มีหลายคนที่อยากได้สื่อบันทึกข้อมูลที่สามารถทำ RAID เพื่อสำรองข้อมูลกันสูญหายจากเหตุฮาร์ดดิสก์เสีย แต่ไม่สะดวกที่จะเชื่อมต่อกับสื่อบันทึกข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (LAN หรือ อินเทอร์เน็ต) ผมเลยคิดว่าทางเลือกที่ดีที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น External HDD แบบตั้งโต๊ะอย่าง WD My Book Duo ครับ เผอิญว่าผมจะต้องซื้อไปใช้ที่ออฟฟิศพอดี แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 เลยทำให้ไม่สามารถเอาเข้าไปติดตั้งได้ทันที เลยถือโอกาสเอามาทดสอบใช้งาน ตั้งค่า และรีวิวซะก่อนเลยแล้วกัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
WD My Book Duo 8TB ตัวนี้ เป็นการซื้อมาใช้ทำงานที่ออฟฟิศครับ จริงๆ จะไม่มีโอกาสรีวิวหรอก เพราะต้องเอาไปติดตั้งเลย แต่ว่าเพราะสถานการณ์ COVID-19 เลยทำให้ยังเอาไปติดตั้งไม่ได้ ก็เลยถือโอกาสเอามาใช้งานก่อน แล้วก็ถือโอกาสรีวิวไปด้วยเลย
แกะกล่อง WD My Book Duo 8TB ออกมาดู
แกะกล่องออกมา สิ่งของที่มีมาให้ก็แน่นอนว่าจะมี WD My Book Duo 8TB พร้อมกับอะแดปเตอร์ DC ที่มีหัวมาให้ 4 แบบ (ใส่แบบ Type G มาให้ แต่มี Type A, Type C กับ Type M มาให้) สามารถถอดเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน ซึ่งผมแนะนำให้ใช้แบบหัวแบนสองขา Type A ดีกว่าครับ นอกจากนี้แล้วก็มีสายเคเบิ้ลแบบ USB-C to USB-A กับ USB-C to USB-C มาให้อย่างละเส้น แล้วก็มีคู่มือแบบ Quick guide มาให้อีกแผ่น กับแผ่นพลาสติกสีดำๆ ซึ่งเอาไว้สำหรับเปิดฝาตัวเครื่อง เพื่อไว้ถอดฮาร์ดดิสก์ออกเปลี่ยนเมื่อจำเป็น

หน้าตาของ External HDD ตระกูล WD My Book ก็จะมีดีไซน์คล้ายๆ กับ External HDD แบบพกพานั่นแหละ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเยอะมาก โดยเฉพาะตัว WD My Book Duo นี่ เพราะว่ามันใส่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5″ มา 2 ตัวเลยครับ โดยใส่ WD Red ซึ่งเป็นฮาร์ดดิสก์เกรดสำหรับอุปกรณ์จำพวก NAS มาให้ ฉะนั้น น่าจะหมดห่วงได้เรื่องการใช้งานแบบ 24/7 เพราะตัวฮาร์ดดิสก์ถูกออกมาแบบงานแบบนี้โดยเฉพาะ
ด้าานหน้าของ WD My Book Duo 8TB จะมีไฟ LED แสดงสถานะมาให้ ส่วนด้านหลังก็จะมีปุ่ม Power, พอร์ต USB 3.2 Gen 1 แบบ USB-A ให้สองพอร์ต และ USB 3.2 Gen 1 แบบ USB-C มาให้อีกพอร์ตนึง กับช่องเสียบอะแดปเตอร์ DC และ Kensington Security Slot เอาไว้เผื่อใครอยากจะยึดกุญแจเอาไว้กันคนอุ้มขโมยไป อ้อ! เนื่องจากมันมีฮาร์ดดิสก์สองลูกอยู่ด้วยกัน งวดนี้เลยมีพัดลมขนาด 3 นิ้ว มาให้ระบายความร้อนด้วย

