รีวิว NAS ในระดับผู้ใช้งานตามบ้านและในออฟฟิศขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางไปแล้ว คราวนี้ลองของแพงบ้างครับ กับรุ่น TS-h886 ที่ทาง QNAP Thailand ส่งมาให้ลอง ผมลองเช็กราคาจากเว็บตัวแทนจำหน่ายแล้ว สนนราคาอยู่ที่เฉียดๆ เจ็ดหมื่น ไปจนถึงเจ็ดหมื่นกว่าๆ แล้วแต่ว่าไปซื้อกับเจ้าได้อะนะ จุดเด่นหลักๆ ของเจ้านี่เลยคือ หน่วยประมวลผล Intel® Xeon® D-1622 แรมเริ่มต้นที่ 16GB และไฟล์ระบบ ZFS ที่ทำให้มันขยับขยายไปได้อีกโขเลยทีเดียว
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QNAP TS-h886 ตัวที่ผมได้มารีวิวนี่ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก QNAP Thailand มาให้ลองทดสอบครับ แต่ต้องขออภัยที่ผมอาจจะไม่สามารถทดสอบได้ทุกขีดความสามารถของมัน เพราะผมขาดอุปกรณ์รองรับ เช่น ผมไม่มีสวิตช์ที่รองรับ 2.5GbE เนื่องจากบ้านผมยังไม่ได้อัปเกรดเน็ตเวิร์กให้รองรับตรงจุดนี้ ไม่มี SSD มาใส่เพื่อทดสอบ ฉะนั้น หลายๆ อย่างที่จะพูดถึงในรีวิวนี้ จะเป็นการเรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความสามารถมาเขียนให้อ่านเข้าใจกันง่ายๆ ไปด้วยนะครับ
QNAP TS-h886 เนี่ยทั้งใหญ่และหนักใช่ย่อยเลยนะครับ ตอนผมหยิบออกจากกล่องเนี่ย ตอนแรกผมนึกว่าเขาใส่ฮาร์ดดิสก์มาให้ด้วย เปล่าครับ น้ำหนักตัวเครื่องล้วนๆ 8.5 กิโลกรัมเลยทีเดียว ตัวนี้เป็นรุ่นใหญ่มาก ใส่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วได้ 6 ตัว และมีอีก 2 ถาดที่เป็นขนาด 2.5 นิ้ว เอาไว้ใส่พวก SSD โดยเฉพาะ

แต่ไม่จบแค่นั้นนะครับ มันมีสล็อต PCIe Gen 3×4 มาให้อีกสองสล็อต สามารถใส่ SSD แบบ M.2 22100/2280 ได้อีก 2 สล็อต รวมๆ แล้วก็คือใส่ SSD ได้สูงสุด 4 ตัวพร้อมๆ กัน โดย 2 ตัวเป็นแบบ SATA ส่วนอีกสองตัวรองรับได้สุดถึง M.2 NVMe ที่แบนด์วิธสูงกว่าอีกมากๆ เห็นแบบนี้รู้ได้เลยว่าเจ้า NAS ตัวนี้เน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลอย่างเต็มเหนี่ยว

ด้านหลังเราจะได้เห็นพัดลมถึงสามตัว สองตัวเอาไว้ระบายความร้อนให้ฮาร์ดดิสก์ อีกตัวเอาไว้สำหรับ Power supply ที่ถูกใส่ไว้ข้างในตัวเครื่องเรียบร้อย ฉะนั้นเวลาติดตั้งก็จะไม่มีอะแดปเตอร์เกะกะอยู่ด้านนอก แล้วก็จะมีสวิตช์สำหรับเปิดปิด Power supply แยกต่างหากอีก
หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถเข้าไปอีก มันมีสล็อต PCIe Gen 3×8 ที่ให้ Throughput สูงสุดระดับ 7.877GB/s ให้คิดว่าจะเอามาใส่อะไรได้อีก
นอกจากนั้นก็มีพอร์ต LAN 2.5GbE มาให้มากถึง 4 พอร์ต หากทำ Port trunking (หรือ Link aggregration) ก็จะเท่ากับได้แบนด์วิธระดับ 10GbE เลยทีเดียว และสามารถต่ออุปกรณ์เสริมได้อีก ผ่านพอร์ต USB 3.2 Gen 1 อีกสองพอร์ตที่มีมาให้ แต่เนื่องจากรุ่นนี้เน้นเรื่องการใช้งานในระดับองค์กร ไม่ได้คาดหวังเรื่องจะมีการต่อจอแสดงผลภายนอกเอาไว้ จึงไม่มีพอร์ต HDMI มาให้สิ้นเปลืองเปล่าๆ
ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้ว และ 2.5 นิ้ว ต่างก็เป็นแบบ Tooless ไม่ต้องใช้น็อตอะไรยึดฮาร์ดดิสก์เลย ในส่วนของฮาร์ดดิสก์แบบ 3.5 นิ้ว จะมีสลักเอาไว้ประกบเพื่อยึดให้แน่น เพราะฮาร์ดดิสก์ไซส์นี้เป็นแบบดั้งเดิม มันมีการหมุน ก็จะมีการสั่น ต้องมีอะไรยึดไว้ให้แน่นๆ ใครจะใส่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้วตรงนี้แทน ต้องหาน็อตมายึดนะครับ (แต่จะใส่เพื่ออะไร?)
