ข่าวฮอตในวงการกล้องเมื่อวันก่อน คงหนีไม่พ้นข่าวที่ว่า Olympus ขายธุรกิจส่วนกล้องดิจิทัลให้กับ Japan Industrial Partners (คนที่ซื้อธุรกิจ Vaio ของ Sony ไปนั่นแหละ) ตามข่าวนั้น Olympus ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะอยู่ในธุรกิจนี้ไม่ไหวแล้ว เพราะยอดขายตกลงไปมาก อันเป็นผลมาจากการเติบโตของกล้องดิจิทัลบนสมาร์ทโฟน ซึ่งบอกตรงๆ ว่าไม่แปลกใจเลยที่จะมาถึงจุดนี้กันได้ เพราะกล้องของพวกสมาร์ทโฟนมันประสิทธิภาพดีวันดีคืน และแม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านกายภาพ แต่ด้วยเทคโนโลยี Computational photography ที่เข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพของการถ่ายภาพ ชดเชยข้อจำกัดทางการภาพที่มีไปได้ ทำให้กล้องดิจิทัลบนสมาร์ทโฟนเป็นตัวเลือกที่ดีไม่แพ้พวกกล้อง Mirrorless หรือ DSLR ในสายตาหลายๆ คนเลยแหละ
กล้องดิจิทัลบนสมาร์ทโฟนคุณภาพยังสู้ Mirrorless หรือ DSLR ไม่ได้ แต่มันเพียงพอสำหรับคนทั่วไป
เอาเข้าจริงๆ กล้องบนสมาร์ทโฟน คุณภาพมันก็ยังสู้กล้องพวก Mirrorless หรือ DSLR ไม่ได้หรอกนะครับ มันยังมีข้อจำกัดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเซ็นเซอร์ที่เทียบกันไม่ได้ (ต่อให้เทียบกับพวก Micro 4/3 ก็ตาม) ไหนจะมีเรื่องเลนส์เข้ามาเกี่ยวข้องอีก
แต่อย่างที่ผมได้เกริ่นนำไป กล้องดิจิทัลบนสมาร์ทโฟนได้สิ่งที่เรียกว่า Computational photography เข้ามาช่วย ส่งผลให้คุณภาพของภาพ ในหลายๆ กรณี มันออกมาดูด้วยสายตาเฉยๆ แล้ว มันดีกว่าภาพถ่ายด้วย Mirrorless หรือ DSLR รุ่น Entry ซะอีกนะ และสามารถถ่ายได้สะดวกกว่า ในสถานการณ์ที่หลากหลายกว่าอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ภาพจากระยะไกลของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ที่ผมถ่ายเอาไว้ รูปซ้ายถ่ายด้วย Xiaomi Mi Mix 3 ไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่มเติม ส่วนรูปขวาถ่ายด้วย Olympus Pen Lite E-PL7 เลนส์ Kit 14mm F11 ISO200 ปรับแต่งสีและแสงด้วยโปรแกรม Photos ของ Windows 10
มันเป็นความโชคดีของผม ตอนที่ไปวัดพระแก้วรอบแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ฟ้าเปิด สวยมาก ภาพออกมาสีงี้สดเลย แล้วได้ซอฟต์แวร์ของ Xiaomi Mi Mix 3 เข้ามาช่วยปรับสีให้สดจี๊ดขึ้นไปอีก เลยดูสวยมาก ส่วนวันนี้ฟ้าไม่เปิดมาก เมฆเพียบ เวลาถ่ายด้วยกล้อง Mirrorless โดยไม่ได้มีขาตั้งกล้อง ก็เลยไม่สามารถปรับแต่งอะไรเพื่อชดเชยได้เลย
โดยส่วนตัวของผม ผมชอบภาพจากกล้อง Mirrorless มากกว่า เพราะมันให้ภาพที่ได้มุมพอเหมาะพอดีกับที่ผมอยากได้มากกว่า ความคมชัดของภาพก็สูงกว่า (ในส่วนนี้ Xiaomi Mi Mix 3 มันปรับแต่งภาพจนขาดความคมชัดไป เวลาซูมภาพดูเยอะๆ)

แต่ปัญหาก็คือพวกซอฟต์แวร์ที่มีในกล้อง มันยังทำสู้สมาร์ทโฟนไม่ได้ (ประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลมันต่างกันเกินไป) ภาพด้านบนนี่เป็นภาพที่ออกมาจากกล้อง Olympus Pen Lite E-PL7 แบบไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย
ถ้าเป็นมือโปรอะ คงบอกว่าไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ยัดเข้า Lightroom แล้วปรับๆ เอา ภาพก็ออกมาสวยได้ แต่สำหรับมือสมัครเล่น เขาไม่ได้ต้องการยุ่งยากขนาดนั้นอะครับ สมาร์ทโฟนจึงตอบโจทย์ที่สุด เพราะถ่ายออกมาปุ๊บ แทบจะนำไปใช้ได้ทันทีเลย