ด้านบนของตัวเครื่อง เป็นฝาปิดที่สามารถเปิดได้ โดยให้เอาแผ่นพลาสติกไปแงะฝาปิด เพื่อเปิดฝาออก แล้วถอดฮาร์ดดิสก์ออกเปลี่ยนได้ครับ
การใช้งาน WD My Book Duo 8TB
การใช้งานน่ะ แค่เสียบกับปลั๊ก ต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็พร้อมใช้เลยครับ ค่า Default เจ้านี่จะถูกฟอร์แมตมาเป็น NTFS คือ กะเอาไว้ใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows แต่ถ้าเราจะเอาไปใช้กับเครื่อง Mac ก็ควรจะฟอร์ตแมตให้เป็น exFAT นะครับ
ด้านหลังมันจะมีปุ่ม Power อยู่ เอาไว้เปิดปิดได้ ซึ่งการปิดมันจะมีสองแบบ คือ กดปุ่ม Power ทีเดียวเลย มันก็จะปิดตามระบบ จะใช้เวลานิดนึงในการปิด แต่มันจะปิดอย่างปลอดภัย แคชทั้งหมดก็จะถูกลบออก แต่ถ้ากดปุ่ม Power ค้างไว้ 4 วินาที มันจะเป็น Force shutdown ครับ มันจะปิดทันที โดยไม่สนใจที่จะปิดพวก Services ต่างๆ และไม่ลบแคชด้วย อันนี้ไม่แนะนำให้ทำ ยกเว้นจะพบว่า WD My Book Duo มันค้างๆ ไป
ปกติแล้ว WD เขาจะมีซอฟต์แวร์ชื่อ WD Discovery ที่มีใส่มาให้ในผลิตภัณฑ์ของ WD ซึ่งถ้าไม่ใช่ว่าใส่มาให้ในทุกรุ่น ก็เกือบทุกรุ่นอะ ซอฟต์แวร์ตัวนี้มันจะช่วยบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของ WD ครับ และสามารถเป็นช่องทางนำไปสู่การดาวน์โหลดโปรแกรมเสริมเพิ่มเติมสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้อีก แต่ซอฟต์แวร์ตัวนี้ไม่ค่อยจำเป็นมากเท่าไหร่ สำหรับ External HDD แบบพกพา ยิ่งถ้าไม่ได้คิดว่าจะใช้ฟีเจอร์อย่างการฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ การทดสอบฮาร์ดดิสก์ หรือการลบข้อมูลแบบถาวร อะไรพวกนี้ แต่สำหรับ WD My Book Duo แล้ว ผมขอบอกว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ต้องติดตั้งครับ

อย่างที่เห็นในรูปด้านบน มันแสดงให้เห็นว่าผมมี WD My Cloud Home (ที่ผมเคยเอามารีวิวก่อนหน้า) อยู่ แต่ว่าไม่ได้เปิดใช้งาน (แหงดิ คืนเขาไปแล้ว) แล้วก็มี WD My Book Duo ที่ผมเอามารีวิวครั้งนี้เชื่อมต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์
สังเกตว่ามันมองเห็นเป็นขนาด 7.28TB ครับ นั่นเพราะว่าโดย Default แล้ว WD My Book Duo 8TB มันก็มีความจุตามชื่อรุ่นนั่นแหละ (ทำไมรุ่นมันบอก 8TB แต่ความจุจริงได้ 7.28TB นั้น อ่านบล็อก ทำไมฮาร์ดดิสก์ แฟลชไดร์ฟ หรือ SSD มีความจุไม่เต็มตามที่ป้ายบอกล่ะ? ที่ผมเคยอธิบายเอาไว้) แต่เพราะมันใส่ฮาร์ดดิสก์ 4TB ไว้สองลูก ทำ RAID0 ครับ คือ เข้าเน้นไปที่ความจุและประสิทธิภาพในการอ่านและเขียนข้อมูลก่อน

