ผมรีวิว ASUS ZenBook Pro Duo ไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นโน้ตบุ๊กสองจอ สเปกดีงามมาก แต่แอบติดที่ราคาแพงพอตัวเลยทีเดียว งวดนี้เลยเอาอีกตัวมารีวิวให้ดู นั่นก็คือ ASUS ZenBook Duo ซึ่งสเปกลดลงมาประมาณนึง แต่ยังถือว่าสเปกดี และเราก็ยังได้จอคู่ ในขณะที่ราคามิตรภาพ คบหาได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเริ่มที่ 34,990 บาท สำหรับรุ่น Core i5 10210U Windows 10 Home และตัวท็อปราคา 44,990 บาท สำหรับรุ่น Core i7 10150U Windows 10 Pro
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
การรีวิวครั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก ASUS Thailand ให้ยืม ASUS ZenBook Duo มารีวิวครับ โดยได้ตัว Entry level ที่ราคา 34,990 บาทนั่นแหละมารีวิว ความเห็นทุกอย่างที่ปรากฏในรีวิวฉบับนี้ เป็นความเห็นของผมเองล้วนๆ
สิ่งที่เราจะได้มาในกล่อง ASUS ZenBook Duo ก็จะมี ตัวโน้ตบุ๊ก อะแดปเตอร์แบบ 65 วัตต์ (19V 3.42A … เว็บไซต์บอกว่าอะแดปเตอร์เป็น 19V 4.74A 90 วัตต์ แต่จริงๆ ที่เราจะได้คือ 65 วัตต์นะ) มีปากกา ASUS Pen แล้วก็เหมือนจะมีซองหนังสีขาวให้ด้วยนะ อ้างอิงจากทุกอย่างที่ผมเห็นในตัวเดโมที่ได้มารีวิว

ตัวโน้ตบุ๊ก ASUS ZenBook Duo นี่ เป็นขนาดหน้าจอ 14 นิ้ว ครับ มีหน้าจอหลักเป็น IPS LCD ขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล และหน้าจอ ScreenPad Plus ขนาด 12.6 นิ้ว ความละเอียด 1920×515 พิกเซล

หน้าจอแสดงผลของ ASUS ZenBook Duo ที่มีหน้าจอหลักและ ScreenPad Plus เนี่ย ถ้าเกิดเอามาใช้งานคู่กัน ก็จะคล้ายๆ กับว่าเรามีจอคอมพิวเตอร์ราวๆ 1 จอครึ่ง โดยตัว ScreenPad Plus เอามาเปิดโปรแกรมเป็นหน้าต่างเล็กๆ ได้ แล้วแยกเปิดเป็น ซ้าข-ขวา ได้ โดยจะมีสัดส่วนคล้ายๆ กับจอคอมพิวเตอร์แบบปกติ เพราะอัตราส่วนการแสดงผลของ ScreenPad Plus คือประมาณ 16:4.3 หรือพอแบ่งออกเป็นสองจอ ซ้าย-ขวา ก็จะได้อัตราส่วนการแสดงผลเกือบจะ 1:1 เลย ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้นะผมว่า
ผมสามารถใช้หน้าจอหลักทำงาน โดยใช้หน้าจอ ScreenPad Plus ในการเปิดโปรแกรมอย่าง Windows Explorer เพื่อไล่หาข้อมูล เปิดหน้าเว็บอีกหน้า หรือเปิด YouTube อะไรพวกเนี้ย ดูไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งตอนแรก ผมกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี เพราะความละเอียดหน้าจอของ ScreenPad Plus ของ ASUS ZenBook Duo มันต่ำกว่าของ ZenBook Pro Duo พอสมควร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปรากฏว่ามันก็โอเคครับ ไม่มีปัญหาใดๆ จริงๆ แล้ว การที่จอหลักและจอ ScreenPad Plus เป็น IPS LCD ทั้งคู่ มันทำให้สีสันมันสอดคล้องกว่าด้วยซ้ำ
ที่ผมแอบเสียดายคือ หน้าจอหลักของรุ่นนี้ เป็นจอธรรมดา ไม่ใช่จอสัมผัส ซึ่งบอกตรงว่า ถ้ามันเป็นจอสัมผัสด้วย จะดีกว่านี้ เพราะ ScreenPad Plus มันเป็นจอสัมผัสอยู่แล้ว มันทำให้แอบงงๆ เวลาใช้งาน เพราะจอชินกับการใช้นิ้วลากทำโน่นทำนี่บน ScreenPad Plus แล้ว แต่ดันทำแบบเดียวกันบนจอหลักไม่ได้นี่ มันหงุดหงิดนิดๆ
ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กขนาดจอใหญ่ และมีความหนาของตัวเครื่องประมาณนึง พวกพอร์ตต่างๆ ก็เลยครบเครื่องกว่าพวกที่เน้นบางเบา เจ้านี่มาพร้อมกับ…
- ช่องเสียบอะแดปเตอร์, พอร์ต HDMI, พอร์ต USB-A 3.1 Gen 2 และ USB-C 3.1 Gen 2 ที่ทางด้านซ้ายของตัวเครื่อง
- สล็อต MicroSD card, ช่องเสียบหูฟังและไมค์ 3.5 มม. และพอร์ต USB-A 3.1 Gen 1 ที่ทางด้านขวาของตัวเครื่อง
แอบเสียดายที่มันไม่มีพอร์ต Thunderbolt 3 มาให้ แต่มี USB-A กับ USB-C แบบ 3.1 Gen 2 ที่มีแบนด์วิธ 10Gbps ก็ถือว่าโอเคแล้วล่ะ แต่ก็แอบเสียดายที่พอร์ต USB-C มันไม่ได้รองรับ Power Delivery เลยใช้ชาร์จแบตเตอรี่ไม่ได้ จริงๆ แล้ว ผมว่า ASUS น่าจะให้ USB-C มันรองรับ PD เลยจะดีกว่ามาก เพราะอะแดปเตอร์ก็ 65 วัตต์นิ ไม่เหมือนกับ ASUS ZenBook Pro Duo ที่ผมเข้าใจได้ว่าคงจะใช้ PD ไม่ไหว

