Home>>บทความ How-to>>ฮาร์ดดิสก์พกพา… เลือกแบบไหนดีล่ะ?
ผู้ชายใส่เสื้อสีแดงกำลังนั่งอยู่บนโซฟา พิมพ์งานบนโน้ตบุ๊ก มี WD My Passport เสียบอยู่กับโน้ตบุ๊ก เขากำลังคุยกับผู้หญิงผมยาวที่นั่งอยู่บนโซฟาติดกับกำแพงอยู่
บทความ How-toบ่นเรื่อยเปื่อยฮาร์ดแวร์

ฮาร์ดดิสก์พกพา… เลือกแบบไหนดีล่ะ?

ฮาร์ดดิสก์พกพา (External HDD) มีตัวเลือกเยอะมาก สเปกในส่วนของความจุน่ะเรารู้ว่าควรจะเลือกใหญ่แค่ไหนดี เพราะมันขึ้นอยู่กับความต้องการเนื้อที่ของเรา แต่ว่าชนิดของฮาร์ดดิสก์พกพานี่สิมีเยอะจัง มีทั้งถูกและแพง แล้วมันแตกต่างกันยังไง ควรจะเลือกใช้ยังไงถึงจะคุ้มค่า บล็อกตอนนี้จะลองมาแนะนำให้ครับ

เท่าที่ดูตามท้องตลาด ถ้านับเฉพาะส่วนที่เป็นฮาร์ดดิสก์พกพา (กรณีศึกษานี้คือจากยี่ห้อ SanDisk และ WD นะครับ) ก็มีทางเลือกอยู่หลักๆ 5 ตัวเลือก ดังนี้ครับ

💻 ฮาร์ดดิสก์พกพาแบบปกติ เช่น WD My Passport หรือ WD My Passport Ultra

💻 เอาฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊กมาใส่กล่องฮาร์ดดิสก์

💻 SSD พกพา (External SSD) เช่น WD My Passport SSD

💻 เอา SSD มาใส่กล่องฮาร์ดดิสก์

💻 ฮาร์ดดิสก์พกพาแบบไร้สาย เช่น WD My Passport Wireless หรือ WD My Passport Wireless Pro

💻 SSD พกพาแบบไร้สาย เช่น WD My Passport Wireless SSD

ซึ่งแต่ละตัวเลือก มันก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เหมาะสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ผมขอแนะนำแบบนี้ก็แล้วกันครับ

ฮาร์ดดิสก์พกพาแบบทั่วไป – ตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

พวกนี้คือการเอาฮาร์ดดิสก์ความเร็ว 5,400 รอบมาใช้ มีอินเทอร์เฟซเป็น SATAIII เชื่อมต่อผ่าน USB-A ซะมาก เพราะความเร็วของฮาร์ดดิสก์พวกเนี้ย จะอยู่ที่ 110-130MB/s ทั้งอ่านและเขียน ไม่ได้ต้องการแบนด์วิธอะไรมากมาย แค่ USB 3.2 Gen 1 (หรือเมื่อก่อนเรียก USB 3.0) ที่ให้แบนด์วิธ 5Gbps ก็เหลือเฟือแล้ว

WD My Passport สีต่างๆ ได้แก่ ดำ แดง ขาว น้ำเงิน ส้ม และ เหลือง

ฮาร์ดดิสก์พกพาแบบทั่วไปแบบนี้ มีราคาต่อความจุที่คุ้มค่าที่สุดแล้วครับ และด้วยความที่มันใช้ฮาร์ดดิสก์แบบทั่วๆ ไป ความจุสูงสุดที่มีวางจำหน่ายก็เลยบิ๊กเบิ้มสุดเช่นกันคือ เริ่มต้นที่ 1TB และเบิ้มสุดคือ 5TB ราคาเริ่มต้น 1TB 1,299 บาท และไปสุดที่ 5TB แค่ 3,380 บาทเท่านั้น พวกนี้เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลจำนวนมากๆ ขนาดไฟล์ใหญ่ๆ แต่ไม่ได้ต้องการความเร็วสูงปรี๊ด (อารมณ์ประมาณรอได้) หรือ เอาไว้เก็บข้อมูลที่ไม่ได้ต้องการใช้บ่อยๆ เช่น การเอาไฟล์งานวิดีโอไปส่งให้ลูกค้า การสำรองข้อมูลออกจากเซิร์ฟเวอร์หรือ NAS หรือ สำรองข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

เอาฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊กมาใส่กล่องฮาร์ดดิสก์ – ฮาร์ดดิสก์พกพาแบบรียูส

