หลังจากที่ WD เปิดตัว My Passport SSD โฉมใหม่ปี 2020 ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน แน่นอนว่าเราก็อยากรู้ว่ามันจะดี มันจะเจ๋งตรงไหน สำหรับคนที่อยากได้ Storage แบบพกพาที่มีความจุเยอะๆ ไว้ใช้ซักตัว ฉะนั้น ไหนๆ ทาง WD เขาก็ส่ง WD My Passport SSD 1TB โฉมใหม่มาให้ลองแล้ว ก็ขอเขียนรีวิวให้ได้อ่านกันเลยแล้วกันนะฮะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
WD My Passport 1TB โฉมใหม่ปี 2020 ที่ผมรีวิวครั้งนี้ ผมได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง Western Digital ส่งมาให้ลองใช้ เพื่อจะได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่จะบอกเล่า มันคือความเห็นส่วนตัวของผมแบบตรงไปตรงมาเช่นเคย ไม่ได้มีใครมากำหนดเนื้อหาแต่อย่างใด
ตัวที่ผมได้มารีวิวงวดนี้ เป็นของแบบใช้จำหน่ายจริงเลยครับ โลโก้ Synnex ที่เป็น Distributor และพวกสติกเกอร์โปรโมชันต่างๆ นี่ยังแปะอยู่ชัดเจนเลย รอบๆ กล่องมันก็บอกเอาไว้ว่าฟีเจอร์เด่นๆ ของ WD My Passport SSD นี่คืออะไร และภายในกล่องจะมีอะไรบ้าง

แกะกล่องออกมา สิ่งที่อยู่ในกล่องก็จะมี WD My Passport SSD ที่มีให้เลือก 4 สี คือ กรมท่า ทอง เทาเงิน แดง ครับ ตัวที่ผมได้มาเนี่ยเป็นสีเทาเงินครับ ภายในกล่องนอกจากตัว WD My Passport SSD แล้วก็จะมีเอกสารที่เหมือนกับคู่มือการใช้งานสั้นๆ และคำอธิบายต่างๆ กับสาย USB-C to USB-C ความยาวประมาณ 15 เซ็นติเมตร และมีหัวแปลงจาก USB-C ไปเป็น USB-A มาให้ด้วย

ตัว WD My Passport SSD โฉมใหม่เนี่ย เทียบกับของเก่าแล้ว จะบางกว่านิดนึง และใหญ่กว่าหน่อยนึง และเช่นเคยเขาใช้พอร์ต USB-C เพราะตั้งแต่เวอร์ชันก่อนหน้า เขาก็หันมาใช้มาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 ที่ให้แบนด์วิธ 10Gbps กันแล้ว แต่โฉมใหม่นี่สิ่งที่เปลี่ยนไปอยู่ด้านใน คือ เขาเปลี่ยนจากที่ใช้ SSD M.2 ที่ให้แบนด์วิธในระดับ SATAIII (6Gbps) มาเป็น SSD M.2 NVMe แทน ซึ่งให้ความเร็วสูงไปอีกขั้น คือ ความเร็วในการอ่านสูงสุด 1,050MB/s เลยทีเดียว
ผมลองเอามาทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 7.0.0 ความเร็วที่ได้แอบไม่ถึงตามสเปก แต่เวลาที่ผมไปดูเว็บอื่นเขาทดสอบ มันก็ได้ตามสเปกดีนะ มันทำให้ผมรู้สึกว่า ด้วยตัว WD My Passport SSD เองอะ มันสามารถไปได้ถึง 1,050MB/s ตามที่สเปกระบุแหละ แต่มันมีปัจจัยอื่นๆ ในตัวโน้ตบุ๊กที่ทำให้มันไปไม่ถึงจุดนั้น (สำหรับผม)

ที่เพิ่มเข้ามาอีกอย่าง ที่ผมไม่เห็นใน WD My Passport SSD รุ่นก่อนหน้าก็คือ การรองรับ UAS (USB Attached SCSI) ซึ่งดีกว่าเมื่อก่อนที่จะใช้ BOT (Bulk Only Transport) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดิม ที่ส่งข้อมูลทีละชุด
การรองรับ UAS ส่งผลให้การรับส่งข้อมูลมันรองรับ Multiple outstanding requests และ Out-of-order request completions ซึ่งส่งผลให้ระบบไม่ต้องมาเสียเวลารอให้แต่ละ Request มันจบลงก่อนถึงจะเริ่มส่ง Request ใหม่ได้ เหมือนกับตอน BOT สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือตัวอุปกรณ์ Storage มันจะได้ประโยชน์จากแบนด์วิธของ USB มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ WD เขาก็มีโปรแกรมต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของ WD เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ เช่น WD Drive Utilities ที่เอาไว้ทำพวกทดสอบสุขภาพของฮาร์ดดิสก์ หรือใช้ลบข้อมูลในดิสก์แบบเกลี้ยงๆ หมดทางกู้กลับ เผื่อกรณีที่จะขายต่อหรือให้คนอื่นใช้ WD Backup ที่ใช้ตั้งค่าการสำรองข้อมูลแบบอัตโนมัติ และ WD Security เข้ารหัสข้อมูลในดิสก์ เผื่อหายจะได้ไม่มีใครเห็นข้อมูลของเรา (แต่ถ้าเราลืมรหัสซะเองคือบรรลัยนะครับ)

งวดนี้ WD My Passport SSD โฉมใหม่ปี 2020 นี่มีให้เลือก 3 ความจุ คือ 500GB, 1TB และ 2TB การปรับความเร็วสูงขึ้นแบบนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนที่ทำงานจำพวกวิดีโอ การถ่ายภาพ และกราฟิก เพราะสามารถถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ๆ ได้รวดเร็วขึ้นมาก และสำหรับบางคน อาจจะเลือกที่จะทำงานกับตัว WD My Passport SSD โดยตรง ไม่ต้องเสียเวลาก๊อบปี้ข้อมูลลงเครื่องคอมพิวเตอร์เลยด้วย

ถ้าจะให้ผมหาเรื่องติ คงจะมีสองจุดหลักๆ คือ น้ำหนักที่หนักกว่า WD My Passport SSD โฉมเก่านิดหน่อย คือ เจ้าโฉมใหม่นี่น้ำหนัก 54 กรัม ส่วนโฉมเก่าหนัก 39 กรัมครับ และสาย USB ที่ให้มาด้วย ของเก่ายาวเกือบ 50 เซ็นติเมตร ยาวกำลังดี แต่ของใหม่ยาวแค่ 15 เซ็นติเมตรเอง ผมว่าแอบสั้นไปนิด คือ ในการใช้งานจริงๆ ส่วนใหญ่ก็เสียบข้างเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรานี่แหละ สายสั้นๆ ไม่ลำบากหรอก แต่บางคนมันต้องเอาไปเสียบกับคอมพิวเตอร์ที่เป็นเดสก์ท็อป ซึ่งพอร์ตบางทีมันก็อยู่ด้านหลัง สายสั้นๆ เสียบยุ่งยากมากเลยอะ
อ้อ! แล้วก็เพราะขนาดมันกะทัดรัดมาก เวลาใช้งานก็จะเป็นปกติที่มันจะอุ่นๆ ร้อนๆ นิดหน่อย แค่ประมาณเวลาเรามือเย็นๆ ไปจับแล้ว เฮ้ย อุ่นสบายดี อะไรแบบนี้
อ้อ! ถ้าจะใช้ แนะนำว่าเช็กให้ดีๆ ก่อนว่าคอมพิวเตอร์ของคุณ มันรองรับ USB 3.2 Gen 2 หรือเปล่านะ เพราะถ้าไม่รองรับ จะไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากความเร็วที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,050MB/s นี้เลยนะครับ เช็กสเปกให้ดีๆ ก่อนครับ อย่าไปดูแค่ว่ามันเป็น USB 3.0 3.1 หรือ 3.2 มันต้องดูที่แบนด์วิธด้วย