พอดีเห็นเพื่อนๆ บล็อกเกอร์ไปงานเปิดตัวจำหน่ายเครื่องแปลภาษา Cheetah Talk อย่างเป็นทางการ ด้วยความที่ก็อยากรู้อยากเห็น เลยรีบไป Banana IT เพื่อซื้อมาลองเล่นเองเลย และบอกตรงๆ ว่า ตัวเองก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเทียบระหว่างเครื่องแปลภาษา Cheetah Talk นี่ กับ Google Translate บนสมาร์ทโฟน แบบไหนมันจะเวิร์กกว่ากัน
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
บล็อกตอนนี้ เป็นการซื้อ Cheetah Talk มาใช้เอง ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือได้ยืมอะไรจากใครทั้งสิ้น นี่ลองเอง ใช้เองกันเลยทีเดียวครับ จริงๆ วันก่อนไปเดินห้าง เห็นอีกสองยี่ห้อ ก็อยากเอามาลองเพิ่มนะ แต่ราคามันหลักพัน ซื้อมาลองเอง แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ ไม่รู้จะไปปล่อยขายใคร เปลืองตังค์ (ฮา)
รูปร่างหน้าตาของตัว Cheetah Talk
บอกก่อนเลยว่า แม้จะเห็นว่า Banana IT เป็น “พันธมิตร” ในการวางจำหน่าย แต่มันไม่ได้ถูกจัดวางในตำแหน่งที่หาเจอได้ง่ายซักเท่าไหร่ ตอนแรกผมเข้าใจว่ามันจะอยู่ในโซน Smart Home เพราะมันคือแกดเจ็ตที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตมันสมาร์ทขึ้น แต่ปรากฏว่า มันถูกเอาไปไว้รวมๆ กับพวกอุปกรณ์เสริมของ Apple ซะงั้น

แล้วแบบกล่องมันก็เล็กและบางมากครับ คือ ดูจากรูปด้านบน คุณคิดว่ามันถูกวางไว้ที่ไหนอ่ะ? แล้วพนักงาน Banana IT หลายคนก็ไม่ได้รู้ด้วยว่ามีเจ้านี่ขาย แต่ของผมยังดีว่าถามไปหลายๆ คนแล้ว มีคนนึงเขารู้ว่าอยู่ที่ไหน แต่ผมต้องบอกเขาว่า ผมมาซื้อเครื่องแปลภาษา เพราะเขาไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไร (ฮา) ถ้าผมเป็นเจ้าของแบรนด์นี่ ผมเคืองนะเนี่ย


แกะกล่องออกมา ภายในกล่องก็จะมีตัวเครื่องแปลภาษา Cheetah Talk ซึ่งมีให้เลือกสองสี ของผมได้สีดำ มีสายชาร์จ และก็มีคู่มือการใช้งาน ซึ่งก็สมกับเป็นคู่มือการใช้งานเครื่องแปลภาษา คือ มี 7 ภาษาเลยทีเดียว อังกฤษ จีน (ตัวเต็ม) จีน (ตัวย่อ) ญี่ปุ่น สเปน เกาหลี และ ไทย และมีเบอร์ติดต่อศูนย์บริการ ซึ่งมีในไทยด้วย

