Home>>บ่นเรื่อยเปื่อย>>หน้ากากอนามัย อาจไม่ช่วยป้องกันคุณจากเชื้อโรค แต่อาจจะทำให้คุณเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นอีก
ภาพขยายของอิเล็กตรอนของเชื้อ SARS-CoV-2
บ่นเรื่อยเปื่อย

หน้ากากอนามัย อาจไม่ช่วยป้องกันคุณจากเชื้อโรค แต่อาจจะทำให้คุณเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นอีก

ในช่วงเวลาที่โรค COVID-19 กำลังระบาด ผู้คนก็ต้องหาทางป้องกันตัวเองกันเต็มเหนี่ยว นอกเหนือจากการล้างมือบ่อยๆ แล้ว ก็มีเรื่องของการใช้เจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% ขึ้นไปกับการใส่หน้ากากอนามัยด้วย เล่นเอาช่วงนี้ เจลแอลกอฮอล์ขายดีมาก ส่วนหน้ากากอนามัยนี่ถึงกับขาดตลาด ราคางี้พุ่งพรวดๆ นี่ยังไม่นับพวกที่เอาของที่ไม่ได้คุณภาพมาหลอกขายอีกนะครับ … แต่ปรากฏว่ามันมีข้อมูลอีกกระแสที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า การใส่หน้ากากอนามัยอาจไม่ช่วยป้องกันคุณจากเชื้อโรค แต่อาจทำให้คุณเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นไปอีกนะ

โรค COVID-19 กับ เชื้อ SARs-CoV-2

ต้องทำความเข้าใจเรื่องชื่อกันหน่อยนะครับ สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี่ ตอนนี้ได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Severe Acute Respiratory syndrome Coronavirus 2 หรือย่อๆ คือ SARs-CoV-2 ซึ่งเจ้าเชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคที่ชื่อว่า COVID-19 (โควิดไนน์ทีน หรือ โควิดสิบเก้า ก็ตามแต่) ครับ

ฉะนั้นเวลาเราจะใช้ในการสื่อสาร เราก็ต้องใช้ว่า คนคนนี้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เขาเป็นโรค COVID-19 ครับ

โรค COVID-19 ณ ตอนที่เขียนบล็อกนี้อยู่ ก็ติดเชื้อไปเกือบเก้าหมื่นคนแล้ว (เฉพาะในประเทศจีนเกือบแปดหมื่นคน) ในทวีปเอเชีย มีเกาหลีใต้ที่กลายเป็นเหมือนศูนย์กลางของการแพร่กระจายต่อจากอู่ฮั่น ประเทศจีน ส่วนตะวันออกกลางมีประเทศอิหร่าน และแถบยุโรปก็มีประเทศอิตาลีเป็นศูนย์กลางของการแพร่กระจายอยู่ในตอนนี้

ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรค และด้วยความที่โรคนี้เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้คนหันมาหาซื้อหน้ากากอนามัยไปใช้กันใหญ่ จนเกิดการขาดตลาดชนิดที่เรียกว่าแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาล ต่างก็ประสบกับภาวะขาดแคลนกันใหญ่ อันนี้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยนะครับ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน จนกระทั่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชน มาให้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกันใหญ่ว่า หน้ากากอนามัยและ N95 นั้น อาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันเราจากเชื้อโรคได้หรอกนะ ในทางกลับกัน เพราะความมั่นใจว่าพวกมันจะช่วยป้องกันเราจากเชื้อโรคได้นี่แหละ ที่จะทำให้เรามีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น

ที่ผมจะเขียนในบล็อกต่อไปนี้ เรียบเรียงมาจากข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ดังนี้

หน้ากากอนามัย มีไว้ป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น ไม่ใช่ป้องกันการถูกแพร่เชื้อใส่

ด้วยความที่เราเรียกหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 ว่าหน้ากากทั้งคู่ (ฝรั่งก็เรียกกันแบบนี้เหมือนกัน) เลยทำให้เรามีความเข้าใจที่สับสนกันอยู่ หน้ากากอนามัยเนี่ย ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Surgical mask ส่วนหน้ากากแบบ N95 ภาษาอังกฤษเขาเรียกหน้ากากในกลุ่มนี้ว่า Respirator ครับ

(ซ้าย) หน้ากากอนามัยสีเขียว (ขวา) หน้ากาก N95 ของ 3M
(ซ้าย)​ หน้ากากอนามัย (ขวา) หน้ากาก N95
ที่มาของภาพ NPR.org

จากข้อมูลที่ผมหามาได้ ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกว่าหน้ากากอนามัยเนี่ย จริงๆ มันถูกออกแบบมาให้ป้องกันพวกละอองฝอยของน้ำมูกน้ำลาย (Droplets) จากการไอหรือจามของผู้สวมใส่ไปถูกผู้อื่น ไม่ใช่ป้องกันให้พวกละอองฝอยพวกนี้มาถูกผู้สวมใส่ หน้ากากอนามัยมันมี “ช่องโหว่” ให้อากาศมันเข้าได้อีกเยอะแยะ หากต้องการป้องกันตัวเราเองหายใจเอาพวกละอองฝอยเข้าไป จะต้องใช้หน้ากากประเภท Respirator อย่าง N95 นะครับ (คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากประเภทต่างๆ นั้น เว็บไซต์ของ 3M มีการพูดถึงเอาไว้)

มาตรฐานอื่นๆ ที่เทียบเท่า N95

ประเทศต่างๆ ก็มีตัวเลขมาตรฐานของหน้ากากจำพวก Respirator เป็นของตัวเอง ดังนั้น หากเราซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้ แต่มีโอกาสไปซื้อหน้ากากที่ผลิตในประเทศอื่นๆ มา ก็มองหามาตรฐานพวกนี้ได้ครับ เทียบเคียงกันๆ

• Australia/New Zealand – P2
• Brazil – P2
• China – KN95, KP95
• Europe – FFP2
• Japan – DS2, DL2
• India – BIS P2
• Korea – 1st class
• US NIOSH – N95, R95, P95

ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าคนที่เหมาะจะใส่หน้ากากอนามัยมากที่สุด คือคนที่เป็นผู้ป่วย เพราะหน้ากากอนามัยมันจะช่วยป้องกันไม่ให้ละอองฝอยจากน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ช่วยหลุดรอดออกมา ไปติดใส่คนอื่น ส่วนคนทั่วไป หากต้องการป้องกันละอองฝอย ก็ต้องไปใช้หน้ากากจำพวก Respirator แบบ N95 อะไรแบบนี้

แต่คนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก N95 กันหรอก … ผู้เชี่ยวชาญเขาว่างี้

ถ้าใครตามข่าวตั้งแต่สมัย PM2.5 คงจะเคยได้ยินมาบ้างว่า หน้ากาก N95 ก็จะไม่ได้ช่วยอะไรได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก หากใส่ไม่ถูกวิธี และการใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลามันไม่ได้สบายนะครับ อย่าลืมว่าหน้ากากมันจะป้องกันทั้งขาเข้าขาออกเลย ฉะนั้นเวลาใส่แบบถูกวิธีมันจะอึดอัดมาก เคยมีคุณหมอท่านนึงบอกว่า ถ้าใส่หน้ากาก N95 แล้วยังหายใจได้สบายๆ อยู่ ไม่อึดอัดละก็ คุณใส่ผิดวิธีแล้ว

ส่วนวิธีการใส่หน้ากาก N95 ก็ตามวิดีโอด้านล่าง จากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ครับ

3M เองก็ยังบอกว่า ไม่ว่าจะหน้ากาก N95 จะป้องกันดีแค่ไหน แต่มันก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการรั่วไหล (Leak) อยู่ได้ ผู้สวมใส่ควรเตรียมใจเอาไว้ก่อนเลย (อ่านจากไฟล์นี้ ในหน้าแรก ย่อหน้าที่ 3 ของ Introduction) ยิ่งถ้าเราใส่ไม่ถูกวิธี การป้องกันก็จะขาดประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับเกิดความรู้สึก “ปลอดภัย” ขึ้นมา ทำให้เราขาดการระมัดระวังตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่เราใส่หน้ากาก หรือถอดหน้ากาก

ต้องไม่ลืมนะครับ ว่ามือเราก็ไม่รู้ไปสัมผัสอะไรมาบ้าง ถ้าเราเอามือที่ปนเปื้อนไปจับหน้ากาก โดยเฉพาะบริเวณที่จะสัมผัสกับปากและจมูกของเรา มันเท่ากับจมูกกับปากของเราจะต้องทนอยู่กับพวกสิ่งปนเปื้อนต่างๆ นั้นตลอดระยะเวลาที่สวมใส่เลยนะครับ และยิ่งในช่วงเวลาที่หน้ากากอนามัยหายาก หลายคนก็จะใช้ซ้ำ ตอนเราเก็บอะ เราแน่ใจได้ยังไงว่าจะไม่ปนเปื้อน?? ตอนถอดหน้ากากออกแล้ว เราได้ล้างมือไหม ก่อนที่เราจะเอามือที่ถอดหน้ากากไปสัมผัสโดนตา จมูก ปาก ของเรา อย่าลืมนะครับ คุณเอาหน้ากากไปป้องกันพวกละอองฝอยที่อาจปนเปื้อน สิ่งเหล่านี้มันจะยังติดอยู่บนหน้ากากนะครับ แล้วคุณเอามือไปจับมันอะ

