ภรรยาของผมอยากได้ Card reader ซึ่งนับวันก็หายากขึ้นทุกที แล้วเผอิญว่าโน้ตบุ๊กที่ออฟฟิศเธอให้ มันมี USB-C อยู่ด้วย ก็เลยจบลงด้วยการส่อง Lazada หา USB-C Hub แบบที่มันเป็น Card reader ด้วยในตัว น่าจะเวิร์ก แต่พวกมียี่ห้อก็แพงจุง เลยลองวัดดวง เลือกมาร้านนึงที่มีผลรีวิวค่อนข้างโอเค แล้วราคาไม่แพงมาก 420 บาท ฟรีค่าส่งด้วย จัดมาเลยฮะ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ตัว USB-C Hub ที่ผมรีวิวในบล็อกตอนนี้ ซื้อเองใช้เองล้วนๆ ไม่ได้มีใครเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อะไรให้แต่อย่างใดครับ เนื้อหาทั้งหมด เกิดขึ้นจากการลองใช้จริง ความเห็นของผมจริงๆ ทั้งนั้น
รูปร่างหน้าตาของตัว USB Hub ก็ตามที่เห็นในรูปปกบล็อกนั่นแหละครับ มันเป็นแบบไม่มีสายนะ เสียบกับพอร์ต USB-C กันดื้อๆ ลงไปเลยครับ ข้อดีคือ พกเก็บง่าย เวลาใช้ไม่เกะกะพื้นที่วางโน้ตบุ๊กมาก ตัว USB-C Hub ตัวนี้ก็มีพอร์ต USB 3.1 Gen 1 (หรือก็คือ USB 3.0 เดิม) มาให้สองพอร์ต และมีสล็อตสำหรับอ่าน SD card กับ MicroSD card มาให้อย่างละช่อง

ด้วยราคาที่ถูก ข้อเสียก็เลยอยู่ที่ไม่มีพวกพอร์ตการเชื่อมต่อจอแสดงผลภายนอก อย่าง VGA หรือ HDMI ครับ แต่สำหรับคนที่เน้นพกออกไปทำงาน แล้วต้องการสล็อตต่างๆ เพิ่มอ่ะ ผมว่าแค่นี้ก็เหลือเฟือแล้ว

เจ้านี่เหมาะมาก สำหรับพวกโน้ตบุ๊กที่เป็นแนว บางเบา เพราะมักจะเน้นบางจนใส่พอร์ต USB-A ไม่ได้ ต้องให้มาแต่ USB-C อย่างเดียวเลย แต่ในหลายๆ ยี่ห้อ หลายๆ รุ่น มันก็มีที่ให้ USB-C มาด้วย แม้จะมี USB-A มาให้อยู่แล้ว เช่น ASUS ZenBook 14 ตัวที่อยู่ในรูปด้านบนครับ

แต่ข้อจำกัดที่ผมเห็นได้ชัดเลยคือ ตัว Hub มันมีขนาดใหญ่ และตำแหน่งของหัว USB-C มันอยู่ในตำแหน่งที่เสียบแล้ว ตัว Hub มันจะยังกินพื้นที่ด้านข้างไปประมาณนึงอยู่ ส่งผลให้มันอาจจะไปปิดพอร์ต USB-C อีกพอร์ตข้างๆ ได้ หรือในกรณีของ ASUS ZenBook 14 ที่ผมใช้ทดสอบนี่ มันบังพอร์ต USB-A ไปพอร์ตนึง หรือกับ Lenovo L380 Yoga ที่ผมพยายามเอาไปเสียบกะพอร์ต USB-C PD มันอยู่ขอบเครื่องที่สุดแล้ว มันก็ยังแอบปิดพอร์ต USB-C อีกพอร์ตจนใช้การไม่ได้อยู่
แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะบังพอร์ตแบบนี้ไปกะโน้ตบุ๊กทุกตัวนะ ผมลองกะ ASUS ZenBook S UX391UA ของผมเนี่ย ไม่มีปัญหา เพราะว่ามันให้พอร์ต USB-C PD อยู่ด้านนึงมีพอร์ตเดียวโดดๆ ฉะนั้น ถ้าเสียบกะอันนี้ มันโอเค ไม่เบียดบังอะไรใคร เวิร์กๆ

ถึงเวลาใช้งานครับ ก่อนอื่นเลย ผมลองเสียบ External SSD ไปสองตัว ตัวนึงเป็น WD Blue SSD เอามาใส่กล่อง SATAIII to USB-A ของ Orico กับอีกตัวคือ WD My Passport SSD ครับ ผลคือ ใช้งานไม่ได้ทั้งคู่ เพราะพอพยายามถ่ายโอนข้อมูลพร้อมๆ กัน ผลที่ได้คือ กระแสไฟไม่พอครับ ก็แอบแปลกใจว่าเพราะอะไร เพราะ ASUS ZenBook 14 ตัวที่ผมทดสอบ พอร์ต USB-C เป็น USB 3.1 Gen 2 ซึ่งตามสเปก สูงสุดมันควรจ่ายไฟได้ 20 โวลต์ 5 แอมป์เลย แต่เดาว่าของโน้ตบุ๊กตัวนี้ มันจ่ายไฟได้ไม่แรงขนาดนั้น

ไม่เป็นไร ลองเสียบ External SSD ตัวนึง กะ MicroSD card ไปพร้อมๆ กัน แล้วใช้ CrystalDiskMark 7.0.0 ทดสอบความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูล พบว่า รวมๆ กันแล้ว อ่านและเขียนแบบ Sequential ได้สูงสุดแถวๆ 520-540MB/s ซึ่งถือว่าเป็นปกติสำหรับแบนด์วิธ 5Gbps ของ USB 3.1 Gen 1 (หรือ USB 3.0 นั่นแหละ) ครับ

ผมลองใหม่ โดยเอาไปเสียบกะพอร์ต USB-C PD ของ Lenovo L380 Yoga แล้วในขณะเดียวกัน ก็เอาที่ชาร์จ USB-C 45W ของเจ้านี่ มาเสียบตรงพอร์ต USB-C PD ของ USB-C Hub ด้วยเลย ผลที่ได้คือ มันมีไฟแรงพอที่จะจ่ายให้ใช้งาน External SSD ได้สองตัวพร้อมกันแล้ว แต่แอบแปลกใจที่ความเร็วมันดันพุ่งพรวดไปที่ 600-760MB/s ซึ่งแอบเกิน USB 3.1 Gen 1 แต่ก็ช้ากว่า USB 3.1 Gen 2 พอสมควร ไม่รู้ว่ามันเพราะอะไร … แต่ก็เอาน่ะ ไฟแรงพอใช้ External SSD สองตัวพร้อมกันก็โอเคแล้วล่ะ สำหรับผม
ลองเอามาเสียบ USB-C PD เพื่อชาร์จโน้ตบุ๊กไปพร้อมๆ กับการใช้งาน External SSD ดู ตัว USB-C Hub ที่เป็นอลูมิเนียมนี่ผมกะว่ามันต้องร้อนแหงๆ แต่มันกลับไม่ได้ร้อนมากเท่าที่คิดแฮะ
บทสรุปการรีวิว
แอบรู้สึกว่าคุ้มอะ 420 บาท รวมค่าส่ง ไม่แพง ราคารับได้ ประสิทธิภาพก็ดีประมาณนึงเพียงพอต่อการใช้งาน ตัดสินใจซื้อเพิ่มอีกอันไว้ใช้เองเลย (อย่างที่บอก อันนี้ซื้อให้ภรรยา) ปรากฏว่า ราคาลงอีกจ้า 357 บาท ฟรีค่าส่ง อะไรกันเนี่ย แอบเคือง สามวันราคาตก ฮ่วย! แต่ถามว่าซื้อไหม? ก็ซื้อนะ ซื้อมาเอาราคาถูกมาถัว (ฮา)
ใครอยากซื้อแบบผม ก็คลิกลิงก์ด้านล่างเอาละกัน