ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือคนทำงาน การสำรองข้อมูลถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ในขณะที่ปัจจุบัน การฝากพวกไฟล์งานต่างๆ เอาไว้บนบริการ Cloud storage ต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติมากแล้ว และพวกนั้นเขาก็มีการทำ Versioning ให้ด้วย ส่งผลให้หายห่วงเรื่องข้อมูลสูญหายไปได้เปลาะนึงล่ะ แต่ถ้าเกิดข้อมูลที่อยากจะสำรองมันขนาดใหญ่มากล่ะ เราจะทำยังไง? WD My Book คือทางเลือกสำหรับการสำรองข้อมูลขนาดใหญ่เอาไว้ใกล้ตัว ใช้สะดวกๆ ครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
WD My Book 8TB ที่ใช้ในการรีวิวครั้งนี้ ใช้เอง รีวิวเองเลยครับ กะว่าจะเอามาใช้เป็นฮาร์ดดิสก์สำหรับเก็บพวกไฟล์งานใหญ่ๆ ที่ออฟฟิศ เพื่อให้สะดวกต่อการเรียกใช้งาน ความเห็นในบล็อกน้ มาจากความเห็นส่วนตัวในการใช้งานอุปกรณ์ล้วนๆ ครับ
รูปร่างหน้าตาของ WD My Book 8TB
ดีไซน์ของ WD My Book 8TB ตัวนี้ เป็นสไตล์ของปี 2017 ครับ พูดง่ายๆ ตัวนี้ไม่ใช่รุ่นใหม่ แต่เพิ่งเอามารีวิว แฮร่! ตัวเครื่องเป็นสีดำ ด้านบนมัววาว ด้านล่างแบบด้าน ทำเป็นลูกคลื่น ด้านบนของตัว WD My Book 8TB มีช่องระบายอากาศ ซึ่งก็ต้องบอกว่าฮาร์ดดิสก์ลูกเดียว การระบายความร้อนไม่ต้องใช้พัดลมก็ได้

ด้านหลังของ WD My Book 8TB ก็เรียบๆ ครับ มีพอร์ต Micro USB-B ช่องเสียบอะแดปเตอร์ไฟ และก็มีพอร์ต Kensington lock เอาไว้สำหรับล็อกกุญแจ … ก็แหม เจ้านี่มันคือฮาร์ดดิสก์สำหรับเก็บข้อมูลสำคัญๆ และแม้ว่าจะเป็นดีไซน์สำหรับเดสก์ท็อปก็ตาม มันก็ยังถูกหยิบฉวยไปได้อยู่นี่นา

ประสิทธิภาพของ WD My Book 8TB
ก่อนอื่นว่ากันด้วยความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลก่อน เจ้านี่มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแบบ Sequential ค่อนข้างสูงทีเดียว สำหรับ External HDD คือส่วนใหญ่ผมจะเจอที่แถวๆ 130-150MB/s แต่เจ้านี่ทำความเร็วได้ระดับ 170MB/s เลยทีเดียว เข้าใจว่าเป็นอานิสงส์มาจากการที่มันใส่ฮาร์ดดิสก์ที่รอบสูงล่ะนะ