จะเห็นว่าการทำ RAID0 นอกจากจะทำให้เราได้ความจุเท่ากับฮาร์ดดิสก์สองลูกรวมกันแล้ว ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential ก็สูงขึ้นชัดเจนมากเลย โดย WD บอกว่าถ้าใช้สาย USB-C แล้ว ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential นี่จะได้สูงสุดถึง 360MB/s เลย ซึ่งจากผลการทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark ก็ให้ความเร็วในช่วง 325-353MB/s ซึ่งใกล้เคียงสเปกอยู่ แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน พอเปลี่ยนมาเป็น Random access แล้ว ความเร็วในการเขียนและอ่านนี่ ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเลยครับ ถ้าใครอยากได้ตรงนี้เร็วๆ แนะนำให้ไป SSD ครับ เลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ ก็จะได้ความเร็วแค่นี้แหละ ปกติ RAID0 ไม่ช่วยอะไร

ตัว WD My Book Duo เนี่ย ด้วยความที่มีฮาร์ดดิสก์ 2 ลูกอยู่ข้างใน เลยสามารถตั้งค่าการใช้งานได้ 3 แบบ คือ
- RAID0 ซึ่งเป็นค่า Default การตั้งค่าแบบนี้ จะได้ความจุเต็มที่ที่สุด มีประสิทธิภาพในการอ่านและเขียนข้อมูลดีที่สุด แต่มันจะไม่ช่วยป้องกันเรื่องการสูญหายของข้อมูลในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์เสีย นอกจากนี้ หากฮาร์ดดิสก์เสียเพียงลูกเดียว ข้อมูลก็จะสูญหายหมดทันที นี่คือความเสี่ยง มันจึงเหมาะสำหรับกรณีที่คุณอยากได้ความจุเยอะๆ ความเร็วในการเขียนและอ่านเยอะๆ แต่ไม่ได้ห่วงมากเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เพราะมีแผนในการสำรองข้อมูลแบบอื่นอยู่แล้ว
- RAID1 หรือการทำ Mirror ซึ่งก็สมชื่อของผมครับ คือ ไม่ว่าจะเขียนหรือแก้ไขข้อมูลอะไรมาลงฮาร์ดดิสก์ลูกนึง อีกลูกนึงก็จะได้ข้อมูลเหมือนกันเปี๊ยบเลยครับ ข้อจำกัดคือ เพราะมันเขียนข้อมูลชุดเดียวกันลงฮาร์ดดิสก์ทั้งสองลูกพร้อมๆ กัน ความจุที่ได้ก็เลยได้แค่เท่ากับครึ่งเดียวของสเปกรุ่นครับ นั่นคือ WD My Book Duo 8TB ถ้าทำ RAID1 ก็จะเหลือเนื้อที่ 3.64TB เท่านั้น แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็วในการเขียนและอ่านข้อมูลนะครับ มันยังเต็มเหนี่ยวดีอยู่ ผมลองทดสอบแล้ว ได้อยู่ในช่วง 185-188MB/s ครับ

- JBOD (Just a Bunch of Disks) มันจะมองฮาร์ดดิสก์ทั้งสองลูกแยกออกจากกัน มันก็จะเท่ากับว่าเราเสียบฮาร์ดดิสก์สองลูกเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ผ่านสาย USB เส้นเดียว ก็เท่ากับเราได้ External HDD 2 ไดรฟ์พร้อมๆ กันครับ มันเหมาะสำหรับคนที่อยากได้ความจุเยอะๆ แต่ไม่อยากเสี่ยงว่าฮาร์ดดิสก์พังลูกเดียวข้อมูลหายหมด กู้ยากกู้ลำบากแบบ RAID0 ครับ