ส่วนถาดใส่ฮาร์ดดิสก์แบบ 2.5 นิ้ว เนื่องจากเป็น SSD ไม่มีการหมุน ไม่สะเทือน เลยไม่ต้องมีสลักอะไรมาประกบ แค่ดันให้เข้าล็อกก็เรียบร้อย ยึดติดแน่นดีมาก

สถานะคร่าวๆ ของ QNAP TS-h886 นี่สามารถดูได้จากจอ LCD ด้านนอกครับ อันนี้ให้ความรู้สึกคุ้นเคย เพราะ QNAP NAS ตัวเล็กรุ่นเก่าๆ ก็มีหน้าจอแสดงผลแบบนี้ ซึ่งมันช่วยเราได้เยอะ โดยเฉพาะเวลาที่เกิดปัญหารัน Service บางอย่างไม่ขึ้นซะที แล้วบูตมันค้าง เราจะได้รู้ว่าเราควรจะทำยังไงต่อ
การเซ็ตอัพระบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ TS-h886
บอกก่อนว่าคนทั่วไป หรืออฟฟิศขนาดเล็กตลอดไปจนถึงออฟฟิศขนาดกลาง ไม่น่าจะจำเป็นต้องใช้ NAS รุ่นนี้นะครับ เพราะเอาแค่หน่วยประมวลผลก็เรียกว่าอาจจะเวอร์วังเกินความจำเป็นแล้ว Intel® Xeon® D-1622 quad-core 2.6 GHz processor (burst up to 3.2 GHz) นี่เขาเอาไว้รองรับผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล การเข้ารหัสข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ ตลอดไปจนถึงการทำ Snapshots ได้มากถึง 65,536 ชุด โคตรเยอะ

ข้อสังเกตอีกสองจุดเกี่ยวกับ NAS รุ่นนี้คือ เขาใช้ไฟล์ระบบเป็น ZFS (Zettabyte File System) ครับ (QNAP NAS ทั่วไปเป็น ext4 ของ Linux) และตัวระบบปฏิบัติการก็ไม่ใช่ QTS แล้ว แต่เขาเรียกว่า QuTS Hero ครับ (QuTS ก็อ่านออกเสียงว่า คิว-ที-เอส เหมือน QTS ที่ QNAP NAS ทั่วไปใช้กันนั่นแหละ ผมเดาว่าอีกหน่อย QNAP อาจจะรีแบรนด์ชื่อ QTS เป็น QuTS ให้หมด)
ข้อสังเกตของ QNAP TS-h886 (และรุ่นที่เล็กกว่า คือ TS-h686) ก็คือ มันมีช่องใส่ฮาร์ดดิสก์สามแบบ คือ ฮาร์ดดิสก์แบบดั้งเดิม, SSD แบบ SATAIII และ SSD แบบ M.2 NVMe ซึ่งทั้งสามแบบมีความเร็วที่แตกต่างกันชัดเจนเลย ดังนั้น หากต้องการใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็ควรจะใส่ฮาร์ดดิสก์และกำหนดหน้าที่ไว้แบบนี้
● SSD แบบ SATAIII เอามาทำ RAID1 ไว้ สร้างเป็น Storage Pool 1 เพื่อเก็บพวกข้อมูลระบบของ NAS พวก Shared folder และพวกแอปต่างๆ ที่เราจะติดตั้ง เวลาทำงานจะได้รวดเร็ว
● SSD M.2 NVMe เอาไว้ทำ SSD cache acceleration หรือ ZIL (ZFS Intent Log คิดซะว่าเป็นการทำ cache อีกแบบสำหรับไฟล์ระบบ ZFS ละกัน)
● ฮาร์ดดิสก์แบบดั้งเดิม เอาไว้ทำ Storage pool ที่เป็น RAID แบบที่เราคุ้นเคยกันบน QNAP NAS ทั่วไปนั่นแหละ เอาไว้เก็บข้อมูลต่างๆ
อันนี้คือที่ QNAP เขาแนะนำเลยนะ ถ้าทำประมาณนี้ ก็น่าจะได้ประสิทธิภาพในการทำงานดีที่สุดละ จริงๆ แล้ว ถ้าเราใช้ QNAP NAS ทั่วไป ที่มีจำนวนถาดฮาร์ดดิสก์ และช่องใส่ SSD M.2 NVMe เยอะพอ การเซ็ตระบบก็ควรจะเป็นประมาณนี้เช่นกัน แต่ก็นั่นแหละ จะมีงบมาเซ็ตอะไรอลังการแบบนี้ได้ ก็ต้องเป็นระดับองค์กรละนะ และผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไปก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรต้องทำแบบนี้
