Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>ทำไมเราถึงต้องซื้อ QNAP NAS มาแบ็กอัพ QNAP NAS อีก? จำเป็นจริงๆ ไหม?
ฮาร์ดดิสก์แบบที่ถอดฝาปิดออกแล้ว เห็นจานแม่เหล็กและเข็มอ่านข้อมูล
บ่นเรื่อยเปื่อยบทความ How-toQNAP User Guide

ทำไมเราถึงต้องซื้อ QNAP NAS มาแบ็กอัพ QNAP NAS อีก? จำเป็นจริงๆ ไหม?

มีคนถามผมครับว่าเห็นผมมี QNAP TS-453A ตัวนึง กับ TS-253 Pro อีกตัว มีไปทำไมตั้งสองตัว พอบอกว่าตัว TS-253 Pro นี่เอาไว้สำรองข้อมูลให้กับ TS-453A เขาก็ถามต่อว่า แล้วทำแค่ ตัว 4-bay ทำ RAID5 มันก็สำรองข้อมูลแล้วไม่ใช่เหรอ ไหนจะมีฟีเจอร์ Snapshots อีก แล้วจะต้องหา QNAP NASอีกตัวมาสำรองข้อมูลอีกทำไม ก็เลยขอมาเขียนอธิบายย้ำๆ ไว้ตรงนี้อีกทีดีกว่า

ผมเคยเขียนภาคทฤษฎีเกี่ยวกับการสำรองข้อมูลด้วย QNAP NAS เอาไว้แล้ว ใครยังไม่ได้อ่าน แวะไปอ่านก่อนได้ครับ แต่ถ้าขี้เกียจแวะไปผมขอสรุปสั้นๆ ว่า การสำรองข้อมูล คือการมีข้อมูลอีกอย่างน้อย 1 ชุด เก็บเอาไว้ ซึ่งจะดีที่สุด หากไม่ได้เก็บไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งคำว่าที่เดียวกันนั้น ง่อยๆ สุดคือ อย่าอยู่บนฮาร์ดดิสก์ลูกเดียวกัน ในเครื่องเดียวกัน แต่ถ้าทำได้ ควรอยู่คนละสถานที่กันเลยด้วยซ้ำ เพราะเหตุสุดวิสัยที่สุดที่ทำให้ข้อมูลสูญหายได้ก็คือ เกิดไฟไหม้ ภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้สถานที่ที่เราวางอุปกรณ์อยู่พินาศไปหมดนั่นแหละ

ตู้แร็กสีขาว ที่ใส่พวกอุปกรณ์เน็ตเวิร์กต่างๆ เอาไว้ข้างใน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำ “เยอะ” ขนาดไหน ก็อยู่ที่ว่าข้อมูลที่คุณจะเก็บนั้น สำคัญมากน้อยแค่ไหน มีปริมาณมากน้อยแค่ไหนด้วยนั่นแหละครับ ผมเคยเขียนบล็อกเอาไว้แล้วว่า การสำรองข้อมูลคือการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เพราะเราทำเพื่อปกป้องข้อมูลอันเป็นทรัพย์สินอันมีค่าของเราไม่ให้สูญหาย ซึ่งสำหรับหลายๆ คน รวมถึงภาคธุรกิจ ถ้าข้อมูลบางอย่างสูญหายไป ความเสียหายมันสูงกว่าเม็ดเงินที่ต้องจ่ายไปเพื่อทำการสำรองข้อมูลมาก

ลองคิดนะ ช่างภาพมืออาชีพ ถ่ายรูปงานแต่งงานเอาไว้เตรียมส่งลูกค้า ปรากฏว่ารูปหายหมดยกชุด บรรลัยไหม? จะไปขอให้ลูกค้าจัดงานแต่งงานใหม่ได้ไหมล่ะ? บริษัทเก็บข้อมูลติดต่อลูกค้าและ Supplier ทั้งหมดเอาไว้ แต่ข้อมูลหายหมดเลย ชิบหายไหม?

แต่ทีนี้รูปแบบการสำรองข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการทำ RAID การทำ Snapshots หรือการสำรองข้อมูล NAS ผ่านฟีเจอร์อย่าง Rsync, RTRR หรือ อัพโหลดขึ้นไปบน Cloud storage มันก็มีข้อดี ข้อจำกัด ของมันเองอยู่ซึ่งทำให้มันเหมาะสมในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

>> RAID มันสำรองข้อมูลในกรณีที่ฮาร์ดแวร์เสียหาย แต่ถ้าสิ่งที่หายคือข้อมูลก็เป็นอันจบกัน

>> Snapshots มันสำรองข้อมูล ทำให้เรากู้กลับมาได้หากมันเกิดหายไป แต่ถ้าเราวางแผนทำ Snapshots น้อยไป หรือที่เสียหายคือตัวฮาร์ดดิสก์ มันก็จบกัน

อะไรแบบเนี้ย … ฉะนั้น ปกติแล้ว เราจะต้องวางแผนสำรองข้อมูล และเลือกผสมผสานวิธีการสำรองข้อมูลให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราจะเก็บ

กลับมาเข้าเรื่องของผม ที่ผมใช้ TS-453A เป็น NAS ตัวหลัก แล้วเอา TS-253 Pro มาสำรองข้อมูลผ่าน RTRR เพราะอะไรผมถึงเลือกทำแบบนั้น?

