อย่างที่ได้รู้กันว่าผมไปสนับสนุนโครงการกล้องแอนะล็อก Escura Instant 60s และได้รีวิวให้อ่านกันไปเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้มีคนไทยสนับสนุนอยู่หลายคนเลย เพราะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการเป็นคนไทยครับ เราสนับสนุนกันและกัน (ฮา) แล้วผมก็จัดเต็ม ซื้อฟิล์มมาลองถ่ายราวๆ 120 ใบ หมดไปราวๆ สองพันบาท ถ่ายไปแล้ว 100 ใบ บอกตรงๆ เล่นเอาหมดตัว (ฮา) แต่มันทำให้รู้สึกหวนกลับไปสู่วิถีของการถ่ายภาพแบบแอนะล็อกไม่น้อยเลย
Analog, Digital และ Computational photography
กล้องถ่ายภาพยุคแรกๆ เลย รวมถึง Escura Instant 60s ตัวนี้ มันคือแอนะล็อกล้วนๆ ครับ หลักการทำงานคือ ชัตเตอร์เปิดรับแสงเข้ามา แสงตกกระทบผ่านเลนส์ไปโดนฟิล์มออกมาเป็นภาพ ง่ายๆ แค่นี้เลย มันคือยุคของ Analog photography ในยุคนี้ การถ่ายภาพกว่าเราจะได้รู้ผล โน่น ต้องรอถ่ายจนฟิล์มหมดม้วนแล้วค่อยเอาไปร้านล้างฟิล์มและอัดภาพ ถ่ายเยอะๆ หมดตูดแน่ ไหนจะค่าฟิล์ม ไหนจะค่าล้างฟิล์มและอัดภาพ

ถัดมาคือยุคของ Digital photography กล้องยังคงมีเลนส์อยู่ แต่แทนที่เลนส์มันจะนำแสงไปตกกระทบที่ฟิล์ม มันกลับนำไปตกกระทบที่เซ็นเซอร์ภาพ ซึ่งจะทำการส่งข้อมูลรูปภาพเป็นแบบดิจิทัล 0 และ 1 ไปบันทุกลงในสื่อบันทึกข้อมูล การมาของ Digital photography ทำให้การถ่ายภาพเป็นกิจกรรมที่ใครก็สามารถทำได้มากขึ้น ถ่ายปุ๊บ ดูรูปได้เลย จะถ่ายเป็นร้อยเป็นพัน ถ่ายไป เปิดดูในคอมฯ ไม่ได้เสียตังค์เพิ่มอะไร

แค่ภาพถ่ายดิจิทัลในยุคแรกๆ นอกจากความละเอียดจะสู้ภาพแบบแอนะล็อกไม่ได้แล้ว ก็ยังคุณภาพของแสงและสีไม่แตกต่างจากกล้องแอนะล็อกมาก เพราะตอนนั้นไม่ว่าจะหน่วยประมวลผลหรือซอฟต์แวร์ของกล้อง มันยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าจะปรับสีปรับแสง ต้องดาวน์โหลดรูปมาลงบนคอมพิวเตอร์แล้วใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพช่วย
แต่ปัจจุบัน ด้วยการมาของสมาร์ทโฟน และกล้องดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เรามาถึงยุคของ Computational photography หรือ การถ่ายภาพด้วยวิธีการคำนวณแล้ว ซึ่งมันคือขั้นกว่าของ Digital photography ครับ เพราะเมื่อเราแปลงข้อมูลภาพเป็นดิจิทัลแล้ว หน่วยประมวลผลและซอฟต์แวร์ สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มความสวยงาม ความสมบูรณ์ หรือใส่เอฟเฟ็กต์ให้ภาพได้สบายๆ

ใครนึกไม่ออกว่า Computational photography มันเป็นยังไง ผมจะลองยกฟีเจอร์บนสมาร์ทโฟนบางตัวที่เป็น Computational photography ให้ดูนะ
- UltraHD photo ที่ทำการถ่ายภาพเดิมๆ รัวๆ หลายๆ ภาพ แล้วเอาข้อมูลของแต่ละภาพมาประมวลผล เพื่อให้ได้ภาพเดียวที่ความละเอียดสูงกว่าเดิมมากๆ แบบ กล้อง 13 ล้านพิกเซล สามารถถ่ายภาพความละเอียด 50 ล้านพิกเซลได้ อะไรแบบนี้
- ภาพ Portrait mode หรือที่บางคนเรียก โบเก้ (Bokeh) หรือ หน้าชัดหลังเบลอ ก็ตามแต่ ซึ่งใช้ข้อมูลที่ได้จากการถ่ายภาพสองมุม (จากเลนส์เดียว หรือ สองเลนส์ หรือมีเซ็นเซอร์วัดระยะลึกเข้ามาช่วย) แล้วนำมาประมวลผล เพื่อทำให้สามารถสร้างแบ็กกราวด์ของภาพที่เบลอๆ ได้
- AI Camera ทั้งหลาย ที่ช่วยปรับแต่งสีสันของภาพ หรือทำหน้าเนียนหน้าใสหน้าขาว อะไรพวกนี้
- Hybrid zoom ที่ใช้ข้อมูลจากเลนส์หลายๆ ระยะ ของสมาร์ทโฟน ในการสร้างการซูมภาพที่ต่อเนื่องไม่มีสะดุด
ทั้งหมดทั้งสิ้น และอีกหลายๆ ฟีเจอร์ที่เราได้เห็นกันบนสมาร์ทโฟนและกล้องดิจิทัลสมัยใหม่ ต่างก็เป็น Computational photography ทั้งสิ้น การถ่ายรูปให้สวยๆ นับวันยิ่งง่ายขึ้นเรื่อยๆ ขอแค่ให้มีความรู้ในการจัดองค์ประกอบให้ดี แล้วรู้จังหวะจะโคนของแสงบ้าง สมาร์ทโฟนช่วยให้คุณได้ภาพสวยๆ ได้ไม่ยากเลย

และถึงแม้ว่าภาพที่ถ่ายออกมาจะไม่สวยเท่าไหร่ สีหรือแสงไม่ค่อยเวิร์ก สมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น ก็มีฟีเจอร์ในการตกแต่งภาพให้สีสันออกมาดูดี แสงดูสว่างได้สบายๆ โดยไม่ต้องง้อคอมพิวเตอร์เลยด้วย แน่นอนว่าโอกาสที่ถ่ายภาพออกมาเสียก็ยังมีอยู่ แต่ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก
กล้องแอนะล็อก ช่วยสอนให้ตระหนักถึงความสำคัญของช่วงเวลา … คิดก่อนถ่าย
บอกตรงๆ จะให้ตัวผมเองกลับไปถ่ายรูปโดยใช้กล้องแอนะล็อกเป็นหลักคงจะไม่ไหวครับ คนมันเคยตัวกับกล้องดิจิทัลแล้ว นอกจากจะถ่ายได้ง่ายกว่าแล้ว ยังสามารถถ่ายทิ้งถ่ายขว้างได้เยอะมาก แต่ผมเองก็ยังมองเห็นประโยชน์ของการหยิบกล้องแอนะล็อกมาถ่ายบ้างเป็นครั้งคราวนะ และเป็นที่มาที่ผมก็ยังคิดว่าจะลงทุนกับค่าฟิล์ม Fujifilm Instanx Mini ที่แสนจะแพงอยู่ (กำลังเจรจากับแฟนว่าจะซื้อเดือนละกี่ใบดี)

แต่ก็เพราะความที่มันแพงแสนแพงนี่แหละ ทำให้เราถ่ายทิ้งถ่ายขว้างมากไม่ได้ (แต่สุดท้ายก็ยังถ่ายเหมือนถ่ายทิ้งถ่ายขว้างอยู่ดีนะ ถ้าเซ็ตกล้องไม่ถูกต้อง) การจะถ่ายภาพแต่ละที ต้องท่องจำไว้ ลืมถอดฝาปิดหน้ากล้องรึเปล่า ตั้งค่ากล้องถูกต้องหรือยัง ต้องพิจารณาแสงด้วยว่าเป็นยังไง นี่ถึงขั้นต้องดาวน์โหลดแอปจำพวก Light metering (มีให้เลือกเยอะ ทั้งบน iOS และ Android ทั้งแบบฟรีและเสียตังค์) มาช่วยวัดแสงด้วย ว่ารูรับแสงเท่านี้ ISO เท่านี้ (ฟิล์ม Fujifilm Instax Mini คือ ISO800 มันระบุไว้บนกล่อง) จะถ่ายรูปควรใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ มันโอเคไหม ถ้าจะเอากล้องตัวนี้ถ่าย อะไรแบบเนี้ย

นอกจากนี้ ด้วยความที่กล้อง Escura Instant 60s มันไม่มีหน้าจอแสดงผลว่าเฟรมของภาพมันเป็นยังไง มันต้องใช้ฝีมือ (และดวง) ในการกะระยะล้วนๆ นะครับ มันทำได้แค่เล็งว่าตรงกลางของภาพจะอยู่ประมาณไหน แต่ที่เหลือน่ะ ต้องกะจากสายตา (ระยะเลนส์มันประมาณระยะสายตา) คิดว่าโอเคแล้วก็แชะเลย รอ 90 วินาทีแล้วมาดูกันว่าเป็นยังไง (ฮา)
ตอนนี้อายุก็ผ่านหลักสี่มาปีนึงแล้ว ก็รู้สึกดีที่ได้มีงานอดิเรกเพิ่มมาอย่างนึง นั่นก็คือ ถ่ายภาพแอนะล็อกนั่นเองแหละ … ว่าแต่ ตอนนี้เหลือฟิล์มแค่ 20 กว่ารูป ได้เวลาหยอดกระปุกซื้อฟิล์มเพิ่มแล้วสินะ (แล้วจะซื้อคุ้มสุด ต้องซื้อทีละ 100 .ใบด้วยนี่สิ)