Dashboard และ Resource Monitor เป็นสองเครื่องมือสำคัญบน QNAP NAS ที่ผู้ใช้งานควรจะทำความรู้จักและทำความเข้าใจเอาไว้ครับ โดยเฉพาะมือใหม่เนี่ย ผมเลยคิดว่ามันควรจะถูกพูดถึงใน QNAP NAS 101 นี่แหละ เครื่องมือสองตัวนี้มีประโยชน์ในการบอกสถานะของ QNAP NAS ให้เราทราบ และในบางครั้ง มันก็ช่วยให้เรารู้ตัวได้ในกรณีที่มีอะไรผิดปกติขึ้นมา หรือช่วยให้เราสืบสวนหาสาเหตุของอาการผิดปกติของ QNAP NAS บางอย่างได้เช่นกัน
Dashboard ของ QNAP NAS
หน้าจอ Dashboard ของ QNAP NAS เป็นเหมือนศูนย์รวมของการแสดงสถานะตัวเครื่องครับ มันอยู่ตรงมุมบนด้านขวาของหน้าจอ มีหน้าตาเหมือนกับเกจรถยนต์อะ คลิกแล้ว มันจะเปิดหน้าจอที่หน้าตาเหมือนรูปด้านล่างนี่ มันจะแสดงสถานะในภาพรวมของ QNAP NAS ออกมา

● System Health จะแสดง Uptime ของ NAS ว่าเปิดใช้งานต่อเนื่องมาแล้วกี่วัน
● Hardware Information จะแสดงข้อมูลอุณหภูมิของระบบกับความเร็วของพัดลม ถ้ามันเกิดร้อนเกินไป หรือพัดลมทำงานผิดปกติ เราจะเห็นได้ตามข้อมูลตรงนี้แหละ
● Resource Monitor แสดงข้อมูลเบื้องต้นของทรัพยากรระบบว่า CPU และ RAM ถูกใช้ไปเท่าไหร่กันแล้วบ้าง และมี Drop-down menu ให้เลือกดูข้อมูลการใช้แบนด์วิธของพอร์ต LAN ต่างๆ
● Disk Health แสดงข้อมูลสุขภาพของฮาร์ดดิสก์ บอกได้ว่ามีกี่ลูก และสุขภาพเป็นยังไงบ้าง ถ้าเกิด S.M.A.R.T. ตรวจพบอาการผิดปกติ มันจะแสดงข้อความแจ้งเตือนทางนี้เลย หรือในกรณีที่ทำ RAID เอาไว้ แล้วมันกำลังอยู่ในสถานะ Degraded (หมายถึง มีการถอดฮาร์ดดิสก์ออกมา RAID ที่ทำเอาไว้จึงไม่สามารถช่วยป้องกันการสูญหายจากกรณีฮาร์ดดิสก์เสียได้อีก จนกว่าจะมีการ Rebuild RAID) นก็จะแจ้งเตือนตรงนี้ด้วยเช่นกัน
● Storage เอาไว้แสดงข้อมูลภาพรวมของการใช้เนื้อที่ภายใน NAS โดยเลือกจาก Drop-down menu ได้ว่าจะให้แสดงข้อมูลของ Volume ไหน ใช้เนื้อที่เก็บข้อมูลไปแล้วเท่าไหร่ และมีเหลืออยู่เท่าไหร่ และโฟลเดอร์หลักๆ ที่ใช้เนื้อที่ไปเยอะๆ นี่มีอะไรบ้าง
● Online Users บอกว่ามีผู้ใช้งานคนไหนมาเชื่อมต่อกับ QNAP NAS ของเราบ้าง
● Scheduled Tasks แสดงให้เราเห้นว่าเราได้รัน Process อะไรไปบ้าง เมื่อไหร่ และผลเป็นยังไง
● News หลักๆ เลยคือบอกว่ามีเฟิร์มแวร์ใหม่ออกมาหรือยัง จะได้เตรียมอัพเดตเนอะ
โดยรวมแล้ว ที่ Dashboard นี่ เราจะสามารถบอกได้เลยว่า QNAP NAS ของเรายังสุขภาพดีอยู่ไหม หรือมีปัญหาอะไรรึเปล่า เนื้อที่เก็บข้อมูลยังเหลือหรือใกล้เต็ม แล้วอะไรกินเนื้อที่ไปเยอะสุด และ CPU กับ RAM usage (โดยเฉพาะส่วนของ RAM) นี่จะบอกเราได้เลยว่า เราใช้งานมันโหดไปไหม ถ้ามันเต็มหรือเกือบเต็มตลอดเวลา อาจถึงคราวที่เราต้องอัพเกรดฮาร์ดแวร์แล้วก็ได้ หรือบางทีอาจจะมีมัลแวร์มาติด QNAP NAS ของเรา?
