ช่วงนี้เกิดอยากได้เครื่องอ่านอีบุ๊กอีกครั้ง หลังจากที่เคยสอย Amazon Kindle Paperwhite มาแล้ว แต่สุดท้ายก็ยกให้น้องชายเอาไปใช้ งวดนี้ลองดูไปดูมารู้สึกว่า อยากลองใช้ Onyx Boox Nova Pro ซึ่งเป็นเครื่องสัญชาติจีน แต่เหมือนจะมีพาร์ทเนอร์เป็นบริษัทในประเทศไทย (Hytexts) ดูบ้าง เพราะเห็นวางขายเยอะพอดู ตัวนี้ราคาแอบแรงกว่า Amazon Kindle อยู่พอสมควรเลย เลยอยากเอามารีวิวให้ได้อ่านกันว่า แล้วมันมีดีกว่าตรงไหน อย่างไร อันไหนยังไม่รุ่งบ้าง
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Onyx Boox Nova Pro ตัวที่ผมรีวิวนี้ ซื้อเอง ใช้เอง รีวิวเอง ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากใครทั้งสิ้นนะครับ ดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ ว่ากันไปตามตรง ถ้าเกิด Hytexts อ่านรีวิวแล้วถูกใจ อยากจะเอื้อเฟื้อรุ่นอื่นๆ ให้ยืมรีวิวอีก ผมก็ยินดี ถ้าคุณโอเคกับการที่จะให้บล็อกเกอร์เถรตรงคนนึงรีวิวแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม
หน้าตาและสเปกของ Onyx Boox Nova Pro
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า Onyx Boox เนี่ย มันมีหลากหลายรุ่นมาก ราคาก็หลากหลายเช่นกัน และสำหรับบางร้านก็อาจจะมีโปรโมชันผ่อน 0% ด้วย สังเกตว่าราคาเริ่มต้นอยู่ที่รุ่น Poke Pro ที่ขนาดหน้าจอเล็กๆ 6 นิ้ว ไปจนถึงแพงสุด 28,990 บาท ราคาระดับพวกแท็บเล็ตแอนดรอยด์ไฮเอนด์อย่าง Samsung Galaxy Tab S6 อย่าง MAX 3 เลย

ออกตัวไว้ก่อนว่า ราคาในรูปด้านบน เป็นราคาพิเศษในงาน Thailand Mobile Expo นะครับ มีของแถมเพียบด้วย แต่หมดโปรไปแล้วล่ะ (ผมก็ซื้อไม่ทัน) ราคาของ Onyx Boox Nova Pro ปกติจะอยู่ที่ 12,990 บาท แต่ตอนนี้ B2S มีโปรโมชันวันวาเลนไทน์ (ซึ่งไม่รู้มันไปเกี่ยวอะไร) ราคาลดลงมาเหลือ 11,990 บาทเหมือนโปร Thailand Mobile Expo แต่ว่าไม่มีแถมของ (เคส หูฟังบลูทูธ และอะแดปเตอร์)

ผมเลือกรุ่น Nova Pro เพราะหน้าจอกำลังดี 7.8 นิ้ว ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกินเหตุ ราคาไม่แรงจนทำให้รู้สึกว่าไปซื้อแท็บเล็ตแอนดรอยด์เลยดีกว่าไหมแบบนี้ และฟีเจอร์ก็ยังครบดี คือ มีสไตลัสของ Wacom ไว้ให้ขีดๆ เขียนๆ บนหน้าจอด้วย
สิ่งที่คุณต้องรู้คือ Onyx Boox เป็น e-Book reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่มีการปรับแต่งมาให้มี User Interface เหมาะสำหรับการใช้งานในฐานะ e-Book reader ครับ แม้ว่ามันจะดูแปลกไปจากระบบปฏิบัติการ Android ทั่วไป แต่มันก็ยังคงเป็น Android อยู่ดี รุ่น Nova Pro ตัวนี้ ให้หน่วยประมวลผลแบบ Quad-core 1.6GHz หน่วยความจำ 2GB และมีความจุ 32GB ไม่สามารเพิ่มความจุด้วย MicroSD card ได้

