 ของ Cloudflare หรือ 8.8.8.8 ของ Google มันก็อาจจะให้ความเร็วในการเข้าถึงเว็บได้ดีกว่าอีกนิด เพราะมันแปลงชื่อโดเมนเนมเป็นไอพีแอดเดรสได้เร็วกว่า

● ช่วยป้องกันตนเองจากเว็บไซต์ที่ไม่หวังดี หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะบริการ DNS บางแห่ง เขามีการขึ้นบัญชีดำของเว็บไซต์ที่เป็นสแปม มีมัลแวร์ หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กออกไปได้ ซึ่งบางบริการ เช่น OpenDNS นี่เขาก็มีตัวเลือกระดับของการกลั่นกรองเนื้อหาหลากหลาย เหมาะกับความต้องการอีก

● บล็อกพวกโฆษณาต่างๆ ที่น่ารำคาญ เนื่องจากบริการ DNS บางที่ เช่นของ AdGuard เขาก็มีการขึ้นบัญชีดำพวกเว็บไซต์ที่เป็นโฆษณาและสแปม เมื่อเบราวเซอร์หรือแอปไม่สามารถแปลงโดเมนเนมของเว็บพวกนี้เป็นไอพีแอดเดรสได้ โฆษณามันก็ขึ้นมาไม่ได้ครับ

● ทะลุผ่านการบล็อกเพื่อเข้าถึงเนื้อหา ในเกือบทุกประเทศมันจะมีการปิดกั้นเนื้อหาเว็บไซต์บางแห่ง (หรือหลายๆ แห่ง) ซึ่งวิธีง่ายสุดและได้ผลดีสุดก็คือการปิดกั้นที่ระดับ DNS คือ ไม่ให้ทำการแปลงโดเมนเนมเป็นไอพีแอดเดรสได้ วิธีนี้ได้ผลดีกว่าการบล็อกที่ไอพีแอดเดรส เพราะว่าเว็บไซต์สามารถหนีเปลี่ยนไปใช้ไอพีแอดเดรสอื่นได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนไปใช้ DNS อื่น เราก็จะสามารถเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ได้ เพราะ DNS ที่เราใช้มันไม่ได้บล็อกเนื้อหานั้นๆ

ถัดมาที่ต้องเข้าใจก็คือ VPN

บริการ VPN หรือ Virtual Private Network มันคือบริการที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในตอนแรกเพื่อำนวยความสะดวกผู้ใช้งานระดับองค์กร ให้สามารถเข้าถึงเน็ตเวิร์กขององค์กรได้จากภายนอก ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Tunneling หรือการสร้างอุโมงค์เสมือนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ของผู้ใช้งานมายังเน็ตเวิร์กขององค์กร อุโมงค์เสมือนนี้เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเข้ารหัสข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ถูกรับ-ส่งระหว่างอุปกรณ์ของผู้ใช้งานและเน็ตเวิร์กขององค์กร

กราฟิกตัวอย่างการทำงานของ VPN
ภาพ: Wikipedia

แต่ภายหลังเขามีการประยุกต์ใช้บริการ VPN เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น

● เพิ่มความปลอดภัยในการรับ-ส่งข้อมูล ในกรณีที่เราเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านบริการที่ไม่ปลอดภัย เช่น Free WiFi แบบในร้านกาแฟหรือตามโรงแรม เพราะเมื่อเชื่อมต่อผ่าน VPN แล้ว ข้อมูลที่ถูกรับ-ส่งระหว่างตัวอุปกรณ์กับ VPN server จะมีการเข้ารหัสไว้ ใครแอบดูก็ไม่มีทางรู้ว่ามันคืออะไร

ต่อ WiFi ในโรงแรม ต้องใส่ Username กับ Password ก็ไม่ได้ปลอดภัย

ในหลายๆ โรงแรม ถ้าเราต่อ WiFi แล้ว มันจะเปิดหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ใส่ Username และ Password แบบนั้นการเชื่อมต่อก็ไม่ได้ปลอดภัยนะครับ มีค่าเท่าๆ กับ Free WiFi นั่นแหละครับ ถ้าจะต่อ WiFi ให้ปลอดภัย มีการเข้ารหัสข้อมูลที่รับ-ส่งระหว่างอุปกรณ์กับ Wireless Access Point ต้องเป็นการเซ็ตให้เชื่อมต่อแบบ WPA2 (แค่ WEP ไม่พอนะครับ เพราะอันนั้นมีคนแฮกได้แล้ว)

● เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ถูกปิดกั้นแบบ Geoblock เนื่องจากเว็บไซต์ที่ให้บริการเนื้อหาบางแห่ง เขาจะมีการให้บริการเนื้อหาบางอย่างเฉพาะบางประเทศ ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายหรือลิขสิทธิ์ เช่น Netflix, HBO ฯลฯ การเชื่อมต่อผ่าน VPN ก็คือการแอบเนียนทำตัวเหมือนกับว่าตัวเองอยู่ในประเทศที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ บริการ VPN หลายที่เขาให้เราเลือกได้ว่าเราจะเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในประเทศไหน

● เพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ต บางคนกลัวว่า ISP หรือมือที่สาม จะทำการเก็บบันทึกประวัติการเข้าถึงเว็บไซต์ของเราเอาไว้ หรือสามารถแอบดูได้ว่าเราจะเข้าเว็บไซต์อะไร การเชื่อมต่อผ่าน VPN จะทำให้ ISP หรือมือที่สาม จะรู้แค่ว่าเราเชื่อมต่อไปยัง VPN server และไม่สามารถแอบดูข้อมูลใดๆ ที่รับ-ส่งอยู่ได้เลย เพราะมันถูกเข้ารหัสเอาไว้

แล้วบริการ 1.1.1.1 with WARP ล่ะ?

