Home>>รีวิว>>รีวิว Huawei MateBook 14 2020 AMD โน้ตบุ๊กทำงานเรียบ สวย สเปกโอเค
Huawei MatePad 14 2020 AMD
รีวิว

รีวิว Huawei MateBook 14 2020 AMD โน้ตบุ๊กทำงานเรียบ สวย สเปกโอเค

นี่คงเป็นโน้ตบุ๊กแบรนด์ Huawei ตัวแรกที่ผมได้มารีวิวฮะ จริงๆ แอบชอบดีไซน์ของ Huawei MateBook อยู่เป็นทุนเดิม เพราะมันออกมาแนว Apple MacBook มาก (ชื่อก็คล้ายกันอีก … เขียนแบบนี้ Huawei จะโกรธแมะ? แต่มันเรื่องจริง) คือ ถ้าคนอยากได้ความดูดี ภูมิฐานแบบ MacBook แต่อยากได้ระบบปฏิบัติการเป็น Windows และไม่อยากจ่ายแพงเวอร์วัง นี่มันคือโน้ตบุ๊กที่น่าจะตอบโจทย์ที่สุดเลยนะ

ออกตัวล้อฟรีก่อน…

โน้ตบุ๊ก Huawei MateBook 14 2020 AMD ตัวนี้ Huawei Thailand เขาให้ยืมมาเล่น ลอง และแชร์ประสบการณ์ให้ได้อ่านกันนะครับ แต่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าผมจะเขียนเล่าไปตามที่รู้สึกกันจริงๆ เข้าใจตรงกันนะครับ

ด้วยความที่เป็นเครื่องทดสอบละมั้ง กล่องใส่โน้ตบุ๊กที่ผมได้มา มันเลยดูเป็น “เครื่องทดสอบ” มาก ผมไม่คิดว่าของที่ขายจริงเขาจะใส่กล่องแบบนี้มานะครับ เลยไม่กล้าถ่ายรูปให้ดูฮะ เอาเป็นว่า ในกล่องที่ผมได้มาประกอบไปด้วยตัวโน้ตบุ๊ก Huawei MateBook 14 2020 AMD แล้วก็อะแดปเตอร์ 65 วัตต์แบบ USB-C ตามสมัยนิยมในโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ที่จ่ายไฟ 5V2A, 9V2A, 12V2A, 15V3A และ 20V3.25A ได้ แล้วก็สาย USB-C ยาวประมาณ 170 เซ็นติเมตรมาด้วย

ตัวเครื่องโน้ตบุ๊กดูดีมาก วัสดุเป็นอลูมิเนียม ชุบอโนไดซ์ พับปิดหน้าจอแล้วมีความหนาแค่ 15.9 มิลลิเมตร แต่ยังมีพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ มาให้ค่อนข้างครบเครื่องดี ไม่ว่าจะเป็น ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. พอร์ต HDMI พอร์ต USB 3.2 Gen 1 ก็มีให้มาสองพอร์ต และยังมีพอร์ต USB-C มาให้อีกพอร์ตนึง น้ำหนักเครื่อง 1.49 กิโลกรัม ไม่ถือว่าเบามาก แต่ก็ไม่ได้หนักอึ้ง สำหรับหลายๆ คน คิดว่าเป็นน้ำหนักที่รับได้ ในฐานะที่เป็นโน้ตบุ๊กสเปกดี ครบเครื่อง และเบาแบบที่แบกไปไหนมาไหนด้วยไหว

(บน) คีย์บอร์ดของ MacBook Pro (ล่าง) คีย์บอร์ดของ Huawei MateBook 14 2020 AMD

คีย์บอร์ดนี่ ถ้าเอามาถ่ายรูปเทียบกันกับ MacBook Pro อยากบอกว่าเหมือนญาติพี่น้องกัน นี่ไม่ได้ตั้งใจแซะนะ มันคือเรื่องจริง ไม่เชื่อดูรูปด้านบนได้ แต่จะเห็นได้ชัดว่า TouchPad ของ Huawei MateBook 14 2020 AMD มีขนาดใหญ่กว่าประมาณนึง และมีปุ่ม Power ทำหน้าที่เป็นตัวสแกนลายนิ้วมือด้วย ก็ใช้ Windows Hello ได้เลย ตัวที่ผมได้มาลองเป็นเครื่องทดสอบ มันเลยไม่มีแป้นภาษาไทยเลย แต่ผมเข้าใจว่าของที่จำหน่ายจริง น่าจะมีนะแป้นภาษาไทย

