บอกตรงๆ ว่า ปี 2563 นี่เป็นปีที่หนักมากเลย โดยเฉพาะบนโลกโซเชียลมีเดีย คือ มันมีเทรนด์ใหม่ๆ และดราม่าใหม่ๆ โผล่ขึ้นมารัวๆ ให้ติดตามตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อทุกคนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้เพราะโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 ยิ่งทำให้คนมีเวลานั่งไถไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียมากขึ้น ดราม่าใหม่ๆ ก็เลยเกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวันเลย เลยอยากขอบ่นๆ เพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโลกโซเชียลมีเดีย (ไม่จำกัดแค่ว่าแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มนึงนะ) ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นนักสร้างคอนเท้นต์ได้กันซะหน่อย ก็แล้วกัน
โซเชียลมีเดียไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวนะจ๊ะ
คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยได้ยินโควตอมตะอันนี้ไหมครับ?
นี่มันพื้นที่ส่วนตัว ชั้นจะโพสต์อะไรก็ได้!!
ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหลายท่านเคยกล่าว
จริงอยู่ที่ว่าโซเชียลมีเดียของเรา มันคือพื้นที่ของเราในการที่จะโพสต์อะไรก็ได้ตามที่ตัวเองอยากจะโพสต์ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า ตราบเท่าที่มีคนมาติดตามคุณได้ เห็นโพสต์ของคุณได้ มันก็ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวนะครับ เคยมีเพื่อนบล็อกเกอร์ท่านหนึ่งเคยเปรียบเทียบโซเชียลมีเดียเอาไว้ว่าแบบนี้ครับ
โซเชียลมีเดียคือกระดานข่าวส่วนตัว ที่มีแต่เราเท่านั้นที่จะเขียนได้ แต่มันถูกวางเอาไว้บนทางเท้าสาธารณะ
มิตรสหายท่านหนึ่ง

ในความเห็นของผมเอง โซเชียลมีเดียมันคือป้ายโฆษณาครับ เราคือผู้ประกาศโฆษณา และสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครได้เห็นบ้างแบบกว้างๆ (เช่น เห็นได้ทุกคน เห็นได้เฉพาะคนที่เราอนุมัติให้ติดตามเรา ฯลฯ) ฉะนั้น ตราบเท่าที่คุณยังไม่ระบุไปว่า โฆษณานี้จะเห็นได้เฉพาะตัวฉันเองเท่านั้น มันก็ย่อมไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวซะทีเดียว … และถ้าอยากได้พื้นที่ส่วนตัวที่แท้จริง แนะนำว่าให้เขียนทุกอย่างบนสมุดไดอารีที่มีการล็อกกุญแจเอาไว้ แล้วเราเป็นผู้ถือกุญแจคนเดียว
และเมื่อมันไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว เราก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกอย่างที่เราโพสต์ไป ถ้าโพสต์หรือแชร์อะไรไม่ระวัง มันก็มีกฎหมายมากมายที่สามารถเอาผิดเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หรือ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นต้น ผมจึงประยุกต์เอาโควตที่ อ.จตุพล ชมพูนิช เขาเคยพูดไว้ในเวทีไทยทอล์กเมื่อซักยี่สิบกว่าปีก่อนมาเป็น
จงคิดทุกครั้งก่อนโพสต์ และอย่าโพสต์ทุกอย่างที่คิด เพราะหากโพสต์ทุกอย่างที่คิด อาจได้ติดคุกทุกครั้งที่โพสต์
ดัดแปลงมาจากโควต อ.จตุพล ชมพูนิช
ใช่นั่นก็สิทธิของคุณ และนี่ก็สิทธิของฉัน
ผมเคยเตือนรุ่นน้องบางคน เมื่อเห็นว่าเขาโพสต์อะไรบางอย่างที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดดราม่า และจะมีทัวร์มาลง แต่ผมก็ได้รับคำตอบมาแนวๆ นี้ครับ
ฉันมีสิทธิที่จะคอมเม้นต์ ที่จะวิพากษ์วิจารณ์
รุ่นน้องท่านหนึ่ง
หูยยยยย ถูกต้องนะคร้าบบบบบบบ รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 ก็ระบุเอาไว้แล้วนี่นาว่า “นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองเอาไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนุญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” ฉะนั้น แน่นอนว่าคุณมีสิทธิที่จะคอมเม้นต์ หรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ตาม ตราบเท่าที่กฎหมายไม่ได้ห้าม

