เห็นจั่วหัวไว้แบบนี้นั่นเพราะว่าผมอัพเดตคอมพิวเตอร์ของผมอย่างน้อย 4 เครื่อง เป็น Windows 10 update 2004 หรือพูดง่ายๆ คือ อัพเดตเวอร์ชันล่าสุดของ Windows 10 มาแล้วประมาณ 5 วัน เป็นเครื่องที่ใช้ทั้งทำงาน และเล่นเกม เขียนบล็อก ฯลฯ ฉะนั้นน่าจะเล่าประสบการณ์ให้อ่านได้แหละว่าเป็นไง เพราะเจ้านี่เป็นเวอร์ชันที่สื่อนอกบ่นอุบเลยว่าบั๊กเพียบ ปัญหาเยอะมาก แต่คนทั่วๆ ไป จะมีปัญหาตรงนั้นหรือเปล่านะ?
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจก่อนนะว่า เลข 2004 นี่ไม่ได้พูดถึงปี ค.ศ. 2004 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว Microsoft ไม่ได้ย้อนอดีตแต่อย่างใด แต่มันหมายถึง ปี 2020 เดือน 4 ต่างหาก คือ Microsoft เขาทำเป็นเลขรหัสเวอร์ชันสำหรับปีและเดือนที่คาดว่าอัพเดตตัวนี้จะออกมา ประมาณนั้น จริงๆ Microsoft คิดจะเปลี่ยนวิธีการนับเป็น 20H1 ซึ่งหมายถึง เป็นอัพเดตช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2020 อะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายเขาก็มาใช้เลขเดือนเหมือนเดิมอะนะ
การอัพเดตแบบนี้ เป็นการอัพเดตเวอร์ชันของ Windows 10 เพิ่มพวกฟีเจอร์ต่างๆ เข้าไป ปีนึงจะออกสองหน ครึ่งปีแรก และครึ่งปีหลัง
ฟีเจอร์ใหม่บน Windows 10 เวอร์ชัน 2004 เราจะรู้ตัวไหมว่ามี? แล้วเราจะได้ใช้ไหม?
อยากรู้ว่าฟีเจอร์หลักๆ มันมีอะไรบ้าง เว็บ Neowin เขามีบอกไว้แล้วนะครับ ไปอ่านกันได้ แต่ จะบอกว่าฟีเจอร์หลายๆ อย่าง มันคือการปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างในตัวระบบปฏิบัติการ ที่บางทีถ้าเราไม่ทันได้สังเกต หรือไม่ค่อยได้ใช้ ก็จะไม่ทันรู้ตัว เช่น ในส่วนของ Task Manager มีใครสังเกตบ้างไหมว่ามันมีอะไรเพิ่มมา?

ในส่วนของการแสดงข้อมูลฮาร์ดดิสก์ มันบอกเพิ่มแล้วว่าเป็น HDD (หมายถึง ฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กแบบเดิม) หรือ SSD (หมายถึง ฮาร์ดดิสก์แบบ Solid State Drive) และตรงส่วนของ GPU มันก็มีการบอกอุณหภูมิของตัว GPU ด้วย ถ้าใครไม่ได้เปิดดู Task Manager ซักเท่าไหร่ ก็ไม่รู้หรอกว่ามีฟีเจอร์นี้เพิ่มมา

Windows 10 version 2004 มาพร้อมกับ Windows Subsystem for Linux 2 ที่มาพร้อมกับประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มี Linux kernel เต็มรูปแบบ และอัพเดตเวอร์ชันไปพร้อมๆ กับการอัพเดตของตัวระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งเมื่อเราเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ เราก็จะสามารถดาวน์โหลดระบบปฏิบัติการ Linux ดิสทริบิวชันต่างๆ จาก Microsoft Store มาติดตั้งได้ง่ายๆ แต่การใช้งานจะเป็นรูปแบบของ Command line นะฮะ
ถามว่าฟีเจอร์นี้ดีไหม? ก็ดีนะ แต่มันเหมาะกับพวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์ซะมากกว่า คนทั่วไปคงไม่ได้ใช้งานแน่ๆ ขนาดจะลง Ubuntu ที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบ GUI (Graphic User Interface) ยังไม่ค่อยจะมีคนใช้กันเลยครับพี่น้อง
และมันยังมีอีกหลายฟีเจอร์ใหม่ๆ เลยนะ ที่แบบ ดูๆ แล้วก็ชวนให้คิดว่า เราจะได้มีโอกาสใช้บ้างไหม (ฮา) แต่คนบางกลุ่มก็อาจจะได้ใช้มันจริงจังนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้พิการ ที่ส่วนของ Accessibility เขามีการเพิ่มความสามารถเข้ามาเยอะอยู่ เช่น การใช้สายตาในการควบคุมพวกเมาส์ ในเวอร์ชันนี้สามารถทำ Drag & drop ได้แล้วด้วย

