นอกจากหน้ากากกันฝุ่นที่ทางบริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด ที่เขาส่งมาให้รีวิวคราวก่อน เขาก็มีการส่ง UV Box Sterilizer มาให้ลองด้วยครับ ซึ่งช่วงนี้ ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ใครต่อใครใส่ใจเรื่องการฆ่าเชื้อมากขึ้น และเมื่อมีข่าวว่า UV-C ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ พวกกล่องอบฆ่าเชื้อด้วย UV-C ก็เลยมีคนสนใจซื้อหากันเพียบ มีให้เลือกกันเยอะแยะ เรามาดูกันว่า ของยี่ห้อ Kireo เขามีดียังไงบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
UV Box Sterilizer ที่รีวิวในครั้งนี้ ได้ความเอื้อเฟื้อมาจากบริษัท ดีพลัส อินเตอร์เทรด จำกัด มาให้ใช้ครับ แต่ด้วยความที่ว่างวดนี้มันเป็นอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ ผมเลยมีข้อจำกัดในเรื่องการรีวิวว่า ไม่สามารถประเมินอะไรหลายๆ อย่าง ได้ เช่น ความเข้มของ UVC ที่ตัวกล่องปล่อยออกมา, ความยาวคลื่นของ UVC ที่กล่องปล่อยออกมา หรือประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ เป็นต้น
จริงๆ แล้วในแง่ของการวัดผลของการฆ่าเชื้อ สามารถใช้วิธีการเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบได้ และเคยสอบถามไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแล้ว เขาก็ไม่ได้รับทดสอบเชื้อให้กับบุคคลภายนอก และการขายชุดเพาะเชื้อ ก็ไม่ได้ขายให้คนทั่วไปด้วย เพราะมันมีประเด็นเรื่องการกำจัดอุปกรณ์หลังจากเพาะเชื้อเสร็จครับ ฉะนั้น การรีวิวครั้งนี้ จะเป็นเรื่องประสบการณ์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ตัวกล่องฆ่าเชื้อ Kireo เนี่ย มีลักษณะเหมือนถังขยะแบบมีฝาปิดเลยฮะ (ขออภัย บ. ดีพลัสฯ ที่ต้องเปรียบเทียบแบบนี้ คือ แวบแรกที่เห็น มันคิดแบบนี้จริงๆ ฮะ) ตัววัสดุทำจากพลาสติกเรียบ น้ำหนักเบามาก ฝาปิดไม่ได้มีตัวล็อกอะไร

ตัวกล่องฆ่าเชื้อ ไม่มีแบตเตอรี่ในตัวนะครับ แต่มีพอร์ต Micro USB อยู่ตรงด้านขวา และมีสาย Micro USB สีดำ ความยาวประมาณ 1 เมตร แถมมาให้เอาไว้สำหรับจ่ายไฟ เราก็แค่ต้องเสียบกับ Wall charger หรือพาวเวอร์แบงก์เพื่อจ่ายไฟ มันกินไฟแค่ 5V 0.5A เท่านั้นเองครับ

ลองเปิดฝากล่องมาดู จะเห็นว่ามีหลอด UVC LED อยู่ดวงนึงด้านใน และตรงขอบๆ ฝามีสวิตช์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเซ็นเซอร์อยู่ มันเป็นแบบกดติด ปล่อยดับ เวลาที่ปิดฝาลงมา สวิตช์จะติด และไฟ LED ก็จะติด ปล่อยแสง UV-C ออกมา
ใครห่วงเรื่องที่ว่า พวกหลอด UV-C มีการปล่อยก๊าซโอโซนที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ออกมา อันนี้สบายใจได้ เพราะ
กล่องมีขนาดใหญ่ประมาณนึง คือ กว้าง 22 เซ็นติเมตร ลึก 26 เซ็นติเมตร และสูง 28 เซ็นติเมตร สามารถใส่ของเข้าไปได้เยอะประมาณนึง แต่ในความเห็นส่วนตัวของผม ไม่ควรยัดของเขาไปเยอะนะครับ เพราะการฆ่าเชื้อด้วย UV-C มันควรจะให้แสงมันตกกระทบกับผิววัตถุด้วย ถ้ายัดไปเยอะๆ มันจะไปบังแสงกันเองนะ
ข้อจำกัดของเจ้ากล่องนี้ เท่าที่ผมสังเกตก็คือ มันใช้หลอด LED แค่ดวงเดียวเอง และภายในกล่องก็ไม่มีวัสดุสะท้อนแสง ที่จะช่วยให้แสง UV-C มันเข้าถึงทุกซอกทุกมุม