WARP คือบริการ VPN ครับ ดังนั้น 1.1.1.1 with WARP ก็คือ บริการ DNS จาก Cloudflare ที่ผสมเอาบริการ VPN เข้าไปด้วย ดังนั้นประโยชน์ที่เราจะได้ก็คือ ไม่ต้องห่วงเรื่องจะโดนบล็อกการเข้าถึงเว็บที่ระดับ DNS สามารถบล็อกพวกเว็บที่มีเนื้อหาอันตรายได้ ISP เองก็ไม่สามารถบันทึกคำขอแปลงโดเมนเนมเป็นไอพีแอดเดรสได้ เพราะเราไม่ได้ใช้บริการ DNS ของ ISP นิ แถมที่เพิ่มมาในบริการ 1.1.1.1 with WARP ก็คือ DNS over HTTPS หรือการเข้ารหัสคำขอแปลงโดเมนเนมเป็นไอพีแอดเดรสผ่านโปรโตคอล HTTPS อีก

ในขณะเดียวกัน ก็ได้ประโยชน์จาก WARP ด้วย ในแง่ของการเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะมีการเข้ารหัสข้อมูลที่รับ-ส่ง แต่ต้องจำเอาไว้ว่า WARP เป็นบริการ VPN แบบที่ไม่ซ่อนไอพีแอดเดรสของเรา หรือพูดง่ายๆ เซิร์ฟเวอร์ปลายทางจะยังรู้อยู่ดีว่าเราเป็นใครมาจากที่ไหน ฉะนั้น มันจะไม่ช่วยให้เข้าถึงเนื้อหาที่ถูกบล็อกเอาไว้ผ่าน Geoblock ครับ

ฉะนั้น เราจะใช้ 1.1.1.1 with WARP ก็เพราะ…

● เราอยากได้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีความเป็นส่วนตัว จะมีแค่เซิร์ฟเวอร์ปลายทางเท่านั้นที่รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน ISP หรือมือที่สามจะแอบดูไม่ได้

● เราอยากได้ความสามารถในการบล็อกเนื้อหาอันตรายหรือไม่เหมาะสม เพราะบริการ 1.1.1.1 with WARP มันมีคุณบัตินี้ให้เราเลือกใช้

● เราอยากเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างที่ถูกบล็อกเอาไว้ที่ระดับ DNS ซึ่งเราทำได้ เพราะเราไม่ได้ใช้บริการ DNS ของ ISP แล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกบล็อกด้วยวิธี Geoblock นะครับ เพราะบริการ 1.1.1.1 with WARP นี่ไม่ซ่อนไอพีแอดเดรสของเรา

ถ้าคิดว่านี่คือสิ่งที่คุณอยากได้แล้ว การใช้ 1.1.1.1 with WARP ก็โอเคครับ มันมีทั้งโปรแกรมรันบน Windows, macOS, Android และ iPhone ที่ถือได้ว่าเป็นระบบปฏิบัติการยอดนิยมในปัจจุบัน ที่สำคัญบริการนี้ฟรี และไม่จำกัดปริมาณข้อมูลที่รับ-ส่ง ถือว่าดีงามมาก และสำหรับบางคนที่อยากมั่นใจว่าจะได้ความเร็วเต็มสปีดสุดๆ ก็สามารถใช้บริการ WARP+ ได้ มีทางเลือกสองแบบ คือ แนะนำคนรู้จักให้มาสมัคร ก็จะได้ใช้ฟรีๆ 1GB (ใช้แล้วหมดไป) ต่อทุกๆ คนที่มาสมัคร กับ สมัครใช้บริการรายเดือน เดือนละ 59 บาท ได้ใช้แบบไม่จำกัดปริมาณเลย

ผลการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระหว่างการใช้ 1.1.1.1 with WARP+ ด้วย Speedtest.net

ผมลองทดสอบระหว่าง WARP กับ WARP+ แล้วพบว่า ในขณะที่ความเร็วอัปโหลดไม่รู้สึกว่ามีผลกระทบใดๆ แต่ความเร็วในการดาวน์โหลดนี่ต่างกัน 5-10 เท่าเลยนะ เวลาทดสอบด้วย Speedtest.net อะ ฉะนั้นใครที่อยากใช้งานแบบเต็มที่ มั่นใจว่าได้สปีดเต็มที่สุดเท่าที่จะทำได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า