แต่แน่นอนว่าข้อจำกัดของมันก็คือข้อจำกัดของฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กเช่นเคย คือ ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลแบบ Random access นี่ค่อนข้างต่ำครับ ระดับ 1-2MB/s เท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรมาก เพราะว่าเป้าหมายของฮาร์ดดิสก์จำพวกนี้ คือเอาไว้เก็บไฟล์เพื่อสำรองข้อมูลเป็นหลัก หรือไม่ก็เก็บไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ที่ปกติมันจะหนักเกินไปสำหรับพวกโน้ตบุ๊กสมัยใหม่ อะไรพวกนี้ อย่างกรณีผม ผมกะว่าจะเอาไว้ใช้ที่ออฟฟิศ เพื่อเอามาเก็บพวกไฟล์รูปภาพและวิดีโอที่เป็น Stock photo และ Archive ต่างๆ ครับ ฉะนั้น เจ้านี่ตอบโจทย์เต็มๆ
และในทางปฏิบัติ พวกไฟล์เล็กๆ เนี่ย ก็จะก็อปปี้กันเสร็จในเวลาแป๊บเดียวอยู่แล้ว แม้ว่าความเร็วในการอ่านและเขียนแบบ Random access จะช้าก็ตาม ในขณะที่ถ้าเราจะเขียนหรืออ่านไฟล์ขนาดใหญ่ มันก็จะเป็นการเขียนหรืออ่านแบบ Sequential ซึ่งจะได้ความเร็วสูงนั่นเอง … มันจะติดก็ตรงเวลาเราจะก็อปปี้ไฟล์ขนาดเล็กจำนวนมากๆ เท่านั้นแหละ

เช่นเดียวกับอุปกรณ์บันทึกข้อมูลของ WD ทุกรุ่น เราสามารถติดตั้งแอป WD Discovery เพื่อบริหารจัดการได้ครับ สำหรับตระกูลฮาร์ดดิสก์ก็จะมี
- WD Backup เอาไว้สำหรับทำการสำรองข้อมูลหรือกู้ข้อมูล สามารถตั้งแผนสำรองข้อมูลได้มากกว่าหนึ่งแผน
- WD Drive Utilities มีพวกเครื่องมือสำหรับการดูแล WD My Book อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสุขภาพของฮาร์ดดิสก์ การทดสอบการทำงาน ตั้งค่าให้ฮาร์ดดิสก์เข้า Sleep mode เมื่อไม่ได้งานตามช่วงเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่การฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์
- WD Security เอาไว้สำหรับตั้งค่ารหัสผ่านสำหรับเข้าถึงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ หรือพูดง่ายๆ คือ ข้อมูลข้างในจะถูกเข้ารหัส เกิดฮาร์ดดิสก์ถูกขโมยไป ก็จะหมดห่วงว่าจะมีใครแอบดูข้อมูลได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเราลืมรหัสผ่าน คือจบกันเลยนะเออ

แต่ถ้าใครต้องการโซลูชันการสำรองข้อมูลที่เจ๋งขึ้นมาอีกหน่อย WD เขามีการดีลไว้กับ Acronis True Image ที่เป็น WD Edition โดยเฉพาะ เพื่อสำรองข้อมูลแบบจริงจังก็ได้ ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ของ WD อยู่ เราก็จะติดตั้งและใช้งานได้ฟรีๆ (ดาวน์โหลดได้จากที่นี่) เสียดายแค่เค้ามีแค่เวอร์ชัน 2016 ซึ่งแอบเก่าไปหน่อย และไม่มีเวอร์ชันสำหรับ macOS
บทสรุปการรีวิว WD My Book 8TB
WD My Book กำหนดกลุ่มเป้าหมายเอาไว้ชัดเจนมาก คือ กลุ่มผู้ใช้งานแบบที่ทำงานกับโต๊ะ มีรูปแบบการใช้งานเพื่อเก็บไฟล์ขนาดใหญ่เอาไว้ทำพวก Archive หรือไม่ก็เอาไว้สำหรับสำรองข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้ ผู้ใช้งานตามบ้าน อาจจะวางเจ้านี่ไว้กลางบ้าน แล้วใครจะสำรองข้อมูลก็เอามาเสียบพอร์ต USB แล้วแบ็กอัพ ก็จบ
สนนราคาค่าตัวของรุ่น 8TB นี่อยู่ที่ 6,350 บาท บน Official store ของ Lazada (ลิงก์ด้านล่าง) ใครงบไม่พอสำหรับจ่ายรวดเดียว ก็มีผ่อน 0% 10 เดือนอยู่ด้วย ใครกำลังมองหาโซลูชันในการสำรองข้อมูลแบบส่วนบุคคล พร้อมใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียบกะ LAN หรือตั้งค่าให้วุ่นวาย