หลักๆ เลย ก็เพราะ TS-453A นี่ผมยัดความจุไว้ที่ 30TB ครับ และผมก็อยากจะสำรองข้อมูลที่เก็บอยู่ในนั้นเอาไว้ทั้งหมด (ปัจจุบันอยู่ที่ 11TB) และข้อมูลพวกเนี้ย ไม่ใช่ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ฉะนั้น Snapshots จึงไม่จำเป็นกับผม

หน้าจอโปรแกรม HBS3 ของ QNAP NAS แสดงข้อมูลงาน Backup & Restore ที่ผ่านมา

ข้อมูลระดับ 11TB ถ้าจะให้อัพโหลดขึ้นไปบน Cloud storage ก็คงจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมหาศาลเลยแหละ และไฟล์ที่ผมแบ็กอัพ มันมีพวกไฟล์ขนาดใหญ่ระดับ 4-14GB ด้วย ถ้าจะกู้คืนมาจาก Cloud storage ต้องรอไม่ใช่น้อย ไม่สะดวกอะ

แล้วเผอิญว่าผมก็มี TS-253 Pro อยู่แล้วไง และผมก็มี 14TB อยู่แล้วด้วยสองลูก ก็แค่ทำ RAID0 ก็จะได้ NAS ความจุ 28GB ซึ่งมากเพียงพอที่จะมั่นใจว่าเอาไว้สำรองข้อมูลจาก TS-453A ไปได้พักใหญ่ๆ มากๆ นั่นแหละครับ ก็แค่นั้นเอง

แต่ถามว่า คนอื่นๆ จำเป็นต้องทำเหมือนผมขนาดนั้นไหม? บอกเลยว่า อยู่ที่สถานการณ์ของแต่ละคนครับ คือ

>> ถ้ามีสิ่งที่จะต้องสำรองข้อมูลจำนวนมากแบบผม แต่ไม่ซีเรียสเรื่องการกู้ข้อมูลว่าจะต้องดึงจาก Cloud ลงมา ใช้เวลานาน ไปเปิดตี้ Google Drive for Business เพื่อเอาเนื้อที่เก็บข้อมูลแบบไม่จำกัด แล้วแบ็กอัพขึ้น Cloud ไปเลย ก็ง่ายสุดแล้ว แต่ก็มีค่าใช้จ่ายรายเดือน (แต่ก็ดีกว่าจ่ายก้อนใหญ่ซื้อ QNAP NAS กับฮาร์ดดิสก์ใหญ่เบิ้ม ซึ่งแค่รุ่น 2-bay ก็มี 7-8 พันบาทแล้ว และ WD Red 14TB นี่ลูกละ 16,990 บาท ครับ)

>> แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อมูลที่ต้องเก็บบานเบอะแบบผม แต่ก็อาจจะมีซัก 2-4TB อะไรแบบนี้ ก็สำรองข้อมูลลงพวก External HDD ได้ครับ ไม่ใช่ปัญหาอะไร ซื้อมาจิ้มกับพอร์ต USB 3.0 ของตัว QNAP NAS แล้วสำรองข้อมูลเอา

>> แต่ถ้าข้อมูลมีขนาดน้อยกว่านั้นมากๆ แบบไม่ถึง 1TB อะไรแบบนี้ อัพขึ้น Cloud ไปก็ได้ครับ สะดวกดี แถมในบางกรณีอาจไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วย เช่น ถ้าเกิดเราสมัครใช้ Microsoft 365 อยู่แล้ว เราก็จะได้เนื้อที่บน OneDrive ใช้ 1TB ก็อัพไปบน OneDrive สิ อะไรแบบเนี้ย

ถ้าถามผมว่า แล้วสำรองข้อมูลไปบน External HDD นี่ ไว้ใจได้เหรอ? คำตอบคือ ไว้ใจ 100% ไม่ได้ครับ ถ้าเราพูดถึงการเก็บข้อมูลไว้บน External HDD แต่เพียงอย่างเดียว แต่นี่เรามีทั้งบน QNAP NAS และบน External HDD ด้วย โอกาสที่จะมันจะบึ้มพร้อมกันสองตัวก็ยากอยู่นะ การวางแผนสำรองข้อมูลก็คือ ลดโอกาสที่ข้อมูลจะสูญหายให้น้อยลงไปอยู่ในระดับที่เรารับได้ครับ ซึ่งถ้าคุณคิดว่ามันยังไม่พอ และข้อมูลของคุณมันมีมูลค่าสูงมาก คุณก็ต้องลงทุนในการแบ็กอัพให้มากกว่านี้ เช่น ทำทั้ง RAID ทำทั้ง Snapshots สำรองข้อมูลลง External HDD และกันเหนียว ก็โยนขึ้น Cloud หรือไปที่ NAS ตัวอื่นด้วยเลย

เลือกตามความเหมาะสมครับ แต่สำหรับผมอะ ผมก็ใช้ของที่มีอยู่รอบๆ ตัวนี่แหละ พอแล้ว แน่นอน TS-453A และ TS-253 Pro มันอยู่ที่เดียวกัน เกิดตู้แร็กผมไฟไหม้ หรือบ้านไฟไหม้ ข้อมูลก็หายหมดครับ แต่นั่นคือ ผมทำใจเอาไว้แล้ว (แต่จริงๆ แล้ว ผมมีข้อมูลไฟล์งานอีกชุดสำรองไว้ที่ออฟฟิศ แต่นั่นคือการก๊อปปี้แบบ Manual เอา ซึ่งอาจมีพลั้งเผลอได้)

เครดิตภาพประกอบบล็อก: Technology photo created by freepic.diller – www.freepik.com

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า