บล็อกตอนนี้มาเขียนแปะเอาไว้หน่อย เพราะมีคนถามผมมาหลายทีแล้ว วันที่เขียนบล็อกนี้ก็มีมาถามอีกคน เลยคิดว่าถึงเวลาที่จะมาเขียนถึงซักหน่อยครับ ว่าหากเราอยากจะเอา QNAP NAS มาทำเว็บเซิร์ฟเวอร์ จะทำได้ไหม และมีทางเลือกยังไงบ้าง
QNAP NAS เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ได้อยู่แล้ว
QNAP NAS มันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึง ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับการทำงานแบบ 24/7 คือ ไม่ต้องปิดพักเครื่องใดๆ และมีสื่อบันทึกข้อมูลที่มีความจุเยอะๆ ด้วย และในตัวมันเองก็มีฟังก์ชันในการเปิดเป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์อยู่แล้ว (ไม่มีไม่ได้ เพราะไม่งั้นเราจะเข้าไปบริหารจัดการ QNAP NAS ผ่านหน้าจอ QTS ได้ยังไง) นอกจากนี้เรายังมีวิธีอื่นๆ อีก ในการเซ็ตเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมา ซึ่งเราจะเลือกวิธีไหนนั้น อยู่ที่ความต้องการในการใช้งานของเราครับ ผมจะอธิบายให้แบบนี้
ใช้ฟีเจอร์เว็บเซิร์ฟเวอร์ของ QNAP NAS เองเลย
ตัว QNAP NAS ถ้าเราไปที่ Control Panel > Applications เราจะเห็นว่ามันมีหัวข้อในการตั้งค่า Web Sever และ SQL server อยู่แล้ว นอกจากนี้ QNAP NAS ก็มีการติดตั้ง PHP มาให้เรียบร้อยแล้วด้วย แค่เราไปเปิดใช้งานฟังก์ชันพวกนี้ เราก็มีเว็บเซิร์ฟเวอร์และฐานข้อมูลพร้อมใช้งาน

พอร์ตมาตรฐานของเว็บเซิร์ฟเวอร์ของ QNAP คือ 80 แต่เราจะกำหนดเป็นพอร์ตอื่นก็ได้ และเราสามารถมีเว็บได้หลายเว็บพร้อมๆ กันด้วย โดยเราไปสร้าง Virtual Host ได้ และกำหนดให้แต่ละเว็บใช้พอร์ตแตกต่างกันไป และชี้ไปยังคนละโฟลเดอร์บน QNAP NAS
ข้อดีคือ ไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่ม QNAP NAS มีมาให้อยู่แล้ว การดูแลก็ไม่ต้องทำ ตั้งค่าผ่าน QTS อัพเดตพร้อมๆ กับเฟิร์มแวร์ แต่ข้อจำกัดคือ
>> เราต้องใช้อะไรก็ตามที่ QNAP เขาเตรียมไว้ให้ เช่น ฐานข้อมูลก็จะเป็น MariaDB ส่วน PHP ก็เป็นเวอร์ชัน 7 เป็นต้น เราไปเลือกใช้เป็นอย่างอื่นไม่ได้

>> การอัพเดต ต้องรออัพเดตผ่านเฟิร์มแวร์เท่านั้น ฉะนั้นมันอาจจะมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยในกรณีที่ไม่ว่าจะเป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือตัวฐานข้อมูล หรือ PHP ที่ดันพบช่องโหว่ร้ายแรงด้านความปลอดภัย แต่ QNAP ยังอัพเดตเข้ามาในเฟิร์มแวร์ไม่ทัน
ใช้ Virtualization Station เพื่อรัน Windows หรือ Linux มาทำเว็บเซิร์ฟเวอร์
สำหรับ QNAP NAS รุ่นที่มีหน่วยประมวลผลเป็น Intel Celeron หรือสเปกดีกว่านั้น และมีหน่วยความจำซัก 4GB ขึ้นไป (และจะให้ดี อัพเกรดเป็น 8GB หรือ 16GB ไปเลย) จะเลือกใช้ Virtualization Station มาทำ Virtual machine เพื่อรันระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Linux ก็ได้นะ (แล้วแต่ถนัด) แต่ถ้าจะใช้ Windows ก็อย่าลืมซื้อไลเซ่นส์มาด้วยนะครับ

