ยอมรับเหอะ ว่าเดี๋ยวนี้เราๆ ท่านๆ มีข้อมูลให้เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์เยอะมาก โดยเฉพาะพวกรูปถ่ายและวิดีโอ แล้วไอ้ของพวกนี้ นับวันขนาดของไฟล์ก็ใหญ่ขึ้นๆ พวกไฟล์รูปถ่ายเดี๋ยวนี้ กล้องดิจิทัลของสมาร์ทโฟน หรือพวก DSLR/Mirrorless ก็ไฟล์ละ 7-20MB แล้ว ส่วนวิดีโอยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าถ่าย 4K นี่ตกนาทีละ 1GB สบายๆ ฮาร์ดดิสก์ที่จะเอามาเก็บก็ต้องมีความจุมากขึ้น หลายคนก็หันไปพึ่งพา NAS กัน เพราะนอกจากให้ความมั่นใจเรื่อง Fault tolerance แล้ว ยังให้ความจุที่มากกว่าฮาร์ดดิสก์เดี่ยวๆ ทั่วๆ ไปด้วย ทว่า NAS แบบ 2-bay หรือ 4-bay ที่เราใช้เมื่อซัก 3-4 ปีที่แล้ว ความจุมันอาจจะไม่พอสำหรับปริมาณข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบันแล้วดิ สงสัยถึงเวลาที่ต้องอัพเกรดความจุกันแล้ว และ WD ก็ออกฮาร์ดดิสก์สำหรับ NAS รุ่นใหม่ WD Red 14TB ความจุเหลือกินเหลือใช้เลยทีเดียวคราวนี้
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
WD Red 14TB ในการรีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก WD Singapore ส่งมาให้ใช้งานครับ จำนวน 2 ลูก (แฮ่ม! กำลังอยากได้มาใส่ NAS 2-bay พอดี) การทดสอบของผม จึงเป็นการทดสอบแบบง่ายๆ เพื่อวัดประสิทธิภาพการเขียนและอ่านของข้อมูลเทียบกับสเปกของ WD ครับ และพูดถึงประสบการณ์ในการใช้งาน WD Red โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในการใช้รุ่น 6TB, 8TB ที่ผ่านมาของผม
ความเห็นทั้งหมด เป็นความเห็นส่วนตัว ทาง WD ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น
เอ้า ลองคิดง่ายๆ นะครับ ผมมี QNAP NAS TS-453A อยู่ เป็น 4-bay ตอนนี้ผมใส่ WD Red 10TB ไปแล้ว 4 ลูก ทำ RAID5 ก็ได้เนื้อที่มาเป็น 27.26TB ฮะ แต่ใช้งานไปแล้วน่ะ 11TB เลย ทีนี้อยากจะสำรองข้อมูลในส่วนนี้ ทำไงดี? ผมมี QNAP NAS TS-253 Pro อยู่อีกตัวงิ แต่มันแค่ 2-bay เอง ก็ได้ WD Red 14TB นี่แหละ เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผมพอดี เพราะถ้าต้องการแบ็กอัพแค่ข้อมูลขนาด 11TB ที่ผมมีอยู่ตอนนี้ มันก็ทำ RAID1 เพื่อเพิ่ม Fault tolerance ได้อีกขั้น แต่ถ้าเกิดต้องการเผื่ออนาคต แบ็กอัพ 27.26TB เลย ก็แค่เอา 14TB นี่มันทำ RAID0 ก็เป็นการสำรองข้อมูลเพิ่มอีก 1 ชุด ก็เป็น Fault tolerance ได้อีกเช่นกัน

ตัว WD Red 14TB นี่เป็นรุ่นที่ใช้ก๊าซฮีเลียมในการบรรจุพวกแผ่นจานแม่เหล็ก ซึ่งพวกฮาร์ดดิสก์ความจุสูงๆ ในปัจจุบันจะเป็นแบบนี้กันหมด

ใช้ก๊าซฮีเลียมมันดีกว่าตรงไหน?
ปกติแล้วในกระบวนการผลิตฮาร์ดดิสก์ เขาจะบรรจุอากาศเอาไว้ในฮาร์ดดิสก์ มันไม่บรรจุอากาศไว้ไม่ได้ เพราะไม่งั้นหัวอ่านมันจะไปขูดกับจานแม่เหล็ก ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหาย แต่มันก็มีข้อจำกัดเมื่อเราต้องการฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมากขึ้น เทคโนโลยีการบรรจุด้วยก๊าซฮีเลียมไม่ใช่ของใหม่ มันมีมาตั้งกะปี พ.ศ. 2557 แล้ว แต่เผื่อใครไม่ทราบ ผมก็จะพูดถึงข้อดีให้ฟังครับ
– สามารถเพิ่มความจุของฮาร์ดดิสก์ได้มากขึ้น เพราะสามารถทำให้แทร็กข้อมูลแต่ละแทร็กอยู่ใกล้กันได้มากขึ้น (ความหนาแน่นของข้อมูลต่อจานแม่เหล็กก็จะเพิ่มขึ้น) และความหนาของจานแม่เหล็กก็บางลง (จากเดิมใส่ได้ 5 จานต่อฮาร์ดดิสก์ กลายเป็น 8 จานต่อฮาร์ดดิสก์)
– ก๊าซฮีเลียมมันเบากว่าอากาศ ก่อให้เกิดแรงต้านทานน้อยกว่า ส่งผลให้ใช้พลังงานน้อยกว่าในการหมุนจานแม่เหล็ก หรือก็คือ เกิดความร้อนขึ้นน้อยกว่า และเสียงเวลาทำงานก็เบากว่า
– การบรรจุด้วยฮีเลียม ทำให้ต้องมีการผนึกฮาร์ดดิสก์ไว้แน่นหนา (ไม่งั้นก๊าซจะรั่วไหล) ส่งผลดีทำให้พวกฝุ่นอะไรพวกนี้ เข้าไปในตัวฮาร์ดดิสก์ สร้างความเสียหายให้จานแม่เหล็กไม่ได้
ตัว WD Red 14TB เป็นแบบ SATAIII แบนด์วิธในการเขียนและอ่านข้อมูลคือ 6Gbps และตามที่ได้บอกเอาไว้ในกรอบด้านบน ตัวฮาร์ดดิสก์เป็นแบบบรรจุก๊าซฮีเลียม จึงปิดผนึกเอาไว้แน่นหนามาก หมดห่วงเรื่องฝุ่นเข้าครับ ตามสเปกแล้ว เจ้านี่จะมีความเร็วสูงสุดในการเขียนและอ่านข้อมูลที่ 210MB/s มีเทคโนโลยี 3D Active Balance ช่วยลดอาการสั่นของฮาร์ดดิสก์เวลาใช้งาน ส่งผลให้ลดเรื่องเสียงในการทำงาน และช่วยรักษาประสิทธิภาพของการทำงานของฮาร์ดดิสก์ในสภาพแวดล้อมการใช้งานแบบ 24/7 ด้วย และแน่นอนว่ามันมาพร้อมกับ NASware 3.0 เฟิร์มแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทำงานกับ NAS ยี่ห้อดังๆ (รวมถึง QNAP NAS) เพื่อให้แน่ใจว่าได้ประสิทธิภาพสูงสุดอีก

