ช่วงนี้ใครกำลังจะซื้อ QNAP NAS แบบ 4-bay แล้วกะจะใช้ยาวๆ เลย (แบบผมที่ใช้ TS-453A มา 4 ปีแล้ว) ผมแนะนำว่าดูตัวนี้ก่อนเลยครับ QNAP TS-453D เป็นตระกูล 4-bay ที่ใช้หน่วยประมวลผล Intel® Celeron® J4125 ตัวใหม่เพิ่งเปิดตัวปลายปี 2019 และอัพเกรดสเปกให้รองรับมาตรฐานใหม่ๆ พอสมควรเลย ตัวนี้ถ้าจัดไปแล้ว ก็เตรียมใช้ยาวๆ ได้อีกหลายปีเลยนะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
QNAP TS-453D ที่ใช้รีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก QNAP Thailand ครับ แต่เนื้อหาที่เขียนในบล็อกนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ ทาง QNAP Thailand ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด
ตัว QNAP TS-453D ยังเป็นดีไซน์สไตล์ใหม่ของ QNAP แบบที่ผมชอบเช่นเคย คือ ดูสวย ด้านหน้ามีฝาครอบปิดถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ มีพอร์ต USB 3.2 Gen 1 มาให้พอร์ตนึงที่ด้านหน้า เอาไว้สำหรับใช้กับฟังก์ชัน Quick copy สำหรับการสำรองข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดเข้า NAS ด้วยการกดปุ่มเดียว (ปุ่มที่อยู่ใต้พอร์ต USB 3.2 Gen 1 อันนั้นแหละ) ส่วนมุมบนขวาก็เป็นปุ่ม Power และไฟแสดงสถานะต่างๆ ของตัวเครื่อง

สิ่งที่หายไปในดีไซน์ใหม่ เมื่อเทียบกับ QNAP TS-453A และ TS-453B ก็คือจอ LCD ที่เอาไว้แสดงข้อมูลจำพวก IP address ของเครื่อง และสถานะของการบูตเครื่อง อะไรพวกนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่าทาง QNAP คงมองว่าข้อมูลอย่าง IP address มันดูได้จากแอป หรือหน้าจอบริหารจัดการ QTS อยู่แล้ว แต่สำหรับผม บอกตรงๆ ว่า มันมีประโยชน์นะ อย่างน้อยๆ เวลาที่บูตเครื่องแล้วมันนานกว่าปกติ เราจะได้รู้ว่ามันค้างไหม คือ ผมเคยเจอกับ TS-453A ในบางที เวลาใช้งานไปนานๆ เปิดใช้ Services ต่างๆ เยอะ การรีบูตบางทีมันจะนานกว่าปกติ ซึ่งถ้าเราได้ดูสถานะทางจอ LCD เราอาจจะรู้ได้ว่ามันไม่ค้าง แต่มันก็มีบางทีที่ค้าง ซึ่งทำให้เราต้องปิดเปิดใหม่ ข้อมูลพวกเนี้ย ดูได้ผ่านจอ LCD เท่านั้นอะ อยากให้มีจอ LCD กลับมาจัง ทำเป็นจอเล็กๆ เหมือน TS-453B ก็ได้

ด้านหลังของตัวเครื่อง เทียบกับ TS-453Be ที่เป็นตัวล่าสุดแล้ว อะไรๆ หายไปเยอะเลยครับ เช่น พวกช่องเสียบลำโพงและไมโครโฟน นี่ก็หายไป พอร์ต HDMI ก็หายไปพอร์ตนึง แล้วก็ตัว Built-in speaker ก็ไม่มีแล้ว แต่ก็ไม่ใช่อะไรที่หลายๆ คนจะคิดถึง จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ใช้งานของพวกนี้ด้วยซ้ำฮะ ยกเว้นจะเอา QNAP NAS มาทำระบบคาราโอเกะ (ฮา)