พอเสียบปลั๊กแล้ว ถ้าเปิดฝากล่องขึ้นมา ไฟสีขาวจะติดครับ อันนี้หมายถึง ฝาเปิดอยู่ ไฟ LED UV-C ไม่ทำงาน แต่พอใส่ของลงไป แล้วปิดฝา ไฟสีขาวจะเปลี่ยนเป็นกระพริบเป็นสีต่างๆ นั่นหมายความว่าไฟ LED UV-C ทำงานแล้ว
ในคู่มือมันเขียนเอาไว้ว่า ในการใช้งานควรจะปิดฝาทิ้งไว้ 30-60 นาทีต่อครั้ง เพื่อให้การฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพเต็มนี่ ตรงนี้ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะติดคิดเผื่อในเรื่องระยะห่างจากหลอด LED ถึงตัวสิ่งของ และด้วยความที่จำนวนหลอด LED UV-C มันน้อย ความเข้มของแสงก็จะไม่มากด้วย
การฆ่าเชื้อด้วย UV-C มันทำงานยังไง?
การฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต ชื่อฝรั่งเท่ๆ คือ Ultraviolet germicidal irradiation (UVGI) ทำได้โดยการใช้แสงอัลตราไวโอเล็ตในส่วนคลื่นสั้น คือ ช่วง UV-C มาฉายฆ่าเชื้อ โดยแสง UV-C มันจะไปทำลาย กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid) และ DNA ของเชื้อโรค ส่งผลให้มันไม่สามารถเจริญเติบโตได้ หรือในบางกรณีก็คือ ตายไปเลย
แต่ต้องระวังนะครับ เพราะแสง UV-C นี่ก็เป็นอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์เช่นกัน และโดยปกติแล้ว พวกอุปกรณ์ฆ่าเชื้อด้วย UV-C ควรจะถูกออกแบบให้ปิดมิดชิด และต้องมีกลไกในการป้องกัน ไม่ให้ใครเผลอเปิดฝาขณะที่หลอด UV-C LED ทำงานอยู่ด้วย

แอบไปฉกภาพจากเว็บไซต์ของ สวทช. มาหน่อย เพราะเขามีการทำหุ่นยนต์ฉายแสง UV-C สำหรับฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของสิ่งต่างๆ ภายในห้อง เขามีการทดสอบให้ดูว่าผลของการฆ่าเชื้อด้วยแสง UV-C เป็นอย่างไร
ในจานเพาะเชื้อด้านบน คือผลของการเพาะเชื้อจากพื้นผิวต่างๆ ภายในห้อง ส่วนจานด้านล่างคือ การเพาะเชื้อจากพื้นผิวเดียวกันกับจานด้านบน แต่เป็นหลังจากการฉายด้วย UV-C แล้ว จะเห็นได้ว่าการฆ่าเชื้อด้วย UV-C นั้นได้ผลจริง
แต่นั่นคือ เขามีการออกแบบ และใช้หลอด UV-C แบบจริงจังมากนะครับ แตกต่างจากพวกอุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบบต่างๆ ที่มีขายกันออนไลน์ ผลที่ได้มันอาจจะแตกต่างกันออกไป
สำหรับใครที่ส่งสัยเรื่องการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ลองอ่านเอกสารจากสำนักมาตรวิทยาแห่งชาติด้านล่างนะครับ

บทสรุปการรีวิวกล่องฆ่าเชื้อด้วย UV-C ยี่ห้อ Kireo
ก็ถือว่าเรียบง่าย ใช้งานไม่ยุ่งยาก และเพราะมีความจุเยอะ ก็เลยทำให้สามารถใส่โน่นใส่นี่ในชีวิตประจำวันของเราเข้าไปฆ่าเชื้อได้ แต่มันก็มีข้อจำกัดตรงที่ความเข้มของ UV-C มันไม่มาก ทำให้ต้องใช้เวลาฉายแสงอยู่นาน (ในทางปฏิบัติ ถ้าความเข้มของ UV-C มากพอ และระยะระหว่างต้นกำเนิดแสงและพื้นผิวอยู่ใกล้พอ แค่นาทีเดียวมันก็พอแล้ว) การออกแบบจะดีกว่านี้ ถ้าเกิดทำให้ด้านในกล่องมีพื้นผิวเป็นวัสดุสะท้อนแสงนะ มันจะช่วยลดจุดอับในการฉายแสง UV-C ไปได้มากเลย
และด้วยข้อจำกัด ผมไม่สามารถให้ข้อสรุปด้านประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อด้วยกล่องฆ่าเชื้อด้วย UV-C ยี่ห้อ Kireo นี้ได้นะครับ แต่ถ้าใครสนใจจะสั่งซื้อ ลิงก์อยู่ด้านล่างนี่แล้ว