ของที่ให้มาในกล่อง ประกอบไปด้วยตัว Onyx Boox Nova Pro มีสไตลัสของ Wacom มาให้ มีสายชาร์จแบบ USB-C มาให้เส้นนึง แต่ไม่มีอะแดปเตอร์แถมมาให้ (ไรแว้) แล้วก็มีฟิล์มกันรอยมาให้ด้วยครับ

ฟิล์มกันรอยที่แถมมาให้ ต้องมาติดเอง แอบเซ็ง ทำไมผู้ผลิตชอบคิดว่าผู้ใช้งานจะเชี่ยวชาญในการติดฟิล์มกันรอยฟะ และตามคาดเลยครับ ผมติดฟิล์มเสียครับ ฟิล์มกันรอยตรงรุ่นเนี่ย เห็นขายอยู่บน Store อยู่ราวๆ 4-5 ร้อยบาทเลยนะ
รู้จักร้าน iMaximum
แต่ผมไม่กลัวหรอกนะ เรื่องติดฟิล์มกันรอยกับพวกอุปกรณ์ที่ไม่ได้มีฟิล์มกันรอยตรงรุ่นขายกันทั่วไป เพราะที่ร้าน iMaximum ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ เขามีบริการติดฟิล์มกันรอยแบบ Tailor-made ครับ จะยี่ห้อไหน รุ่นไหน เขาก็ตัดให้ได้ตามสั่งเลย ถ้าไม่สะดวกไป ก็รองานพวก Commart หรือ Thailand Mobile Expo ก็ได้ เขาจะไปเปิดบูธในงานพวกนี้อยู่แล้ว
แต่โดยส่วนตัว ไม่ตื่นตระหนกครับ เพราะจากประสบการณ์ใช้งานพวกแท็บเล็ตต่างๆ มา ถ้าเกิดเรามี Cover case หรือเคสที่มีฝาปิดไว้ใส่เวลาพกพาใส่กระเป๋าเป้ โอกาสที่หน้าจอแท็บเล็ตจะเป็นรอยขีดข่วนนี่น้อยมากครับ ไม่ติดฟิล์มก็ไม่เป็นไร ซื้อเคสมาใส่ก็ได้ เคสสำหรับรุ่นนี้ 890 บาทจ้า กดซื้อได้เลย
หน้าจอของ Onyx Boox Nova Pro นี่เป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 7.8 นิ้ว แบบสัมผัส รองรับ Multi-touch ด้วยนะ แต่แค่ 2 จุดพร้อมๆ กันเท่านั้น และไม่ได้ละเอียดเท่ากับพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทั่วๆ ไป แต่อันนี้ก็เข้าใจได้ เพราะว่ามันเป็นเครื่องอ่านอีบุ๊ก และหน้าจอ E-Ink มันไม่ได้มีอัตราการรีเฟรชภาพที่สูงพอที่จะเอาไปใช้งานอื่นๆ แบบที่ต้องรองรับ Multi-touch เยอะๆ อยู่แล้ว
แต่หน้าจอเจ้านี่รองรับการขีดๆ เขียนๆ ด้วยสไตลัส Wacom ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออก ให้นึกถึง Samsung Galaxy Note เลยครับ ฉะนั้น มันสามารถถูกใช้งานในฐานะสมุดจดโน้ตเล่มบางเบา และมีหน้าตาเหมือนกระดาษจริงๆ ได้เลย ถ้าเอาไปติดฟิล์มกันรอยที่มีผิวสัมผัสสากๆ แบบที่ให้ความรู้สึกเหมือนการเขียนบนกระดาษจริงๆ มันคงจะแจ่มมาก (ไว้เดี๋ยวจะเอาไปลองติดที่ iMaximum ดู)
รอบๆ ตัวเครื่องไม่มีอะไรมากไปกว่า ปุ่ม Power ที่อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง ปุ่ม Back ที่อยู่ด้านหน้า ตรงบริเวณปุ่ม Home ของพวกแท็บเล็ต และพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ด้านใต้ของหน้าจอ ซึ่งรุ่นนี้ไม่รองรับ USB OTG ด้วยครับ
ถ้าเรามองว่าเจ้านี่คือแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Android ก็ต้องบอกว่าเป็นแท็บเล็ตที่สเปกต่ำกว่ามาตรฐานราคาอยู่มากครับ 11,990 บาท เพราะแม้กระทั่ง WiFi ก็รองรับแค่ 2.4GHz เท่านั้น หน่วยความจำก็ให้มาแค่ 2GB และความจุ 32GB เท่านั้นเอง นี่ยังไม่นับที่ประสิทธิภาพของตัว Storage อยู่ที่ Read 31MB/s และ Write 28MB/s เท่านั้นด้วยนะ … ซึ่งถามว่าจริงๆ แล้ว มันเพียงพอไหม ในฐานะ e-Book reader ผมก็ต้องบอกว่าเพียงพออยู่ แต่ด้วยสนนราคาค่าตัวของเครื่อง สเปกมันควรดีกว่านี้ หรือไม่งั้น ก็ทำให้ราคาถูกลงมากว่านี้อีกหน่อยก็ได้ เพราะขนาด Wiko View4 Lite ราคา 2,990 บาท ยังให้ Store ที่ความเร็วในการเขียนและอ่าน 179MB/s | 146MB/s เลย
ส่วนเรื่องน้ำหนัก ผมว่าเจ้านี่ก็แอบหนักนิดนึง หากมองว่าคือ e-Book reader เพราะน้ำหนัก 265 กรัม แต่ถ้ามองว่าขนาดมันคือระดับแท็บเล็ตที่หน้าจอใหญ่ประมาณนึง ก็ถือว่าเบาครับ และลองเอามาถือเพื่อใช้อ่านอีบุ๊กแล้ว ก็ยังบอกได้เลยว่า น้ำหนักไม่มาก ถือสบายมือ
ประสบการณ์ในการใช้งาน Onyx Boox Nova Pro
ก่อนอื่นเลย ตัว Onyx Boox Nova Pro นี่มาพร้อมกับ App Store ของมันเอง ซึ่งมีแอปมาให้ประมาณนึงอยู่แล้ว เช่น Amazon Kindle, Meb E-Reader และแน่นอน Hytexts Ereader เพราะเป็นแอปของตัวแทนจำหน่ายในไทยงิ มันสามารถอ่านไฟล์จำพวก epub, mobi หรือ PDF ได้สบายๆ และตัวแอป e-Book reader ของมันเอง ก็อ่านไฟล์พวกนี้ที่ไม่ติด DRM ได้อยู่แล้ว อยากอ่านก็แค่เอาสาย USB-C มาเสียบกะเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วโยนไฟล์เข้าไปได้เลย

