Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา EP01: พลังแห่งการคิดเหมือนกัน
มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา ตอนที่ 1 พลังแห่งการคิดเหมือนกัน
บ่นเรื่อยเปื่อยบทวิเคราะห์แบ่งปันความรู้

มองโซเชียลมีเดียผ่านเลนส์จิตวิทยา EP01: พลังแห่งการคิดเหมือนกัน

คุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของโซเชียลมีเดียคือ การเป็นที่รวมตัวของคนที่คิดเหมือนๆ กัน (Like-minded people) ครับ บนเฟซบุ๊กมันจะมีอัลกอริทึมที่จะเฟ้นหาเนื้อหาที่ผู้ใช้งานสนใจมานำเสนอบนฟีด ผู้ใช้งานเองก็จะไปกดไลค์และกดติดตามเพจ หรือบุคคลที่ตนเองสนใจ บนทวิตเตอร์ก็เช่นกัน ผู้ใช้งานก็จะไปกดติดตามบัญชีอื่นๆ ที่มีเนื้อหาที่เขาสนใจ และทวิตเตอร์เองก็จะมีการคัดเลือกแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ ที่ผู้ใช้งานคนนั้นๆ อาจจะสนใจ ส่งผลให้ โดยปกติแล้ว เนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนฟีดหรือบนไทม์ไลน์ของเรา มักจะเป็นสิ่งที่เราสนใจ ถูกใจ หรือคิดว่านี่แหละ คือสิ่งที่สอดคล้องกับความคิดของเรา และพลังแห่งการคิดเหมือนกันนี่แหละ มันแรงกว่าที่เราคิดเยอะนะเออ

อิทธิพลกลุ่ม (Group polarization) และ อคติในการยืนยัน (Confirming bias)

เมื่อคนที่คิดคล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน วันๆ ก็ได้เห็นแต่เนื้อหาที่สอดคล้องกับความคิดของเรา ได้พูดคุยแต่กับคนที่คิดเห็นคล้ายๆ เรา มันเสี่ยงต่อการติดกับดักทางจิตวิทยาสองเรื่อง เวลาที่จะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง นั่นก็คือ อิทธิพลกลุ่ม และ อคติในการยืนยัน ครับ

อิทธิพลกลุ่ม หรือ Group polarization คือปรากฏการณ์ที่เวลาคนมีความเห็นคล้ายๆ กันมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแล้ว การตัดสินใจของพวกเขาจะมีโอกาสออกมาในแนวสุดขั้ว (Extreme) กว่าในกรณีที่เราให้เขาตัดสินกันตัวคนเดียว ซึ่งนักจิตวิทยาวิเคราะห์กันว่าที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ เวลาคนที่มีความเห็นคล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน ความคิดเห็นของคนอื่นๆ ที่คล้ายกับเรา มันจะกลายเป็นเครื่องยืนยันความเชื่อ หรือความเห็นของเราไป เราจะรู้สึกว่า ถ้าคนอื่นๆ ก็คิดแบบเดียวกับเรา แสดงว่าสิ่งที่เราคิดย่อมถูกต้อง และต่อให้ตอนแรกๆ เราไม่ได้มีความคิดเห็นสุดขั้วอะไรขนาดนั้น แต่อิทธิพลของทัศนคติของกลุ่ม (Group’s attitude) มันจะเข้ามาส่งผลต่อทัศนคติของเราให้คล้อยตามไปได้ในที่สุด

อคติในการยืนยัน หรือ Confirming bias คือ พฤติกรรมที่คนเราจะพยายามหาข้อมูลมาสนับสนุนตัวเองว่าสิ่งที่เราคิดหรือเชื่อ มันถูกต้องแล้ว เพราะคนเราย่อมไม่ค่อยอยากยอมรับว่าตนเองคิดผิด หรือเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ นั่นเอง และเพราะเหตุนี้ อคติในการยันยืน จึงมักทำให้เราพยายามปฏิเสธเหตุผลของอีกฝ่าย แม้ว่าข้อมูลของอีกฝ่ายจะน่าเชื่อถือหรือถูกต้องก็ตาม