เช่นเดียวกับตัว ASUS ZenBook Pro Duo ตัว ScreenPad Plus นี่นอกเหนือจากจะสามารถทำหน้าที่เป็นหน้าจอที่สองได้แล้ว มันก็มีแอปพิเศษที่เราสามารถใช้ได้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน เช่น Number Key ที่ช่วยให้เรามีปุ่มตัวเลข ที่ปกติโน้ตบุ๊กทั่วไปไม่มีให้ใช้กัน แต่ในการใช้งานจริง ผมว่าประโยชน์ของ ScreenPad Plus จะอยู่ที่การใช้มันเป็นหน้าจอที่สองมากกว่า และเรายังสามารถสลับหน้าต่างโปรแกรมที่แสดงผลอยู่บนหน้าจอหลักกับ ScreenPad Plus ได้ และเราสามารถจัดกลุ่มโปรแกรมที่เราเปิดเอาไว้ เป็น Task Group ได้ ซึ่งดีงามมากสำหรับคนที่ต้องทำงานสลับหน้าต่างโปรแกรมที่ใช้งานบ่อยๆ

เช่นเดียวกับดีไซน์ของ ASUS ZenBook Pro Duo เมื่อเนื้อที่ส่วนนึงถูกเอาไปใช้กับ ScreenPad Plus ตัว TouchPad ก็เลยถูกย้ายมาอยู่ตรงด้านขวาของคีย์บอร์ดแทน และมันก็มีปุ่มพิเศษ 3 ปุ่มที่อยู่เหนือ TouchPad คือ (จากซ้ายไปขวา) ปุ่มสลับหน้าต่างโปรแกรมที่เปิดไว้บนจอหลักและจอ ScreenPad Plus, ปุ่มปิดการใช้งาน ScreenPad Plus และ ปุ่ม Power ของตัวเครื่อง
ผมแอบเสียดายตรงที่ ASUS ไม่ทำให้ TouchPad เป็น NumPad ในตัวได้ด้วย เหมือนรุ่น ZenBook Pro Duo ไม่งั้นมันจะมีประโยชน์มากกว่านี้อีก

ที่ผมไม่ชอบที่สุดของเจ้านี่คือ … ปุ่ม Shift ข้างขวาครับ ที่มีขนาดสั้นกว่าปกติ คือ ดูเหมือน ASUS จะพยายามให้ปุ่มลูกศรมันมีขนาดปกติ เลยต้องทำให้ปุ่ม Shift มีขนาดสั้นลง ทั้งๆ ที่อยากบอกว่า ทำขนาดปุ่มลูกศรให้เล็กๆ เตี้ยๆ ไปเหอะ แต่ขอ Shift ขนาดปกติ จะได้พิมพ์สะดวกๆ แล้วไม่พลาดบ่อยๆ คือ ASUS ZenBook Pro Duo มันมีขนาดจอ 15.6 นิ้ว มันเลยมีพื้นที่ใส่ปุ่มแบบใหญ่ๆ ได้ แต่จากพื้นที่ที่ผมเห็น ผมว่าต่อให้ ASUS ZenBook Duo มีขนาดจอ 14 นิ้ว มันก็ทำปุ่ม Shift ใหญ่ๆ แบบปกติได้ แค่ให้ปุ่มลูกศร ที่ใช้น้อยกว่าเยอะ มีขนาดเล็กลง