ตัว Onyx Boox Nova Pro จะสแกนโฟลเดอร์ที่เรากำหนดไว้ (ค่าเริ่มต้นคือพวก /Boox, /WifiTransfer, /Push) แล้วแสดงรายชื่อของไฟล์หนังสือออกมาได้ หน้าแรกของหนังสือก็จะถูกเอามาใช้เป็นปก เราจะสามารถตั้งค่าของ Library ให้สแกนทั้ง Storage ก็ได้ เผื่อใครสร้างโฟลเดอร์ขึ้นมาเก็บเองอีก (เช่น บางคนอาจจะเอามาไว้อ่านการ์ตูน เป็นต้น)

ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะเอาหนังสืออะไรเข้าไปใส่นะครับ ถ้าเป็นพวก PDF ก็ต้องดูว่าเป็น PDF แบบที่แปลงไฟล์มาจากพวกไฟล์ Word processing หรือว่าสแกนหนังสือมาเป็นรูปภาพ เพราะถ้าเป็นแบบหลังเนี่ย มันก็จะไม่สามารถปรับแต่งเรื่องการแสดงผลตัวอักษรได้ ถ้าเจอที่สแกนมาห่วยๆ ก็อ่านกันยุ่งยากหน่อยล่ะ แต่ยังดีว่าหน้าจอ 7.8 นิ้ว มันก็ใหญ่ประมาณนึงไง ขนาดซักพอๆ กับพวกพ็อกเก็ตบุ๊ก ลองดูตัวอย่างจากไฟล์รายงานประจำปีของธนาคารโลกปี 2562 ที่ผมดาวน์โหลดมาได้