ในกรณีที่คุณอัปเกรดโน้ตบุ๊กจากฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กเป็น SSD แล้วไม่รู้จะเอาฮาร์ดดิสก์ตัวเก่านี่ไปทำอะไร จะทิ้งก็เสียดาย บางทีการไปหาซื้อกล่องใส่ฮาร์ดดิสก์มาใช้ เพื่อแปลงมันเป็น External HDD ก็อาจจะดีก็ได้นะ

ตัวอย่างกล่องใส่ฮาร์ดดิสก์ 2.5" ของ Orico แบบ USB-C

อย่างไรก็ดี อยากให้รู้ว่าตัวกล่องใส่ฮาร์ดดิสก์ที่เราซื้อมา ถ้าของมันห่วย ความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูลมันก็จะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเยอะมาก และจากที่ผมลองใช้แม้จะเป็นของดีๆ ก็ตาม ความเร็วที่ได้จากการใช้กล่องพวกนี้ มันก็ต่ำกว่าพวกฮาร์ดดิสก์พกพาที่ถูกออกแบบมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะนะ ฉะนั้น การใช้งานแบบนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะคุณมีฮาร์ดดิสก์เหลือใช้ ผมไม่แนะนำให้จงใจหาซื้อทั้งฮาร์ดดิสก์และกล่องมาใช้งานนะครับ

จริงๆ กล่องใส่ฮาร์ดดิสก์แบบนี้ ผมเอาไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็นต้องถอดฮาร์ดดิสก์หรือ SSD (แบบ SATAIII) เพื่อเอามาเสียบกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เพื่อใช้ดึงข้อมูลมากกว่า

SSD พกพา (External SSD) – แพงแต่เร็ว

แนวคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็จะคล้ายๆ กับฮาร์ดดิสก์แบบพกพา (External HDD) ต่างกันแค่สิ่งที่อยู่ในผลิตภัณฑ์มันไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็ก แต่เป็น SSD (Solid State Drive) ข้อดีของ SSD คือ น้ำหนักเบามาก บางตัวไม่ถึง 100 กรัม มีขนาดเล็กพกพาสะดวกกว่ามาก มีความทนทานต่อการตกกระแทกกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็ก ไม่ต้องกลัวข้อมูลหายเวลาเจอแรงแม่เหล็กด้วย และบางรุ่นนี่กันฝุ่นกันน้ำได้อีกกว่าอีก ที่สำคัญ ความเร็วในการเขียนและอ่านสูงกว่ามากมาย ถ้าเป็นตัวที่ใช้อินเทอร์เฟซแบบ SATAIII นี่ก็วิ่งได้สุดๆ ระดับ 500MB/s เลย และหากใช้ SSD M.2 NVMe นี่อาจจะวิ่งได้ระดับ 1GB/s กันไปเลย (เช่น WD My Passport SSD โฉมใหม่ปี 2020 ที่ผมได้รีวิวไป)

WD My Passport SSD กำลังวางอยู่บนสมุดจดโน้ต มีแว่นตาวางอยู่ข้างๆ กำลังเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กผ่านสาย USB-C อยู่

แต่ข้อจำกัดของ SSD แบบพกพาหลักๆ เลยก็คือเรื่องของราคา ที่แบบว่าแพงกว่า 5-10 เท่า เลยทีเดียว ลองคิดง่ายๆ WD My Passport 2TB ราคา 1,700 บาท แต่ถ้าเป็น WD My Passport SSD 2TB นี่จะราคา 9,190 บาท และหากเป็นโฉมใหม่ปี 2020 ก็จะราคา 10,990 บาท และด้วยราคามหาโหดนี่แหละ ทำให้เขายังไม่กล้าทำ SSD แบบพกพาขนาดบิ๊กเบิ้มออกมาขาย ใหญ่สุดที่ทำมาขายก็ 2TB นี่แหละ

ถ้าจะซื้อ SSD พกพาไปใช้ ถ้าไม่ใช่เพราะคุณห่วงเรื่องการพกพา กลัวมันจะตกหล่นแล้วข้อมูลเสียหาย หรือต้องการรุ่นที่มันทนต่อฝุ่นต่อน้ำหน่อย (ไม่ได้หมายความว่าจะแช่น้ำได้นะ แต่แบบ ตากฝนนิดหน่อยไม่พังอะ) ก็ต้องเป็นเพราะคุณอยากได้ความเร็วในการอ่านและเขียนสูงๆ แบบว่าจะถ่ายโอนไฟล์ใหญ่ๆ เบิ้ม หรือ จำนวนไฟล์มากๆ ได้รวดเร็ว หรือสามารถทำงานที่ต้องอ่านหรือเขียนข้อมูลเร็วๆ ได้จากตัวไดร์ฟเลย โดยไม่ต้องเสียเวลาก๊อปปี้มันลงในคอมพิวเตอร์ที่มี SSD ความเร็วสูงๆ อยู่ พวกช่างภาพ ช่างวิดีโอ คนทำงานด้านกราฟิกหรือตัดต่อวิดีโอ จะได้ประโยชน์จากเจ้านี่มากที่สุด