ความเจ๋งของระบบปฏิบัติการ QuTS
ประสิทธิภาพในด้านการถ่ายโอนข้อมูลของระบบปฏิบัติการ QuTS นี่เหนือชั้นกว่าระบบปฏิบัติการ QTS อยู่ประมาณนึงถ้าเป็นไฟล์ขนาดใหญ่ แต่หากเป็นไฟล์ขนาดเล็กนี่ ความเร็วจะเหนือกว่าแบบชัดเจนมากมาย (อ่านรายละเอียดผลการทดสอบ และสภาพแวดล้อมในการทดสอบได้ที่เว็บไซต์ของ QNAP) ถ้าใช้กับเน็ตเวิร์กแบบ 10GbE นี่คือจะได้ประสิทธิภาพสุดๆ
ระบบปฏิบัติการ | QuTS Hero | QTS 4.4.1 | ||
---|---|---|---|---|
iSCSi | ไฟล์ 4KB | เขียนแบบสุ่ม | 33,917 | 11,191 |
iSCSi | ไฟล์ 4KB | อ่านแบบสุ่ม | 93,407 | 88,152 |
SMB 3.0 | ไฟล์ 4KB | เขียนแบบสุ่ม | 34,168 | 11,367 |
SMB 3.0 | ไฟล์ 4KB | อ่านแบบสุ่ม | 67,922 | 80,669 |
ถ่ายโอนไฟล์ผ่าน SMB 3.0 | ไฟล์ 10GB 1 ไฟล์ | อัปโหลด | 1,154 | 1,136 |
ถ่ายโอนไฟล์ผ่าน SMB 3.0 | ไฟล์ 10GB 1 ไฟล์ | ดาวน์โหลด | 1,162 | 1,142 |
ถ่ายโอนไฟล์ผ่าน SMB 3.0 | ไฟล์ 1MB 10,000 ไฟล์ | อัปโหลด | 256 | 26 |
ถ่ายโอนไฟล์ผ่าน SMB 3.0 | ไฟล์ 1MB 10,000 ไฟล์ | ดาวน์โหลด | 453 | 51 |
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสมบัติ Inline data compression ที่ช่วยบีบอัดข้อมูลก่อนจะถ่ายโอนข้อมูลไปยังอุปกรณ์ปลายทาง (Client) ซึ่งจะเห็นประโยชน์ของฟีเจอร์นี้ได้ชัดเจนเมื่อจำนวนของ Client ที่อัปโหลดข้อมูลเข้า NAS หรือดาวน์โหลดข้อมูลไปจาก NAS มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพอาจเหนือกว่าระบบปฏิบัติการ QTS หรือ QuTS ที่ไม่ใช้ Inline data compression สูงสุดถึง 1.6 เท่าเลย
ในขณะเดียวกัน เพราะใช้ไฟล์ระบบเป็น ZFS ก็เลยทำให้มันมีความสามารถที่เรียกว่า Self-healing ด้วย เพราะไฟล์ระบบ ZFS จะมีการใช้ Checksum ในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และหากพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากปัญหาด้านฮาร์ดแวร์ เฟิร์มแวร์มีบั๊ก หรือข้อมูล Metadata เกิดความผิดพลาด ตัวไฟล์ระบบ ZFS นี่จะทำการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายโดยอัตโนมัติ โดยการเอาข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ที่ Mirror เอาไว้ ไปแทนที่

พร้อมขยับขยายได้อีกเยอะ ใช้งานได้ยาวๆ
ในฐานะผู้ใช้งานระดับองค์กร ซื้อ NAS ตัวละเกือบแสน แบบ QNAP TS-h886 มาแบบนี้ ก็ต้องอยากใช้ยาวๆ แต่ในอนาคต ความจำเป็นในการเก็บข้อมูลอาจสูงขึ้น คำถามคือ TS-h886 จะไหวไหม?
