ความยุ่งยากในการติดตั้งอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายแบบที่ใช้สาย LAN ก็คือ มันต้องวุ่นกับการเดินสาย LAN เสร็จแล้วก็ต้องให้แน่ใจว่าเอาอุปกรณ์นั้นไปติดตั้งในบริเวณที่มีปลั๊กไฟ เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ด้วย แต่โชคดีว่าเทคโนโลยีอย่าง Power over Ethernet หรือ PoE เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกได้เยอะ ทำให้การติดตั้งง่ายขึ้น เพราะสามารถจ่ายไฟผ่านสาย LAN มายังอุปกรณ์ได้เลย บล็อกตอนนี้ก็เลยขอแนะนำสาย LAN สำหรับ PoE ที่มีเทคโนโลยี PowerSafe ของ Reichle & De-Massari หรือ R&M ให้รู้จัก ว่ามันมีดีอะไรยังไง เผื่อมีโอกาสจะต้องใช้ จะได้มีตัวเลือกครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้เขียนเพราะมีเพื่อนในวงการอยากให้ช่วยแนะนำแบรนด์สาย LAN ให้ผู้อ่านได้รู้จักกันหน่อย เพราะก็เป็นที่เข้าใจว่าพวกสาย LAN ที่ขายกันในประเทศไทย เขามีเป็นที่รู้จักกันไม่กี่ยี่ห้อหรอก ซึ่งผมมองว่ามันก็ดีครับ การมีตัวเลือกที่มากขึ้น มันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน ฉะนั้นก็เลยยินดีที่จะเขียนบล็อกแนะนำให้ตามที่ขอ
อย่างไรก็ดี บล็อกตอนนี้ไม่ใช่ Advertorial นะครับ อันนี้เขียนเพราะคนกันเองเขาขอมา ด้วยค่าแรงเป็นข้าวมื้อนึง (ฮา)
หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ เดี๋ยวนี้เขาใช้ Wireless LAN กันหมดแล้ว เราจะอยากเดินสาย LAN ไปทำไม? คำตอบก็คือ ด้วยความต้องการและข้อจำกัดบางอย่าง บางครั้ง (และเผลอๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของผู้ใช้งานระดับองค์กร หรือธุรกิจ) มันก็จำเป็นต้องใช้ LAN แบบมีสาย
นอกจากนี้ อุปกรณ์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น Wireless access point หรือ IP camera มันก็มีหลายรุ่นที่พยายามอำนวยความสะดวกในการติดตั้งใช้งาน ด้วยการรองรับเทคโนโลยี PoE เพื่อที่จะได้เดินสาย LAN มาเส้นเดียว แล้วสามารถเสียบใช้งานได้เลย เพราะสาย LAN เส้นนั้นช่วยทั้งเชื่อมต่อกับ LAN และช่วยจ่ายไฟให้อุปกรณ์ด้วย
แต่ปัญหาในการเดินสาย LAN แบบ PoE มันก็มีอยู่ครับ คือ เพราะเราเอาทั้งข้อมูลและไฟฟ้ามาเดินในเส้นเดียวกัน คุณภาพของสาย LAN จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อกระแสไฟฟ้ามันเยอะ (ปัจจุบัน มาตรฐาน PoE+ สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดในทางปฏิบัติถึง 25 วัตต์ต่อพอร์ต และมาตรฐาน LTPOE++ จ่ายไฟได้สูงสุดถึง 90 วัตต์ต่อพอร์ต เลยทีเดียว) เมื่อกระแสไฟฟ้ามันเยอะ ความร้อนก็จะเกิดขึ้นในสาย LAN มาก และนำไปสู่ปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพในการรับส่งข้อมูล และมันจะส่งผลต่อระยะทางที่สามารถเดินสายได้ด้วย
วิดีโอด้านบนของ R&M จะอธิบายเรื่อง PoE และข้อจำกัดให้เข้าใจได้ง่ายๆ ครับ
แล้วปัญหามันไม่ใช่แค่ว่าสาย LAN มันมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสูงเท่านั้นนะ แต่ระบบเครือข่ายของผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะในภาพธุรกิจ) อาจจะต้องทำงานกันแบบ 24/7 หรือแทบไม่มีวันหยุดเลย ฉะนั้น การเลือกใช้สาย LAN แบบ PoE ก็จำเป็นต้องเลือกแบบที่มีคุณภาพ และสามารถรองรับการใช้งานกับกำลังไฟสูงๆ และใช้งานต่อเนื่องได้นานๆ ด้วย
และนี่แหละ ถึงได้อยากแนะนำให้รู้จักสาย LAN สำหรับ PoE ของ R&M เขาล่ะ เพราะการดีไซน์ที่ดีเยี่ยม มันไม่ใช่แค่ตัวสาย LAN ที่มีคุณภาพ รองรับกระแสไฟสูงๆ ได้ เผื่อไปถึงมาตรฐาน 4PPoE (4 Pair Power over Ethernet) เลย

