Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>fingo กับ Moomall คืออะไร แล้วน่าเชื่อถือแค่ไหน?
บ่นเรื่อยเปื่อย

fingo กับ Moomall คืออะไร แล้วน่าเชื่อถือแค่ไหน?

พอดีไปสะดุดกับแฮชแท็ก #fingo บน Twitter อ่านๆ ไปแล้วก็ไปค้น Google ดู ก็เห็นแต่ SEO ที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ fingo ซะเหลือเกิน เลยขอสร้างคอนเท้นต์ที่วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของ fingo เผื่อใครโดนชวนไปร่วมทีม แล้วค้นหาข้อมูลว่าไปทำดีไหม อาจจะได้มาอ่านบล็อกของผมก่อนตัดสินใจครับ … แต่ผมสรุปให้อ่านสั้นๆ ในย่อหน้าแรกนี่ก่อนเลยว่า อย่าไปทำ!!! ส่วนที่ว่าเพราะอะไรนั้น ให้อ่านต่อไปครับ

fingo นี่มีตัวตนจริงๆ ไหม? มีครับ แต่ถูกจัดเป็น MLM ในมาเลเซีย

มันมีข่าวเปิดตัว fingo ที่เป็นแพลตฟอร์ม Social e-commerce ในประเทศมาเลเซียไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งจากที่พยายามค้นหาข่าวดู ก็พบว่ามีลงบนเว็บไซต์ข่าว The Star และหนังสือพิมพ์ New Straits Times ของประเทศมาเลเซียครับ

ในงานเปิดตัวนี้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ของประเทศมาเลเซีย ดร. อง เคียน หมิง (Deputy Minister of International Trade and Industry Dr Ong Kian Ming) ไปร่วมงานในฐานะแขกผู้มีเกียรติด้วยนะ ยิ่งทำให้มันดูเป็นจริงเป็นจัง แต่ในหนังสือพิมพ์ The Borneo Post ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ใหญ่สำนักหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอข่าวที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าภายในและคุ้มครองผู้บริโภค ฉง เฉียง เจิน (Domestic Trade and Consumer Affairs Deputy Minister Chong Chieng Jen) ให้ข้อมูลว่าสถานะทางกฎหมายของ fingo คือ ธุรกิจขายตรง (MLM: Multi-Level Marketing) โดยได้รับใบอนุญาตให้ขายสินค้า 5 ประเภท

พอท่าน รมว. ดร. อง เขารู้ตัวว่า fingo ได้รับใบอนุญาตเป็นธุรกิจแบบขายตรง ท่านก็โพสต์บน Facebook ขึ้นมาเลยว่าเพิ่งจะรู้ตัวว่า fingo มีธุรกิจแบบขายตรงก็อีตอนที่อยู่ในอีเว้นต์แล้ว และวัตถุประสงค์ของการไปร่วมงาน ก็คือกะว่าจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย และส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโมบายล์คอมเมิร์ซสัญชาติมาเลเซีย ก็เท่านั้นจ้า

แล้ว fingo คืออะไร?

อ้างอิงจากวิดีโอนี้ของ fingo เลยก็แล้วกัน อันนี้เอามาจากเว็บของ fingo ที่มาเลเซียเอง ถ้าไม่ใช่ Official ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแล้ว

ดูคลิปจนจบแล้ว สรุปได้แบบนี้ครับ

>> fingo เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีไว้ขายของ ก็น่าจะคล้ายๆ พวก Taobao, Lazada, Shopee นั่นแหละ

>> fingo มี Affiliate program คล้ายๆ ของ Lazada ที่คนที่เป็น Online influencer สามารถโพสต์แปะลิงก์ไปยังสินค้า แล้วถ้าใครซื้อก็จะได้ค่าคอมมิชชันไป (ตรงนี้ fingo เรียกว่าวิถี A)

>> ส่วนคนธรรมดา มันจะมีวิถี M ที่เหมือนจะต้องซื้อ Special gift bag ซึ่งน่าจะหมายถึงไอ้ค่า “อัพเกรด” พันกว่าบาท ที่คนไทยพูดถึงกันอยู่นั่นแหละ และหากทำตัวเป็นหัวหน้าทีม คอยอบรมลูกทีม ก็จะสร้างอิสรภาพทางการเงินได้

เอ๊ะ! คำพูดแบบนี้มันยังกะคำพูดของพวกธุรกิจขายตรงชัดๆ แต่ fingo ในประเทศมาเลเซียเขาออกแถลงการณ์มา และได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Borneo Post ดังนี้