สายชาร์จ ก็เป็นแบบ USB ครับ มีหัว USB-A เอาไว้เสียบกับเครื่องชาร์จ ตัวเครื่องรับไฟ 5V 500mA ผมไม่ชอบตรงที่ออกแบบมาให้ชาร์จด้วยหัวชาร์จแบบเฉพาะ เข้าใจว่ามันออกแบบมาแบบนี้ เพื่อให้กันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP54 (กันพวกน้ำกระเด็นมาโดนได้ เกิดฝนตกก็ยังหมดห่วง) แต่เวลาจะพกพาไปไหนมาไหนเพื่อใช้งาน มันเท่ากับต้องพกสายชาร์จไปอีกเส้นอะ ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเจ้านี่แบตอึดนะ ใช้งานต่อเนื่องได้ราว 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้ใช้ตลอดเวลา ก็แบตเตอรี่ก็อาจจะอยู่ได้จนหมดทริปก็เหอะ แต่มันก็ต้องเผื่อๆ ไว้ถูกปะ

ตัวเครื่อง Cheetah Talk มีขนาดกะทัดรัด คล้ายๆ กับอุปกรณ์ Presenter เอาไว้เปลี่ยนสไลด์ มีลักษณะเป็นมันวาว (ซึ่งบอกตรงๆ ว่าผมไม่ชอบ ผมชอบแบบด้านๆ มากกว่า เพราะวาวๆ มันเลอะคราวนิ้วมือได้ง่าย) มันมีปุ่มแค่ปุ่มเดียว เอาไว้กดเพื่อเชื่อมต่อกับแอปบนสมาร์ทโฟน และเพื่อเริ่มบันทึกเสียงเพื่อแปล ส่วนด้านบนซ้ายมือ มันลูบๆ ขึ้นและลงเพื่อปรับระดับเสียงของเครื่องแปลภาษาได้

ลองใช้งาน Cheetah Talk
การใช้งาน จะต้องดาวน์โหลดแอป Cheetah Talk มาก่อน ซึ่งรองรับทั้ง Android (เวอร์ชัน 4.4 ขึ้นไป) หรือ iOS การใช้งานจะต้องเชื่อมต่อกับแอปบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น เพราะมันจะใช้ API ระบบแปลภาษาของ Microsoft แอปมันจะทำงานเป็นแบ็กกราวด์ระหว่างการใช้งาน และมันต้องใช้อินเทอร์เน็ตด้วย การจะเลือกภาษาที่จะแปล ก็ต้องเลือกจากแอปเท่านั้น และแปลได้แค่คราวละ 2 ภาษา ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่จะต้องคิดเอาไว้เสมอนะครับ
ผมเลือกทดสอบหลายๆ แบบครับ เริ่มจากการลองแปลภาษาต่างๆ ดูครับ ทั้ง ไทย-อังกฤษ อังกฤษ-ไทย อังกฤษ-จีน จีน-อังกฤษ อังกฤษ-มาเลย์ อังกฤษ-สเปน (ดูตัวอย่างจาก Screenshot ด้านล่าง)
ผลที่ได้ ผมมองว่าแบบนี้ครับ การแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอื่นๆ แอบมีผิดมีเพี้ยนเยอะมาก ถ้าเราใช้ภาษาพูดแบบปกติ ถ้าต้องการให้แปลออกมาแล้วได้ผลที่ค่อนข้างโอเค ควรจะพูดให้เป็นภาษาเขียนครับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการแปลภาษาด้วยซอฟต์แวร์แบบนี้ ภาษาที่มีโครงสร้างของไวยากรณ์ที่เป็นระบบ อย่างพวกภาษาละติน (อังกฤษ สเปน) เนี่ย แปลออกมายังโอเคอยู่ ส่วนการแปลไทยเป็นอังกฤษ ผมลองอ่านคู่มือกระติกน้ำให้มันแปล เฮ้ย! มันแปลออกมาดีซะงั้น
ทีนี้เลยลองเอามันมาแปลบทสนทนาบ้างครับ เลือกแปลจากไทยไปอังกฤษ และอังกฤษกลับมาไทย ก็แล้วกัน ความง่ายคือ เราไม่ต้องไปเลือกว่ากำลังพูดภาษาอะไรอยู่ แค่กดปุ่มค้างแล้วพูดไปเลย เดี๋ยวซอฟต์แวร์มันจะตรวจจับภาษาให้เราได้เอง และสามารถแปลประโยคได้ยาวสูงสุด 30 วินาที พูดจบ ปล่อยปุ่ม เดี๋ยวมันก็จะแปลออกมาให้
ในแง่การใช้งานถือว่าสะดวก เราไม่จำเป็นต้องเปิดแอปค้างไว้แบบที่ผมทำหรอกนะครับ แอปมันรันเป็นแบ็กกราวด์ได้ ปิดหน้าจอมือถือเก็บไว้ในกระเป๋าก็ไม่เป็นไร แค่เราต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์กับสมาร์ทโฟนก่อนเท่านั้น ซึ่งทำได้ง่ายๆ แค่เปิดแอปขึ้นมา แล้วกดปุ่มบนตัวเครื่องค้างไว้ เดี๋ยวมันก็จะบอกว่าการเชื่อมต่อสำเร็จ
จะเห็นว่ามันก็แปลโอเคนะ อาจจะไม่เป๊ะขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าพอเข้าใจได้ และหากอันไหนไม่เข้าใจ เราก็อาจจะคุยทำความเข้าใจเพิ่มได้ ข้อสังเกตคือ ระบบสังเคราะห์เสียงเนี่ย ยังอ่านเพี้ยนๆ อยู่ กระตุกๆ อยู่ และมันก็เลือกเปลี่ยนเสียงไม่ได้ซะด้วยสิ
ทีนี้ลองมาเทียบกัน ด้วย Google Translate ครับ หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่แอปนี้ก็ติดตั้งได้ทั้งบน Android และ iOS และมีความสามารถในการแปลภาษาแบบบทสนทนาได้เช่นเดียวกันกับ Cheetah Talk นี่แหละ และรองรับภาษามากกว่าซะด้วย และบางภาษาก็รองรับการใช้งานแบบออฟไลน์ด้วย
เทียบกันแล้ว ถ้าจากบทสนทนาแค่นี้ ผมก็ต้องบอกว่า Cheetah Talk (Microsoft) กับ Google Translate แล้วก็ผิดถูกกันไปคนละนิดละหน่อย สูสีๆ แต่ระบบเสียงสังเคราะห์ทำได้ดีกว่าเยอะมาก
ทีนี้มาลองอีกรอบ เอามาเปิด YouTube ฟังประธานาธิบดีทรัมป์แถลงการณ์ซักประโยค แล้วให้ทั้ง Cheetah Talk กับ Google Translate ฟัง และแปลให้เราดู
แค่สั้นๆ นี่ แต่ทำให้เห็นว่า ทั้งคู่สามารถฟังได้ค่อนข้างแม่นยำ และการแปลก็ถือว่าทำออกมาได้ดี สอดคล้องกับที่ผมบอกตอนต้น ว่าถ้าเกิดแปลพวกที่เป็นภาษาเขียน หรือพวกภาษาพูดที่ค่อนข้างเป็นทางการ มันจะค่อนข้างแปลได้แม่น เพราะรูปแบบของการใช้ภาษามันชัดเจน
แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ระบบเสียงสังเคราะห์ของ Cheetah Talk มันอ่านคำว่า “นิวเคลียร์” ผิดนะฮะ
ทีนี้ผมลองทดสอบเพิ่ม (ขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายวิดีโอเก็บไว้) ด้วยการลองพูดแบบที่เป็นการพูดจริงๆ เลย คือ มันจะต้องมี อ่า… เอิ่ม… อะไรพวกนี้ และอาจจะมีเสียงรบกวนเพิ่ม เช่น ลองแปลภาษาในระหว่างที่กำลังเปิดทีวี ที่กำลังพูดในภาษาที่เราต้องการใช้แปลอยู่ไปด้วย ผลออกมาแบบนี้ครับ
- Google Translate มีปัญหาใดๆ กับเรื่องการชะงัก พูด เอ่อ อ่า เอิ่ม เลย และดูเหมือนไมโครโฟนของสมาร์ทโฟน ถ้าเกิดเป็นรุ่นไฮโซๆ หน่อย ไมโครโฟนมันก็จะดีใช่ปะ มันก็สามารถแยกแยะเสียงพูดของเราที่อยู่ใกล้ไมโครโฟนได้มากกว่า เสียงจากลำโพงที่อยู่ไกลไมโครโฟน แน่นอนว่ายังมีผิดอยู่บ้าง แต่ว่าก็ไม่เยอะเท่าไหร่
- Cheetah Talk แม้ว่าจะสามารถแยกแยะ เอ่อ อ่า เอิ่ม ได้ แต่ไมโครโฟนดูจะไวไปหน่อย ส่งผลให้มันเอาเสียงรอบตัวเข้ามาหมด และฟังผิดฟังถูกไปเลย โดยเฉพาะพวกคำที่อาจจะฟังแล้วเพี้ยนได้ง่ายๆ ครับ แล้วมันก็จะแปลผิดไปไกลเลยทีเดียว ผมลองพูด “คุณอยากดื่มอะไร” ลองให้มันแปลเป็นภาษาจีน มันดันแปลออกมาเป็นภาษาจีนที่แปลว่า “คุณอยากดูอะไร” ซะงั้น
โดยสรุปแล้ว ผมมองว่า Cheetah Talk พอจะแปลได้ประมาณนึง แต่คู่สนทนาจะต้องพยายามเข้าใจว่า เครื่องแปลภาษานี้มันยังไม่สามารถแปลได้สมบูรณ์ และหากต้องการเพิ่มความถูกต้องของบทสนทนา ก็ต้องพูดอยู่ในสถานที่ที่ค่อนข้างเงียบหน่อย และต้องปรับรูปแบบการพูดคุยให้ “เป็นทางการ” มากขึ้น ซึ่งเหตุผลไม่ใช่แค่เพราะว่ารูปแบของประโยคมันจะตรวจจับได้ง่ายกว่านะ แต่เพราะ Cheetah Talk มันตรวจจับสองภาษาพร้อมๆ กัน ซึ่งมีโอกาสที่การออกเสียงของคำบางคำ มันจะมีในทั้งสองภาษา เช่น เฮ้ย ในภาษาไทย ก็มีทั้ง Hey ในภาษาอังกฤษ หรือ 黑 (Hēi) ในภาษาจีน ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่การตัดสินเลือกภาษาที่ต้องการจะแปลไป
บทสรุป แล้วแบบนี้ถ้าจะต้องใช้ จะเลือก Cheetah Talk ดี หรือ Google Translate ดี?
หลายคนอาจจะมองว่า Cheetah Talk มันมีข้อดีตรงที่มันเป็นอุปกรณ์แยกต่างหาก มีไมโครโฟนและลำโพงแยกออกมาชัดเจน และแม้ว่าจะต้องทำงานโดยต้องเชื่อมต่อกับแอปบนสมาร์ทโฟน แอปมันก็รันเป็นแบ็กกราวด์ ฉะนั้นเราจะยังสามารถใช้ระบบแปลภาษาได้ แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะเปิดแอปอื่นใช้งานอยู่
แต่ในทางปฏิบัติ ด้วยความที่การสนทนาผ่านอุปกรณ์แปลภาษา หรือแอปแปลภาษา มันทำได้ไม่สมบูรณ์มาก เราต้องใช้สมาธิและความสนใจมาที่การสนทนามากพอสมควร และไม่น่าจะสะดวกเปิดแอปอื่นเล่นไประหว่างสนทนาได้ร้อก และไม่ว่าจะเป็น Cheetah Talk หรือ Google Translate ต่างก็ต้องใช้แอปทั้งคู่ แถม Google Translate ยังรองรับการแปลภาษาแบบออฟไลน์หลายภาษาอีก ฉะนั้น เมื่อต้องเลือกระหว่างจ่ายตังค์ 2,759 บาท เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการแปลภาษาได้ดีพอๆ (หรือแย่กว่านิดหน่อย) กับ Google Translate นี่ คงจะยากนิดนึงนะ
ตัวนี้คงไม่ใช่อะไรที่ผมแนะนำให้ซื้อกันอะครับ ดาวน์โหลด Google Translate ใช้กันเถอะ (ฮา)