พอร์ต USB 3.2 Gen 1 ที่อยู่ด้านหลังสองพอร์ต มันเอาไว้สำหรับเสียบกับ External HDD หรือ Flash drive ได้อีก แล้ว WD My Book Duo 8TB ตัวนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือน USB Hub ครับ คอมพิวเตอร์ก็จะมองเห็น External หรือ Flash drive นี่เหมือนกับการเสียบเข้าพอร์ต USB ของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง
สิ่งที่ดีกว่า External HDD ทั่วๆ ไปก็คือ เจ้านี่มันออกแบบมาให้เราสามารถถอดเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้ครับ นั่นหมายความว่าฮาร์ดดิสก์เกิดเสียขึ้นมา ก็ซื้อของใหม่มาเปลี่ยนได้ หรืออยู่ๆ เกิดอยากได้ความจุเพิ่มขึ้น ก็ซื้อฮาร์ดดิสก์ลูกใหญ่ขึ้น (แต่ต้องซื้อมาทีสองลูก ขนาดเท่ากัน) มาเปลี่ยนได้ครับ แต่มีข้อจำกัดตรงที่ เราต้องสำรองข้อมูลออกมาก่อนนะ แล้วค่อยว่ากันใหม่
บทสรุปการรีวิว WD My Book Duo 8TB
บอกก่อนเลยว่ามันไม่ใช่อะไรที่เหมาะกับการพกพาไปไหนมาไหนแน่นอน เพราะเจ้านี่ดีไซน์คือ External HDD แบบตั้งโต๊ะ และมันก็จะมีขนาดใหญ่กว่า WD My Book แบบปกติอยู่แบบที่คิดง่ายๆ คือ เหมือนเอาสองตัวมาวางข้างๆ กันอะครับ ผู้ที่เหมาะกับการซื้อหาเจ้านี่มาใช้งานคือ
- คนที่อยากได้ External HDD แบบตั้งโต๊ะความจุสูงๆ เอาไว้เก็บงานใหญ่ๆ เพราะเจ้านี่ใหญ่สุดคือ 24TB (12TB สองลูก) ใหญ่สะใจระดับ NAS 4-bay ทำ RAID5 สบายๆ แต่ข้อมูลที่อยู่ข้างในต้องมีวิธีสำรองข้อมูลด้วย หากข้อมูลที่เก็บมันเป็นข้อมูลสำคัญ มันเหมาะเอาไว้ทำหน้าที่เป็นแคช สำหรับเก็บข้อมูลมาใช้ทำงานกับคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่มีการสำรองข้อมูลเก็บไว้บน NAS แทน หรืออาจจะมี External HDD อื่นมาสำรองข้อมูลออกไป
- คนที่อยากได้ External HDD แบบตั้งโต๊ะ เอามาเก็บข้อมูลสำคัญ และอยากทำ RAID1 ป้องกันข้อมูลสูญหายจากฮาร์ดดิสก์เสีย แต่ไม่สะดวกที่จะใช้ NAS
สนนราคาค่าตัวเจ้านี่อยู่ที่หมื่นต้นๆ ลิงก์ด้านล่างมาจากร้านที่ผมสืบค้นแล้วว่าน่าเชื่อถือ บน Lazada (เพราะ WD Official Store ไม่มีรุ่นนี้ขาย) เขาขาย 11,900 บาทครับ มันดูแพงสำหรับฮาร์ดดิสก์ขนาด 8TB เพราะว่ามันเป็น WD Red 4TB 2 ลูก บวกกับตัวฮาร์ดแวร์ที่เอาไว้ทำ RAID ได้ด้วยนั่นเอง คือ มันแพงกว่าซื้อฮาร์ดดิสก์ที่ความจุเท่ากัน แต่มันถูกกว่าซื้อ NAS จริงๆ จังๆ ครับ คนที่จะใช้คุ้ม ก็คือสองกลุ่มหลักๆ ที่ผมพูดถึงไปข้างต้นนั่นแหละ