หูฟังตัวนี้ ซื้อมาด้วยความจำเป็นครับ เพราะผมกับภรรยาไปเดินเสือป่าเพื่อสำรวจตลาดพวกอุปกรณ์มือถือแบบขายส่งว่ามีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มาไหม แล้วภรรยาอยากซื้อสาย Lightning to HDMI มาใช้ แล้วถ้าจะได้ราคาถูกๆ หน่อย ก็ต้องซื้อแบบราคาส่ง ต้องคละสามชิ้น ก็เลยหยิบนั่นหยิบนี่ที่อยากจะใช้ หรืออยากจะรีวิวเพิ่ม ก็เลยได้เจ้า WK Design V20 มารีวิวนี่แหละ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
หูฟัง WK Design V20 ตัวนี้ ซื้อเอง ใช้เอง รีวิวเองครับ ไม่ได้มีใครสนับสนุนใดๆ ภรรยาก็ไม่ได้ออกเงินให้นะ และจริงๆ ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ซื้อด้วย 555
ในแพ็กเกจของ WK Design V20 นั้นมีตัวหูฟัง WK Design V20 ที่เป็นดีไซน์แบบ True wireless มาคู่นึง พร้อมกล่องเก็บ ที่ทำหน้าที่เป็นแท่นชาร์จในตัว ซึ่งมีความจุของแบตเตอรี่ 500mA ซึ่งคำนวณแล้ว พอที่จะใช้ชาร์จหูฟังจาก 0% – 100% ได้ราวๆ 4 ครั้ง และสายชาร์จ Micro USB แบบสั้นๆ มาให้ด้วยเส้นนึง และมีจุกซิลิโคนไว้ให้เปลี่ยน เป็นไซส์ใหญ่ และเล็ก (ไซส์กลางมันใส่อยู่กับหูฟังแล้ว)

ตัวแท่นชาร์จเป็นกล่องเก็บที่ออกแบบมาให้ล็อกด้วยแง่งพลาสติกเล็กๆ เพื่อให้ฝาปิดแน่นขึ้นในระดับนึง แต่ดีไซน์แบบนี้ ถ้าเปิดปิดบ่อยๆ ไปนานๆ อาจจะทำให้ฝาปิดหลวมได้นะ แต่ก็ต้องใช้เวลานานมากๆ พอสมควร ซึ่งผมคิดว่ากว่าจะถึงเวลานั้น หูฟังคงเจ๊งไปแล้วละ
ด้านหลังของแท่นชาร์จ มีพอร์ต Micro USB เอาไว้สำหรับเสียบสายชาร์จด้านหน้าของแท่นชาร์จ ส่วนด้านหน้า มีไฟ LED ที่แสดงสถานะของการใช้งานครับ ไฟสีแดงแสดงว่ากำลังชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวกล่องอยู่ ไฟสีน้ำเงินแสดงว่ากำลังชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวหูฟัง ถ้าไฟไม่ติด แสดงว่าไม่มีการชาร์จแบตเตอรี่ใดๆ
ส่วนตัวหูฟัง เป็นแบบ In-ear ขนาดกำลังดี ยัดเข้าหูแล้วไม่ดูเกะกะ และก็แนบแน่นกับหูดีในระดับนึง ถ้ารู้สึกว่าไม่เหมาะ ก็เปลี่ยนจุกเอานะครับ

ในแง่การใช้งาน การเชื่อมต่อจะเรียกว่าง่ายก็ได้ครับ คือ พอเอาหูฟังออกจากแท่นชาร์จปุ๊บ มันก็จะเข้าสู่โหมดจับคู่อุปกรณ์ (Pairing) เลย ถ้าเราเอามาเสียบหูแล้ว เราจะได้ยินเสียงมันบอกว่า “Pairing” นั่นแหละ มันกำลังอยู่ในโหมดจับคู่ แล้วซักพักเราจะได้ยินเสียง “Connected” ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้จับคู่กับอุปกรณ์อะไรเลย นั่นเพราะว่าที่เชื่อมต่อเสร็จนั่นคือ หูฟังสองข้างเชื่อมต่อกันเองจ้า แต่พอเราเชื่อมกับอุปกรณ์ (สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์) เสร็จแล้ว เราจะได้ยินเสียงว่า “Connected” อีกครั้งครับ และด้วยราคาเนาะ เจ้านี่ก็เลยเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้แค่ทีละตัวนะครับ
การใช้งาน จะหยิบแค่ข้างใดข้างหนึ่งมาใช้ก็ได้ครับ คือ ถ้าไม่ได้ใช้พร้อมกัน แต่ละข้างมันก็จะไปหาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของมันกันเองได้ แต่ว่าเราไม่สามารถใช้งานมันแยกข้างแยกอุปกรณ์ได้นะ ถ้าจะให้มันอยู่ใกล้ๆ กัน หมายถึง ข้างซ้ายเชื่อมกับ iPhone ข้างขวาเชื่อมกับ Android ไรงี้ คือ ลองแล้ว แค่หยิบมันออกมาปุ๊บ มันจะพยายามเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เดียวเสมอเลย เจ้านี่รองรับบลูทูธ 5.0 และโปรโตคอลต่างๆ ทั้ง A2DP, AVRCP, SPPP, HFP, SBC และ AAC ครับ