พอร์ต USB 3.2 Gen 1 จากเดิมที่เคยมี 4 พอร์ตด้านหลัง ก็เหลือพอร์ตเดียว อีกสามพอร์ตก็เป็นแค่ USB 3.0 เฉยๆ เรียกว่าในส่วนนี้หายไปเยอะเลยทีเดียวครับ คนที่จะได้รับผลกระทบ น่าจะเป็นคนที่เน้นต่อ External HDD เข้ากับ QNAP NAS หรือ จะต่อพวก Expansion Unit หลายๆ ตัวเข้ากับ QNAP NAS ที่ต้องการพอร์ต USB 3.2 Gen 2
พอร์ต HDMI แม้จะเหลือแค่พอร์ตเดียว แต่ได้รับการอัพเกรดให้รองรับมาตรฐานใหม่ HDMI 2.0 รองรับการแสดงผลความละเอียด 4K ที่ 60Hz ได้สบายแล้ว แถมเป็นที่ความละเอียด 4096×2160 พิกเซลด้วย ส่วนพอร์ต RJ-45 หรือ พอร์ต LAN ยังคงเหลือ 2 พอร์ตเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ 1GbE อีกต่อไปแล้ว แต่รองรับได้ถึง 2.5GbE เลย ตามมาตรฐาน IEEE 802.3bz แต่นั่นหมายความว่า ผู้ใช้งานก็จะต้องใช้สาย LAN ที่เป็น Cat 5e เป็นอย่างน้อย และต้องมีสวิตช์ที่รองรับมาตรฐานนี้ด้วยนะฮะ ซึ่งถ้าอัพเกรดแล้ว หมายความว่า แม้เจ้านี่จะมีพอร์ต LAN แค่สองพอร์ต แต่ก็จะได้แบนด์วิธสูงสุด 5Gbps เลย (ถ้าทำ Link aggregation) สูงกว่า TS-453A ของผม ที่รวม 4 พอร์ตแล้วยังได้แค่ 4Gbps เอง และที่สำคัญ แบนด์วิธสูงสุดที่จะได้ต่อ 1 อุปกรณ์ก็จะเป็น 2.5Gbps ด้วย
และสำหรับคนที่รู้สึกว่ายังไม่พอ QNAP TS-453D ก็มาพร้อมกับ PCIe Gen 2×2 ให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ เช่น จะใส่ SSD แบบ M.2 จะติดตั้งการ์ดเน็ตเวิร์กไร้สาย เพิ่มพอร์ต USB 3.2 Gen 2 หรือแม้แต่การเพิ่มแบนด์วิธด้วยการ์ด 10GbE ก็ทำได้ แค่ต้องเลือกว่าจะใช้อะไรอะนะ เพราะมีสล็อตว่างให้อันเดียว และต้องซื้อแยกนะครับ มันเป็นออปชันเสริม
ในส่วนของการถอดและใส่ฮาร์ดดิสก์เข้าไปนั้น เป็นดีไซน์แบบใหม่ ที่เรียกว่า Tooless คือ ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรในการติดตั้งฮาร์ดดิสก์แล้ว ยกเว้นกรณีที่คุณอยากจะใส่ฮาร์ดดิสก์ หรือ SSD ที่เป็นขนาด 2.5 นิ้ว ก็จะต้องใช้น็อตช่วยยึด
ผู้ใช้งานระดับองค์กรอาจรู้สึกว่า แบบนี้คนทั่วไปก็แอบถอดฮาร์ดดิสก์ไปได้ดิ แต่สำหรับผม ผมมองว่าถ้าเราเอา QNAP NAS ไปเก็บข้อมูลสำคัญมากๆ แล้ว เจ้า NAS นี่ควรถูกจำกัดการเข้าถึง ไม่ใช่ใครก็จะเข้ามาแตะต้องได้ง่ายๆ กุญแจมันควรถูกล็อกที่ตู้แร็ก หรือไม่ก็ห้องเซิร์ฟเวอร์เลยมากกว่า
เอาล่ะ เมื่อกี้ผมพูดไปแล้วว่าอะไรบ้างที่หดหายไปจากรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต HDMI พอร์ตออดิโอ และพอร์ต USB คราวนี้เรามาดูกันว่า QNAP TS-453D ได้อะไรกลับมาบ้าง ที่ดีกว่ารุ่นก่อนๆ นอกจากพอร์ต HDMI ที่อัพเกรดเป็น HDMI 2.0 และ LAN ที่อัพเกรดเป็น 2.5GbE
