ดูเหมือน ASUS จะเป็นยี่ห้อเดียวในตอนนี้ ที่พยายามปล่อยโน้ตบุ๊กที่มีทั้งสเปกที่ไม่แพ้คู่แข่งในตลาดราคาระดับเดียวกัน และในขณะเดียวกัน ก็พยายามเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไปด้วย อย่างเช่น ScreenPad+ บน ASUS ZenBook Pro Duo และ ASUS ZenBook Duo หรือแม้แต่รุ่นที่มี SceenPad อย่าง ASUS ZenBook Pro 15 และล่าสุด น้องเล็ก ASUS ZenBook 14 UX434FLC ตัวที่รีวิวตัวนี้ ที่ได้รับการอัพเกรดเป็น ScreenPad 2.0 ก็เช่นกัน ฉะนั้น ในขณะที่ผมมองว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อต่างๆ ที่มีสเปกใกล้เคียงกัน ประสิทธิภาพจะใกล้เคียงกันเช่นกัน คือ อาจจะแตกต่างกันประมาณนึง แต่มักจะแยกแยะได้เมื่อวัดด้วยโปรแกรม Benchmark ซะมากกว่า ในการใช้งานจริง ผู้ใช้งานอาจจะแยกแยะได้ไม่ออกมากนัก ผมเลยขอเล่าประสบการณ์ในมุมมองของคนที่ใช้งานแทนครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
โน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook 14 UX434FLC ตัวนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อมาจาก ASUS Thailand ให้เล่นยาวๆ เกือบเดือน และผมได้เอามาใช้ทำงานบ้าง เขียนบล็อกบ้าง เล่นเกมบ้าง และนี่ก็คือประสบการณ์บอกเล่าจากการใช้งานจริงของผม ซึ่งเป็นความเห็นของผมล้วนๆ ไม่ได้มีใครมากำหนดเนื้อหาอะไรให้แต่อย่างใด ชอบไม่ชอบตรงไหนว่ากันตรงๆ เหมือนเดิม
อธิบายรุ่นต่างๆ ที่มีขายในไทยก่อน
ผมสังเกตว่า ASUS Thailand ส่ง ASUS ZenBook 14 UX434 ไปให้บล็อกเกอร์หลายราย และแต่ละคนก็อาจจะได้สเปกแตกต่างกันไป ฉะนั้น ผมอยากทำความเข้าใจก่อนว่าเจ้านี่มีขายในไทยกี่รุ่นบ้าง และแตกต่างกันยังไง
สเปกส่วนใหญ่ของ ASUS ZenBook 14 UX434 นี่จะคล้ายๆ กันครับ ในเรื่องของพอร์ตการเชื่อมต่อ พวก WiFi การมี ScreenPad 2.0 อะไรพวกนี้ ซึ่งเดี๋ยวผมค่อยๆ พูดถึงในการรีวิวทีหลัง แต่ประเทศไทยมีวางจำหน่าย 3 รุ่น ที่สเปกแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยดังนี้
- UX434FAC เป็นรุ่นราคาเริ่มต้น 26,990 บาท ตัวนี้ใช้ CPU เป็น Core i5-10210U 10th Gen ไม่มีการ์ดจอแยก
- UX434FLC มีแยกจำหน่ายเป็นสองรุ่น คือ
- รุ่นที่ใช้ Core i5-10210U 10th Gen ตัวนี้มีการ์ดจอแยก nVidia GeForce MX250 ราคา 29,990 บาท
- รุ่นที่ใช้ Core i7-10510U 10th Gen ตัวนี้มีการ์ดจอแยก nVidia GeForce MX250 ราคา 35,990 บาท
พูดง่ายๆ ความแตกต่างกันของสามรุ่นที่จำหน่ายในไทยก็คือ มีหรือไม่มีการ์ดจอแยก และ ใช้ CPU เป็น Core i5 หรือ i7 นั่นแหละ ที่เหลือคือสเปกเหมือนๆ กันเลยครับ
อ้อ! ที่เว็บของ ASUS Thailand อะ ตอนแนะนำฟีเจอร์ของเจ้านี่ เขียนว่าหน้าจอเป็นทัชสกรีน ซึ่งจริงๆ ในต่างประเทศมันมีรุ่นที่มีหน้าจอทัชสกรีนให้เลือกนะ แต่ในประเทศไทย ไม่ได้มีรุ่นไหนเป็นทัชสกรีนจ้า
ASUS ZenBook 14 UX434FLC ดีไซน์กะทัดรัด บางและเบาประมาณนึง
จริงๆ คำว่า บาง และ เบา หลายคนนิยามไม่เหมือนกัน ถ้าคนที่ชินกับ ASUS ZenBook S UX391UA แบบผม ก็จะรู้สึกว่าเจ้านี่ก็ไม่ได้บางเฉียบอะไรมาก และน้ำหนักก็ไม่ได้เบาซักเท่าไหร่ ก็แหม รุ่นที่ผมใช้เป็นของส่วนตัวมันเป็นรุ่นบางและเบาที่แท้ทรูนิ (น้ำหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม)