ASUS ZenBook Duo มีขนาดตัวเครื่องกะทัดรัด เพราะหน้าจอหลักใช้ดีไซน์แบบ NanoEdge ขอบจอบาง มีพื้นที่ของหน้าจอคิดเป็น 90% ของพื้นที่ แต่ตัวเครื่องแอบหนาหน่อย คือ เกือบๆ 2 เซ็นติเมตร แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้หนาเวอร์จนพกพาไปไหนไม่สะดวก น้ำหนักตัวเครื่อง 1.5 กิโลกรัม แม้ว่าจะถือว่าหนักพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หนักแบบแบกหลังแอ่นอะไร
ด้วยสเปกของเจ้านี่ แม้จะเป็นตัว Entry level แต่มันก็มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Intel Core i5 10th Gen หน่วยความจำ 16GB และ SSD ความจุ 512GB ที่ความเร็วในการอ่าน 1.6GB/s WiFi ก็รองรับ 802.11ax 2×2 เผื่อไปถึงมาตรฐาน Wi-Fi 6 แล้ว เอามาใช้ทำงานทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะงานเอกสาร งานกราฟิกประมาณนึงได้สบายๆ ตัดต่อวิดีโอเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำได้เช่นกัน

เอามาเล่นเกม เจ้านี่ก็มีการ์ดจอแยกเป็น GeForce MX250 ซึ่งมีคนบ่นว่ามันคือการเอา GeForce MX150 มาย้อมขายใหม่กัน ประสิทธิภาพไม่ได้เหนือกว่าเดิมแบบชัดเจนเท่าไหร่ และเผลอๆ ในบางที อาจจะด้อยกว่าด้วย อันนี้ผมไม่ได้ทดสอบ Benchmark มา แต่จากที่ผมลอง พบว่าเล่นเกมได้อยู่นะ เพียงแต่ถ้าอยากได้ Frame rate สูงๆ ก็ต้องปรับตั้งค่ากราฟิกกันหน่อย พยายามให้ความละเอียดซัก 720p อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเล่นเกมเก่าๆ นะ สบายเลยแหละ (เช่น Resident Evil Remake ที่ผมลองเล่น)
การมีสองหน้าจอก็มีข้อดีตรงที่ เล่นเกมไป เปิด Walkthrough ไปได้ด้วย แต่ถ้าใครอยากจะ Streaming เกมไปด้วย แล้วใช้ ScreenPad Plus ทำการควบคุมโปรแกรมจำพวก OBS ไปด้วยอะไรแบบนี้ ผมแนะนำว่าลงทุนใช้ ASUS ZenBook Pro Duo ไปเหอะ
อ้อ! ถ้าเปิดเกมแบบ Full screen ให้มันเต็มๆ จอหลัก เวลาเราเอาเมาส์มาคลิกตรง ScreenPad Plus หรือทัชตัวจอ ScreenPad Plus แล้ว หน้าต่างของเกมมันก็จะโดนย่อเข้า Taskbar ไปซะงั้น แอบเซ็ง

ผมใช้ ASUS ZenBook S UX391UA มีตัวสแกนลายนิ้วมือจนชิน มันอำนวยความสะดวกเวลาล็อกอินเข้าเครื่องได้มาก แต่บน ASUS ZenBook Duo UX481 ตัวนี้ มันมาพร้อมกับ 3D camera ซึ่งใช้งานกับ Windows Hello แล้ว มันจะสแกนใบหน้าของเราเพื่อล็อกอินเข้า Windows ได้ สะดวกเข้าไปอีก

ลำโพงของตัวเครื่อง เป็น harman kardon คุณภาพเสียงดีทีเดียว ลำโพงอยู่ตรงด้านล่างของตัวเครื่อง เสียงดังดีทีเดียว ไม่รู้สิ ผมว่าดังกว่า ASUS ZenBook Pro Duo อีกด้วยมั้ง … พอดีไม่ได้เอามาลองเทียบกัน เพราะว่าตอนได้เครื่อง ASUS ZenBook Duo นี่มา ก็แพ็กคืน ASUS ZenBook Pro Duo ไปแล้วอะ
แต่เช่นเคยนะ มันออกเสียงกลางกับเสียงสูงได้โอเค แต่เสียบย่านต่ำนี่แบนราบไปเลย
บทสรุปการรีวิว ASUS ZenBook Duo UX481
ผมชอบไอเดียของการมี ScreenPad Plus นะ มันช่วยเรื่อง Productivity ได้ดีทีเดียวเลย โดยเฉพาะคนที่ชอบทำงานสองหน้าจอพร้อมๆ กัน ASUS ZenBook Duo ตัวนี้มันคือ โน้ตบุ๊กที่พกไปเครื่องเดียว แต่เหมือนพกจอไปสองจอเลย ราคาก็เป็นมิตรมาก สเปกก็ดีงามมาก เอามาใช้งานได้หลากหลาย ในราคามิตรภาพจริงๆ แต่ที่ผมไม่ชอบก็คือปุ่ม Shift ด้านขวา ที่ทำมาซะสั้น เวลาจะพิมพ์รัวๆ ทีเนี่ย ต้องท่องไว้ในใจเสมอให้ระวัง ไม่งั้นจะกดผิด ไปกดลูกศรขึ้นแทน แล้วจะพิมพ์ผิดพิมพ์พลาดไปไกลเลยในบางที และการที่ต้องระวังตลอดเวลาเนี่ย ส่งผลให้การพิมพ์ของผมมันช้าไปไปแว้บนึงอะ