นับตั้งแต่เมื่อต้นปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ ผู้คนเริ่มรู้จักกับสมาร์ทโฟนแบบจอพับได้กันมากขึ้น ถ้าให้นับตอนนี้ ก็มี Royale Flexpai, Samsung Galaxy Fold, Samsung Galaxy Z Flip, Huawei Mate X, Xiaomi Mi Mix Alpha และ Motorola Razr ที่ทำมาแบบหน้าจอพับได้จริงๆ กับ ZTE Axon M ที่ทำออกมาแบบสมาร์ทโฟนสองหน้าจอ สามารถพับและกางออกมาใช้งานได้ และ LG G8X ที่ทำเคสหน้าจอแยก ซึ่งพอใส่แล้ว ก็จะเหมือนได้ใช้สมาร์ทโฟนสองหน้าจอ … เรื่องรูปแบบการใช้งานของสมาร์ทโฟนสองหน้าจอนี่ ผมว่ายังเป็นโจทย์ใหม่ที่ค่ายผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องตีให้แตกนะ
ราคา … อาจเป็นโจทย์ หรืออาจจะไม่
ถ้าไม่นับพวกสมาร์ทโฟนแบบสองจอ พับได้ อย่าง ZTE Axon M หรือ LG G8X ที่ใส่เคสหน้าจอเข้าไป ซึ่งราคาไม่แพง ผมสอย ZTE Axon M มาจาก Aliexpress ในราคาราวๆ 13,xxx บาท (ตอนนี้หาราคานี้ไม่มีแล้วนะ) ส่วนเคสหน้าจอของ LG นั่นราคา $199 หรือพูดง่ายๆ ทำให้ราคาสมาร์ทโฟนแพงขึ้นอีกราวๆ 6,000-6,600 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงิน) แล้ว สมาร์ทโฟนจอพับได้ส่วนใหญ่ ราคาเฉียดครึ่งแสนขึ้นไปทั้งนั้น

- Samsung Galaxy Fold เปิดตัวที่ 69,990 บาท (ตอนนี้หามือสอง ประกันศูนย์ สภาพ 95% ได้แถวๆ ราคา 49,990 บาท)
- Samsung Galaxy Z Flip เปิดตัวที่ 44,900 บาท (เอามาประเดิมขายล็อตแรก 200 เครื่อง)
- Motorola Razr เปิดตัวที่ราคา $1,500 หรือราวๆ 45,000 – 49500 บาท
- Huawei Mate X 2,299 ยูโร หรือราวๆ 78,000 – 80,000 บาท
- Xiaomi Mi Mix Alpha ตั้งราคาค่าตัวไว้ 19,999 หยวน หรือเฉียดๆ หนึ่งแสนบาท!!!
สำหรับคนทั่วไป เจอราคาระดับนี้เข้าไป (โดยเฉพาะพวก Galaxy Fold, Mate X หรือ Mi Mix Alpha) นี่ถอยกรูดแน่นอน ส่วนพวกที่กระเป๋าหนักหน่อย และพวกบล็อกเกอร์สายไอทีที่สามารถนำเจ้าพวกนี้ไปต่อยอดหาเงินได้ ก็คงจะไม่เบือนหน้าหนีเท่าไหร่
ของใหม่ ว้าวๆ มันก็ราคาแพงแบบนี้แหละครับ อันนี้ต้องทำใจ ฉะนั้นถ้าเกิดว่ากะจะให้มันติดตลาด คนใช้กันเยอะๆ โจทย์ก็คือทำยังไงให้ราคามันลงมาในระดับที่จับต้องได้ อย่าง Samsung Galaxy Z Flip นี่ถือว่าราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ดีไซน์แบบเดียวกันอย่าง Motorola Razr เพราะให้สเปกที่ดูดีเป็นเรือธงมาก
แต่ถ้าผู้ผลิตเขามองว่า เจ้านี่จะเป็น โคตรเรือธง ที่เอาไว้เจาะตลาดบนสุดๆ (แบบพวก 1% ของผู้ใช้งาน) ที่ต้องการความไม่เหมือนใคร นี่ก็ยังไม่ใช่โจทย์ที่เขาจะมาแก้อะไรกันตอนนี้ ราคามันก็คงจะยังอยู่แถวๆ นี้ไปพลางๆ ก่อน
จุดที่ขยับเขยื้อนได้คือจุดอ่อน
ในเชิงเครื่องกล จุดที่ขยับเขยื้อนได้คือจุดอ่อนของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กมันเสียหายง่าย เพราะมันต้องหมุนจานแม่เหล็กให้หัวเข็มอ่าน ถ้าเกิดสั่นสะเทือนซักหน่อย หัวเข็มมันดันครูดไปกับจานแม่เหล็ก ฮาร์ดดิสก์มันก็เสียหาย
ฉันใดก็ฉันนั้น การเพิ่มบานพับเข้ามาในสมาร์ทโฟน มันก็คือการเพิ่มจุดอ่อน จุดเปราะบาง เข้ามาในสมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นในกรณีของ Samsung Galaxy Fold ที่ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นรอยย่นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในตอนที่หน้าจอแสดงผลเป็นสีดำ

ภาพโดย Android Central
นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่า Samsung Galaxy Fold เจอปัญหาเรื่องความเสียหายของหน้าจอที่เกิดขึ้น หลังพวกบล็อกเกอร์ และผู้สื่อข่าวด้านไอทีในต่างประเทศ ที่ได้เครื่องไปลองใช้ แล้วมันเสียภายใน 1 วัน ไม่ว่าจะอันเนื่องมาจากปัญหาของตัวหน้าจอเอง หรือการที่ไม่เข้าใจวิธีการใช้งาน แล้วไปพยายามลอกฟิล์มออก ทำให้ Samsung ต้องระงับการวางจำหน่าย และกลับไปดำเนินการแก้ไขโดยด่วน จนกระทั่งเพิ่งจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้อีกครั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ส่วน Huawei Mate X ที่ว่ากันว่าน่าจะวางจำหน่ายไม่ช้าไม่เร็วไปกว่า Samsung Galaxy Fold ก็เลยเลื่อนมาขายกันปลายปี ในราคา 16,999 หยวน (ราวๆ 70,000-73,000 บาท) แทน โดยจำหน่ายเฉพาะแค่ในประเทศจีน แต่ก็มียอดขายที่ดีทีเดียว เพราะเขาว่าขายได้เดือนนึงเป็นแสนเครื่อง!!!
ถ้ายึดเอาข้อจำกัดที่เราได้พบกันใน Samsung Galaxy Fold มาเป็นพื้นฐาน พวกสมาร์ทโฟนจอพับได้ทั้งหลายก็จะมีจุดอ่อนเรื่องหน้าจอเป็นรอย และหนักกว่าคือ มันหาวิธีป้องกันยากมาก ด้วยความที่หน้าจอมันพับได้นี่แหละ และ Samsung เองก็ออกตัวเลยว่า ไม่ควรติดฟิล์มกันรอยเองที่หน้าจอพับ (แต่ Samsung มีการติดฟิล์มกันรอยมาให้แล้วนะ ตั้งแต่กระบวนการผลิต) และแม้จะเปลี่ยนมาใช้หน้าจอกระจกแบบ Galaxy Z Flip แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่ากระจกจะปลอดรอยใดๆ (ใครใช้สมาร์ทโฟนมานานจะรู้ดี) ในทางกลับกัน การจะติดฟิล์มกันรอยให้กับ Galaxy Z Flip เฉพาะส่วนที่เป็นกระจก ผมว่าจะยิ่งทำให้สัมผัสในการใช้งานแปลกๆ ไปอีก

ข่าวดีคือ สำหรับ Samsung Galaxy Fold หรือ Galaxy Z Flip แล้ว โอกาสที่หน้าจอเป็นรอยมันจะน้อยหน่อย เพราะจอพับมันถูกพับปิดไว้ข้างใน แต่ข่าวร้ายคือ นั่นทำให้หน้าจอแสดงผลด้านนอก มันมีขนาดเล็กมาก ของ Galaxy Z Flip นี่มีไว้แสดงข้อมูลพวก Notification เลย ส่วน Samsung Galaxy Fold นี่ หน้าจอแสดงผลด้านนอกแค่ 4.6 นิ้วเอง
และไม่ว่าจะยี่ห้อไหน รุ่นไหนก็ตาม ถ้ามันตกหล่นขึ้นมา พวกบานพับพวกนี้แหละ ที่จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของตัวเครื่อง และด้วยความที่มันพับได้ และบางรุ่นพอพับแล้วมันก็หนากว่าสมาร์ทโฟนแบบปกติอีก พวกเคสก็ต้องพยายามดีไซน์ให้บางเข้าไว้ และต้องมีการออกแบบเผื่อให้พับได้อีก มันก็ไม่น่าจะป้องกันความเสียหายจากการตกกระแทกได้ดีเท่าไหร่ … สรุปคือ ถ้าจะใช้สมาร์ทโฟนจอพับแบบนี้ ให้ระวังตัวให้ดี อย่าทำตกโดยเด็ดขาดเป็นดี
การใช้ประโยชน์จากหน้าจอพับของซอฟต์แวร์
จากที่เห็นดีไซน์ในปัจจุบัน ตอนนี้สมาร์ทโฟนหน้าจอพับมันจะแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ พับใช้ตามปกติแต่กางออกมาเพื่อเพิ่มพื้นที่การแสดงผล (Samsung Galaxy Fold, Huawei Mate X, Xiaomi Mi Mix Alpha) กับ กางใช้ตามปกติแต่พับเพื่อลดขนาดเครื่องให้เก็บได้สะดวก (Motorola Razr, Samsung Galaxy Z Flip) ดังนั้นการเลือกซื้อหามาใช้ (ถ้ามีตังค์พอ) ก็พิจารณาตามนี้ได้เลย

ด้วยความที่เป็นระบบปฏิบัติการเปิดแบบ Android ทำให้ปกติแล้วผู้ผลิตสมาร์ทโฟนก็จะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวมาครอบ เพื่อให้ User Interface รองรับการใช้ประโยชน์จากหน้าจอพับ เช่น ของ Samsung Galaxy Fold นี่ ถ้ากางหน้าจอออกมาแล้ว ก็จะสามารถเปิดแอปพร้อมๆ กันได้ 3 แอปสบายๆ และการใช้งานต่อเนื่องจากหน้าจอเล็กไปเป็นหน้าจอใหญ่ ก็ไหลลื่น ไม่มีสะดวก (ของ Samsung Galaxy Fold คือ มันต้องย้ายจากเปิดบนหน้าจอเล็กด้านนอก มาเป็นหน้าจอใหญ่ด้านใน)
โดยส่วนตัว ระบบปฏิบัติการ Android มันรองรับการที่อยู่ๆ หน้าจอมันก็ขยายเพิ่มขึ้นอยู่แล้วนะครับ ดูอย่าง ZTE Axon M ของผมก็ได้ มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มี User Interface รองรับการใช้งานแบบกางหน้าจอซักเท่าไหร่หรอก เท่าที่ผมลองใช้ดู แต่ตัวระบบปฏิบัติการ Android มันก็สามารถขยายและย่อขนาดการแสดงผลของแอป ให้รองรับกับหน้าจอแสดงผลที่เปลี่ยนไป ความละเอียดของหน้าจอที่เพิ่มขึ้นมาได้อย่างดี
เพราะเรื่องนี้ Google เขามีการสื่อสารไปถึงตัวผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อยู่แล้ว เรื่องการรองรับหน้าจอแบบพับได้ของตัวระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งแอปที่จะรองรับหน้าจอแบบนี้ ต้องคำนึงถึงสามเรื่อง คือ
- Screen continuity คือ การที่แอปเปิดบนหน้าจอนึง ไปเปิดต่อที่อีกหน้าจอนึง (พวกหน้าจอพับด้านในของ Samsung Galaxy Fold)
- Multi-resume ซึ่งเพิ่มมาในระบบปฏิบัติการ Android 9 (Pie) คือ โดยปกติแล้ว หากเปิดแอปไว้หลายๆ ตัวบนหน้าจอแสดงผลใหญ่ๆ มันจะมีปัญหาว่า แอปไหนที่ไม่ได้เป็นที่โฟกัส มันจะเข้าสู่ OnPause คือ หยุดการทำงานชั่วคราว (ดูรูปด้านซ้ายที่เป็น Current behavior จะเห็นว่าแอปสองตัวที่เป็นจอเล็กๆ ด้านขวามันเป็น Paused) แต่ใน Android 9 ที่รองรับ Multi-resume มันจะทำงานหมดทุกแอป

- Multi-display ซึ่งรองรับกันมาตั้งแต่ Android 8 เป็นต้นมา ส่งผลให้ สมาร์ทโฟนจำพวก ZTE Axon M หรือ LG G8X สามารถมีการแสดงผลสองหน้าจอได้ ทำงานได้คล้ายๆ กับพวกสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้นั่นเอง
ในเชิงตัวระบบปฏิบัติการ และ User Interface ที่มาจากผู้ผลิตแล้ว แอปพวกนี้คงได้ใช้ประโยชน์จากหน้าจอพับได้ค่อนข้างดี แต่ที่น่าเป็นห่วงก็ยังคงเป็นตัวแอปอื่นๆ (โดยเฉพาะแอปที่ไม่ได้มีคนนิยมใช้มากเท่าไหร่) และที่สำคัญที่สุดคือ จากที่ผมใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android มานาน หลังๆ ผมพบว่าผู้พัฒนาแอปไม่ค่อยใส่ใจที่จะทำแอปให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่การแสดงผลที่เพิ่มขึ้นของแท็บเล็ตซักเท่าไหร่แล้วด้วย มันมองแท็บเล็ต ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เป็นเหมือนหน้าจอสมาร์ทโฟนแนวตั้งขนาดใหญ่ซะมากกว่า
ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกับระบบปฏิบัติการ Android หรอกนะครับ หลายๆ แอปบนระบบปฏิบัติการ iOS ก็ถูกออกแบบมาให้ใช้ในแบบแนวตั้งซะเป็นส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน มันน่าจะเป็นปัญหาจากกที่สมาร์ทโฟนมีหน้าจอใหญ่ขึ้น แล้วคนก็เลยใช้แท็บเล็ตกันน้อยลง แอปส่วนใหญ่มีเป้าหมายอยู่ที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมากกว่าแท็บเล็ต และผู้ใช้งานแท็บเล็ตส่วนใหญ่ก็ยังโอเคกับการใช้งานแบบแนวตั้ง เหมือนตอนใช้สมาร์ทโฟน ไม่ได้อยากตะแคงมันไปมา ยกเว้นตอนจะดูวิดีโอละมั้ง
ก็หวังว่าพวกสมาร์ทโฟนแบบจอพับได้ แบบที่กางแล้วหน้าจอใหญ่ขึ้น จะมาทำให้นักพัฒนาแอปตื่นตัวในการทำแอปให้รองรับโหมดแท็บเล็ตเพิ่ม เพราะตอนที่กางจอออกมา มันจะมีส่วนส่วนการแสดงผลคล้ายๆ กับ แท็บเล็ตที่แสดงผลในแบบแนวนอน
รูปแบบการใช้งานที่บางทีก็ยังไม่สะดวกเท่าไหร่
อันนี้ผมอาจจะคิดไปเอง แต่บอกตรงๆ ว่าสำหรับตัวผมแล้ว ผมว่าสมาร์ทโฟนมันอยู่กับเรามานานมากไปหน่อย คือเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว (ลองนึกว่า iPhone เปิดตัวครั้งแรกปี ค.ศ. 2007 แล้วตอนนี้ปี ค.ศ. 2020 แล้ว) คนเราเริ่มเคยตัวกับรูปแบบดีไซน์ของสมาร์ทโฟน ที่เป็นเครื่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า หยิบขึ้นมาเปิดจอ พร้อมใช้เลย แต่พอเพิ่มการพับเข้าไป ความทันอกทันใจมันก็ลดลงไปอีกนิดนึง

จากที่ผมลองใช้ ZTE Axon M มา ผมบอกได้เลยว่า ผมชอบนะ เวลาที่จะท่องเว็บ อ่านการ์ตูนออนไลน์ แล้วกางหน้าจอให้มันใหญ่ขึ้นมาเพื่อจะอ่านได้สะดวกๆ มันดีงามมาก แต่ถ้าถามผมว่าผมใช้งานมันแบบกางหน้าจอออกบ่อยแค่ไหน ผมคงต้องตอบว่า ราวๆ 90% ของการใช้งานของผม เป็นการใช้งานแบบไม่ได้กางหน้าจอออกมา แค่ 10% เวลาที่นั่งอยู่นิ่งๆ หรือนอนอยู่บนเตียง ที่จะกางมันออก เพื่อให้ได้อ่านหนังสือ ท่องเว็บ หรืออ่านการ์ตูนออนไลน์อย่างเต็มตา
ในทางกลับกัน พวกที่พับหน้าจอลง เพื่อให้ได้เก็บสะดวกขึ้น ยังอาจจะเป็นแนวทางที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า โดยเฉพาะกับสุภาพสตรี ที่ไม่อยากจะพกสมาร์ทโฟนขนาดเขื่อง มันอาจจะไม่ทันใจนิดหน่อย ก็อีกตอนที่ต้องกางหน้าจอออกมาก่อน ถึงจะใช้งานได้เต็มที่ แต่มันก็จะไม่ต่างอะไรมากกับมือถือแบบฝาพับในสมัยก่อน
แต่สุดท้าย ประโยชน์ที่ได้จากสมาร์ทโฟนแบบจอพับ ไม่ว่าจะกางออกให้จอใหญ่ขึ้น หรือ พับแล้วตัวเครื่องเล็กลง โดยส่วนตัวผมก็ยังไม่เห็นว่ามันคุ้มค่ากับราคาค่าตัวที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมาซักเท่าไหร่ แม้ Samsung Galaxy Z Flip จะมีคนมองว่าถูกเกือบที่สุดแล้วในบรรดาคู่แข่ง มันก็ยังแพงมากกว่าพวกรุ่นเรือธงประมาณ 60% อยู่ดี
สุดท้ายแล้ว ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มันคือราคาความ ว้าว และความเป็นเอกลักษณ์ที่เราจะได้มา เพราะสมาร์ทโฟนดีไซน์แบบนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายกันนัก (อารมณ์เหมือน iPhone และสมาร์ทโฟนเรือธงต่างๆ ในสมัยก่อน)
จิ๊กซอว์ยังประกอบไม่ลงตัว
สุดท้ายนี้ ต้องบอกว่าสมาร์ทโฟนจอพับได้ทั้งหลายแหล่ที่ทำกันออกมานั้น มันเหมือนกับการลองผิดลองถูกของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอยู่เลยครับ เราได้เห็นอะไรแบบนี้กันมาบ่อยแล้ว โดยเฉพาะกับสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ถ้าจะให้ลองยกตัวอย่างดู ก็คงประมาณนี้
- HTC EVO 3D, LG Optimus 3D, LG Optimus 3D MAX เป็นสมาร์ทโฟนที่มีกล้องดิจิทัลถ่ายภาพและวิดีโอแบบ 3D ได้ มีหน้าจอแสดงผลแบบ 3D แบบที่ไม่ต้องใช้แว่น แต่สุดท้าย ก็มีแค่สามรุ่นนี้ในโลก
- OPPO N3 สมาร์ทโฟนที่กล้องหมุนได้ กล้องหน้ากับกล้องหลังเป็นกล้องเดียวกัน เซอร์โวมอเตอร์ ช่วยให้สามารถถ่ายภาพแบบพาโนรามาเนียนๆ ได้สวยมาก แต่ก็ไม่เห็นรุ่นไหนทำแบบนั้นอีกเลย
- Samsung Galaxy Camera, Samsung Galaxy S4 Zoom, Samsung Galaxy K Zoom สมาร์ทโฟนที่เน้นเรื่องกล้องเป็นพิเศษ ใช้เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่ ดีไซน์เหมือนกล้องคอมแพ็กที่สามารถโทรได้มากกว่า แต่สุดท้าย ความเทอะทะ สเปกที่ต่ำทำให้กล้องทำงานช้า และการพัฒนาของ Computational photography ทำให้ดีไซน์แบบนี้ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
- ZTE Axon M สมาร์ทโฟนแนวคิด สองหน้าจอ พับได้ ออกมารุ่นเดียวตอนปลายปี ค.ศ. 2017 แล้วก็เงียบหายไปเลย นี่ต้องมาลุ้นกับแนวคิดเดียวกัน ที่ Microsoft เอามาปัดฝุ่นทำใหม่ ใน Surface Neo อีกที
ใครนึกอะไรออกอีก คอมเม้นต์มาบอกเพิ่มได้นะครับ … แต่ผมแค่จะเตือนๆ ไว้ว่า คนที่ไปซื้อสมาร์ทโฟนจอพับมาใช้ ก็เหมือน Beta tester ที่ไปช่วยผู้ผลิตเขาทดสอบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั่นแหละครับ