แต่การที่มัน บาง และเบา น้อยลงกว่าพวกรุ่นบางเฉียบเนี่ย มันก็แลกมาด้วยการที่สามารถยัดพวกพอร์ตต่างๆ มาได้เต็มรูปแบบกว่า ไม่ว่าจะเป็นพอร์ต HDMI, พอร์ต USB-A และสามารถใส่การ์ดจอแยกเข้ามาได้ด้วยนะ (เฉพาะรุ่น UX434FLC เท่านั้น)


แม้ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กขนาด 14 นิ้ว แต่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 อยู่นิดหน่อยเอง เรียกว่ากะทัดรัดมาก เขาเรียกว่า มีขนาดพอๆ กับโน้ตบุ๊กขนาด 13 นิ้ว นั่นแหละ ที่ทำได้แบบนี้ก็เพราะ เขาใช้จอที่มีขอบบางมากๆ ASUS เรียกว่า NanoEdge


แต่ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะขนาดเล็กลงกว่า ZenBook 14 รุ่นปี 2017 ราวๆ 13% แต่ตัวคีย์บอร์ด ก็จัดมาให้มีขนาดที่พิมพ์ได้สะดวก เหมาะมือ ถือว่าโอเคครับ สำหรับผมที่ค่อนข้างเจ้ากี้เจ้าการกับการวางตำแหน่งปุ่มบนคีย์บอร์ด และดีกว่า ASUS ZenBook ขนาด 14 นิ้ว “บางรุ่น” ที่ดันเลือกจะทำปุ่ม Shift ด้านขวาให้มีขนาดเล็กด้วย
ประสบการณ์ในการใช้งาน ASUS ZenBook 14 UX434FLC
สเปกที่ ASUS ใส่มาให้ใน ZenBook 14 UX434FLC ถือว่าไม่เลวนะครับ ทุกรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย ให้แรมมา 8GB และมี SSD แบบ PCIe Gen 3 2X มาให้ 512GB ซึ่งให้ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลอยู่ที่ระดับ 2GB/s กับ 1GB/s ตามลำดับ (ปัดเป็นเลขกลมๆ นะ จริงๆ มันราวๆ 1.8GB/s กะ 900MB/s) เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 7.0.0
เจ้านี่รองรับ WiFi 802.11ax หรือ WiFi 6 เรียบร้อยแล้ว เรียกว่าเป็น Future-proof ได้ระดับนึงเลย เพราะ WiFi มันจะมุ่งหน้าไปทางนั้น และไม่ช้าไม่นาน WiFi ในบ้านเราก็จะเป็น WiFi 6 ครับ ถ้าเราซื้อเจ้านี่มา ก็คือพร้อมเลย

น้ำหนัก 1.26 กิโลกรัม แม้จะไม่ได้เบาสุดกู่ แต่ก็ถือว่าเบาตามมาตรฐานของโน้ตบุ๊กไซส์ประมาณนี้แหละ ใส่กระเป๋าเป้สะพายได้ไม่หนักมาก วางบนตักใช้งานสะดวก และในแทบจะทุกสถานที่

เช่นเคย ผมชอบดีไซน์ ErgoLift ของ ASUS ครับ เวลาที่กางหน้าจอออกแล้วมันจะยกตัวเครื่องขึ้นมาเล็กน้อย ได้สูงสุดคือกาง 145 องศา การที่มันยกตัวเครื่องมาเล็กน้อย ถ้าเราวางบนโต๊ะ ตัวเครื่องจะเอียงเล็กน้อย ให้ตอบรับกับการวางมือเพื่อพิมพ์มากขึ้น แต่ถ้าเราวางบนตัก การที่มันตกตัวเครื่องขึ้นมาเล็กน้อย ก็จะทำให้ไอ้ส่วนที่เป็นจุดระบายความร้อนมันไม่สัมผัสกับต้นขาเราด้วย

ScreenPad 2.0 จะว่าไปมันก็เหมือนหน้าจอทัชสกรีนขนาดเล็ก ที่มาช่วยเพิ่มความสามารถให้กับตัวเครื่อง โดยตัวมันเอง จะมีแอปที่เข้ามาเสริมการทำงานของเราให้ ซึ่งก็จะมี
- Number Key ที่ทำให้ ScreenPad นี่เป็น NumPad ช่วยให้พิมพ์ตัวเลขได้สะดวกๆ
- Handwriting ให้เราได้ขีดๆ เขียนบนนี้ แล้วตัวซอฟต์แวร์ก็จะแปลงลายมือเป็นตัวพิมพ์ได้ แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่การรองรับ Handwriting ของตัวระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งยังไม่มีภาษาไทยจ้า … อด

- Quick Key จะเป็นการสร้างปุ่มลัดสำหรับพวก Shortcut ที่เราใช้บ่อยๆ เช่น Ctrl+x, Ctrl+v อะไรพวกนี้ มันจะได้กดที่นี่ทีเดียวจบ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าสำหรับคนที่ช่ำชองกับการกดพวก Shortcut พวกนี้อยู่แล้ว มันไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย แต่สำหรับคนที่ยังเก้ๆ กังๆ เงอะๆ งะๆ หลงๆ ลืมๆ ว่า Shortcut มันต้องกดอะไรบ้าง เจ้านี่อาจจะมีประโยชน์พอสมควร เพราะเราสามารถเซฟ Shortcut เพิ่มได้ แถมตั้งชื่อปุ่มอธิบายเป็นภาษาไทยได้ด้วย สำหรับคนที่ใช้โปรแกรมบางโปรแกรมที่ต้องพึ่งพาการกด Shortcut เยอะมากๆ บ่อยมากๆ เจ้านี่อาจจะมีประโยชน์มากเช่นกัน
- Slide Xpert, Doc Xpert, Sheet Xpert อันนี้คือพวกตัวช่วยสำหรับโปรแกรม Microsoft Office ครับ
ScreenPad 2.0 แยกการใช้งานในฐานะจอแสดงผลและการเป็น TouchPad ออกจากกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเราอยากจะใช้มันในฐานะ TouchPad เราจะต้องแตะที่ไอคอนเพื่อเปิดการใช้งาน TouchPad ก่อน และระหว่างนั้น หน้าจอ ScreenPad จะมืดลง เราก็จะสามารถใช้มันเป็น TouchPad ได้ แต่ในระหว่างนั้นเราก็จะใช้มันในฐานะหน้าจอแสดงผลไม่ได้
การจะใช้ ScreenPad 2.0 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับเมาส์ครับ ใช้เมาส์ควบคุมเคอร์เซอร์ ส่วน ScreenPad 2.0 ทำหน้าที่เป็นเหมือนหน้าจอเสริม (Extended display) ที่เป็นจอสัมผัส เราจะเอามาใช้เปิดเว็บ ดู YouTube ไปด้วยเลยก็ยังได้ และใช้พวก Number Key, Quick Key หรือใช้ Slide Xpert, Doc Xpert, Sheet Xpert ก็จะทำให้การใช้งานโปรแกรมต่างๆ สะดวกมากขึ้น
ด้วยความที่รุ่น UX434FLC มีการ์ดจอแยกเป็น GeForce MX250 แรม 2GB ซึ่งแม้ว่าหลายๆ คนมีการทดสอบแล้ว บอกว่ามันไม่ได้พัฒนาไปจาก GeForce MX150 มากนัก (และในบางรุ่นกลับประสิทธิภาพต่ำกว่าด้วยซ้ำ ซะงั้น) แต่ก็มากเพียงพอสำหรับการใช้เล่นเกมแบบสบายๆ อยู่ครับ ถ้าเราไม่คาดหวังถึงระดับ 60fps หรือมากกว่าอะนะ นั่นเลยทำให้เจ้านี่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ครบเครื่อง ตอบโจทย์ทุกการใช้งานได้จริงๆ

ผมขอขอบคุณ ASUS ที่เลือกใช้ SSD ความเร็วสูง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานทั่วๆ ไป สูงขึ้นแบบเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับพวกโน้ตบุ๊กที่ใช้ SSD ความเร็วปกติ (พวกที่อ่านและเขียนความเร็ว ระดับ 500MB/s) และนั่นเลยทำให้มันมีพอร์ต USB-A และ USB-C ที่เป็น USB 3.1 Gen 2 มาให้อย่างละพอร์ต รองรับพวกอุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตได้ดี ส่วนพอร์ต USB-A อีกพอร์ตที่อยู่ทางด้านขวาของตัวเครื่อง เป็นแบบ USB 2.0 ซึ่งเอาไว้เสียบเมาส์ครับ ไม่เสียของ (คือ ถ้าเอา USB 3.1 Gen 2 มาเสียบเมาส์นี่แบบ เสียดายแบนด์วิธ … ฮา)
แต่ผมรู้สึกเสียดายที่ ASUS ไม่จัดสเปก แรม 16GB มาให้ เพราะเดี๋ยวนี้ Windows 10 กินแรมเยอะมาก และโปรแกรมจำพวกเว็บเบราวเซอร์อย่าง Google Chrome นี่ยิ่งโคตรเขมือบแรม นี่ขนาดผมเปิดแค่ Google Chrome กับโปรแกรม Paint เอาไว้ มันยังซัดแรมไปแล้ว 5.3GB เลยครับ ถ้าเปิดทำงาน Microsoft Office แล้วเปิด Photoshop กับ Google Chrome อีกหน่อย แรมที่ให้มาแค่ 8GB นี่ไม่พอแน่นอน นี่พูดในฐานะที่ตอนนี้ใช้คอมพิวเตอร์แรม 16GB เป็นตัวหลักนะครับ
ผมเข้าใจว่า ASUS อยากทำราคาให้ออกมาดูสวยงาม และแรม 8GB นี่คู่แข่งก็มาสเปกนี้กันทั้งนั้น แต่ผมก็อยากให้มีตัวเลือกสำหรับคนที่อยากจะยัดสเปกแบบจัดเต็มมากด้วยเช่นกัน
อ้อ! อีกเรื่องที่อยากจะติก็คือ ASUS ยังเลือกที่จะใช้อะแดปเตอร์แบบ DC หัวกลม 45 วัตต์ อยู่ ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนมาใช้ USB-C PD (Power Delivery) มันจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากกว่าแท้ๆ เพราะสามารถชาร์จกับพอร์ต USB-C ได้เลย และมันรองรับเผื่อในอนาคตมากกว่า รองรับกับอุปกรณ์เสริมมากกว่า เดี๋ยวนี้มี PowerBank ที่จ่ายไฟ 45-100 วัตต์ ผ่าน USB-C ได้แล้ว ใช้ชาร์จโน้ตบุ๊กสบายๆ พวกอะแดปเตอร์ USB-C แบบ 45-100 วัตต์ ก็มีขายให้เลือกใช้ มันจะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกมากขึ้น เป็นสิ่งที่ ASUS ควรจะพิจารณา
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook 14 UX434FLC
ใครอยากได้โน้ตบุ๊กที่สเปกครบเครื่อง ไม่สูงจนเวอร์วัง แต่ก็ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย เป็นโน้ตบุ๊กแนว Productivity แต่ก็ยังอยากจะเล่นเกมแบบชิลล์ๆ ได้ด้วย โดยมีขนาดที่กะทัดรัด และเบาประมาณนึง แบกแล้วไม่ถึงกับหลังแอ่น ASUS ZenBook 14 UX434FLC เป็นรุ่นนึงที่อยากให้ลองพิจารณา ไปแตะๆ เล่นๆ ที่ร้านไอทีชั้นนำก่อน ค่อยตัดสินใจซื้อก็ได้
แม้ในบล็อกนี้จะเห็นว่าผมมีบ่น ASUS หลายๆ เรื่อง แต่นั่นคือสิ่งที่เขาจะ “ปรับปรุง” เพื่อให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ปรับปรุงในเรื่องพวกนี้ ASUS ZenBook 14 UX434FLC มันก็ยัง “ดีพอ” ที่เราจะรับไว้พิจารณาล่ะนะ ผมแนะนำให้ซื้อรุ่น UX434FLC ตัวที่เป็น Core i5 ก็พอนะครับ 29,990 บาท ราคาไม่แรงมากจนเกินไป ในขณะที่ก็ยังได้การ์ดจอแยก และหน่วยประมวลผลก็มีประสิทธิภาพที่ดีพอ
สิ่งเดียวที่อาจทำให้เราลังเล ก็คือ คู่แข่งบางยี่ห้อบางรุ่น ที่อาจจะให้สเปกดีกว่าประมาณนึง (เช่น CPU เป็น Core i7) ในราคาที่เท่าๆ กันกับ ASUS ZenBook 14 UX434FLC ตัว Core i5 ณ ตรงนี้เราก็ต้องเลือกแล้วว่า เราจะได้ประโยชน์จาก ScreenPad 2.0 มากน้อยแค่ไหนละนะ