ข้อดีของการใช้วิธีนี้คือ มันยืดหยุ่นเหมือนกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาทำเซิร์ฟเวอร์เลย เราเลือกได้ว่าจะเอาเว็บเซิร์ฟเวอร์เป็นอะไร PHP เวอร์ชันไหน ฐานข้อมูลเป็นอะไร ตามสะดวก เวลาจะอัพเดตก็สามารถทำได้รวดเร็ว และเลือกทำได้อีกตะหาก
ข้อจำกัดล่ะ?
>> อย่างแรกเลย คือ ต้องมีทักษะในการเซ็ตค่าต่างๆ ประมาณนึง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ว่าเราติดตั้งยังไง คือ ถ้าไปใช้แพ็กเกจสำหรับ Windows อย่าง XAMPP ก็อาจจะเซ็ตง่ายหน่อย แต่ถ้าอยากจะให้มันปลอดภัย ก็ต้องตั้งค่าเป็นกัน
>> มันแดกแรมหนักมากครับ รวมถึงหน่วยประมวลผลด้วย (ฮา) โดยเฉพาะถ้าจะรัน Windows และมันก็ยังไม่ใช่อะไรที่เหมาะสำหรับการเอามาใช้กับเว็บที่ต้องมีการประมวลผลเยอะๆ เว้นแต่คุณจะซื้อ QNAP NAS รุ่นไฮโซมา และมีการบริหารจัดการเรื่องบริการต่างๆ บน NAS เป็นอย่างดีแล้ว
ใช้ Container Station เลือกติดตั้งเฉพาะบริการเลย
QNAP NAS เขามี Container Station ที่ให้เราสามารถดาวน์โหลด Linux มาเฉพาะส่วน เฉพาะสิ่งที่เราต้องการใช้ได้ เช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือถ้าอยากจะแบบพร้อมใช้สุดๆ ก็ WordPress container มาเลย คือ ติดตั้งเสร็จ เราได้เว็บเซิร์ฟเวอร์ที่มี WordPress พร้อมใช้งาน

ข้อดีคือ เริ่มใช้งานง่ายและรวดเร็วกว่าการทำ Virtual machine เต็มรูปแบบมาก ส่วนตัว Image เนี่ย สามารถค้นเอาได้จากหน้าจอ Container Station เลย หรือจะดาวน์โหลดมาจากเว็บ แล้ว Import ลงไปก็ได้ ค่อนข้างได้ดั่งใจ และกินทรัพยากรต่ำ เพราะมันรันเฉพาะส่วนเท่านั้น (และระบบปฏิบัติการ Linux ที่รันแบบเฉพาะส่วน ลีนสุดๆ เนี่ย กินทรัพยากรไม่เยอะเลย)
ข้อจำกัดน่ะเหรอ?
>> ต้องใช้ฝีมือเยอะกว่าการทำ Virtualization Station น่ะสิ เพราะการตั้งค่าก็จะเป็น Command line ล้วนๆ และแน่นอน รวมถึงการอัพเดตต่างๆ ด้วย ใครไม่เชี่ยว Linux อย่าใช้วิธีนี้เลยนะ
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็ต้องเซ็ต QNAP NAS เป็นด้วยเช่นกันนะ
เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าจะใช้เว็บเซิร์ฟเวอร์ ก็ต้องไม่ลืมว่ามันก็จะต้องเชื่อมต่อกับเครือข่าย และเผลอๆ ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเราก็ต้องออกมาตั้งค่าในส่วนของ Virtualization Station หรือ Container Station หรือแม้แต่บน QNAP NAS เอง เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ต่างๆ ภายในระบบเครือข่ายของเราเองสามารถเข้าถึงได้ หรือเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ต ตามที่เราต้องการใช้งาน
และอย่าลืมว่า การเปิดเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาใช้งาน เท่ากับการเพิ่มจุดที่อาจจะเป็นช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดีโจมตีเข้ามาอีกนะครับ