สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านที่กำลังมองหาโซลูชันสำหรับการเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์กลาง ให้สมาชิกในบ้านมาอัพโหลดพวกรูปภาพ วิดีโอ มาเก็บไว้ โดยไม่ต้องไปจ่ายตังค์ให้กับพวก Cloud storage เพิ่ม ต้องการทำ Home media server ใช้กันภายในบ้าน หรือจะเอาไว้โหลดบิตปิดคอมพิวเตอร์ QNAP TS-230 นี่อาจจะเป็นทางเลือกที่ราคาไม่แพงมากสำหรับคุณ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ทั้ง QNAP TS-230 และฮาร์ดดิสก์ Seagate 2TB ที่ใช้ในการรีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก QNAP Thailand ให้ยืมมาลองใช้เพื่อทดสอบนะครับ แต่ก็เช่นเคย ความเห็นใดๆ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ที่ปรากฏในบล็อกตอนนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมทั้งหมดทั้งสิ้น
QNAP TS-230 ดีไซน์สำหรับใช้ในบ้านโดยเฉพาะ
สำหรับ QNAP TS-230 ตัวนี้ ผมขอฟันธงให้มันเป็น NAS สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไปโดยเฉพาะเลยครับ สนนราคาค่าตัวแบบไม่รวมฮาร์ดดิสก์จะอยู่ที่ราวๆ เจ็ดพันต้นๆ (แล้วแต่ว่าคุณไปซื้อกับตัวแทนจำหน่ายรายใด) หน้าตาของมัน จะออกมาแนวดีไซน์สำหรับใช้งานตามบ้านของ QNAP เขา

อุปกรณ์ที่ให้มาภายในกล่อง นอกจากตัว QNAP TS-230 แล้ว ก็มีอะแดปเตอร์ไฟ สาย LAN แบบกิกะบิต น็อตสำหรับยึดฮาร์ดดิสก์ ในกรณีที่เราต้องการใส่ SSD หรือฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว แล้วก็ Quick Installation Guide ซึ่งจริงๆ แทบไม่จำเป็นเลย
ด้านหน้าก็จะมีพวกไฟ LED สำหรับบอกสถานะของการทำงานอยู่ด้านบนซ้ายมือ ตามมาด้วยสองปุ่มมาตรฐาน คือ ปุ่ม Power กับปุ่ม USB quick copy กับพอร์ต USB 3.2 Gen 1 มาให้พอร์ตนึง

ส่วนด้านหลังของตัวเครื่อง ก็จะเห็นช่องพัดลมระบายความร้อน โดยใช้พัดลมขนาดเล็ก เพียงพอสำหรับการระบายความร้อนของฮาร์ดดิสก์สองตัว มีรูสำหรับรีเซ็ตค่าอยู่ แล้วก็มีพอร์ต Gigabit LAN กับพอร์ต USB 2.0 และ USB 3.2 Gen 1 มาให้อย่างละพอร์ต และมีช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟ DC

ดีไซน์ของ QNAP NAS สไตล์ใช้ในบ้าน จะเป็นแบบที่จะมีน็อตตัวใหญ่ใช้ยึดกับเคส ซึ่งสามารถถอดน็อตตัวนี้ได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย คือ ถ้าขัดแค่พอแน่น คนมีเล็บนิดหน่อยก็ขันได้เลย แต่ถ้าไม่ไหว หาเหรียญบาทซักเหรียญมาช่วยขันได้

แกะฝาปิดไม่ยาก แค่ต้องรู้เหลี่ยมรู้มุมนิดหน่อย มองดีๆ เราจะเห็นรอยประกบของฝาครอบตัวเครื่อง เราแค่ดันนิดหน่อย ฝาครอบก็จะเลื่อนขึ้นมา แล้วจากนั้น เราก็แค่เลื่อนฝาครอบออกมาได้เลย ด้านในเราจะเห็นถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ 2 ถาด ถอดจากด้านบน