ฉะนั้นจึงไม่ค่อยแปลก เวลาที่เราเห็นกรณีเกิดดราม่าขึ้นมา พอทัวร์มาลงหนักเข้าเรื่อยๆ ความรุนแรงของการแสดงออกก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น นั่นเพราะว่าผู้เข้าร่วมนั้นเริ่มเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องและสมเหตุสมผลแล้ว และเมื่อเห็นคนอื่นเขาแสดงออกรุนแรงบ้าง เขาก็คิดกันว่านั่นคือสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดอะไร และเมื่อเห็นกันเยอะๆ เข้า ความรุนแรงมันก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนถ้าใครที่เห็นต่างเข้ามาคัดค้าน ก็จะถูกปฏิเสธโดยทันที และอาจมีการไปหาเหตุผลมายืนยันความเชื่อของตนเองอีก ซึ่งอาจจะเป็นการอ้างอิงเนื้อหาที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียคนอื่นได้โพสต์เอาไว้ (ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้) มาสนับสนุนความคิดหรือความเชื่อของตน ซึ่งเมื่อได้เห็นว่ามีคนอีกจำนวนมาก ที่คิดหรือเชื่อเหมือนกับตนเอง ก็จะยิ่งเชื่อมั่นเข้าไปอีกว่า สิ่งที่ตนคิดและเชื่ออยู่นั้น ถูกต้องแล้ว

ตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ฝูงชน เมื่อการชุมนุมประท้วงกรณี Black Lives Matter ในปารีส ที่มีผู้มาร่วมชุมนุมกว่า 20,000 คน เกิดความรุนแรงขึ้น
ภาพ: AP (นำภาพมาจาก CGTN.com)

และเพราะอิทธิพลกลุ่มนี่แหละครับ ที่ทำให้เราได้เห็นบ่อยครั้งเมื่อมีการเกิดชุมนุมประท้วงแล้วมันนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ตอนแรก แต่ละคนที่ไปไม่ได้คิดว่าจะให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นเลยด้วยซ้ำ ลองนึกถึงกรณี Black Lives Matter ที่ผู้คนลุกฮือกันทั่วโลก และเกิดความรุนแรงในหลายประเทศได้ครับ ภาพด้านบนเป็นตอนที่ตำรวจในกรุงปารีสต้องยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดฝูงผู้ชุมนุม หลังจากที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมกว่า 20,000 คน

แล้วทำยังไง ถึงจะหลุดจากกับดักของอิทธิพลกลุ่มและอคติในการยืนยันได้?

สติและการไตร่ตรองคือสองสิ่งสำคัญครับ เริ่มจากสติก่อนเลยคืออย่าวู่วาม อย่าผลีผลาม หยุดคิดซักนิดก่อนที่จะตัดสินใจ หรือเชื่ออะไร และไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนเห็นนั้นข้อเท็จจริงเป็นยังไง อย่าเพิ่งเอาความคิดที่ว่าสิ่งนั้นมันตรงกับใจคิดของเราหรือเปล่ามาพิจารณา มองไปที่ข้อเท็จจริง จริงๆ ของมัน ลองหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือหลายๆ แหล่งมาวิเคราะห์และตัดสินใจ หากรู้สึกว่าตัวเเองทำแบบนั้นไม่ได้จริงๆ เขาว่าให้หาคนที่เรารู้จัก ที่เป็นกลาง และเราพร้อมที่จะรับฟังเขา มาคอยเรียกสติของเราให้กลับมามองทุกอย่างอย่างมีเหตุผลครับ

ยิ่งบนโลกออนไลน์แบบนี้นะ การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital literacy นี่สำคัญอย่างมากครับ


ภาพประกอบปกบล็อกโดย Background vector created by pikisuperstar – www.freepik.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า