เอาแค่หัว LAN ก่อนเลยนะ ของ R&M เขาใช้ดีไซน์ที่เรียกว่า Insultation Displacement Connection (IDC) ซึ่งแตกต่างจากดีไซน์แบบสาย LAN ทั่วๆ ไปที่เรียกว่า Insulation Piercing Connection ตรงที่ ดีไซน์แบบเดิมเนี่ย มันเหมือนชื่อเลยครับ เวลาเราเข้าหัว LAN แล้ว ตัวเขี้ยวของหัว LAN มันจะจิ้มทะลุเข้าไปในสายไฟในสาย LAN เพื่อไปสัมผัสกับสายทองแดงด้านใน
แต่ดีไซน์แบบ IDC เนี่ย เวลาเข้าหัว LAN แล้ว ตัวเขี้ยวมันจะอยู่ตรงด้านข้างของสายไฟในสาย LAN แต่ละเส้น ส่วนที่เป็นสายทองแดงจะอยู่ตรงกลาง โดยมีเขี้ยวอยู่ด้านข้างแทน ดูวิดีโอเปรียบเทียบด้านล่างครับ

รูปด้านบน ตรงที่วงกลมเอาไว้ นั่นแหละ คือ เขี้ยวที่ทำหน้าที่สัมผัสกับสายทองแดงด้านในของสาย LAN ครับ
ความได้เปรียบของดีไซน์แบบ Insulation Displacement Connection หรือ IDC มันอยู่ตรงไหน? ต้องมาดูดีไซน์แบบเดิม คือ Insulation Piercing Connection หรือ IPC นี่ก่อนครับ ภาพด้านล่างจะอธิบายได้ว่าปัญหามันคืออะไร
การดีไซน์แบบให้ตัวเขี้ยวมันจิ้มทะลุไปในสาย หน้าสัมผัสระหว่างเขี้ยวกับสายมันจะไม่แน่ไม่นอน ซึ่งเมื่อใช้งานไปนานๆ ผ่านสภาพแวดล้อมการใช้งานหลากหลายแบบ อายุการใช้งานเยอะขึ้น มันก็จะมีโอกาสที่ตัวทองแดงจะไม่ได้สัมผัสกับเขี้ยวโดยตรง ส่งผลให้เกิดความต้านทานสูงขึ้น และนำไปสู่ความร้อนภายในหัว LAN และมีผลต่อคุณภาพในการรับส่งข้อมูล

แต่ดีไซน์แบบ Insulation Displacement Connection นั้น สายไฟมันจะถูกเสียบเข้ามาระหว่างเขี้ยวสัมผัส ตัวเขี้ยวจะขนาบข้างสายไฟเลย ทำให้ส่วนที่เป็นสายทองแดงเนี่ย อยู่กับที่มากกว่า แม้ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการใช้งานมายาวนาน หน้าสัมผัสของหัว LAN ก็ยังคงที่อยู่

ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบดีไซน์ทั้งสองแบบแล้ว เราจะเห็นว่าในกรณีของดีไซน์แบบ IPC ซึ่งเป็นแบบเดิมนั้น เมื่อเวลามันผ่านไปนาน ค่าความต้านทานภายในสายก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เลย (กราฟเส้นสีม่วง) แต่หากเป็นดีไซน์แบบ IDC ซึ่งเป็นดีไซน์ของหัว LAN ของ R&M ค่าความต้านทานของสายจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก (กราฟเส้นสีน้ำเงิน)

นอกจากนี้ อีกปัญหานึงของสาย LAN PoE โดยเฉพาะพวกที่มีกระแสไฟสูงๆ ก็คือ การสปาร์คของไฟ เวลาที่เราถอดหัว LAN ออก ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อยๆ เนี่ย มันก็จะสร้างความเสียหายให้กับหน้าสัมผัสและหัว LAN ส่งผลต่อคุณภาพการใช้งาน หรืออาจจะทำให้ชำรุดไปเลยก็ได้

แต่หัว LAN ของ R&M เนี่ย เขามีการออกแบบให้จุดที่อาจจะเกิดความเสียหายจากการสปาร์คตอนถอดหัว LAN ออกจากพอร์ต อยู่คนละจุดกับส่วนที่จะเป็นหน้าสัมผัสกับขั้วไฟฟ้าในพอร์ต LAN ครับ เลยวางใจได้ว่าการสปาร์คจะไม่ทำให้หัว LAN เสียหายจนคุณภาพการใช้งานต่ำ หรือชำรุดจนใช้งานไม่ได้ ได้ง่ายๆ
ฉะนั้น หากต้องการเดินสาย LAN สำหรับใช้งาน PoE ก็ลองพิจารณายี่ห้อ R&M กันดูนะครับ
เกี่ยวกับ Reichle & De-Massari AG หรือ R&M
R&M (Reichle & De-Massari AG) คือผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สายเคเบิ้ลสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการเชื่อมต่อเครือระบบเครือข่ายระดับไฮเอนด์ระดับโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 มีบริษัทในเครือมากกว่า 40 แห่ง มีโรงงานผลิต 10 แห่ง และพันธมิตรนับพันๆ ราย คอยให้บริการลูกค้าไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลกด้วยมาตรฐานสูงของสวิส และโซลูชันนวัตกรรมที่รองรับเผื่อถึงอนาคต