ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ขอนับว่าประเทศไทยเราสามารถสะกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนอยู่ในระดับที่สามารถผ่อนคลายมาตรการ เพื่อให้เศรษฐกิจที่ถูกบีบรัดจนหน้าเขียวหน้าแดง ได้หายใจหายคอกันบ้าง แต่ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่นี้ มนุษย์เงินเดือนหลายคนจะอยู่กับชีวิตการทำงานวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน นั่นคือ ทำงานจากที่บ้านแบบถาวร (Permanently work from home)
ทำงานจากที่บ้าน หลายคนอยากทำมานานแล้ว เพื่อเลี่ยงรถติด
เอาจริงๆ เคยเห็นหลายคนบ่นเรื่องการเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมๆ ที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันมาเป็นการทำงานจากที่บ้าน มาตั้งนานแล้ว เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ วิกฤตด้านการจราจรในประเทศไทยนี่หนักหนาสาหัสเอาเรื่องมาก ขนาดผมเอง ก็เลือกที่เปลี่ยนจากการนั่งรถไฟฟ้า รถเมล์ มาเป็นขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปทำงานแทน เพราะไม่ต้องมาลุ้นรอรถเมล์ว่าจะมา หรือขาดช่วง ไม่ต้องมาผจญกับรถติดแหง็กที่บางที 2 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่ถึงบ้านเลย ทั้งๆ ที่บ้านผมห่างจากออฟฟิศ 18 กิโลเมตร ถ้ารถไม่ติด แค่ 25-30 นาทีก็ถึงแล้ว

งานในหลายๆ ตำแหน่ง ในหลายๆ บริษัท นี่โดยเนื้องานแล้วแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าออฟฟิศเลยด้วยซ้ำ ยิ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสมัยนี้ การสั่งงาน ส่งงาน ยันประชุม ทำผ่านออนไลน์ได้หมด แต่จนแล้วจนรอด ส่วนใหญ่ก็ยังต้องเดินทางมาออฟฟิศ เพื่อทำงานอยู่ดี เคยถามกันนะว่าเพราะอะไร หลายๆ คนตอบกันว่าเพราะยังไม่ไว้ใจกันว่าหากปล่อยให้ลูกจ้างเขาทำงานจากบ้านแล้ว จะขยันกันไหม งานจะเสร็จไหม
COVID-19 ทำให้นายจ้างคลายกังวล และต้องน้อมรับแนวคิดทำงานจากที่บ้านมากขึ้น
นายจ้างส่วนนึงยังไม่เอาแนวคิดทำงานจากที่บ้านมาใช้ เพราะกังวลเรื่องประสิทธิผลของการทำงาน กลัวว่าลูกจ้างทำงานจากที่บ้านแล้วจะประสิทธิผลตก และก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องทดลองให้ทำงานจากที่บ้านดู เพราะไม่มีความจำเป็นอะไร นายจ้างอีกส่วนคือไม่ทันคิดถึงเรื่องแนวคิดการทำงานจากที่บ้านเลยด้วยซ้ำ แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากจนกระทั่งต้องขอความร่วมมือให้ออกมานอกบ้านน้อยที่สุด ตัวลูกจ้างเองก็เกิดวิตก กลัวว่าจะติดเชื้อ จนเป็นแรงกดดันให้นายจ้างจำนวนมาก ต้องยอมนำแนวคิดทำงานจากที่บ้านมาใช้