ที่ผมชอบคือ ดีไซน์ใหม่เดี๋ยวนี้ เขาทำเป็นแบบ Tooless แล้ว คือ ไม่ต้องใช้เครื่องมือในการติดตั้งฮาร์ดดิสก์เลยครับ บอกตรงๆ ดีไซน์แบบนี้ นอกจากจะสะดวกต่อพวกไอทีแล้ว ผู้ใช้งานตามบ้านที่อาจจะไม่ได้มีทักษะช่างขนาดนั้นก็สะดวกอะ (ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะมีไขควงไว้เตรียมพร้อมขนาดนั้น)
QNAP เขาจับมือเป็นพันธมิตรกับ Seagate มายาวนาน และหากเราติดตั้งฮาร์ดดิสก์สำหรับ NAS ของ Seagate คือ IronWolf ก็จะได้ฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย ฉะนั้น ในการรีวิวของผม ผมจึงใช้ฮาร์ดดิสก์ Seagate ที่ทาง QNAP เตรียมไว้ให้นะครับ ซึ่งเดี๋ยวจะพูดถึงในภายหลังนะ
ติดตั้ง QNAP TS-230 เตรียมใช้งาน
อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้น การติดตั้ง QNAP NAS ได้ไม่ยาก ถ้าเข้าใจขั้นตอนแล้ว ไม่ต้องพึ่งพา Quick Installation Guide ที่ให้มาเลย ยิ่งถ้าเป็นรุ่นสำหรับใช้ตามบ้าน ซึ่งไม่ได้มีการวางระบบเน็ตเวิร์กซับซ้อนอะไร หลักๆ มันแค่ เสียบเข้ากับ LAN ในบ้าน ซึ่งตัว Router ปกติก็จะเปิด DHCP เอาไว้อยู่แล้ว มันก็จะทำหน้าที่จ่าย IP address มาให้โดยอัตโนมัติ
จากนั้น เราก็แค่หาว่า QNAP NAS ของเราได้ IP address อะไร ซึ่งวิธีง่ายที่สุดคือ ดาวน์โหลดโปรแกรม Qfinder มาติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันรองรับทั้ง Windows, macOS, Ubuntu Linux และ Chrome extension แล้วใช้โปรแกรมนี้สแกนหา QNAP NAS ได้เลย หรือจะดาวน์โหลดโปรแกรม Qfile (iOS/Android) มา แล้วตอนที่จะเพิ่ม NAS เข้าไปในแอป มันจะสแกน QNAP NAS ที่เรามีทั้งหมด แล้วบอกด้วยว่า IP address อะไร

จากนั้นก็แค่เปิดเบราวเซอร์แล้วใส่ IP address นั้นเข้าไปในช่อง URL พอรันขึ้นมา มันก็จะถามว่าจะดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ตัวใหม่ล่าสุดไหม ซึ่งเราควรจะดาวน์โหลดมาติดตั้ง (แต่ถ้า QNAP NAS มันมีเฟิร์มแวร์ล่าสุดติดตั้งอยู่แล้ว มันจะข้ามขั้นตอนนี้ให้โดยอัตโนมัติเอง ถ้าเราเลือกว่าจะดาวน์โหลดมาติดตั้ง)
จากนั้น ก็เริ่มใช้ Smart Installation Guide ในการตั้งค่าพื้นฐาน เช่น เวลาของตัวเครื่อง ชื่อเครื่อง รหัสผ่านของแอดมิน IP address แล้วก็เลือกว่าจะรองรับอุปกรณ์ที่รันระบบปฏิบัติการอะไรบ้าง (Windows/macOS/Linux) แค่นี้เลย (อ่านวิธีการติดตั้ง QNAP NAS ได้ที่ QNAP NAS 101)
พอเสร็จสิ้นกระบวนการทุกอย่างแล้ว มันก็จะเด้งมาที่หน้าล็อกอินเข้าสู่ QTS ซึ่งเป็นหน้าจอบริหารจัดการ QNAP NAS ผ่านนเบราวเซอร์ ซึ่งเราก็แค่เข้าไปสร้าง Storage pool และ Volume (อ่านวิธีการได้ที่ QNAP NAS 101)