เราของย้ำว่าเราไม่เคยขอให้ใครลงทุนไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม และไม่เคยสัญญาให้ผลตอบแทนการลงทุนใดๆ หรือสัญญาในรูปแบบรวยง่าย รวยเร็ว ใดๆ ทั้งสิ้น

แถลงการณ์ของ fingo ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Borneo Post วันที่ 10 กันยายน 2562

แต่ดูจากที่ชาว fingo ในประเทศไทยกำลังทำอยู่ หลายๆ ท่านที่ได้ตามแฮชแท็ก #fingo บน Twitter แล้วได้เห็นที่เขาแชร์ๆ โพสต์ชาว fingo กันแล้ว ลองมาเทียบกันดูเอาแล้วกัน ว่ามาสวนทางกับที่ทาง fingo ที่มาเลเซียออกแถลงการณ์ไหม?

ความน่าเชื่อถือของ fingo ในความเห็นของผม

ถ้าพูดถึงการสร้างความน่าเชื่อถือในประเทศไทย ก็ต้องนึกถึงการไปออกทีวี ออกสื่อละมั้ง fingo เขาก็บอกว่า ช่อง 5 ได้เชิญไปออกรายการ ช่อง 5 วาไรตี้ นะเออ ซึ่งบอกเลย แม้ผมจะไม่เคยดูรายการนี้ แต่หลังจากได้ค้น Google เพื่อดูรายการย้อนหลังไปหน่อย ผมก็สังเกตว่า รายการเนี้ย (และจริงๆ ก็มีอีกหลายรายการของหลายๆ ช่องที่คล้ายๆ กัน) มันจะมีช่วงเวลาที่จะให้ธุรกิจได้มาประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งผมเดา ขอย้ำว่าเดา ว่า ช่องไม่ได้เชิญจ้า แต่ธุรกิจนั่นแหละ จ่ายเงินค่าสปอนเซอร์เข้าไปเพื่อได้ไปออกรายการ เพราะเราจะเห็นได้ชัดเจนว่ามันมีการฝากร้านขายของกันด้วยในรายการ ไม่มีรายการทีวีไหนหรอกครับ ที่จะเอาช่วงแอร์ไทม์มาให้ฝากร้านกันฟรีๆ แบบนี้จ้า ใครทำงานวงการทีวีย่อมรู้ดี

ฉะนั้นการไปออกทีวี ไม่ได้ช่วยเรื่องความน่าเชื่อถือใดๆ นะครับ มันต้องไปดูหลายๆ องค์ประกอบครับ เอ้า เริ่มจากการไปดูแหล่งข้อมูลนิติบุคคลของกรมการค้าภายในกันก่อน ก็มีข้อมูลตามนี้ครับ

ข้อมูลนิติบุคคล บริษัท ฟินโก (ไทยแลนด์) จำกัด

บอกตรงๆ นะครับ ธุรกิจที่ก่อตั้งโดย Top executive 3 คนจาก Alibaba เนี่ย ผมคาดหวังว่าจะมีทุนจดทะเบียนเยอะกว่านี้นะ อย่างลาซาด้าอ่ะ ทุนจดทะเบียน 15,600,000,000 บาทนะครับนาย แหม่ ถ้าจะเปรียบเทียบกะยักษ์ใหญ่แบบนี้ ก็เพิ่มทุนจดทะเบียนให้สมน้ำสมเนื้อหน่อยสิพี่

อ่ะ แต่สมมติว่าเราไปเทียบกับบริษัทขายตรงใหญ่โตอย่าง แอมเวย์ (ประเทศไทย) เขาก็จดทะเบียนแค่ 2,000,000 บาทเท่ากัน ฉะนั้น อย่าเอาเรื่องทุนจดทะเบียนมาวัดความน่าเชื่อถือกันเลยเนอะ (แต่แอมเวย์น่ะ รายได้ระดับหมื่นล้าน กำไรระดับพันล้านนะครับ แต่ fingo นี่ยังไม่มีงบการเงิน คงเพราะว่าเพิ่งเปิดละนะ)

มาดูต่อที่เว็บไซต์ของ fingo ที่ตอนแรกผมก็ยังเข้าด้วย URL fingo.shop ได้อยู่ดีๆ แต่แล้วก็เข้าไม่ได้ซะเฉย ต้องไปเข้าด้วย URL fingo.com.my แทน แต่ไม่ว่าจะอันไหน ก็มีปัญหาทั้งคู่เวลาดูด้วยมือถือ เพราะมันไม่ได้เป็น Mobile first หรือแม้แต่จะเป็น Responsive เลยครับ

ลองไปไล่ดู URL ดู ก็พบว่า อ้าวเฮ้ย มันเป็น .html เว้ย เว็บโคตร Static เลยครับ นี่คือ เว็บไซต์ Social e-commerce ของ Top executive จาก Alibaba จริงดิเฮ้ย