Huawe MateBook 14 2020 AMD กางหน้าจอสูงสุด 150 องศา

หน้าจอนี่กางได้สูงสุดราวๆ 150 องศา ถือว่ากางได้มากพอสำหรับการใช้งานในหลักๆ ลักษณะครับ สมกับเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับคนทำงาน คือจะวางตัก วางบนโต๊ะ หรือแม้แต่วางบนแท่นวางโน้ตบุ๊กในออฟฟิศ แล้วจะยืนทำงานไป พิมพ์ไป ก็โอเคอยู่ แอบเสียดายอยู่เหมือนกันที่กางได้ไม่ถึง 180 องศา แต่นี่มันเป็นกิเลสส่วนตัวของผมอ่ะ

ใครอยากจะอัปเกรดเครื่องเอง อย่าลืมไปซื้อไขควงแบบดาวมาด้วยนะ และเห็นว่ามันต้องค่อยๆ แกะอย่างระวังอีกตะหาก ใครที่คิดว่าฝีมือในฐานะช่างของตัวเองไม่ดีพอ หรือใจร้อน แนะนำว่าเข้าศูนย์ฮะ แต่เอาตรงๆ นะ เจ้านี่ให้แรมมา 16GB และน่าจะเป็นแบบฝังบอร์ดมาเลย ที่จะอัปเกรดได้ก็คือ SSD ซึ่งก็ให้ความจุระดับ 512GB เป็น SSD M.2 NVMe มาแล้ว ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าอยากจะอัปเกรดอะไรกันอีกนักหนา แค่นี้ยังไม่พอรึไงกัน?

ประสบการณ์ในการใช้งาน Huawei MateBook 14 2020 AMD

ตัวที่ผมได้มารีวิว เป็นตัวท็อปของรุ่นนี้ คือใช้หน่วยประมวลผลเป็น AMD Ryzen 7 4800H ที่มาพร้อมกับ GPU AMD Radeon ใส่แรม DDR4 2666MHz ความจุ 16GB มาให้ และความจุ 512GB แบบ SSD M.2 NVMe ที่จัดสเปกระดับอ่าน 3.5GB/s เขียน 3GB/s อะไรประมาณนี้เลย (วัดด้วย CrystalDiskMark 7) เร็วปรี๊ดมาก จนรู้สึกว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้มันต้องการอะไรขนาดนี้เลยเหรอ(วะ)

ผลการทดสอบความเร็ว SSD ของ Huawei MateBook 14 2020 AMD

หน้าจอแสดงผลของเจ้านี่ สัดส่วนการแสดงผลอยู่ที่ 3:2 ซึ่งเป็นสเกลที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในโน้ตบุ๊กซักเท่าไหร่ ยกเว้นในตระกูล Microsoft Surface ความละเอียดในการแสดงผล 2,160×1,440 พิกเซล หรือเรียกกันว่าหน้าจอระดับ 2K มันให้พื้นที่การแสดงผลเยอะกว่าหน้าจอแบบ 16:9 ตามปกติของโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไป

Huawe MateBook 14 2020 AMD

หลายๆ คนพอเห็นอัตราส่วนการแสดงผลแบบนี้แล้ว ก็อาจจะรู้สึกว่าหน้าจอมันเหมาะจะใช้ทำงานแบบหน้าต่างโปรแกรมเดียวซะมากกว่า เพราะมันดูเน้นไปทางด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง อันนี้ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ครับ เท่าที่ผมลองใช้ดูแล้วผมพบว่า

● ถ้าทำงานแบบเน้นหน้าต่างเดียว สิ่งที่เราได้คือ มันขยายเนื้อได้เต็มหน้าจอดีมาก คือนอกจากมันจะกว้างแล้ว มันยังสูงอีกด้วย ความละเอียดในการแสดงผลระดับ 2K ทำให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีกพอสมควร เมื่อเทียบกับความละเอียดระดับ Full HD

● ในขณะเดียวกัน หากต้องการเปิดสองหน้าต่างพร้อมกันเพื่อทำงาน เช่น เปิดเว็บไว้ข้างนึงเพื่อค้นหาข้อมูล แล้วพิมพ์งานบนโปรแกรม Word processor ในอีกหน้าต่างโปรแกรมนึง มันก็ทำได้สบายๆ นะ เพราะถ้าเทียบกันดีๆ แล้ว 3:2 ก็เทียบเท่ากับ 16:10.67 นะครับ จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่ได้คือ จอมันแสดงผลด้านแนวตั้งได้มากกว่าจอ 16:9 อีกนิดหน่อยนั่นเอง

ด้วยสเปกระดับนี้ คงไม่ต้องให้ผมบอกละมั้ง ว่ามันจะใช้งานเช็กอีเมล ทำงานด้วย Microsoft Office เวิร์กไหม เปิด Facebook เล่น Twitter ดู YouTube แล้วจะหน่วงไหม หนืดไหม แหม่ ฮาร์ดแวร์มันล้ำเกินความต้องการของโปรแกรมพวกนี้ไปเยอะ และหน่วยความจำ 16GB ก็มากเกินพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไปอยู่แล้ว (ผมทำงานออฟฟิศ ทำทั้งตกแต่งภาพด้วย Affinity Photo, เปิดเว็บด้วย Google Chrome ที่ 20-30 แท็บพร้อมกัน แถมมีเบราวเซอร์อื่นเปิดพร้อมๆ กันอีก จำนวนแท็บพอๆ กัน มันยังซัดแรมไปแค่ 12-13GB เอง)

ผลทดสอบด้วยโปรแกรม Final Fantasy XV Benchmark

ฉะนั้นผมก็เลยเอามาวัดดูว่าสเปกแบบนี้ ถ้าเอามาเล่นเกมจะเป็นยังไงบ้าง? ก็ลองใช้เกมที่กราฟิกหรูๆ หน่อยอย่าง Final Fantasy XV เลยครับ จากที่ผมดูตัว Benchmark มันเล่น ก็รู้สึกได้ว่าถ้าเปิดเล่นที่ความละเอียดต่ำสุดคือ 1,280×720 พิกเซล และคุณภาพกราฟิกแบบ Lite Quality มันก็พอเล่นได้ไหวอยู่นะ ไม่ถึงขนาดเห็นอาการกระตุกมาก ยกเว้นตอนที่มีตัวละครโผล่ออกมาเยอะๆ ยิ่งถ้าไปเล่นเกม 3D แบบที่จำนวนโพลีกอนไม่สูงมาก ยิ่งสบายๆ ครับ แค่อย่าเซ็ตพวกคุณภาพกราฟิกและความละเอียดในการแสดงผลสูง หรืออย่าไปเลือกพวกเอฟเฟ็กต์พิเศษเยอะๆ

ลำโพงสเตริโอของเจ้านี่ ให้เสียงดังฟังชัด แถมให้มิติของเสียงค่อนข้างดีทีเดียว (ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเสียงที่เราจะฟังด้วยนะ) ผมลองไปฟังพวกคลิปทดสอบเสียงของ Dolby Atmos หรือ DTS แล้ว ก็บอกได้เลยว่า ถ้าเราอยู่ในห้องทำงานคนเดียว เราไม่ต้องเสียบหูฟังเพื่อเล่นเกมหรือดูหนังหรอกครับ ลำโพงของเจ้า Huawei MateBook 14 2020 AMD นี่เหลือเฟือ

สรุปคือ เอามาใช้ทำงานก็ได้ เอามาเล่นเกมสบายๆ หรือจะดูหนังชิลล์ๆ คลายเครียดก็ไม่เลว เจ้านี่ตัวเดียวเอาอยู่หมด

ประสบการณ์ในการพิมพ์เป็นยังไงบ้าง? ก็ถือว่าไม่เลวครับ แป้นพิมพ์ใหญ่ดี ตำแหน่งของแป้นแต่ละตัวก็เหมาะสมกันดี พิมพ์คล่องมือทีเดียว ใครที่เป็นสายพิมพ์เก่งๆ ไม่ต้องมองแป้นก็พิมพ์รัวๆ ได้ ตัวนี้ผมให้ผ่าน