สำหรับคนที่มีปัญหาในการหาเคอร์เซอร์ข้อความ แบบ พิมพ์ๆ ไปแล้ว อ้าว มันอยู่ตรงไหนแล้ว หาไม่เจอ เราก็สามารถไปที่ Text cursor settings เพื่อปรับขนาด และใส่สีให้เห็นชัดๆ ได้ด้วยนะ แต่ผมก็สงสัยว่าถ้าไม่ใช้ผู้ใช้งานที่ซนในเรื่องการตั้งค่า จะรู้ตัวไหวว่าทำได้ (ฮา)

อีกอันที่แอบอยู่ลึกๆ คือ ไปที่ Settings > Update & Security > Delivery optimization แล้วเลือกคลิกที่ Advanced options แล้วเราก็จะเห็นส่วนของ Download settings และ Upload settings ที่ให้เราสามารถกำหนดแบนด์วิธสำหรับการดาวน์โหลดอัพเดตได้ เพื่อที่เวลา Windows มันดาวน์โหลดไฟล์อัพเดต (ที่ปกติก็ใหญ่ประมาณนึง) มันจะไม่ไปรบกวนการดาวน์โหลดอื่นๆ มากนัก นั่นเอง แต่เน็ตบ้านสมัยนี้บางคนแรงโฮกๆ ต่อให้ไม่จำกัดแบนด์วิธก็คงจะไม่ทันได้สังเกตอะไรหรอกมั้งครับ
ฟีเจอร์ที่ผมชอบ ที่อาจไม่ได้ใช้ แต่ถ้าต้องใช้มันคือดี
ในเวอร์ชันใหม่นี้ ถ้าเกิดเราจะทำการ Recovery เพื่อลงระบบปฏิบัติการ Windows 10 ใหม่ มันมีตัวเลือกให้เราติดตั้งจากตัวติดตั้งบนเครื่อง (ที่ปกติพวกโน้ตบุ๊กจะมีการกันเนื้อที่บางส่วนเอาไว้เพื่อเก็บตัวติดตั้ง Windows) หรือ ดาวน์โหลดจากคลาวด์มาแล้วค่อยติดตั้งก็ได้ อันนี้ผมชอบ มันจะได้มีทางเลือกหน่อย แต่ต้องไม่ลืมว่า ตัวติดตั้ง Windows 10 มีขนาดไฟล์ใหญ่กว่า 4GB นะจ๊ะ

นอกจากนี้ ในเวอร์ชันนี้ยังมีความพยายามในการที่จะยกเลิกการล็อกอินด้วยรหัสผ่าน แล้วหันไปพึ่งพา Windows Hello ซึ่งใช้ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ หรือ การจดจำใบหน้า ในการล็อกอินแทน ถ้าเราเปิดใช้ตรงนี้ การล็อกอินเข้า Windows ก็จะต้องใช้ Windows Hello อย่างเดียวเลย