สำหรับพวกไฟล์ PDF ที่สแกนมาเป็นภาพ และสแกนมาไม่ดี ตัวอักษรเล็กไป เราก็ซูมเพื่อขยายแล้วค่อยอ่านได้นะ แต่การควบคุมเพื่อเลื่อนไปตามจุดต่างๆ ของหน้า มันทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ ส่วนนึงเป็นเพราะข้อจำกัดของอัตราการรีเฟรชหน้าจอของ E-Ink นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ตัวซอฟต์แวร์ของ Onyx Boox Nova Pro นี่ทำมาได้ดีครับ มันให้เราเลือกรูปแบบการรีเฟรชหน้าจอแสดงผลได้ 4 โหมด คือ
- Normal Mode โหมดปกติ มันจะรีเฟรชภาพเร็วประมาณนึง ส่งผลให้เราจะยังเห็นเอฟเฟ็กต์ของอนิเมชันอยู่บ้าง ถ้าเราเน้นอ่านเรื่อยๆ นานๆ จะเกิดการรีเฟรชทีนึง อันนี้จะเหมาะ
- Speed Mode ในโหมดนี้ เวลารีเฟรชหน้าจอจะเห็นภาพเงาเบลอๆ นิดหน่อย เหมาะสำหรับเวลาที่จะรีบๆ เปิดอ่านหนังสือ หรือดูภาพเร็วๆ
- A2 Mode ในโหมดนี้ จะมีการรีเฟรชภาพรัวๆ เลย เหมาะกับเวลาจะเลื่อนดูภาพหรือว่าเลื่อนอ่านข้อความในแนวตั้ง หรือแนวนอน
- X Mode โหมดนี้จะก่อให้เกิดความสูญเสียในรายละเอียดของพวกเอฟเฟ็กต์และอนิเมชัน เหมาะสำหรับเวลาเราท่องเว็บไซต์ หรือดูพวกไฟล์วิดีโอ

กลับมาที่เรื่องของโปรแกรมอ่านอีบุ๊กภายในเครื่อง เวลาเราใช้ครั้งแรกมันจะให้เราตั้งค่าได้ ว่าอยากใช้โหมดการสัมผัสหน้าจอแบบไหน มันจะแสดงให้เห็นว่า แตะหน้าจอตรงไหน จะเป็นการพลิกหน้าไปมา หรือตรงไหนที่มันจะไม่สนใจการสัมผัส เราควรเลือกให้เหมาะกับแนววิธีการจับตัว e-Book reader นี้นะครับ

แต่ถ้าใครซื้ออีบุ๊กไว้อ่านเอง ก็เลือกครับ ว่าเป็นลูกค้าเจ้าไหน เพราะด้วยความที่เราสามารถไป Enable Google Play Store ได้ ส่งผลให้เราสามารถติดตั้งแอปสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้หมด เหมือนพวกแท็บเล็ตแอนดรอยด์เลย ใครนิยมอ่านนิยาย อ่านการ์ตูน ก็อาจจะเลือกซื้อของ Hytexts หรือ Meb ส่วนใครที่นิยมอ่านพวกหนังสือภาษาอังกฤษ ก็อาจจะใช้ Amazon Kindle ไป และนี่คือสิ่งที่ทำให้ Onyx Boox Nova Pro ได้เปรียบกว่า Amazon Kindle เพราะมันมีตัวเลือกในส่วนของ e-Book Store มากกว่านั่นเอง

ขนาดและความละเอียดหน้าจอของ Onlyx Boox Nova Pro เล็กไปนิดสำหรับการอ่านการ์ตูนออนไลน์แบบที่จะแสดงเต็มหน้าในหน้าจอเดียว แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรนะผมว่า อีกข้อได้เปรียบนึงของ Onyx Boox Nova Pro คือ ด้วยความที่มันเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เราสามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ด Gboard มาได้ แล้วเดี๋ยวนี้ ไอ้คีย์บอร์ดตัวนี้ มันสามารถใส่ภาษาเข้าไปได้เพียบมาก มันพิมพ์ อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ได้หมดเลย ดีงาม ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ Kindle ทำไม่ได้ และถึงแม้ว่าสามารถทำได้บน Kindle Fire แต่ก็ขั้นตอนยุ่งยากกว่าเยอะ