คือมันไฟต์บังคับแล้วครับ แม้นายจ้างจะกังวลเรื่องประสิทธิผลของการทำงาน แต่ก็ต้องยอมให้ทำงานจากที่บ้าน นายจ้างคนไหนที่ยังไม่เคยมีความคิดนี้อยู่ในหัวมาก่อน ก็ต้องรีบพิจารณาโดยไว และผลมันก็ออกมาเป็นบวกครับ คือ ในภาพรวมแล้วประสิทธิผลที่ได้มันก็ไม่เลว บางคนนี่เผลอๆ ทำงานเยอะกว่าที่เคยอีก เพราะมันประหยัดเวลาเดินทาง ไม่ต้องพะวงกับรถติด ลองคิดนะครับ เริ่มงานได้ตรงเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องไปลุ้นกับการจราจร ตอนเลิกงานก็มีสมาธิกับงานจนกระทั่งหมดเวลาทำงานจริงๆ เพราะไม่ต้องไปพะวงว่าถ้าออกช้าเดี๋ยวรถติดหนักอะไรแบบนี้ นี่ยังไม่นับว่าบางคนพอทำงานจากที่บ้านแล้ว ทำงานเกินกว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานปกติอีกนะ
ประกอบกับว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมหาศาลทีเดียว ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องรัดเข็มขัดกันอย่างมาก หลายแห่งไม่ใช่แค่งดเรื่องการลงทุนหรือจับจ่ายใช้สอย แต่ยังงดขึ้นเงินเดือน งดโบนัสพนักงานอีกต่างหาก (แต่สำหรับลูกจ้างหลายๆ คนเนี่ย แค่ยังมีงานทำอยู่ก็ถือว่าโชคดีแล้วด้วยซ้ำนะ) และเพราะช่วงที่รณรงค์การอยู่กับบ้านร่วมต้านโควิด-19 กัน มันทำให้นายจ้างได้เห็นอะไรบางอย่างกับตัวเลขบัญชีของบริษัทครับ นั่นคือ เขาพบว่าถ้าไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย ไม่ต้องเช่าออฟฟิศแล้ว ประหยัดเงินไปได้อีก ค่าเช่าออฟฟิศเนี่ย คิดกันเป็นราคาต่อตารางเมตรนะครับ แล้วแต่ว่าทำเลอยู่แถวไหน แต่ลองคิดแบบง่ายๆ สมมติออฟฟิศเนื้อที่ซัก 200 ตารางเมตร มีค่าเช่าราวๆ 500 บาท/เดือน ก็ตกเดือนละ 100,000 บาท ถ้าสามารถทำงานจากที่บ้านได้ 100% ก็ประหยัดเงินไป 1.2 ล้านบาท เลยทีเดียว นี่ยังไม่นับที่ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแม่บ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ อีก รวมๆ แล้วเผลอๆ ประหยัดไปปีนึงหลายล้านบาท
เลยทำให้นายจ้างจำนวนไม่น้อย เริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของการทำงานจากที่บ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทครับ ซึ่งอาจจะปรับให้ทำงานจากที่บ้านแค่บางส่วนเท่าที่จำเป็น หรือไม่ก็ปรับให้ทำงานจากที่บ้านซะทั้งหมดเลยก็มี

Gartner เขาทำการสำรวจ CFO และผู้บริหารฝ่ายการเงินจำนวน 371 คนในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เขาพบว่า 75% นี่มองว่าจะปรับการทำงานของตำแหน่งงานต่างๆ ในองค์กรอย่างน้อย 5% ให้เป็นการทำงานจากบ้านโดยถาวร โดยราวๆ 23% ของผู้ตอบสำรวจเนี่ย เขาบอกว่าอย่างน้อยจะปรับ 20% ขึ้นไปเลยด้วยซ้ำ
และนี่ไม่ใช่แค่ความคิดของพวกฝรั่งนะครับ ในไทยเราเอง ผมก็เห็นเพื่อนๆ และคนรู้จักของผมหลายคน ที่บริษัทเขาปรับรูปแบบการทำงาน ทำให้หลายๆ แผนก หลายๆ ตำแหน่ง กลายมาเป็นทำงานจากบ้านไป
แนวคิดที่ลูกจ้างพยายามกระตุ้นให้นายจ้างทำมาตั้งนาน แต่ไม่สำเร็จซักที มาประสบผลก็เพราะมีโควิด-19 มาช่วยกระตุ้นนั่นเอง
ภาพประกอบบล็อกภาพแรก: Business vector created by stories – www.freepik.com