ใช้ Huawei P40 Pro แตะบน TouchPad ของ Huawei MateBook 14 2020 AMD

ลูกเล่นอีกอันที่ Huawei อยากให้พูดถึง จนถึงขนาดลงทุนส่งสมาร์ทโฟนมาให้ลองคู่กันก็คือ Huawei Share ที่ถ้าเราใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei ที่รองรับ NFC และใช้ระบบปฏิบัติการ EMIUI 10 ขึ้นไป แค่เอาสมาร์ทโฟนไปแตะตรง TouchPad มันก็จะเด้งเตือนบนสมาร์ทโฟนว่าจะเชื่อมต่อกับ Huawei MateBook เลยไหม

หน้าจอเดสก์ท็อปของ Huawei MateBook 14 2020 AMD ที่แสดงหน้าจอของ Huawei P40 Pro อยู่

เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อย เราก็จะเห็นหน้าจอของสมาร์ทโฟนที่เราเชื่อมต่อโผล่มาบนหน้าจอเดสก์ท็อปของ Huawei MateBook 14 2020 AMD นี่เลยครับ เราสามารถใช้เมาส์หรือใช้คีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ในการเลื่อนหน้าจอ หรือพิมพ์บนสมาร์ทโฟนได้ผ่าน Huawei Share นี่เลย การจะโอนไฟล์ไปมาระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมาร์ทโฟน ก็ทำผ่าน Huawei Share นี่แหละ

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ของใหม่นะครับ Windows 10 อะ มันมาพร้อมกับแอปชื่อ Your Phone ครับ (ถ้าไม่มี ก็ไปดาวน์โหลดจาก Microsoft Store ได้ มันฟรี) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Huawei Share นี่แหละ แต่ใช้ได้กับสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ iOS ด้วย แต่มันจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น บน iOS ก็ต้องดาวน์โหลด Continue on PC แล้วก็จะทำอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทำได้เยอะกว่า ต้องดาวน์โหลดแอป Your Phone Companion มาติดตั้งก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำ Screen mirroring ได้ครับ ยกเว้นสมาร์ทโฟนของ Samsung รุ่นใหม่ๆ หรือ พวกเรือธงตั้งแต่ Samsung Galaxy S9 เป็นต้นมา และ Microsoft Surface Duo (รายชื่อสมาร์ทโฟนที่รองรับฟีเจอร์ Link to Windows ดูได้จากเว็บไซต์ของ Microsoft)

เท่าที่ผมลองใช้ดู Huawei Share ก็ทำได้ไม่แพ้ Your Phone ของ Microsoft ล่ะ ควบคุมสมาร์ทโฟนได้ แชร์ไฟล์ระหว่างกันได้ แต่ที่ทำได้เหนือกว่าคือ ตอนที่จะพิมพ์บนสมาร์ทโฟนด้วยคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊กครับ เพราะของ Huawei นี่ มันสลับภาษาด้วยคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กได้เลย แต่ถ้าเป็นของ Microsoft มันจะมองคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กเป็น Physical keyboard แล้วมันจะมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนภาษากับ Gboard ของ Google ครับ

สรุปว่า Huawei ทำออกมาดีกว่า Microsoft แต่ข้อจำกัดก็คือ ต้องใช้กับโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนของ Huawei ที่รองรับเท่านั้น แต่ของ Microsoft แม้ตอนนี้จะมีข้อจำกัดเรื่องสมาร์ทโฟนที่รองรับการทำ Screen mirroring แต่ในภาพรวม จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องยี่ห้อ/รุ่นของโน้ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนครับ … ก็มีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกันไปละนะ

บทสรุปในการรีวิว Huawei MateBook 14 2020 AMD

สนนราคาค่าตัว อ้างอิงจากร้าน BananaIT บน Lazada ตอนนี้คือ 29,990 บาท เทียบกับสเปกแล้ว ก็ถือว่าไม่เลวครับ ยิ่งใครใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei อยู่ ก็จะยิ่งใช้งานคู่กับเจ้านี่ได้ลื่นๆ มากๆ เลย และอยากบอกว่า ถ้าอยากใช้ Huawei MateBook 14 ตัวนี้ แต่ไม่สะดวกใจใช้สมาร์ทโฟนของ Huawei เพราะไม่มี Google Mobile Services แต่อยากได้ฟีเจอร์แบบ Huawei Share ก็ไปใช้สมาร์ทโฟนของ Samsung ในรุ่นที่รองรับฟีเจอร์ Links to Windows สิครับ (ฮา)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า