สำหรับเครื่องที่ไม่มีทั้งกล้องเว็บแคมไว้สแกนใบหน้า และไม่มีตัวอ่านลายนิ้วมือ ก็เลือกใช้ Security key ที่เป็นมาตรฐาน FIDO2 และรองรับ CTAP (Client-to-Authenticator Protocol) มาเซ็ตอัพเพื่อใช้ล็อกอินได้นะ แบบ จะล็อกอินไม่ต้องทำอะไรเลย เสียบเจ้านี่เข้าพอร์ต USB เป็นอันจบ หรือจะใช้ PIN ก็ได้ เซ็ตไว้ซัก 6-8 หลัก (ซึ่งบอกตรงๆ ว่าผมเองก็งงว่า PIN มันจะปลอดภัยกว่ารหัสผ่านได้ยังไง)
จริงๆ ที่ผมอยากให้ Microsoft นำมาใช้คือ ไหนๆ ก็สามารถใช้ Microsoft Account ในการล็อกอินได้แล้ว ก็น่าจะให้ทำ 2-factor authentication (2FA) ในการล็อกอินเข้า Windows ได้ ก็น่าจะปลอดภัยกว่าการพึ่งพาแต่ข้อมูลทางชีวภาพ หรือ PIN อย่างเดียว (ปัจจุบัน ผมเปิดใช้ 2FA กับ Microsoft account ของผมแล้ว จะล็อกอินเช็กอีเมลต้องเอา OTP จาก Authenticator มากรอกด้วย แต่การล็อกอินเข้า Windows ยังใช้แค่ PIN อย่างเดียว เพราะมันไม่เอา 2FA มาใช้ด้วยอะ)
เขาว่า Windows 10 เวอร์ชัน 2004 บั๊กเยอะ อัพเดตแล้วจะมีปัญหามั้ย?
ทำใจเหอะครับ โปรแกรมที่มีโค้ดเป็นล้านๆ บรรทัดแบบนี้ ฟีเจอร์ยิ่งเยอะ โอกาสเกิดบั๊กก็ยิ่งสูง ทีนี้ปัญหามันก็อยู่ที่ว่า การใช้งานของเราอะ มันจะมีโอกาสไปเข้าเงื่อนไขของการเกิดบั๊กมาน้อยเพียงใด หรือ เราจะเจอแจ็กพ็อตไหม ยกตัวอย่างนะ เช่น มีผู้ใช้งานหลายคนเลยมีปัญหาว่าอัพเดตแล้วไม่ผ่าน มันไปค้างอยู่ที่ 86% – 90% ไรงี้ ซึ่งผมไม่เจอปัญหานี้ ผมอัพเดตมาแล้ว 4 เครื่อง
บางคนมีปัญหาว่าการล็อกอินบริการอย่างเช่น OneDrive หรือ Google Chrome หลุดทุกครั้งที่รีบูตเครื่องขึ้นมาใหม่ อะไรแบบนี้ ซึ่งผมก็ไม่เจอปัญหานี้เช่นกัน
มีเคสที่ Microsoft ก็ยืนยันแล้วว่า มีบั๊กที่ทำให้จอแสดงผลที่ต่อเสริม (External monitor) มันดับ หากผู้ใช้งานมีการใช้ฟังก์ชัน Draw บน Office 365 แต่อะไรแบบนี้ ก็ไม่ใช่อะไรที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เขาใช้กัน ผมมีการเอาจอมาต่อเสริมเพื่อทำงาน แต่ผมไม่ได้ใช้ฟังก์ชัน Draw บน Office 365 ก็ไม่เจอบั๊กนี้ไง
หรือ บั๊กที่ทำให้ฟีเจอร์ Storage Space ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีฮาร์ดดิสก์หลายๆ ลูกในเครื่องสามารถตั้งค่าให้รวบเอาฮาร์ดดิสก์พวกนี้ มาทำ Storage pool เพื่อทำการสำรองข้อมูลสไตล์ RAID ได้ ต้องมีปัญหา แล้วทำให้เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ แต่ฟีเจอร์นี้ผู้ใช้งานทั่วไปก็คงจะไม่ได้ใช้อะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ใช้งานระดับองค์กรกัน
แล้วแบบนี้ อัพเดตเป็น Windows 10 version 2004 ดีไหม?
ผมว่า ถ้าเสียวๆ เรื่องบั๊ก และไปไล่อ่านดูแล้วก็ไม่ได้มีฟีเจอร์อะไรที่อยากใช้ (ซึ่งงวดนี้ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้เลิศหรูอะไรมากพอที่จะทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย อัพเดตกันเหอะ อยากใช้ฟีเจอร์นี้) ก็ยังไม่ต้องรีบอัพเดตหรอกครับ รอ Microsoft ออกอัพเดตมาเพื่อแก้ไขบั๊กต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน ค่อยอัพเดตก็ยังไม่สาย
แต่ถ้าว่าอัพเดตแล้วจะเป็นปัญหาไหม ผมตอบยากนะ เพราะอย่างที่บอก มันอยู่ที่ว่าการใช้งานของเรา มันจะทะลึ่งไปเข้าข่ายการเกิดบั๊กไหม มากกว่า อย่างกรณีผม ผมอัพเดตมาแล้ว 4 เครื่อง มีการใช้งานมา 5 วันแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร