Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>ประสบการณ์ใช้ Minds ครั้งแรกของผม หลังได้ข่าวทวิตชนชาวไทยหนีไปซบ
โลโก้ของโซเชียลมีเดียชื่อ Minds เป็นรูปหลอดไฟแบบโพลีกอน สีเหลือง ขั้วหลอดสีเทาดำ
บ่นเรื่อยเปื่อยรีวิว

ประสบการณ์ใช้ Minds ครั้งแรกของผม หลังได้ข่าวทวิตชนชาวไทยหนีไปซบ

วันนี้มีกระแสฮือฮาอันนึงบนโลกทวิตเตอร์ คือการที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทยประกาศตัวว่าจะหนีจากทวิตเตอร์ไปใช้โซเชียลมีเดียอีกตัว ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ชื่อว่า Minds โดยมีการติดแฮชแท็กเอา #mindsth เอาไว้ด้วย พอกลายเป็นกระแส คนก็แห่กันไปสมัครลองกันเยอะมาก ผมเองก็ยังต้องไปลองใช้เลยฮะ จะได้มารีวิวให้อ่านกันว่ามันเป็นยังไง ไม่งั้นเดี๋ยวตกกระแส

ถามว่าคนไทยแห่กันไปใช้เยอะแค่ไหน ผมว่าก็หลักพันหรือหลักหมื่นล่ะ และแห่กันไปแบบรวดเดียวด้วยนะ เพราะทาง Minds เอง ยังต้องทวีตออกมาเลยว่า “เราประสบกับยอดผู้ใช้งานชาวไทยที่มองหาอิสรภาพบนโลกอินเทอร์เน็ตพุ่งกระฉูดอยู่ ณ ตอนนี้”

ด้วยความที่มันเป็นโซเชียลมีเดียเกิดใหม่ เพิ่งพ้นจากสถานะเบต้าเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา และไม่ได้ทุนหนาอะไรมาก พวกระบบหลังบ้านก็ไม่ได้รองรับยอดผู้ใช้งานที่พุ่งขนาดนี้ได้ง่ายๆ ส่งผลให้วันนี้ ใครที่มาลอง Minds ทีหลัง อาจจะประสบกับปัญหาการใช้งานอยู่ไม่น้อยครับ บางคนเปลี่ยนรูปอวตารยังไม่ผ่านซะที บางคนขอรหัสผ่านใหม่ เมลก็ยังไม่ยอมส่ง บางคนใช้แอปแล้วก็เจอปัญหาเซิร์ฟเวอร์ไม่ตอบสนองก็มี อันนี้ต้องทำใจจริงๆ

หน้าเว็บไซต์ minds.com แสดงแบบฟอร์มสำหรับสมัครใช้งานโซเชียลมีเดียชื่อ Minds

ใครอยากลอง ไปลองได้ minds.com ครับ ขั้นตอนการสมัครไม่ยุ่งยาก และขอข้อมูลส่วนตัวแค่ประมาณนึงเท่านั้นเอง ตัวระบบรองรับ 2FA (2-factor authentication หรือ การยืนยันตัวตนสองชั้น) เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย แต่มันเน้นไปที่การส่ง SMS เป็นหลัก ไม่มีตัวเลือกให้ใช้ Authenticator

โมเดลธุรกิจของ Minds

ในฐานะที่เป็นโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นหลังจากขาใหญ่นานมาก Minds มีการออกแบบโมเดลธุรกิจแนวฟรีเมียมประมาณนึง คือ โดยภาพรวมก็ยังสามารถใช้งานได้ฟรี และมีวิธีการสร้างรายได้คล้ายๆ กับพวกโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter หรือ Facebook ตรงที่ให้คนที่อยากจะ “บูสต์” โพสต์ให้คนเห็นเยอะๆ ได้โดยการจ่ายเงิน แต่เงินที่จะใช้ซื้อบูสต์เนี่ย เขาเรียกว่า Token ซึ่งเป็นเงินคริปโต (Cryptocurrency) ของ Minds เอง

หน้าจอแสดงข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตของ Minds ที่แสดงให้เห็นว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 1.98 เหรียญสหรัฐต่อ 1 MINDS

ใครจะซื้อบูสต์ก็ไปซื้อ Token ได้ แล้วก็เอาเงินไปซื้อ โดย 1 Token เนี่ย เขาว่าจะทำให้มีคนเห็น 1,000 คน ครับ

อีกช่องทางนึงที่ Minds จะสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ก็คือ การที่ผู้ใช้งานทำการอัพเกรดบัญชีของตัวเองเป็น Plus หรือ Pro ซึ่งมีความแตกต่างกันแบบนี้

>> Plus เป็นเหมือนกับการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการให้บริการของ Minds โดยคนที่มีบัญชีเป็น Plus ก็จะไม่ต้องเห็นพวกโฆษณา ได้เข้าถึงเนื้อหาพิเศษ หรือการยืนยันบัญชี (Verify) เพื่อให้ผู้ติดตามได้แน่ใจว่าเป็นตัวตนจริงๆ (ซึ่งในส่วนนี้ Twitter และ Facebook ยังมีนโยบายในการยืนยันตัวตนที่ไม่ได้เปิดกว้างนัก) ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ที่ $7/เดือน (จ่ายเป็นรายเดือน) หรือ $5/เดือน (จ่ายเป็นรายปี)

>> Pro เป็นการอัพเกรดบัญชีเพื่อให้สามารถสร้างรายได้จากเนื้อหาที่โพสต์บน Minds ได้ ซึ่งถ้าเนื้อหาเรามีคนชมทุกๆ 1,000 pageviews ก็จะได้ $1 และเพิ่มเป็น $5 หากยอดผู้เข้าชมรวมอยู่ที่ 100,000 – 1,000,000 pageviews ต่อเดือน และยังมีรายได้จากช่องทางอื่นๆ อีก (รายละเอียด ไปดูเอาเองที่เว็บไซต์) นอกจากนี้ก็สามารถสร้างเว็บของตัวเองได้จากบัญชี Minds เลย

บอกตรงๆ อัพเกรดเป็น Pro นี่ผมรู้สึกว่าแอบแพง ถ้าพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้งาน Minds ในปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาว่าช่องทางอื่นๆ เช่น Twitter, Facebook หรือ YouTube มันสร้างรายได้ทางอ้อมได้ดีกว่าแน่ๆ อย่างน้อยก็ในประเทศไทยอะ

การสร้างรายได้จากการโพสต์ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะโซเชียลมีเดียพันธุ์ไทยอย่าง Blockdit ก็มีแนวทางในการให้ผู้ใช้งานสร้างรายได้คล้ายๆ กันนี้เช่นกัน แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำเนื้อหาที่มีคนชมเยอะมากพอที่จะสร้างรายได้ ได้ไงล่ะ

ประสบการณ์ในการใช้งาน Minds ของผม

เชื่อแมะ Minds ทำให้ผมนึกถึง Google+ คือ มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเล่น Twitter อยู่ เวลาเราโพสต์แล้วคนจำนวนมากจะเห็นโพสต์ของเรา แต่เราสามารถโพสต์ข้อความได้โคตรยาวแบบ Facebook ความแตกต่างคือ เราสามารถกำหนดไตเติ้ลของโพสต์ได้ด้วย เพื่อจะได้บอกว่ากำลังโพสต์เรื่องอะไร ซึ่งทำให้มันมีความเป็น Microblog นิดหน่อย

หน้าจอแอป Minds ที่แสดงให้เห็นถึงโพสต์นึง ที่พูดถึง New normal ของการมากิน BBQ Plaza

ทุกโพสต์สามารถถูกแก้ไขภายหลังได้ แต่จะไม่มีการบ่งชี้ใดๆ บนโพสต์ว่ามีการแก้ไขข้อความ จะมีแต่เจ้าของโพสต์นั่นแหละ ที่จะเห็นว่าข้อความนี้เคยถูกแก้ไข (อันนี้อาการคล้ายๆ กับของ Facebook) แต่ความแตกต่างคือ Minds มันเปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่าโพสต์นี้มีคนเห็นมาแล้วกี่ครั้ง และมีคน “สนับสนุน” โพสต์ไปกี่หน ใครก็เห็นข้อมูลส่วนนี้ได้

หน้าจอ Profile ของบัญชีผู้ใช้งาน Minds ในส่วนที่ผู้ชมเข้ามาเพือสนับสนุนเจ้าของเนื้อหา โดยการโอน Token หรือเงินในสกุล US dollar, ETH (อีเธอเรียม) หรือ BTC (บิตคอยน์) ได้

การสนับสนุนที่ผมพูดถึง ก็คืออีกหนึ่งช่องทางในการที่เจ้าของคอนเท้นต์จะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ นอกเหนือไปจากการสมัครบัญชี Pro ครับ นั่นก็คือ ผู้ชมเป็นคนจงใจโอน Token หรือ เงินในสกุลอื่นๆ (US dollar, อีเธอเรียม หรือ บิตคอยน์) ไปให้ โดยโอนเป็นแบบครั้งเดียว หรือเป็นประจำทุกเดือนก็ได้

เนื้อหาอีเมลจาก Minds ที่บอกว่ามีผู้ใช้งานชื่อ @xaia ได้โอน Token มาให้ @kafaak จำนวน 1 token

ซึ่งเมื่อเราได้การสนับสนุนนี้มา ก็จะมีอีเมลมาเป็นหลักฐาน เหมือนกับพวกการโอนเงินนั่นแหละ มาให้ แบบด้านบนครับ เผอิญว่ามีผู้ใช้งานท่านนึง โอนงินให้ผมจริงๆ เลยขอถือโอกาสเอามาใช้เป็นภาพประกอบไปซะเลยนะฮะ

หน้าจอ Wallet ในแอป Minds ที่แสดงให้เห็นว่ามี Token อยู่ 2 Tokens

แล้วแบบนี้หมายความว่าผู้ใช้งานต้องเสียเงินเพื่อสนับสนุนเจ้าของคอนเท้นต์เหรอ? คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ … ใช่ เพราะว่าถ้าเกิดเราไม่มี Token เลย แต่อยากสนับสนุน เราก็ต้องควักกระเป๋าซื้อ Token มาจ่าย แต่ ไม่ใช่ เพราะ Token นี่ก็สามารถได้มาฟรีๆ ได้ จากพฤติกรรมการใช้งานของเรา การมีส่วนร่วมใช้งาน Minds มันจะตอบแทนเรากลับมาเป็น Token ครับ ไม่ว่าจะโหวต คอมเม้นต์ แชร์ (ในที่นี้เขาเรียกว่า Reminds หรือก็คือคล้ายๆ Retweet บนทวิตเตอร์) ฯลฯ พฤติกรรมพวกนี้จะทำให้เราได้แต้ม แล้วแต้มจะถูกเอาไปคำนวณแปลงเป็น Token ในแต่ละวัน (อ่านรายละเอียดที่เว็บไซต์ minds.com)

จากสกรีนช็อตด้านบน ผมมี 2 tokens เพราะผมได้มา 1 token ตอนที่สร้าง Wallet แบบ Off-chain และ อีก 1 token จากที่มีคนอื่นโอนให้ผม

บอกเลยนะ ตัวแอปและระบบต้องปรับปรุงอีกเยอะ โดยเฉพาะในแง่ของ UX แต่ตรงนี้ผมเข้าใจได้นะว่าเป็นเพราะมันเพิ่งถือกำเนิด และยังมีผู้ใช้งานไม่เยอะ ตัว Startup เองก็ไม่ได้ใหญ่โต เลยยังดูขาดๆ เกินๆ อยู่บ้าง ถ้าให้ผมมอง ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า มันจะมีดีอะไรที่ดึงคนเข้ามาใช้งานกัน เพื่อที่จะทำให้ตัวผู้ให้บริการหารายได้มาเลี้ยงตัวเองได้ เพราะโมเดลธุรกิจมันดูขัดๆ กับจริตของสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันอยู่ครับ คือ