สำหรับมือใหม่ ผมจะแนะนำให้อ่าน QNAP NAS 101 ของผมก่อน หรือไม่งั้น อ่านหน้าจอ Welcome เพื่อทำความเข้าใจก่อนก็ได้ และเื่อทำการสร้าง Storage pool กับ Volume แล้ว ก็พร้อมใช้งานจริงๆ ซะที
พูดถึงเรื่องการใช้งาน QNAP TS-230
ตัว QNAP TS-230 นี่ใช้หน่วยประมวลผลเป็น ARM 64-bit RealTek RTD1296 Quad-core 1.4GHz มาพร้อมกับหน่วยความจำ 2GB แบบ On-board ฉะนั้นก็จะไม่สามารถอัพเกรดอะไรเพิ่มเติมได้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผมมองว่าเจ้านี่เหมาะกับผู้ใช้งานตามบ้านทั่วไปมากกว่า เพราะหากเราต้องการขยับขยายเรื่องการใช้งานเพิ่ม ลงแอปเพื่อให้บริการต่างๆ เพิ่ม มันอัพเกรดหน่วยความจำไม่ได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าหน่วยประมวลผลแบบ ARM 64-bit นี้จะยังไม่แรงเท่ากับพวกหน่วยประมวลผลของ Intel แต่มันก็มีประสิทธิภาพที่มากพอสำหรับการตอบโจทย์ผู้ใช้งานตามบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความบันเทิง เจ้านี่ก็สามารถถอดรหัสหนังแบบ 4K ได้ หรือถ้าใครจะเอาไว้เก็บภาพถ่ายต่างๆ เจ้านี่ก็ยังแรงพอสำหรับรัน AI ของ QuMagie หรือบางคนมีงานอดิเรกเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ เจ้านี่ก็ยังพอจะทำ Virtualization ในระดับที่รันพวก Linux container ได้ด้วย เรียกว่า จิ๋วแต่ก็ยังแจ๋ว อยู่นะ

เช่นเดียวกับ QNAP NAS รุ่นอื่นๆ เราสามารถดาวน์โหลดแอปมาติดตั้งเพิ่ม เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการต่างๆ ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลและทรัพยากร ทำให้มันไม่เหมาะกับการรันหลายๆ บริการพร้อมๆ กัน และไม่พร้อมจะให้บริการผู้ใช้งานจำนวนมากๆ พร้อมๆ กัน
ในมุมของการใช้งาน เลยขอแนะนำว่าให้กลับมาดูก่อนว่าเราใช้งานเรื่องแบบนี้รึเปล่า แล้วใช้บ่อยแค่ไหน ใช้นานแค่ไหน มีคนใช้พร้อมๆ กันมากแค่ไหน เราจะเปิดใช้บริการได้กี่มากน้อย ก็อยู่ที่ตรงนั้นแหละ
- ทำ Home media server (แนะนำให้ใช้ Plex) โดยให้ตัว QNAP TS-230 เป็นตัวถอดรหัสวิดีโอเอง ซึ่งอันนี้จะเหมาะสำหรับกรณีที่ใช้งานพร้อมๆ กันไม่กี่อุปกรณ์ (ขึ้นอยู่กับว่าถอดรหัสวิดีโอความละเอียดแค่ไหนด้วย)
- ทำเป็น DLNA server เอาไว้เก็บพวกไฟล์หนัง แชร์ให้พวกอุปกรณ์จำพวกทีวีที่รองรับเทคโนโลยีนี้ (มีหลายยี่ห้อที่รองรับเทคโนโลยีนี้)
- ทำเป็น File server หรือ Personal cloud ให้คนในบ้านใช้ เอาไว้อัพโหลดไฟล์ต่างๆ รวมถึงพวกมัลติมีเดียต่างๆ (รูปภาพ วิดีโอ) จะได้ไม่ต้องไปสมัครบริการพวก Cloud storage หรือจะเอาไว้เก็บสำรองข้อมูลที่อยู่ใน External HDD ได้แบบง่ายๆ ด้วยการเสียบกับพอร์ต USB 3.2 Gen 1 แล้วกดปุ่ม Quick copy ที่ด้านหน้า จบง่ายๆ เลย
- ทำเป็น File server เอาไว้โหลดบิตปิดคอมพิวเตอร์ ผ่านแอปชื่อ Download Station ของ QNAP (แต่มีจำกัดกับเว็บบิตบางแห่ง)
- ทำเป็น Container server เพื่อใช้รันพวก Docker สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงพวก IoT
- ใครใช้เครื่อง Mac, MacBook เอา QNAP TS-230 มาทำเป็น Time machine ก็ได้
- บ้านใครมีกล้องวงจรปิด เอา QNAP TS-230 มาทำเป็น NVR (Network Video Recorder) เพื่อบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดก็ได้ (ต้องดูความเข้ากันได้ขชองยี่ห้อและรุ่นของกล้องวงจรปิดด้วยนะ)
ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานว่ามากน้อยแค่ไหน QNAP TS-230 ก็อาจจะให้บริการได้แค่ 1-2 อย่าง หรืออาจจะให้บริการได้หมดทุกอย่างที่ขวางหน้าก็ได้