>> หน่วยประมวลผล อัพเกรดมาเป็น Intel® Celeron® J4125 ความเร็ว 2.0GHz ซึ่งเป็นรุ่นใหม่เมื่อปลายปี 2019 เรียกว่าใหม่กว่า TS-453B หรือ TS-453Be ที่ใช้ Intel® Celeron® J3455 ความเร็ว 1.5GHz ที่เป็นหน่วยประมวลผลปี 2016 เยอะ
>> หน่วยประมวลผลกราฟิกแน่นอนว่าก็อัพเกรดเป็น Intel HD Graphic 600 จากเดิมที่เป็น Intel HD Graphic 500 ซึ่งประสิทธิภาพก็ดีขึ้นอีกประมาณนึง
>> หน่วยความจำเปลี่ยนมารองรับ DDR4 แล้วจ้า แถมรุ่นนี้ขายกันที่แรม 4GB หรือ 8GB เต็มพิกัดเลย (แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม แม้สเปกจะบอกว่าใส่แรมได้สูงสุด 8GB แต่เอาจริงๆ ยัดได้สูงสุด 16GB เลยนะ แต่ต้องลองเองนะครับ อาจจะไม่ได้รองรับทุกรุ่น) การเปลี่ยนมาใช้แรม DDR4 เนี่ยหาได้ง่ายกว่า DDR3 มากครับ ในสมัยนี้
การอัพเกรดทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ QNAP TS-453D เป็น NAS ที่นอกจากประสิทธิภาพจะสูงขึ้น เอามาใช้งานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการต่างๆ ได้ดีขึ้นแล้ว ยังให้แบนด์วิธที่พร้อมรองรับอุปกรณ์ที่จะใช้งานพร้อมๆ กันได้มากขึ้น

อย่าดูถูกว่ามันแค่ 2.5GbE นะครับ เพราะแค่นี้ก็เท่ากับว่าได้แบนด์วิธต่อพอร์ตเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าเลยทีเดียวนะเออ และพร้อมรับ Wireless AP ที่เป็น 802.11ac Wave 2 ซึ่งมี Wireless AP หลายยี่ห้อ หลายรุ่น ที่รองรับเทคโนโลยีนี้แล้ว หรืออนาคต WiFi 6 802.11ax มา ปัญหาคอขวดก็จะลดน้อยลง ใครที่ใช้งานพวก Virtualization หรือ Container ก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ไม่น้อย แบนด์วิธที่สูงขึ้น สายเกมมิ่งก็ทำให้สามารถเซ็ต QNAP NAS เป็น iSCSI แล้ว Map เป็น Network drive ไปที่เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก เพื่อใช้เป็นเนื้อที่เก็บเกมด้วยก็ได้นะ

ถ้าจัด QNAP TS-453D มา แล้วใส่แรมไปเต็มพิกัด 8GB หรือลองยัดไป 16GB ไปเลย ก็ต้องขอบอกว่าด้วยสเปกที่มี เจ้านี่พร้อมเอาไปใช้งานหลากหลายมากๆ ถ้าจะใช้งานแบบ Power user ที่บ้าน คือ จะเอามาทำเป็นพื้นที่ส่วนกลางเก็บข้อมูลสำหรับทั้งบ้าน ทำ Personal cloud ทำเป็นคลังเก็บภาพ ทำ Home media server แบบที่ผมทำอยู่นี่ แล้วอาจจะมีงานอดิเรกรันพวก Linux container เพื่อใช้เขียนโปรแกรม หรือทำ IoT เจ้านี่สบายๆ เลยครับ
