ในขณะทีระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่เราคุ้นเคยกันนั้น การติดตั้งฟ้อนต์ลงไปมันง่ายมากๆ แค่ดับเบิ้ลคลิกไฟล์ฟ้อนต์ แค่นี้มันก็ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว หรือจะก็อปปี้ไฟล์ฟ้อนต์ลงไปในโฟลเดอร์ C:\Windows\Fonts เท่านั้นแหละ (แต่ต้องมีสิทธิเป็น Admin ของเครื่องนะ) ผมก็สงสัยว่า แล้วการติดตั้งฟ้อนต์บนระบบปฏิบัติการ Linux มันจะยากไหมนะ

พวกฟ้อนต์ต่างๆ บน Linux จะอยู่ในไดเร็กทอรี /usr/share/fonts แต่จะแตกต่างจากระบบปฏิบัติการ Windows ตรงที่ มันมีการแยกไดเร็กทอรีย่อยไปอีก ตามชนิดของฟ้อนต์ แต่ที่เราใช้กันบ่อยๆ ก็คือ True Type Font หรือนามสกุล TTF นั่นเอง
วิธีการติดตั้งฟ้อนต์ มันควรจะง่ายๆ แค่ก็อปปี้ไฟล์มาไว้ในไดเร็คทอรีพวกนี้แหละ เหมือนกับที่เราทำบน Windows นั่นแหละ แต่มันกลับยุ่งยากกว่าที่คิดเพราะเป็น Linux แล้วไอ้ไดเร็คทอรีนี้มันก็เป็นของ Root ฉะนั้น เราจึงหมดสิทธิ์ในการสร้างอะไรในนี้ หรือแม้แต่ก็อปปี้ไฟล์ฟ้อนต์มาไว้ในนี้เลย ยกเว้นเราจะใช้ Command line แล้วใช้คำสั่ง sudo เพื่อทำการสร้างไดเร็คทอรี หรือก็อปปี้ไฟล์
แต่เราก็มีวิธีง่ายๆ ในการติดตั้งฟ้อนต์อยู่นะ คือ เราต้องใช้ Font manager ที่เผอิญว่าดันไม่มีติดตั้งมาให้บน Ubuntu โดย Default (ไม่รู้ว่าทำไม) ที่เราต้องทำก็แค่เปิด Terminal ขึ้นมา แล้วพิมพ์คำสั่งนี้
sudo apt-get install font-manager
มันก็จะทำการติดตั้งแพ็กเก็จนี้ให้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย Font viewer เอาไว้ดูฟ้อนต์ที่ติดตั้งเอาไว้ และ Font manager เอาไว้บริหารจัดการฟ้อนต์ที่ติดตั้งเอาไว้ จะเพิ่มหรือจะลบออกก็ได้

ขั้นตอนการติดตั้งฟ้อนต์ก็ง่ายๆ เลย คลิกปุ่ม + ตรงที่อยู่ข้างๆ ปุ่ม Manage แล้วก็เลือกไปที่ไดเร็กทอรีที่เก็บไฟล์ฟ้อนต์เอาไว้อยู่ แล้วคลิกเลือกฟ้อนต์ทั้งหมดที่ต้องการติดตั้ง (เลือกหลายๆ อันพร้อมกันได้) แล้วคลิกปุ่ม Open จากนั้นก็รอ แค่นั้นเลย

จากนั้นฟ้อนต์ก็พร้อมใช้งาน แต่ถ้าเกิดเปิดโปรแกรมอะไรทิ้งเอาไว้อยู่ ปิดโปรแกรมก่อน แล้วเปิดใหม่ เพื่อที่จะได้เห็นรายชื่อของฟ้อนต์ที่เพิ่งติดตั้งเข้าไป แค่นี้ก็เรียบร้อย
แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะติดตั้งฟ้อนต์แค่ตัวเดียว แค่ดับเบิ้ลคลิกตัวฟ้อนต์แล้วก็คลิก Install ก็จบแล้ว