Resource Monitor ของ QNAP NAS
ถ้าหากเราต้องการรู้ถึงสถานะของการใช้ทรัพยากรต่างๆ ภายใน QNAP NAS โดยละเอียด ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องไปดูใน Resource Monitor ครับ หลักๆ เลยมันดูอยู่ 4 เรื่อง คือ หน่วยประมวลผล (CPU usage), หน่วยความจำ (Memory usage), แบนด์วิธของเน็ตเวิร์ก และโปรเซสต่างๆ ของระบบ

การใช้งานหน่วยประมวลผล (CPU Usage)
เราจำเป็นต้องรู้ว่า QNAP NAS ของเราใช้งานหน่วยประมวลผลหนักหน่วงแค่ไหน เพราะถ้ามันหนักหน่วงตลอดเวลา อายุการใช้งานของตัว CPU ก็ย่อมลดลง แต่จริงๆ มันก็เป็นเรื่องปกติของการที่ CPU usage จะพุ่งขึ้นไปถึง 80%-100% เวลาที่มันถูกใช้งานหนักๆ อย่างเช่น กำลังถอดรหัสและเข้ารหัสวิดีโอ หรือ กำลังรัน Virtual machine อยู่ เป็นต้น
ในกรณีที่เราเจอ CPU วิ่งเต็มเหนี่ยวขึ้นตัวแดงตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ใช้งาน QNAP NAS เลยแม้แต่น้อย มันคือสัญญาณที่บอกว่าระบบเกิดความผิดปกติ แล้วเราก็ควรจะตรวจสอบโปรเซสว่ามีโปรแกรมอะไรแปลกๆ ไปเขมือบ CPU usage ไหม
การใช้งานหน่วยความจำ (Memory usage)
QNAP NAS ก็เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ครับ ถ้าเรามีโปรแกรมติดตั้งไว้เยอะๆ แล้วเปิดใช้รัวๆ หรือมีบริการ (Service) ต่างๆ (เช่น Web server, Photo Station, Plex Media Server อะไรพวกเนี้ย) เปิดใช้อยู่เยอะๆ ก็ต้องมีหน่วยความจำมากพอให้โปรแกรมและบริการพวกนี้เอาไว้ใช้ด้วย
บอกตรงๆ ว่า QNAP NAS ที่ขายอยู่เนี่ย มักจะมีหน่วยความจำให้ไม่พอสำหรับใช้งานหรอกครับ เพราะพอเรามี QNAP NAS ใช้ เราจะชอบเผลอยัดโปรแกรมหรือบริการต่างๆ ไว้เยอะๆ จนมันเขมือบแรมไปจนหมด สุดท้าย เราจะต้องอัพเกรดแรมเพิ่มไปเป็นเท่าไหร่ มาดูจากตรงนี้แหละ
การใช้งานแบนด์วิธของเน็ตเวิร์ก
สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการที่รู้ว่า QNAP NAS ของเราใช้แบนด์วิธอะไรยังไงบ้าง แต่สำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กร จะได้ประโยชน์มาก ถ้าเราเข้าไปดูในรายละเอียด ในส่วน System Resource แล้วดูในส่วนของ Network มันจะบอกลงรายละเอียดได้เลยว่าพอร์ต LAN แต่ละพอร์ตของเครื่อง มันถูกใช้งานไปยังไงบ้าง
โปรเซส บอกเราได้ว่าอะไรกิน CPU กับ RAM เยอะ
พอเราเห็นว่า CPU usage หรือ Memory usage มันเต็มเกือบตลอดเวลา มันคือสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติของระบบ หรือบางทีฮาร์ดแวร์ของระบบไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะใช้งาน แต่ที่แน่ๆ ถ้าเห็นว่า CPU หรือ RAM โดนใช้เยอะๆ บ่อยๆ นานๆ เราก็มาดูตรง Processes นี่แหละ แล้วดูว่าโปรเซสไหนมันกิน CPU หรือ RAM เยอะ เราจะได้รู้ว่ามันปกติ หรือผิดปกติกันแน่ (แต่การจะรู้ว่าชื่อโปรเซสนี้มันคืออะไรกันแน่ ก็ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจกันนิดนึงนะ)