ในขณะที่ตอนนี้เรามีตัวเลือกทั้ง Portable SSD (เช่น SanDisk Extreme Pro Portable SSD หรือ WD My Passport SSD) และ SSD Flash drive (เช่น SanDisk Extreme Pro Solid State Flash drive) แล้ว แต่สำหรับคนที่ชอบปรับแต่งคอมพิวเตอร์ อาจจะเคยเจอเคสที่อัพเกรด SSD แบบ M.2 หรือ NVMe M.2 แล้ว ของเก่าไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็ไปหากล่องมาใส่ เอาไปทำ External Disk กันใช่ไหมล่ะ? วันนี้ก็เลยมารีวิว Choetech USB 3.1 Type-C Gen 2 to NVMe M.2 SSD Enclosure ให้ได้อ่านกันครับ เผื่อเป็นทางเลือกนึงให้ซื้อหามาใช้
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกรีวิวครั้งนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก Choetech ส่งตัว Choetech USB 3.1 Type-C Gen 2 to NVMe M.2 SSD Enclosure มาให้ลองใช้ครับ แต่เช่นเคย ในการรีวิวผมก็จะพูดถึงข้อดี ข้อจำกัด ตามความเป็นจริงตามสไตล์ของผม ไม่มีกั๊ก
ในแพ็กเกจของ Choetech USB 3.1 Type-C Gen 2 to NVMe M.2 SSD Enclosure นั้น จะมีตัวกล่อง M.2 SSD Enclosure มีคู่มือ แล้วก็มีถุงเล็กๆ ใส่พวกอะไหล่สำรองมาให้ ซึ่งที่สำคัญเลยคือตัวจุกยางสีดำเล็กๆ ที่เอาไว้สำหรับช่วยยึดตัว NVMe M.2 SSD ครับ มีสำรองมาให้ 3 อัน กับอีกอันที่อยู่ภายในตัวกล่อง M.2 SSD Enclosure

บอดี้ของตัว M.2 SSD Enclosure นั้น ส่วนที่เป็นสีดำ มันเป็นพลาสติกครับ แต่ส่วนที่เป็นสีเทาเงิน ที่เป็นส่วนที่จะเอาไว้ใส่ NVMe M.2 SSD นั้นจะเป็นอลูมิเนียม เพื่อให้ผลในการระบายความร้อนที่ดี และเราจะเห็นว่ามีการเจาะรูเอาไว้ระบายความร้อนด้วย
ปลายด้านนึงของตัว M.2 SSD Enclosure นั้นจะเป็นสวิตช์เอาไว้ปลดล็อกเพื่อถอดฝากล่องออก ส่วนปลายอีพด้านจะมีพอร์ต USB Type-C เอาไว้เสียบสายเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์
มันเสียดายตรงที่ไม่มีสายเคเบิ้ลแถมมาให้ด้วย ซึ่งจริงๆ ผมว่าถ้าแถมสาย USB-C to USB-C พร้อมหัวแปลง USB-C to USB-A มาด้วยนะ มันจะจบในตัวเดียวมากๆ เพราะไม่ว่าจะใช้กับโน้ตบุ๊กแบบไหนก็มีหัวพร้อมเสียบเสมอ แต่พอไม่แถมมาให้ ก็ต้องไปหาสายเอาเอง ซึ่งเดี๋ยวนี้มันก็หาไม่ยาก เพราะสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รุ่นกลางๆ ไปจนถึงรุ่นบน มันมีแถมมาให้อยู่แล้ว … แต่ก็นั่นแหละ หากเราไม่มีล่ะ เราก็ต้องไปหาซื้อ และเราก็ต้องให้ชัวร์ว่าเราจะซื้อสาย USB-C ที่รองรับ Data transfer ครับ

ดีไซน์ของ Choetech USB 3.1 Type-C to NVMe M.2 SSD Enclosure ตัวนี้ เป็นแบบ Tooless คือ สามารถถอดฝากล่องออกมาได้ ติดตั้ง NVMe M.2 SSD เข้าไปได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เลย วิธีการใส่ M.2 SSD ก็ง่ายๆ ครับ เสียบเข้าไปใน Socket ก่อน แล้วจากนั้น กดปลายอีกด้านให้มันดันจุกยางสีดำๆ เลื่อนไปนิดนึง มันก็จะเข้าล็อกเป๊ะ
ตัวกล่องเนี่ย รองรับ NVMe M.2 SSD ขนาด 2230/2242/2260/2280 ครับ ซึ่งก็คือแทบจะทุกไซส์มาตรฐานแล้ว (ที่ไม่รองรับคือ M.2 SSD ขนาด 22110)
ข้อสังเกตคือ เจ้านี่มาแบบไม่มีฮีตซิงก์ ผมก็ห่วงเรื่องความร้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน โดยเฉพาะตอนที่อ่านและเขียนข้อมูลรัวๆ ด้วยความเร็วเต็มที่ … ดีไซน์แบบนี้ มันกะให้ความร้อนถูกระบายไปที่ตัวกล่องที่เป็นโลหะอะ

เอาล่ะ ที่นี้ลองใช้งานดูครับ แล้วก็ทดสอบความเร็วด้วย ผมเลือกใช้โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S UX391UA ของผม เพราะมันรองรับทั้ง USB 3.1 Gen 2 (ปัจจุบันเรียก USB 3.2 Gen 2 แล้ว) และ Thunderbolt 3 ด้วย นอกจากนี้ SSD ภายในเครื่องก็เป็นแบบความเร็วสูงปรี๊ด ส่วนตัว NVMe M.2 SSD ที่ผมนำมาใช้ทดสอบนั้น ความจุ 1TB และมีความเร็วในการอ่านแบบ Sequential สูงสุด (ตามสเปก) 3,100MB/s และความเร็วในการเขียนแบบ Sequential สูงสุด (ตามสเปกอีกเช่นกัน) 1,600MB/s ครับ เรียกว่าเหลือเฟือสำหรับการนำมาใช้ทดสอบเจ้ากล่องนี่เลย

ตัวกล่องเนี่ย รองรับแบนด์วิธ 10Gbps ของ USB 3.1 Gen 2 หรือเมื่อลองคำนวณมาเป็น MB/s แล้ว ในทางทฤษฎีก็ควรจะได้ความเร็วในการอ่านและเขียนอยู่ที่ 1,250MB/s ครับ แต่ในทางปฏิบัติจริง มันก็จะได้ไม่เต็มขนาดนั้น และสำหรับการทดสอบครั้งนี้ ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Sequential อยู่ที่ 1,039MB/s และ 1,012.95MB/s ตามลำดับ ซึ่งก็ถือว่าสูงอยู่ ยิ่งถ้าเทียบกับ SSD ขนาด 2.5 นิ้วแบบทั่วๆ ไป ที่ถูกจำกัดแบนด์วิธแค่ 6Gbps หรือประมาณ 625MB/s (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำความเร็วจริงๆ อยู่ที่แถวๆ 500-550MB/s)
อย่างไรก็ดี เป็นไปตามคาด เนื่องจากดีไซน์มันกะให้ความร้อนมันระบายมาที่ตัวกล่องที่เป็นโลหะ ในระหว่างการใช้งานเจ้านี่ ตัวกล่องมันจะร้อนประมาณนึงเลยครับ ไม่ร้อนถึงขนาดจับต้องไม่ได้ แต่ก็ระดับที่ถ้าเผลอๆ ไปโดนก็มีตกใจอ่ะ … ฉะนั้น ในระหว่างการใช้งาน ผมไม่แนะนำให้ไปแตะต้องมันหรอกนะ จะหาเรื่องเอามือไปจับของร้อนๆ ทำไม
บทสรุปการรีวิว Choetech USB 3.1 Type-C to NVMe M.2 SSD Enclosure
สนนราคาค่าตัวประมาณ 940 บาท แอบราคาถูกกว่าของ Orico ที่สเปกคล้ายๆ กันอยู่พอสมควร (เห็นขายอยู่ที่ 1,300-1,500 บาท แล้วแต่รุ่น) ผมว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่มี NVMe M.2 SSD เหลือๆ แล้วนึกไม่ออกว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร เอามาทำ External disk ไว้ใช้งานได้นะ ดีกว่าไปใช้ USB Flash drive ทั่วๆ ไปมาก
แต่อย่าลืมว่าเจ้านี่แบนด์วิธเป็น USB 3.1 Gen 2 นะครับ 10Gbps ถ้าเราอยากได้แบนด์วิธมากกว่านี้เพื่อจะได้ความเร็วในการอ่านและเขียนแบบเต็มเหนี่ยวกว่า (แบบ NVMe M.2 SSD ที่เหลืออยู่มันความเร็วสูงปรี๊ด ไรงี้) ก็อาจจะต้องกัดฟันซื้อกล่องที่รองรับ Thunderbolt 3 ที่มีแบนด์วิธ 40Gbps ครับ แต่ราคามันก็แบบ คูณ 4 เช่นกัน โดยประมาณ