ความน่ารำคาญของหูฟังตัวนี้คือ การใช้ปุ่มบนตัวหูฟังเพื่อควบคุมการเล่นเพลง เพราะมันต้อง “กด” ครับ แถมปุ่มมันค่อนข้างแข็งด้วย เลยทำให้รู้สึกเหมือนเอานิ้วกดหูฟังเพื่อยัดเข้าไปให้มันแน่นเข้าไปในรูหูขึ้น ยิ่งถ้าจะปรับเสียง ซึ่งต้องกดสองทีติดกัน (กดสองทีข้างซ้ายเป็นการเร่งเสียง กดสองทีข้างขวาเป็นการลดเสียง) ถือว่าออกแบบมาไม่ดีเท่าไหร่ อย่างว่า หูฟังราคา 699 บาทเนาะ
ในแง่ของคุณภาพเสียง เจ้านี่ให้เสียงย่านสูงและกลางค่อนข้างหนักหน่วงมาก ข้อดีคือ ฟังพวกเสียงเพลงที่เน้นนักร้องได้โอเค ฟังพวก YouTube รายการต่างๆ ได้ยินเสียงคนชัดดี และเจ้านี่ก็ยังให้เสียงย่านต่ำได้ประมาณนึง เบสอาจจะไม่ได้มาเป็นลูกๆ แต่ก็ถือว่าโอเค แบตเตอรี่อยู่ได้ราวๆ 3-4 ชั่วโมงครับ แต่จากพฤติกรรมการใช้งานส่วนตัวของผม ใช้งานได้ประมาณนี้ก็ไม่มีปัญหา อีกอย่าง หลังจากรีวิวเสร็จ ผมตั้งใจจะเอามาใช้กับโน้ตบุ๊กที่บ้าน เอาไว้สำหรับทำประชุมออนไลน์ มากกว่าเอามาฟังเพลง ซึ่งการที่มันให้เสียงย่านสูงและย่านกลางได้ชัด ค่อนข้างมีประโยชน์กับผม ผมเคยลองเอามาใช้คุยโทรศัพท์และประชุมออนไลน์แล้ว ทำได้ดีทีเดียว ผมว่าใครที่กำลังมองหาหูฟังไว้ในตอนประชุมออนไลน์ แต่ไม่อยากจ่ายแพง นี่ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ส่วนเรื่องระดับเสียงที่ได้จากหูฟัง บอกเลย โคตรดัง ผมเปิดแค่ไม่ถึง 50% ก็ดังแสบหูแล้วละฮะ
ดีเลย์ยังเป็นปัญหาอยู่นิดหน่อย เพราะแม้จะใช้ Bluetooth 5.0 แล้ว แต่ผมดูหนังก็สังเกตได้ว่าเสียงมาล่าช้ากว่าภาพราวๆ 0.5 วินาทีอยู่ครับ แบบค้อนของธอร์ซัดใส่ทานอสไปแล้ว เสียงตามมาติดๆ แต่ไม่ถึงกับเหลื่อมจนน่ารำคาญ
ด้วยความที่เป็นหูฟังราคาไม่แพง พวกลูกเล่นแบบหูฟังแพงๆ เขามีอย่างเช่น Proximity sensor ที่ทำหน้าที่หยุดการเล่นเพลงหรือวิดีโอเวลาที่ถอดหูฟังออก มันก็ไม่มีนะ หรือการยกหูฟังขึ้นมาเสียบหูแล้วเป็นการรับโทรศัพท์เลยก็ทำไม่ได้เช่นกัน
บทสรุปการรีวิว WK Design V20
ราคาเต็ม 999 บาท ผมว่าไม่คุ้ม มีตัวเลือกอื่นให้ซื้ออีกเยอะครับ เช่น Redmi Airdots ที่ถ้าหาซื้อได้แถวๆ ห้าร้อยกว่าบาท จริงๆ ผมอยากจะบอกว่า ดูๆ แล้วเหมือนมันออกแบบตาม Redmi Airdots มาเลยแหละ แต่ถ้าได้ในราคา 699 บาท หรือถูกกว่า ก็ถือว่าโอเคละนะ