ที่เหลือ เผื่อใครอยากลงโปรแกรมโน่นนี่นั่นที่พวกระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เขามีให้ใช้ ก็ตามสบายเลยนะครับ แต่โดยส่วนตัว ผมว่ามันไม่ได้เหมาะซักเท่าไหร่ เพราะแอปพวกนี้เขาไม่ได้ออกแบบมาสำหรับหน้าจอ E-Ink อยู่แล้ว นี่ผมลองเล่นทั้งเบราวเซอร์ ทั้ง Twitter, Facebook มันมีให้กระทั่งเช็กอีเมล หรือทำงานเอกสาร Microsoft Office หรือ Google Docs หมดเลยแหละ แต่บอกเลยว่า ถ้าคิดจะทำอะไรแบบนั้น ไปซื้อแท็บเล็ตเหอะนะ
ใครคิดจะเอา Onyx Boox Nova Pro มาดูวิดีโอ คิดผิดคิดใหม่นะครับ จอขาวดำ จะเอามาดูวิดีโอทำไม และการเอา E-Ink มาดูภาพเคลื่อนไหวที่ต้องรีเฟรชภาพบ่อยๆ เนี่ย โคตรเปลืองแบตเตอรี่นะครับ

Onyx Boox Nova Pro มาพร้อมกับไฟบนหน้าจอสำหรับช่วยส่องสว่าง เพื่อให้เราสามารถอ่านตอนกลางคืนได้ครับ คืองี้ E-Ink เนี่ย ไม่มีปัญหาเรื่องการอ่านกลางแสงจ้า พูดง่ายๆ อ่านกลางแดดนี่ไม่มีปัญหาเลย สบายตามาก และหน้าจอมันก็เป็นแบบลดแสงสะท้อนด้วย แต่ E-Ink มันมีปัญหาเวลาอ่านตอนกลางคืนครับ เพราะหน้าจอไม่มี Backlight เลยไม่มีความสว่างเลย ทำให้รุ่นใหม่ๆ เนี่ย เขามีการเพิ่มไฟส่องหน้าจอมาให้ มันจะอยู่ตรงขอบๆ คิดถึงนาฬิกาข้อมือดิจิทัล หลักการเดียวกันเลย

เราสามารถปรับความสว่างได้ตามใจชอบ และจะให้ไฟออกมาเป็นโทนร้อน โทนเย็น ก็เลือกปรับได้อีกเช่นกัน เหมาะกับความชอบของแต่ละคนเลยครับ

อีกลูกเล่นที่น่าสนใจ สำหรับ Onyx Boox Nova Pro หรือรุ่นที่แพงกว่านี้ ก็คือมันมีสไตลัสของ Wacom มาให้ด้วย ซึ่งขนาดของตัวสไตลัสนี่เหมาะมือมากๆ แต่มันไม่มีอะไหล่หัวสไตลัสมาให้เปลี่ยนนะ อยากได้เพิ่มต้องซื้อ และถ้าจะพกไปไหนมาด้วย จะให้เหมาะก็ควรไปซื้อเคสที่ผมพูดถึงด้านบนมาใช้ด้วย มันจะมีที่เหน็บสไตลัสให้