สำหรับภาคธุรกิจ แบบ SMB ถ้าประเมินความต้องการให้ดีๆ แล้ว เผลอๆ ตัวนี้ตอบโจทย์ในทุกๆ ด้านตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นแบนด์วิธที่ขยับขยายได้ถึง 10GbE โดยใช้การ์ด PCIe หรือการสำรองข้อมูลพร้อมการป้องกันข้อมูลสูญหายในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ RAID, Snapshots หรือแม้แต่การสำรองข้อมูลไปยังระบบ Cloud storage หรือ QNAP NAS ตัวอื่น เจ้านี่ก็พร้อมสรรพ และด้วยสเปกที่เหลือเฟือ กับการรองรับ 2.5GbE ก็ทำให้มันรองรับจำนวนผู้ใช้งานได้มากขึ้นอีกด้วย
เสียดายที่ที่บ้านผมไม่ได้มีเน็ตเวิร์กแบบ 2.5GbE (คือ อุปกรณ์ที่ผมใช้ไม่ได้รองรับมาตรฐานนี้ซักเท่าไหร่ เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเน็ตเวิร์กที่บ้านให้รองรับ) ผมเลยไม่ได้ทดสอบความเร็วสูงสุดของมันอะนะ แต่จากที่ทาง QNAP ได้ทดสอบเอาไว้ ก็พบว่าแบนด์วิธที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.5GbE และหากทำ Link aggregation ด้วยแล้ว Throughput มันสูงขึ้นมากทีเดียว คือได้ระดับ 290-590MB/s กันไปเลย

ลองทดสอบจริง ที่ 1GbE ผมลองก๊อปปี้ไฟล์ขนาด 3.9GB จาก TS-453A ไป TS-453D ซึ่งเสียบอยู่บนสวิตช์ตัวเดียวกัน วิ่งกันเต็มๆ 1Gbps ไปเลย พบว่าความเร็วอยู่ที่ราวๆ 115MB/s หรือคิดแล้วก็แถวๆ 920Mbps ครับ (ในรูปด้านล่าง มันจบไปซักพักนึงแล้ว ความเร็วมันเลยตกไปเรียบร้อยน่ะ) ก็อย่างที่เห็น ชีวิตจริงมันวิ่งได้ไม่เต็มแบนด์วิธหรอกอะนะ

แต่ก็จะเห็นได้ว่า ความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลมันก็วิ่งได้เต็มสปีดจริงๆ และถ้ามองแบบนี้แล้ว Throughput ที่ได้จากผลการทดสอบของทาง QNAP ก็น่าจะเป็นไปตามนั้นแหละครับ ประสิทธิภาพของตัว QNAP NAS ในแง่ของการอ่านและเขียนข้อมูล ก็เรียกว่าโอเคทีเดียว
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-453D
นี่ถ้าไม่ใช่เพราะว่า QNAP TS-453A ของผมยังตอบโจทย์ดีอยู่ และใช้งานมา 4 ปี (ระยะเวลาที่ปิดเครื่องเป็น Downtime นี่นับได้แค่หลักเป็นวัน และที่ปิดยาวๆ ก็แค่ตอนไปเที่ยวต่างประเทศไกลๆ ไม่ต้องเปิดทิ้งไว้เท่านั้นแหละ) มันก็ยังดีอยู่ หากถึงเวลาต้องอัพเกรด ผมก็คงจัด TS-453D แล้วล่ะ เพราะสเปกดีขึ้นกว่าตัวเดิมของผมในทุกๆ ด้านที่ผมต้องการใช้งานเลย
ตัวนี้ยังอาจจะเรียกว่าเวอร์วังไปสำหรับผู้ใช้งานตามบ้านนะ ถ้าในกลุ่มนั้นผมแนะนำว่า TS-251D ก็เกินพอแล้ว ยกเว้นต้องการความจุเยอะๆ และอยากทำ RAID5 ส่วน TS-453D ตัวนี้เหมาะสำหรับภาคธุรกิจระดับ SMB หรือไม่ก็พวก Power user ซะมากกว่าครับ