นอกจากนี้ สมาร์ทโฟนยังพยายามชดเชยข้อจำกัดทางกายภาพด้วยการเพิ่มจำนวนกล้องและเซ็นเซอร์ภาพเข้าไป เพื่อเพิ่มความสามารถต่างๆ ที่กล้อง Mirrorless หรือ DSLR เขาทำได้ เช่น ซูมออปติคัล การถ่ายภาพแบบโบเก้ เป็นต้น
เดี๋ยวนี้สมาร์ทโฟนราคาประหยัดแบบไม่ถึงหมื่น อาจมีกล้อง 3-4 ตัวแล้ว อาจจะมีเลนส์ครบทุกช่วงตั้งแต่ เทเลโฟโต้ เลนส์มุมกว้าง และ เลนส์มุมกว้างพิเศษ แถมเผลอๆ ยังอาจได้ Depth sensor มาอีก
สมาร์ทโฟนพกง่ายกว่ากล้อง Mirrorless หรือ DSLR มาก แถมคนเราก็พกติดตัวกันอยู่แล้ว
การพกกล้อง Mirrorless ไป แถมยังต้องเตรียมเลนส์ไปอีกจำนวนนึง เผื่อใช้ในสถานการณ์อื่น มันเป็นภาระประมาณนึงเลยนะครับ คือ ถ้าไม่ใช่ชอบถ่ายรูปจริงๆ หรือไม่ได้ถ่ายเป็นอาชีพหาเงินละก็ มันหาแรงจูงใจให้พกไม่ได้จริงๆ (ฮา)
ในขณะที่สมาร์ทโฟนเนี่ย ขนาดก็ไม่ได้ใหญ่มาก พกพาสะดวก แถมมันคืออุปกรณ์ที่เราๆ ท่านๆ พกติดตัวแทบจะตลอดเวลาอยู่แล้ว และมันก็เคย Disrupt ซะจนพวกกล้องดิจิทัลตระกูล Compact พังพาบไม่เป็นท่ามาแล้ว ยิ่งตอนนี้ประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลดี มีกล้องและเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยให้ข้อมูลเพื่อทำ Computational photography ได้ นับวันคุณภาพของภาพถ่ายก็ยิ่งเข้าใกล้พวก Mirrorless หรือ DSLR มากขึ้นเรื่อยๆ จนมัน Disrupt วงการกล้อง Mirrorless และ DSLR ได้ประมาณนึงแล้ว จากการที่ทำให้ Olympus ถอดใจไปเนี่ย
แต่ Mirrorless และ DSLR ยังไม่หายไปไหนง่ายๆ แน่ๆ
แต่สุดท้าย ซอฟต์แวร์ก็ยังมิอาจทลายขีดจำกัดทางกายภาพไปได้ง่ายๆ หรอกนะครับ เพราะสุดท้าย ต่อให้พยายามใส่กล้องเข้าไปเพิ่ม ใส่เซ็นเซอร์เข้าไปอีก และมีหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง มันก็ยังมีลิมิตของมัน ทำให้ต่อให้มี Computational photography มาช่วย ก็ยังไม่สามารถชดเชยขีดจำกัดทางกายภาพได้โดยสมบูรณ์ เช่น โหมดโบเก้ ที่ยังไม่สามารถแยกแยะแบ็กกราวด์ได้ ในวัตถุบางอย่าง เช่น พวกเส้นผม หรือ ดันมีสีคล้ายๆ กับแบ็กกราวด์ เป็นต้น ซึ่งอะไรพวกเนี้ย ขนาดใช้ Photoshop มาทำ Die cut ยังยากเลยฮะ

ขนาด Nokia 9 Pureview ที่จับมือกับบริษัท Light ผู้ผลิตกล้องดิจิทัลที่ใช้กล้องหลายๆ ตัว มาทำการประมวลผล เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น ในขณะที่ตัวกล้องเองก็มีขนาดกะทัดรัด ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร เพราะหน่วยประมวลผลยังประสิทธิภาพไม่สูงพอที่จะประมวลผลภาพที่มาจากเซ็นเซอร์ 5 ตัวได้รวดเร็ว จนทำให้อาจพลาดถ่ายช็อตต่อไปได้ บริษัท Light เองก็ถอดใจ ไม่ทำกล้องดิจิทัลสำหรับสมาร์ทโฟนแล้ว
และนั่นแหละ ที่ยังทำให้พวกกล้อง Mirrorless และ DSLR ที่ประสิทธิภาพสูงๆ (พวกเลนส์ดีๆ เซ็นเซอร์ความละเอียดสูง มีขนาดเซ็นเซอร์ใหญ่) มันยังอยู่รอดได้ในวงการถ่ายภาพ เพราะมันยังมีความต้องการภาพถ่ายที่มีคุณภาพสูงระดับนี้อยู่ และพวกกล้องดิจิทัลจากสมาร์ทโฟนก็ยังให้คุณภาพระดับนี้ไม่ได้
หมายเหตุ: ภาพปกประกอบบล็อกเรื่องนี้โดย Mockup psd created by freepik