เอ๊ะ! แต่เดี๋ยวก่อน มาตรา 25 มันไม่ได้จบแค่นี้นะ ตอนจบของวรรคแรกของมาตรานี้ มันยังเขียนอีกว่า “ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นนั้น… ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” ใช่แล้วครับ คุณมีสิทธิและเสรีภาพของคุณ คนอื่นเขาก็มีสิทธิและเสรีภาพของเขาเช่นกัน ฉะนั้นคิดง่ายๆ แบบนี้นะ ถ้าคุณคิดว่าคุณมีสิทธิจะคอมเม้นต์หรือวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น คนอื่นก็มีสิทธิทำเช่นเดียวกันกับคุณเช่นกัน
เสพคอนเท้นต์อะไร ก็ได้โซเชียลมีเดียอย่างนั้น
ก่อนอื่น ขอออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนที่สนับสนุนให้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียผลิตคอนเท้นต์น้ำดีออกมานะครับ แต่เราก็ต้องเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ว่ามันมีดีมีเลวปะปนกันไป และมันยากที่จะทำให้ทุกคนผลิตคอนเท้นต์น้ำดีกันได้ จึงต้องทำใจเลยว่าบนโลกโซเชียลมีเดีย เราจะได้เห็นคอนเท้นต์ทั้งที่ดีและไม่ดีผสมกัน
แต่มันก็คล้ายๆ กับ You are what you eat หรือ คุณคือสิ่งที่คุณกินเข้าไปนั่นแหละ ธรรมชาติอย่างนึงของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน ก็คือ การทำให้ไทม์ไลน์ของผู้ใช้งานเต็มไปด้วยสิ่งที่พวกเขาสนใจ หรือชอบดูชอบอ่าน นั่นแหละ

>> Facebook ก็จะมีอัลกอริธึ่มที่ดึงเอาโพสต์ที่เราน่าจะสนใจมาให้เราดูบนไทม์ไลน์ ฉะนั้น หากเราไปกดติดตามใครไว้ หรือคลิกดูเรื่องอะไรบ่อยๆ หรือกดไลค์ กดแชร์เรื่องอะไรบ้าง เราก็จะเห็นสิ่งนั้นบ่อยกว่าอย่างอื่น
>> Twitter และ Instagram จะเอาทุกโพสต์ของคนที่เราติดตามมาแสดงบนไทม์ไลน์ของเรา ฉะนั้น หากเรากดติดตามใครไว้ เราก็จะได้เห็นโพสต์ของคนคนนั้นแหละ ที่เพิ่มเข้ามาคือ บน Twitter เราอาจจะเห็นโพสต์อื่นๆ ที่คนที่เราตามอยู่เขาแชร์มาด้วย … แต่นั่นก็หมายความว่า ไทม์ไลน์ของเราก็จะเป็นไปตามคนที่เราไปกดติดตามเอาไว้นั่นแหละ
>> YouTube จะคล้ายๆ กับ Facebook ครับ คือ จะแสดงพวกคลิปจากช่องที่เราติดตามเอาไว้ และก็จะมีการแนะนำคลิปที่มีเนื้อหาสไตล์ที่เราชอบ (พิจารณาจากสิ่งที่เราดู) มาให้ด้วย
>> TikTok จะแบ่งไทม์ไลน์เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่แสดงคลิปของคนที่เรากดติดตาม กับส่วนที่แสดงคลิปในหมวดหมู่เนื้อหาที่เราสนใจ ซึ่งเรากดเลือกเอาไว้ตอนสมัครเข้ามา
ฉะนั้น หากเรารู้สึกว่าไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียของเรา มันแย่ มันไม่ดี อย่าเพิ่งไปโทษอะไรใครเขาฮะ พิจารณาตัวเองก่อนเลย ว่าเรากดติดตามใคร เราหมั่นเข้าไปดูแต่คอนเท้นต์แบบไหน ปรับตรงนี้ก่อนเลยครับ
ส่วนพวกโฆษณาทั้งหลายที่เราเห็นกันน่ะ โดยหลักการแล้ว แพลตฟอร์มเขาจะมีตัวเลือกให้เราปรับได้ ว่าเราไม่อยากเห็นโฆษณาจากแบรนด์นี้ หรือเนื้อหาประมาณนี้อีก