● หน่วยประมวลผล Intel® Xeon® D-1622 quad-core 2.6 GHz processor (burst up to 3.2 GHz) ประสิทธิภาพสูงมาก และผ่านไปอีกหลายๆ ปี ก็น่าจะยังเพียงพอสำหรับการรัน Services ต่างๆ บน QNAP NAS ได้อย่างไม่มีปัญหา
● หน่วยความจำยิ่งไม่น่าห่วง เห็นว่าให้มาเริ่มต้นที่ 16GB ก็จริง แต่ถ้าจะอัปเกรดไปให้สุด สามารถทำได้ถึง 128GB เลยนะ รองรับหน่วยความจำแบบ DDR4 แบบ Dual-channel ด้วย ใส่แรมได้สูงสุด 4 สล็อต
● ตัวไฟล์ระบบ ZFS นี่รองรับความจุได้สูงสุดระดับเพตะไบต์ (1 Petabyte เท่ากับ 1,000 Terabytes) นี่ไม่ได้หมายความว่าใส่ฮาร์ดดิสก์รวมกันได้ 1PB นะครับ แต่หมายถึง Shared foler 1 อันเนี่ย ขนาดใหญ่สุดได้ 1PB!!!! จะเก็บข้อมูลระดับ Big data ก็ต้องใช้ไฟล์ระบบ ZFS นี่แหละ
● เอาแบบไม่ต้องอัปเกรดเน็ตเวิร์กในองค์กรเลย แค่เปลี่ยนสวิตช์หรือเราเตอร์ ก็สามารถใช้ประโยชน์จาก 2.5GbE ได้แล้ว แต่หากจำเป็นต้องขยับขยายเพิ่มแบนด์วิธ หาการ์ด 10GbE แบบ PCIe มาเสียบสิครับ เจ้านี่มีสล็อตว่างให้ตั้ง 2 สล็อต ถ้า 10GbE ไม่พอ รอ 25GbE หรือ 40GbE ครับ เพราะสล็อตมันรองรับถึง PCIe Gen 3×8
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-h886
NAS ตัวนี้ยิ่งใหญ่จนผมไม่มีอุปกรณ์ครบเครื่องพอที่จะทดสอบมันทุกอย่างจริงๆ ครับ ถ้ามีครบนี่ ที่บ้านผมคงเป็น Data center ย่อมๆ ล่ะ (ฮา) แต่บอกได้เลยว่าดูจากที่อ่านจากสเปกและฟีเจอร์ต่างๆ แล้ว QNAP TS-h886 นี่คือ NAS ที่ทรงพลังมาก มากซะจนไม่ใช่อะไรที่เราๆ ท่านๆ ผู้ใช้งานทั่วไป หรือแม้แต่ใครก็ตามที่เปิดออฟฟิศขนาดเล็กตลอดไปจนถึงขนาดกลางจะได้ใช้ประโยชน์จากมันถึงที่สุด
แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือใครก็ตามที่ทำพวกระบบฐานข้อมูลที่ต้องมี Throughput สูงๆ หรือทำพวก Machine learning/AI กับข้อมูลจำนวนมหาศาล QNAP TS-h886 นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีครับ แต่ต้องไม่ลืมทำ Disk configuration แบบที่ QNAP แนะนำด้วยนะเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด