ก่อนหน้านี้ผมได้เขียนบล็อกแนะนำฟีเจอร์ HybridMount บน QNAP NAS ไปแล้ว ซึ่งผู้ใช้งานในระดับองค์กรดูจะได้ประโยชน์มากมายจากฟีเจอร์นี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง Clients ทุกตัวภายในองค์กรกับบริการ Cloud storage ทั้งหลาย แต่มันก็ยังมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรรู้ สำหรับองค์กรที่เป็นมือใหม่หัดใช้ QNAP NAS เพื่อที่จะได้ใช้ฟีเจอร์นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ ครับ
อันดับแรก เลือกองค์ประกอบของ QNAP NAS ให้เหมาะสม
วัตถุประสงค์หลักของฟีเจอร์ HybridMount คือการใช้ QNAP NAS ทำตัวเป็น Cloud file gateway เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงไฟล์บน Cloud storage เพราะ QNAP NAS จะทำการเก็บแคชของพวกไฟล์ที่เข้าถึงบ่อยๆ มาไว้บน QNAP NAS แทน ทำให้แทนที่ Client จะเข้าถึงไฟล์ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ต ก็จะเข้าถึงไฟล์ด้วยความเร็วของ LAN แทน ซึ่งเร็วกว่ากันมาก

แต่ก็เพราะแบบนี้แหละ การมี SSD Cache Accelerator จึงสำคัญด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีเครื่อง Client จำนวนมากต้องการเข้าถึงไฟล์ต่างๆ แคชที่เก็บไว้บน SSD จะทำให้การเข้าถึงไฟล์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่แบนด์วิธของ QNAP NAS มีสูง (เช่น ผ่านการทำ Port trunking หรือมีพอร์ต 10GbE)
โดยปกติแล้ว QNAP NAS ทุกรุ่น รองรับการใส่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว แบบ SATAIII ซึ่งก็เผอิญว่าเป็นขนาดและ Interface เดียวกันกับพวก SSD ด้วย แต่นั่นก็จะทำให้เราเสียถาดใส่ฮาร์ดดิสก์สำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์ปกติ ที่เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลทั่วๆ ไป ที่มีค่าใช้จ่ายต่อความจุต่ำกว่า ไปเช่นกัน
แต่ QNAP NAS บางรุ่นมีการออกแบบให้มีถาดใส่ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว เอาไว้สำหรับใส่ SSD โดยเฉพาะ (เช่น TS-932X) หรืออาจจะมีสล็อตสำหรับใส่ SSD แบบ M.2/NVMe (เช่น HS-453DX) หรือสามารถใส่การ์ด PCIe เพื่อเพิ่มสล็อต M.2/NVMe ได้ (เช่น TS-453Be) ก็จะช่วยให้เราสามารถใส่ SSD ได้ โดยไม่เสียสล็อตสำหรับใส่ฮาร์ดดิสก์ไป หรือกรณีที่องค์กรไหนไม่สะดวกใช้รุ่นไฮโซมากๆ อาจจะเลือกรุ่นที่ถาดใส่ฮาร์ดดิสก์มีซัก 6 ถาด (6-bay) ขึ้นไป ก็ได้ครับ เอา 4 ถาดมาทำ RAID5 อีกสองถาดก็ใส่ SSD เพื่อทำแคช แบบนี้ก็โอเค แล้วแต่จะออกแบบเนอะ
เมื่อมี SSD cache เพื่อให้แน่ใจว่า QNAP NAS สามารถให้บริการการเข้าถึงไฟล์ได้รวดเร็วแล้วแน่ๆ เรื่องถัดมาคือแบนด์วิธของตัวระบบเครือข่ายครับ เดี๋ยวนี้ Gigabit LAN เป็นเรื่องปกติแล้ว และเรียกได้ว่ายังเหลือๆ สำหรับผู้ใช้งานตามบ้าน แต่สำหรับผู้ใช้งานในองค์กรความเร็ว 1Gbps มันอาจจไม่พอ โดยเฉพาะถ้าจำนวนคนใช้งานมีเยอะ

- สำหรับธุรกิจระดับ SMEs การทำ Port trunking หรือ การรวมแบนด์วิธของพอร์ต LAN ทั้งหมดที่มีบน QNAP NAS หรือการทำ Service binding (กำหนดไปเลยว่าพอร์ต LAN อันไหนทำหน้าที่ให้บริการอะไร) อาจจะเพียงพอ QNAP NAS รุ่นสำหรับ SMB มักจะมีพอร์ต LAN มาให้ 4 พอร์ต นั่นหมายความว่าจะมีแบนด์วิธได้สูงสุด 4Gbps แต่การทำ Port trunking จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เน็ตเวิร์กที่รองรับมาตรฐานอย่าง 802.3ad ด้วย (QNAP มีจำหน่าย Unmanaged switch รุ่น QSW-804-4C และ QSW-1208-8C)
- สำหรับธุรกิจที่ระดับสูงขึ้นไป หรือแม้แต่ SMEs ที่มี Clients เยอะๆ อาจจะเลือกเพิ่มแบนด์วิธเป็น 10Gbps หรือมากกว่า เลย โดยเลือก QNAP NAS ที่มีพอร์ต 10GbE มาให้ในตัว หรือเอารุ่นที่รองรับ PCIe แล้วใส่การ์ดเพิ่มพอร์ต 10GbE ซึ่งถ้าเกิดมันรองรับ PCIe สองอัน ก็ใส่ได้ไปเลย 4 พอร์ต รวมแล้วได้แบนด์วิธสูงสุด 40Gbps ฉิวๆ
ถัดมาคือเลือก Cloud storage ที่เหมาะสม
พูดถึง Cloud storage แล้ว หลายคนอาจจะคุ้นๆ ชื่อ iCloud, Google Drive, OneDrive, Dropbox, Box.net อะไรพวกนี้ แต่จริงๆ แล้ว มันมีอีกเยอะมากมาย และ QNAP NAS ก็รองรับการเชื่อมต่อกับบริการ Cloud storage มากมายด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับผู้ใช้งานระดับองค์กร การเลือกใช้บริการ Cloud storage มันไม่ใช่แค่การเลือกยี่ห้อเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า บริการ Cloud storage ในท้องตลาด แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ File storage กับ Object storage ครับ

File storage เป็นบริการที่เราๆ ท่านๆ น่าจะคุ้นเคยดีสุด มันคือบริการที่ให้เราเก็บข้อมูลเอาไว้ในรูปแบบไฟล์ เก็บเอาไฟล์เอาไว้ในโฟลเดอร์ จัดระเบียบโฟลเดอร์ต่างๆ มีโฟลเดอร์ย่อยลงไปได้อีก อะไรพวกนี้ ไฟล์ที่เก็บบนบริการ File storage จะเข้าถึงผ่านแอปต่างๆ ได้ง่าย แต่มันมีข้อจำกัดคือ พอจำนวนไฟล์มันเยอะ ประสิทธิภาพการทำงานก็มักจะลดลง (คือ หาไฟล์ยากขึ้น เพราะต้องไปไล่หาชื่อไฟล์ที่ต้องการ ที่อยู่ในโฟลเดอร์ไหนก็ไม่รู้ อะไรพวกนี้)
บริการจำพวก File storage ที่เรารู้จักกันดีก็ Dropbox, OneDrive อะไรแบบนี้
Object storage จะเก็บข้อมูลในรูปแบบของโครงสร้างข้อมูล สามารถปรับแต่งข้อมูลจำพวก Metadata ได้ ส่งผลให้การค้นหาข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น (โดยอ้างอิงจากข้อมูลใน Metadata ซึ่งสามารถเก็บได้ยืดหยุ่นกว่า) ถูกต้องยิ่งขึ้น และพวก Object storage ยังสามารถต่อยอดเพิ่มฟีเจอร์ได้อีกมาก เช่น การทำ Version control การสร้าง Cluster เพื่อสำรองข้อมูลตลอดเวลา
บริการ Object storage ชื่อดังก็เช่น Microsoft Azure หรือ AWS S3 แต่พวกนี้แพงครับ สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการบริการแนวนี้ที่ประหยัดลงมาหน่อย ก็จะเลือกใช้ BackBlaze หรือ Wasabi เป็นต้น
แต่ไม่ว่าภาคธุรกิจของคุณจะตัดสินใจเลือก Cloud storage แบบไหนฟีเจอร์ HybridMount ของ QNAP NAS ก็แทบจะรองรับได้เกือบหมดแล้วละครับ (แต่ถ้าจะใช้จริงๆ ก็อยากแนะนำให้เช็กให้ดีๆ ก่อนนะ)
หมายเหตุ
บล็อกตอนนี้เรียบเรียงมาจากบทความ Read this before building your hybrid cloud storage: how to select a QNAP NAS and a cloud service ของ QNAP ฮะ แต่ผมมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของผู้ใช้งานในประเทศไทย และผู้ใช้งานระดับ SMEs มากขึ้น