โดยประสบการณ์ส่วนตัว WD Red ไม่เคยทำให้ผมผิดหวังในการใช้งานกับ NAS เลย เพราะ QNAP NAS ที่บ้านของผมนี่เปิดแบบ 24/7 จะมีอย่างมากก็แค่รีสตาร์ทตอนที่อัพเดตเฟิร์มแวร์เท่านั้นแหละ และมันก็ใช้งานมายาวนานต่อเนื่องหลายปีได้โดยปราศจากปัญหาฮาร์ดดิสก์ใดๆ เลย
แต่ในการทดสอบประสิทธิภาพของ WD Red 14TB นี่ ผมใช้โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook S UX391UA ต่อกับตัว SATA3.0 HDD Docking Station ของ Orico มาเสียบฮะ แล้ววัดประสิทธิภาพในการอ่านและเขียนข้อมูลด้วย Crystal Disk Mark 7.0.0 for Windows

ผลการทดสอบก็ตามที่เห็นครับ ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลอยู่ที่ 227MB/s เร็วกว่าสเปกที่ระบุไว้ 210MB/s ในเรื่องของ Sequential access ครับ และเช่นเคย ข้อจำกัดของฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กก็คือการอ่านและเขียนแบบ Random access นั่นแหละ ซึ่งตรงนี้สำหรับ NAS แล้ว ต้องเอา SSD มาทำ SSD cache acceleration เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ Random access ครับ
ความจุของฮาร์ดดิสก์มันมีมากขึ้น ความเร็วในการอ่านและเขียนก็มากขึ้นตามด้วย ก็ถือว่าโอเคนะ คิดว่าคงเป็นอานิสงส์มาจากการที่บรรจุด้วยฮีเลียมนี่แหละครับ เมื่อฮาร์ดดิสก์แต่ละลูกมันมีความเร็วเพิ่มขึ้น ถ้าเอามาทำ RAID5 ละก็ ประสิทธิภาพโดยรวมของ NAS ก็ย่อมดีขึ้นด้วยเช่นกัน แบบนี้ถ้าเอาไปใช้กับ NAS ที่จำนวน Bay เยอะๆ ก็ยิ่งได้เห็นประโยชน์
บทสรุปการรีวิว WD Red 14TB
ถ้าต้องการเพิ่มความจุของ NAS ของคุณให้ถึงขีดสุด ตอนนี้ WD Red 14TB คือตัวเลือกสุดท้ายของค่ายนี้ ณ เวลาที่เขียนบล็อกนี้แล้วล่ะ ตัวเลือกอื่นที่มีก็คือรุ่น 10TB และ 12TB (และถ้าพิจารณาจากสเปกแล้ว ถ้าไม่คิดมากเรื่องความจุ 10TB มีประสิทธิภาพในการเขียนและอ่านข้อมูลสูงกว่าเล็กน้อย)
ข้อดีคือ มันเพิ่มทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการทั้งความจุ และยังอยากจะทำ SSD cache acceleration ในขณะที่ตัวเองมีแค่ NAS 4-bay (แบบผม) เพราะถ้าต้องการความจุเต็มเหนี่ยวระดับ 25TB ขึ้นไป (เผื่อเก็บข้อมูลเยอะมากๆ) การใส่ 14TB เข้าไป 3 ลูก เพื่อทำ RAID5 จะได้ความจุใกล้ๆ กับใส่ 10TB 4 ลูกแล้วทำ RAID5 ซึ่งทำให้เราเหลือ 1 ถาดเอาไว้ใส่ SSD ได้ด้วย
อุปสรรคเดียวที่คุณต้องพิจารณาคือ ราคาของเจ้านี่อยู่ที่ 16,990 บาทครับ ซึ่งแพงกว่า WD Red 10TB อยู่ราวๆ 70% เลยทีเดียว (อ้างอิงราคาของ J.I.B. ณ เวลาที่เขียนบล็อกนี้) มันจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มราคาที่สุด และเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีวัตถุประสงค์ที่ความจุสูงสุดเป็นหลักมากกว่า