แต่ถ้าไม่ได้พกไปทำยังไง? หายืมสไตลัสของ Samsung Galaxy Note เอาครับ มันเป็นของ Wacom เหมือนกัน ใช้ได้อยู่ นี่ผมไปหยิบของ Samsung Galaxy Note FE มาใช้ ก็เขียนได้เลย ลื่นดีไม่แพ้กัน (ฮา)
อ้อ! โปรแกรมสำหรับจดโน้ตของ Onyx Boox Nova Pro นี่ก็ใช้งานดีอยู่นะเออ ลูกเล่นมีพอสมควร ถ้าต้องการแค่ใช้จดโน้ต ผมว่าไม่ต้องไปลงโปรแกรมอะไรเพิ่มเลย แต่ถ้าเกิดว่าเรามีโปรแกรมโปรดของเราเองอยู่แล้ว (เช่น OneNote หรือ Evernote หรืออะไรก็แล้วแต่) ก็ไปดาวน์โหลดมาจาก Google Play Store เอาแล้วกัน
สิ่งนึงที่ผมรู้สึกขัดใจคือ เจ้านี่ดันไม่มีลำโพงมาให้ และก็ไม่มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. มาให้ซะด้วย การจะฟังหนังสือเสียง ต้องต่อเอาหูฟังไร้สาย หรือลำโพงไร้สาย ผ่าน Bluetooth 4.1 เอานะครับ จริงๆ ผมว่าไม่มีลำโพงไม่เป็นไรหรอก อย่างน้อยให้ช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. มาก็ยังดี แบตเตอรี่ 2,800 mAh ทางตัวแทนจำหน่ายระบุเอาไว้ว่า ใช้อะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟ 1.5A หรือ 2.4A จะดีที่สุด
ในแง่ของการรองรับภาษา ในส่วนของการแสดงผลและการพิมพ์ ไม่มีปัญหาใดๆ ครับ แสดงผลภาษาไทยได้ดี พิมพ์ภาษาไทยก็ได้ (เลือกคีย์บอร์ดที่มีภาษาไทยสิ) แต่เมนูนั้น ไม่มีภาษาไทยครับ เขามีมาให้แค่ จีน (ตัวย่อ/ตัวเต็ม) ญี่ปุ่น อังกฤษ สเปน ดัทช์ รัสเซีย มลายู เช็ก ฝรั่งเศส อิตาลี ฮังการี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส เวียตนาม ฮีบรู อาหรับ พม่า เขมร เกาหลี … คือ แอบงง มีภาษาพม่ากับเขมรด้วย แต่ไม่มีไทย แอบน้อยใจแฮะ (ฮา)
ถ้าเกิดอยากจะพิมพ์สะดวกๆ หา Bluetooth keyboard มาต่อได้ครับ แต่เท่าที่ผมลองใช้ ลองไปหาอันที่มันมีปุ่มรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์หน่อยก็ดี ผมลองกับคีย์บอร์ดพับได้ของ Microsoft เล่นๆ ไปเมื่อกี้ มันกดปุ่มเพื่อเปลี่ยนภาษาของ Virtual keyboard ได้ แต่มันดันไม่เปลี่ยนภาษาของ Physical keyboard ซะงั้น … แต่ถ้าเกิดว่าทำให้มันใช้ได้ละก็ เจ้านี่ก็พอจะเอามาใช้งานเป็นแท็บเล็ต เช็กอีเมลได้ประมาณนึงละนะ
ในส่วนของการออกเสียงนั้น ตัว Pico TTS ที่ติดตั้งมาให้พร้อมกับเครื่อง รองรับภาษาอังกฤษ (สหราชอาณาจักร/สหรัฐอเมริกา), ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, สเปน เท่านั้น แต่ไม่ใช่ปัญหานะ ไปดาวน์โหลด Google Text-to-Speech มาติดตั้งเอง แล้วเลือกภาษาเพิ่มได้อีกมากมายครับ เป็น Android และยังมี Google Play ให้ใช้ด้วย มันก็ดีตรงนี้ไง
บทสรุปการรีวิว Onyx Boox Nova Pro
ผมมองว่าในบรรดาทุกรุ่นที่เขาขาย Onyx Book Nova Pro นี่คือน่าจะคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุดแล้ว คือ มันมีฟีเจอร์ครบ ไฟหน้าจอ สไตลัส ความคมชัดระดับ 300dpi (ถ้ารุ่นใหญ่กว่านี้ ความคมชัดมันจะลดลง) ในราคาหมื่นต้นๆ ที่ยังพอเอื้อมไหว แพงกว่านี้ แม้จะได้สเปกดีขึ้น ผมว่าราคามันแรงเกินไป แล้วทำให้ต้องชั่งใจว่า E-Ink มันคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขนาดนั้นเลยเหรอ
สิ่งที่เราจะได้ หากสอย Onyx Boox Nova Pro ก็คือ e-Book reader ที่เป็นหน้าจอ E-Ink อ่านสบายตา และรองรับการอ่านอีบุ๊กหลากหลายรูปแบบ ไม่ต้องไปติดอยู่กับ e-Book Store แค่เจ้าเดียวแบบ Kindle และในขณะเดียวกัน ก็ใช้งานมันเป็นสมุดจดโน้ตได้สบายๆ และด้วยความที่เป็นระบบปฏิบัติการ Android ถ้าเราไม่สะดวกใจใช้โปรแกรมจดโน้ตของ Onyx Boox Nova Pro (ซึ่งผมว่ามันก็ใช้งานได้ดีนะ) เราก็ไปดาวน์โหลดเพิ่มเองได้ ถ้าคุณคิดว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องการ เจ้า e-Book reader ตัวนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณล่ะ
ถ้าเกิดสนใจอยากสอย แนะนำให้ไปสอยที่ B2S เพราะราคา 11,990 บาทเนาะ หรือไม่งั้น ถ้าอั้นไหว รองานพวก Commart หรือ Thailand Mobile Expo คราวหน้า น่าจะมีโปรโมชันทั้งลดราคา แถมของ และผ่อน 0% อีกต่างหาก แต่ถ้าอดใจไม่ไหว คลิกลิงก์ด้านล่างได้เลย แต่อย่าลืมซื้อเคสล่ะ ของมันต้องมี เชื่อผม
รบกวนสอบถามว่าไฟล์ ebook PDF ที่เราสร้างเอง สามารถ นำไปอ่านบน boox ได้มั้ยครับ แล้วจะทำให้เครื่องค้างหรือเปล่าครับ และต้องเอาไปไว้ที่ โฟลเดอร์ ไหนครับ ใช้ NEO READER3.0 อ่านได้หรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ
PDF สามารถเอาไปอ่านได้ครับ เพราะตัวระบบปฏิบัติการมันคือ Android เราสามารถใช้โปรแกรมอ่าน PDF อ่านได้ปกติ แต่ถ้าไฟล์มันใหญ่มากๆ อาจโหลดนานจนถึงค้าง เพราะตัวสเปกของฮาร์ดแวร์ไม่ได้สูงมาก
ผมสั่งซื้อมาจาก Aliexpress เมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว ก่อนโควิด ได้ส่วนลดนิดหน่อย ราคาตกเป็นเงินไทยราว 9,600 บาท ถือว่าถูกกว่าราคาที่ตั้งของผู้นำเข้าในไทยพอสมควร แต่ก็แลกกับการต้องรอนานหน่อยนึง (เกือบ 2 สัปดาห์) และลืมเรื่องประกันกับบริการหลังการขายไปได้เลย ตอนนั้นค่าขนส่งฟรีด้วย และไม่โดนเก็บภาษีขาเข้าครับ ถือเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ประเทศจีนอยู่ในรายการที่ศุลกากรยกเว้นสินค้าประเภทนี้ (หน้าตามันดูก๊อกแก๊กด้วยมั้ง ศุลกากรเลยคิดว่าราคามันไม่ได้สูงเกินกำหนด)
firmware รุ่นก่อน version 2.1 นี่ช้ากว่านี้เยอะ เลื่อนอ่าน PDF แทบไม่ได้เลย และก็ไม่ได้มีโหมดรีเฟรชหน้าจอแบบ A2 ให้เลือกด้วย มีแค่แบบธรรมดาช้าๆ หรือ speed เร็วที่ภาพเบลอและ ghosting อย่างหนัก พออัพเดตเฟิร์มแวร์มาเรื่อยๆ ก็ดีขึ้น แต่ก็คงหมดหวังที่จะได้อัพเดต Android 9 แล้ว น่าจะอยู่แค่ Android 6 นี่แหละ
สำหรับผมคิดว่าน้ำหนักเครื่องไม่หนักเลยครับ ไฟส่องสว่างของ Onyx Boox series คือดีงามมากเพราะปรับแต่ง warm light กับ cold light ได้อิสระ มี e-book reader ไม่กี่ยี่ห้อที่ทำแบบนี้ได้
ในด้านสเปก เทียบกับ e-book ยี่ห้ออื่น Onyx ถือว่าใส่มาคุ้มราคาที่สุดแล้ว หน้าจอ e-ink ใส่ CPU แรงกว่านี้มาก็ไม่ช่วยให้เร็วขึ้นเท่าไร เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
ข้อเสียของ Nova Pro สำหรับผมหลักๆ คือ โครงสร้างตัวเครื่องที่ดูกรอบแกรบไปหน่อย และ ผิววัสดุฝาหลังที่ติดรอยนิ้วมือง่ายมาก(แถมเช็ดออกยากอีก)
ตอนนี้คือผมรอ e-book reader ที่เป็นจอ color e-ink ครับ ของ Onyx ก็มีออกมาแล้ว แต่เป็นขนาด 6 นิ้วและขายเฉพาะในจีน
Thank You