ส่วนในเรื่องของแบนด์วิธจาก Gigabit LAN ผมมองว่ามันก็มากเพียงพอสำหรับการใช้งาน ในกรณีของการใช้งานภายในบ้านทั่วๆ ไป ที่มีคนในบ้านแบบ 1-10 คนได้สบายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกิดว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่เชื่อมต่อด้วย WiFi กันหมดอะนะ
สิ่งที่ผมเสียดายคือ เจ้านี่ไม่ได้มีพอร์ต HDMI เอาไว้ต่อกับจอแสดงผลภายนอก ซึ่งถ้ามีมันจะดีมาก เพราะจะได้เอาไปต่อกับทีวีโดยตรงเลย เพราะตัวมันเองก็มีพอร์ต USB 2.0 ที่เอาไว้ต่อกับชุดคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สายไว้พร้อมแล้ว
NAS แบบ 2-bay เหมาะสำหรับการใช้งานตามบ้านแล้ว เพราะไม่ต้องคิดเยอะ และไม่ต้องใช้งบเยอะมาก ถ้าต้องการความจุเยอะๆ แต่ไม่ซีเรียสเรื่องการสำรองข้อมูล ก็ใส่ฮาร์ดดิสก์เข้าไปสองลูก ทำ JBOD (Just a Bunch Of Disks) หรือไม่ก็ RAID0 ไปเลย แต่ถ้าอยากได้แบบป้องกันข้อมูลสูญหายกรณีที่ฮาร์ดดิสก์พัง ก็ทำ RAID1 ก็ได้ แค่ใส่ฮาร์ดดิสก์ให้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย (อันนี้ก็เพิ่มงบไปอีกพอสมควร แต่อนาคตฮาร์ดดิสก์ราคาก็จะลงไปเรื่อยๆ) การทำ RAID1 อาจจะดูแพง แต่ถ้ามองในแง่ของการอัพเกรด มันจะไม่แพงเท่ากับกรณีใช้ 3-bay ขึ้นไปแล้วทำ RAID5 นะ เพราะแบบนั้นเวลาจะอัพเกรดทีนึง ต้องเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ทีเดียว 3 ลูกขึ้นไปเลย

และที่เกริ่นค้างไว้ในตอนแรก ก็คือ เรื่องของฮาร์ดดิสก์ IronWolf ของ Seagate ครับ คือ เขามีการร่วมมือกับ QNAP ในการเพิ่มฟังก์ชัน IronWolf Health Management เข้าไปด้วย ฉะนั้น ผู้ใช้งานก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของฮาร์ดดิสก์ได้มากกว่าที่เราเห็นแค่ข้อมูลที่ได้จาก S.M.A.R.T. และตัวฮาร์ดดิสก์ของ Seagate IronWolf ก็มาพร้อมกับการรับประกันการกู้ข้อมูลด้วย และเราจะสามารถดูการรับประกันได้ว่าเหลืออยู่กี่ปีกี่วัน จากหน้าจอ Storage & Snapshots ของ QNAP NAS เลย
บทสรุปการรีวิว QNAP TS-230
สำหรับคนที่ไม่เคยซื้อ NAS ใช้มาก่อน อาจจะรู้สึกว่าแบบ โห 7,xxx บาท แถมยังไม่รวมฮาร์ดดิสก์อีก ทำไมแพงจัง ผมต้องขอตอบว่า เพราะคุณไม่ได้ซื้อแค่กล่องใส่ฮาร์ดดิสก์เฉยๆ นะ แต่คุณกำลังซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เล็กๆ เครื่องนึง ที่สามารถใส่ฮาร์ดดิสก์ได้หลายลูก เชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย และให้บริการต่างๆ ได้ เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนึง แต่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานต่อเนื่องแบบ 24/7 มากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป
QNAP TS-230 นี่ ประสิทธิภาพดีพอ ราคาพอเอื้อมจับได้ สำหรับผู้เริ่มใช้งานใหม่ๆ ก็ใส่ไปสิครับ 2TB 2 ลูก ก่อน น่าจะเพียงพอสำหรับผู้ใช้งาน 2-4 คน หรือถ้าคิดว่าจะเก็บข้อมูลเยอะๆ ใส่ไป 4TB 2 ลูกก็ได้ ค่าเสียหายยังไม่หนักมาก