การแห่ไปซื้อหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากาก N95 มาใส่กัน กลับทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา นั่นคือปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและ N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล ซึ่งพวกเขามีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการใกล้ชิดและสัมผัสกับผู้ป่วยโรคต่างๆ มากกว่ามาก ความวิตกกังวลในการติดโรค COVID-19 กลับไปเพิ่มความเสี่ยงให้หมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคอื่นๆ เพราะขาดอุปกรณ์ป้องกันไป แล้วถ้าพวกเขาป่วยกันหมด ใครจะมาดูแลพวกเราตอนเราป่วยจริงๆ ล่ะ?!?

ศัลยแพทย์ใหญ่สหรัฐ (US Surgeon General) ถึงกับต้องทวีตออกมาเลยว่าหยุดซื้อหน้ากาก[อนามัย/N95] ได้แล้ว เพราะมันไม่ได้ช่วยให้คนทั่วไปป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย กลับกันคือ บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่มีอุปกรณ์ป้องกันในยามที่เขาต้องดูแลคนป่วย ซึ่งทำให้พวกเขาและชุมชนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงแทน

แล้วการป้องกันตนเองจากโรค COVID-19 ทำยังไง?

แม้ว่าโรค COVID-19 จะเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ แต่มันยังไม่ได้ถึงขั้นติดต่อกันจากการหายใจได้ง่ายๆ แบบนั้น โดยมากแล้วผู้ที่ติดโรคนี้จากการที่ไปใกล้ชิดและสัมผัสกับผู้ป่วย และเผลอใช้มือที่ปนเปื้อนเชื้อโรคไปสัมผัสกับปากหรือจมูก ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย

ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด ซึ่งเราจะได้ยินบ่อยมากๆ ก็คือ การหมั่นล้างมือ หรือหากไม่สามารถล้างมือได้ ก็ควรใช้เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งควรจะมีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป เพราะมีการทดลองพบว่าต้องเข้มข้นระดับนี้จึงสามารถฆ่าเชื้อ SARs-CoV-2 ได้ และการล้างมือก็ควรทำให้ถูกวิธีด้วยนะครับ มาดูวิดีโอจากโรงพยาบาลแพร่ ที่เขาสอนวิธีกันเป็นมิวสิควิดีโอเลย

นอกจากนี้ พยายามฝึกตัวเองด้วย ไม่ให้เอามือไปสัมผัสใบหน้าตัวเอง โดยเฉพาะปากและจมูก แต่หากเลี่ยงไม่ได้ และหาที่ล้างมือไม่ได้ ก็อย่างที่บอก ใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือซะก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเวลาที่เอามือไปสัมผัสกับอะไรอย่างอื่นมาที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ลูกบิดประตู ธนบัตร เหรียญ เป็นต้น

และสุดท้าย คือการฝึกให้อยู่ห่างจากผู้คนเป็นระยะราวๆ 1 เมตร โดยเฉพาะในกรณีที่คนอื่นๆ เขามีอาการไอหรือจาม เพราะละอองฝอยที่มีเชื้อ SARs-CoV-2 เนี่ย มันอาจล่องลอยได้ไกลราวๆ 3 ฟุตครับ

ติดตามข่าวสารอัพเดตจากกระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดทำเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลอัพเดตเกี่ยวกับโรค COVID-19 เอาไว้ครับ และกรมควบคุมโรค ก็มีอีกเว็บไซต์ให้เราสามารถติดตามข้อมูลได้ ลองไปดูกัน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ ผมใช้แค่ดูว่ามีคนเข้ามาดูเว็บไซต์ผมกี่คน กี่ครั้ง และดูหน้าเว็บไหนบ้าง ถ้าคุณปิดการใช้งาน ผมก็จะไม่เห็นว่ามีคนเข้ามาอ่านบล็อกของผมกี่คน กี่ครั้ง
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า