WD My Passport Wireless SSD กำลังชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ iPhone อยู่

ในผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ WD เขามี WD My Passport Wireless SSD ด้วย จุดเด่นคือ มันสามารถเชื่อมต่อกับพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตผ่าน WiFi ได้ มีตัวอ่าน SD card ในตัว สามารถก๊อปปี้ข้อมูลจาก SD card ลงตัว WD My Passport Wireless SSD ได้เลย เหมาะกับพวกช่างภาพ ที่ไม่ไว้ใจ SD card เพราะมีโอกาสที่การ์ดจะเสีย หรือชำรุดได้ง่ายกว่าพวก SSD เวลาถ่ายภาพเสร็จ ก็จะได้สำรองข้อมูลเอาไว้ก่อนได้ หรือถ่ายโอนข้อมูลออกมา เพื่อจะได้เอาการ์ดไปถ่ายอย่างอื่นต่อได้อีก แล้วไม่อยากพกคอมพิวเตอร์ไปเพื่อใช้ถ่ายโอนข้อมูล แถมเจ้านี่ยังมีแบตเตอรี่ 6,700mAh ในตัว ถ้าฉุกเฉินจริงๆ เอามาใช้งานเป็น PowerBank ใช้ชาร์จพวกอุปกรณ์ต่างๆ ได้อีก

เอา SSD มาใส่กล่องฮาร์ดดิสก์ – ใช้เพื่อรียูสหรือเมื่อต้องการความเร็วสุดจี๊ด

คล้ายๆ กับกรณีของการเอาฮาร์ดดิสก์มาใส่กล่องนั่นแหละ ถ้าไม่ใช่เพราะว่าคุณมี SSD เหลือๆ มาจากการอัปเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์ การซื้อเอามาใส่ในกล่องเพื่อใช้งานมันไม่ค่อยคุ้มเท่ากับการไปซื้อ SSD แบบพกพามาใช้เลยหรอกครับ นอกจากนี้ กล่องฮาร์ดดิสก์มักจะรองรับแค่ USB 3.2 Gen 1 แบนด์วิธ 5Gbps ที่ให้ความเร็วสูงสุด 625MB/s เหมาะกับ SSD แบบ SATAIII มากกว่า ส่วนพวก SSD แบบพกพาอย่าง WD My Passport SSD โฉมใหม่ปี 2020 นี่ เขาใช้ NVMe ความเร็วมันต้อง USB 3.2 Gen 2 แบนด์วิธ 10Gbps ถึงจะพอใช้อะ

พอเอา SanDisk SSD Plus 120GB มาใส่กล่องฮาร์ดดิสก์ของ Orico แล้ว หน้าตาจะออกมาแบบนี้ครับ

ถ้าจะดันทุรังใช้ SSD แบบ M.2 NVMe ใส่กล่องให้ได้ ขั้นต่ำๆ ก็ต้องใช้กล่องที่รองรับ USB 3.2 Gen 2 ที่ราคาก็จะแพงขึ้นไปอีกหน่อย (ประมาณเกือบๆ พัน หรือ พันต้นๆ) ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมแล้วไม่คุ้มเท่าไหร่

อีกเหตุผลนึงที่ทำให้เราต้องเลือกแบบใส่กล่องก็คือ เราดันต้องการ SSD แบบพกพาที่มีความเร็วในการเขียนและอ่านโคตรสูงแบบใช้ SSD M.2 NVMe ความเร็วระดับ 1.5GB/s ขึ้นไป ซึ่งแบนด์วิธของ USB 3.2 Gen 2 มันไม่พอแล้ว (มันได้สูงสุด 1.25GB/s ในทางทฤษฎี) แต่ในกรณีนี้ก็ต้องซื้อกล่องที่รองรับ Thunderbolt 3 ครับ (เช่น JEYI ที่ผมรีวิวไป เป็นต้น) แต่กล่องพวกนี้ก็มีราคาโหดหน่อยคือ 2-4 พันบาทเลยทีเดียว และก็ต้องใช้กับโน้ตบุ๊กที่รองรับ Thunderbolt 3 ด้วยนะครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from บล็อกต๊อกต๋อยของนายกาฝาก

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า