>> ถ้าจะหารายได้จากแบรนด์ที่จะมีซื้อบูสต์ ก็ต้องมีคนมาใช้งานเยอะพอ แต่ Minds มันจะมีอะไรมาดึงผู้ใช้งานมาที่นี่ และให้ใช้เป็นประจำล่ะ? ปัจจุบันเขาเน้นไปที่เรื่องของ Privacy แต่ผู้ใช้งานออนไลน์ส่วนมาก ไม่ค่อยได้ตระหนักถึงเรื่องนี้กันซักเท่าไหร่ และแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีคนตระหนักมากขึ้น แต่ในภาพรวมผมก็ยังมองว่าส่วนมากก็ยังโนสนโนแคร์อยู่ดี ฉะนั้น เขาคงจะผละจากโซเชียลมีเดียเดิมมาที่ Minds ยาก เพราะถ้าทำได้ไม่ยากละก็ Google+ คงไม่ตาย

>> ถ้าจะหารายได้จาก Plus ก็ยากอยู่ดี เพราะจริตของคนออนไลน์คือ เขาอยากได้ของฟรี (แต่ก็ไม่อยากมีโฆษณา … แต่ก็ทนได้นะ ถ้ามันจะฟรี ก็แค่จะบ่น แต่ก็จะทนใช้ไป) เรื่อง Verify หรือปลดโฆษณานี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญมาก มันดีกว่ามาจ่ายเดือนละ $5-$7 อะ สำหรับหลายๆ คน

>> ถ้าจะหารายได้จาก Pro ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ จะทำได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้ Minds มีผู้ใช้งานมากพอที่จะทำให้มีผู้ชมมากพอ จนผู้สร้างเนื้อหาสามารถหารายได้จากตรงนี้ได้ ซึ่งเงินที่จะเอามาจ่ายให้เจ้าของเนื้อหา มันก็น่าจะมาจากโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆ ซึ่งก็จะได้มาต่อเมื่อมียอดผู้ใช้งานมากพอจะไปขายเขานั่นแหละ

การที่ Minds เน้นเรื่อง Privacy เป็นสำคัญ ก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ภาคธุรกิจเข้ามาซื้อโฆษณาน้อยด้วย เพราะการทำ Segmentation ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำ Personalized marketing นั้น จำเป็นต้องได้ข้อมูลของผู้ใช้งานให้มากที่สุด ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ Twitter บอกว่าอาจจะมีการแชร์ Additional non-public information ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจยังไงล่ะ (แต่ Twitter ก็ยอมให้เราเลือกที่จะไม่อนุญาตให้แชร์ได้นะ แค่ไปตั้งค่าใน Privacy เราเท่านั้นแหละ)

ผละจาก Twitter ไป Minds ระวังจะเป็นหนีเสือปะจระเข้นะ

ผมเห็นข่าวว่า กระแสของคนที่หนีจาก Twitter ไป Minds เป็นเพราะมีการเปลี่ยนนโยบายด้านข้อมูลส่วนบุคคล แล้วมีท่อนนึงที่พูดถึงการที่ Twitter จะแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึง IP Address ให้พันธมิตรทางธุรกิจ แล้วก็กลัวกันว่าอาจจะรวมถึงภาครัฐด้วย เพราะเคยมีการบอกว่า Twitter เขามีการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เลยกลัวว่ารัฐบาลจะได้ข้อมูลส่วนบุคคลเราไป

แหม่ … ดูนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Minds ข้อ 11 ก่อนนะฮะ Minds เขาก็บอกว่าเขาอาจจะเข้าถึง เก็บรักษา หรือแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเรา ให้กับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย หากทาง Minds เชื่อว่ามันจำเป็นหรือสมควรที่จะตอบสนองต่อการร้องขอ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเราอีก นะจ๊ะ

ระวังจะเป็นหนีเสือปะจระเข้ล่ะ

แต่ข่าวดีคือ Minds เขาบอกว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะมีการเข้ารหัสเอาไว้ (ซึ่งตามหลักแล้ว ก็ไม่ควรจะมีใครนอกจากเรา ที่จะสามารถเข้าดูได้) และไม่มีการเก็บ IP address เอาไว้ (ซึ่งผิดกับ Twitter ที่ยกตัวอย่างว่า ข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะแชร์ให้กับ Business partner ก็คือ IP address)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า