ถัดมา มาดูที่เว็บไซต์ฝั่งของไทยบ้าง ปรากฏว่าไม่มีเว็บไซต์สำหรับประเทศไทยครับ ซึ่งก็อาจจะไม่แปลก ในกรณีของเว็บขายของใหญ่ๆ ระดับโลก เช่น Amazon หรือ Aliexpress อะไรพวกนี้ แต่ถ้าเป็นพวก Lazada เขาจะมีการจดโดเมนสำหรับประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น lazada.co.th เป็นต้น แต่ในกรณีของ fingo และพวก Social e-commerce อื่นๆ (เช่น Moomall) ผมกลับรู้สึกว่าเขาไม่ได้กะให้เว็บไซต์เป็นแพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายเลย คงเพราะมองว่าเป้าหมายคือการผนวกโซเชียลมีเดีย (การแชร์สินค้า) มาในการขาย และคนเราใช้โซเชียลมีเดียกันบนสมาร์ทโฟนเยอะ เลยเน้นไปที่แอปมากกว่าเว็บไซต์ละมั้ง

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว พูดถึง Moomall ซะหน่อย

ในเวอร์ชันไทย เราก็มี Moomall ที่เป็น Social e-commerce เช่นกันครับ แต่เจ้าของเป็นคนไทย ชื่อ บุญชัย ลิ่มอติบูลย์ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท ไทย โอ พี พี จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจผลิตฟิล์มพลาสติก เขาคงไปเห็นโอกาสในการทำธุรกิจประเภท Social e-commerce ในประเทศจีน ก็เลยเอามาทำในไทยบ้าง มีการแถลงเปิดตัวบนสื่อต่างๆ ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

หน้าเว็บไซต์ Moomall

อย่างไรก็ดี Moomall มีการดำเนินการภายใต้บริษัท ถิร เวนเชอร์ จำกัด ซึ่งตามข้อมูลของกรมการค้าภายใน มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอาไว้ตั้งกะปี 2555

ข้อมูลการจดทะเบียนการค้าของ บริษัท ถิร เวนเซอร์ จำกัด

แต่เมื่อดูงบกำไรขาดทุนแบบย้อนหลัง จะเห็นว่าปีที่ผ่านๆ มา บริษัทมีรายได้ไม่ถึงหมื่น กำไรแค่หลักพันเท่านั้น คือดูๆ แล้ว เหมือนไม่ได้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซักเท่าไหร่ อารมณ์เหมือนอยากทำ Moomall แต่ไม่อยากเปิดบริษัทใหม่ ก็เลยเอาบริษัทที่เคยเปิดทิ้งๆ ไว้มาดำเนินการไปแบบนั้นเลย … อันนี้มาจากการคาดเดาส่วนตัวนะครับ โดยพิจารณาจากข้อมูลทมี่ปรากฏ

และที่น่าคิดก็คือ รูปแบบการประกอบธุรกิจ ที่ให้สมัครสมาชิก และต้องซื้อสินค้าไป แล้วแนะนำสินค้าเพื่อได้ค่าตอบแทน ผมว่ามันก็คล้ายๆ กับแอมเวย์นะ (แบบนี้ แอมเวย์ก็คือ Social e-commerce ได้เหมือนกันสินะ) ซึ่งมาในแนวทางขายตรงอยู่ในความเห็นของผม และบริษัท ถิร เวนเชอร์ จำกัด ก็ได้มีการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจขายตรง กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และวางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 แล้ว (ในทางกลับกัน ผมไม่พบรายชื่อ บริษัท ฟินโก (ไทยแลนด์) จำกัด นะ)

แต่ทาง Moomall คงมีการเรียนรู้จากสิ่งที่ fingo ได้ทำไป เลยมีการออกประกาศมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 มีท่อนนึงใจความว่า “ไม่อนุญาตให้ใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง Facebook, Line, Instagram ที่มีคำชักชวน หรือรูปภาพ ที่มีความหมายบิดเบือน เบี่ยงเบนให้เข้าใจผิด เช่น ‘งานตอบแชท X วัน XXX บาท’, ‘งานตอบแชท คอนเฟิร์มออเดอร์’, ‘มาร่วมงานในตำแหน่ง… เพื่อรับรายได้’, ‘อยากรวย ไม่ต้องลงทุน ก็สร้างธุรกิจได้’, ‘อยากมีเงินเข้าบัญชีทุกวัน สมัคร…’, ‘งานโพสต์แบนเนอร์’, ‘รับด่วนงานพาร์ทไทม์’, ‘รับเงินรายวัน XXX บาท’ ทั้งนี้ดุลยพินิจการตัดสินขึ้นอยู่กับบริษัทถือเป็นที่สิ้นสุด”

ประกาศข้อที่ 5 ของ Moomall

แต่ตอนผมทวีตเรื่อง fingo ไป ก็มีคนมาถามผมเรื่อง Moomall ครับ ผมก็เลยถือโอกาสอัพเดตเนื้อหาบล็อกตอนนี้เพิ่ม โดยใส่ Moomall เข้ามาด้วย

สรุปแล้ว ไว้ใจบริษัทพวกนี้ แล้วสมัครสมาชิกได้ไหม?

ฉะนั้น ถ้าเกิดถามผมว่า fingo หรือ Moomall เป็นธุรกิจที่มีตัวตนจริงไหม? ผมขอตอบว่า มีจริง ครับ และถ้าถามว่ามันเป็นธุรกิจขายตรงไหม อ้างอิงตามที่จดทะเบียนการค้าไว้กับกรมการค้าภายใน เขาก็บอกว่า fingo เป็นธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ตครับ (ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจขายตรง มันจะก็จะจดทะเบียนเป็นประเภทธุรกิจขายตรงไปเลย) ซึ่งผมเองก็แปลกใจมาก เพราะธุรกิจแม่ที่มาเลเซีย ถูกจัดเป็นขายตรง ทำไมในประเทศไทยกลายเป็นค้าปลีกไปซะงั้นล่ะ? อันนี้ถ้าเกิดมีใครจะทำข่าวแนววิเคราะห์เจาะลึก ผมคิดว่าต้องไปเชิญอธิบดีกรมการค้าภายในมาสอบถามละครับ ว่าพิจารณากำหนดประเภทของธุรกิจยังไง เพราะไอ้วิถี M ของ fingo เนี่ย มัน MLM ชัดๆ (มาเลเซียเขาเลยจัดเป็นขายตรงไง) ส่วน Moomall นั้น เขาชัดเจนแล้ว คือ จดทะเบียนเป็นธุรกิจขายตรงเรียบร้อย กับ สคบ.

แต่ถ้าถามผมว่า แล้วธุรกิจมันจะยั่งยืนไหม บอกตรงๆ ว่า ไม่ต้องไปนับเรื่องการขายตรงนะ ไอ้ธุรกิจค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ต ที่มีแพลตฟอร์มใหญ่ๆ สามราย คือ ลาซาด้า (ที่ขาดทุนประละ 1-2 พันล้านบาท) ช้อปปี้ (ขาดทุนปีล่าสุด 4 พันกว่าล้านบาท) เจดี เซ็นทรัล (ขาดทุนปีล่าสุด 9 ร้อยกว่าล้านบาท) ต่างก็ขาดทุนบรรลัยกันอยู่เลย ผมไม่คิดว่า fingo จะทนขาดทุนยับได้แบบค่ายใหญ่ๆ ที่มีแบ็กยักษ์ใหญ่หนุนหลังแบบนี้หรอกนะ (ลาซาด้ามี Alibaba, ช้อปปี้มี SEA ส่วน เจดี เซ็นทรัล ก็มี JD)

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็คิดเอาเองกันแล้วกันเนอะ

Social e-commerce คำสวยหรู แต่จริงๆ ก็แค่ขายตรงนะผมว่า

เอาเข้าจริงๆ ผมมองว่า Social e-commerce มันเป็นแค่คำพูดสวยหรูสำหรับเอาไว้เรียกการขายตรงบนโลกออนไลน์นั่นแหละครับ เพราะถ้าลองเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินการ กับธุรกิจขายตรงที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดีอย่างแอมเวย์ ผมว่ามันก็คล้ายกันเลย ต่างกันแค่ fingo กับ Moomall เขามีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก แต่แอมเวย์เขามีทั้งหน้าร้าน และขายออนไลน์ด้วย แต่ท้ายที่สุดอะ พวกคนที่มาเป็นสมาชิก เขาก็สื่อสารกับคนอื่นๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย และเจอกันซึ่งๆ หน้าด้วยกันทั้งนั้นแหละ วัตถุประสงค์ก็คือ เสนอขายสินค้าเพื่อได้ค่าตอบแทน และหากมีการแนะนำสมาชิกด้วย ก็จะได้ค่าตอบแทนเช่นกัน (ยกเว้น กรณีของ Moomall ผมไม่แน่ใจว่ามันมีค่าตอบแทนส่วนนี้ไหม เพราะผมไม่เห็นเขาอธิบายเอาไว้)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า