เป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมากแล้ว ว่า Huawei เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ยอดเยี่ยมแบรนด์นึงเลย เพื่อนๆ ของผมหลายคน ที่ไม่ใช่บล็อกเกอร์ ใช้สมาร์ทโฟน Huawei กัน ส่วนนึงเพราะราคาไม่แพงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งในสเปกใกล้เคียงกัน และกล้องถ่ายภาพที่คุณภาพดี แต่เพราะสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้ Huawei ต้องเผชิญกับมรสุม และ Huawei Mate 30 Pro นี่คือเรือธงที่เป็นเหยื่อรายแรกจากสงครามการค้านี้ และมีหลายคนให้ความสนใจว่า เมื่อไม่มี Google Play และ Google Mobile Services อื่นๆ มันจะยังใช้แล้วโอเคอยู่ไหม?
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
ผมได้รับความเอื้อเฟื้อจากทาง Huawei Thailand ให้ยืม Huawei Mate 30 Pro มาทดลองใช้งานเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ความเห็นทั้งหมดในรีวิวฉบับนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ Huawei Thailand ไม่ได้มีการแทรกแซงใดๆ
ดีไซน์ของ Huawei Mate 30 Pro: สวยเรียบหรู แต่ดูจะใช้ยากหน่อย

ดีไซน์ของ Huawei Mate 30 Pro คือ สมกับที่เป็นเรือธง หน้าจอ OLED แบบโค้งตรงขอบ ทำให้ความรู้สึกว่าหน้าจอแสดงผลมันกินเนื้อที่เต็มเครื่องดีมาก แต่ด้วยความที่กล้องหน้ามันมีเซ็นเซอร์ 32 ล้านพิกเซล f2.0 คู่กับ 3D TOF และตัวเครื่องก็แสนจะบางมาก เลยไม่ได้มีการซ่อนกล้องเป็นแบบป๊อบอัพเหมือนพวก OPPO, Vivo Xiaomi หรือแม้แต่ Huawei เอง ที่นิยมทำกันในตอนนี้ ก็เลยส่งผลให้หน้าจอยังมีติ่งให้เห็นอยู่ครับ แต่โดยส่วนตัว ผมก็ไม่ได้รู้สึกรำคาญอะไรนะ แบบว่า เจอจนชินแล้ว

ปกติผมจะไม่ชอบตัวเครื่องที่เป็นกระจกด้านหลัง หรือ ด้านหลังมันวาวมาก เพราะมันเลอะคราบลายนิ้วมือได้ง่าย แต่ Huawei Mate 30 Pro โดยเฉพาะตัวสีดำที่ผมได้มาลองใช้เนี่ย พยายามมองแล้ว ไม่ได้เลอะคราบลายนิ้วมือง่ายขนาดนั้น และแม้จะพยายามให้เลอะแล้ว ก็ไม่ได้มองเห็นง่ายขนาดนั้นเช่นกัน แอบรู้สึกดี
กล้องด้านหลัง 4 ตัว นูนจากด้านหลังของตัวเครื่องประมาณนึง ถ้าไม่ใส่เคส การจะวางบนพื้นโต๊ะ หรืออะไรนี่ แอบเสียวว่าจะเกิดรอยขีดข่วนที่ตัวกระจกของกล้องไหม แต่บอกตรงๆ ว่า จากที่ได้ลองใช้ (และด้วยความที่ไม่ใช่ของตัวเองด้วย… ฮา) เลยไม่ได้ใส่เคสครับ และบอกตรงๆ ว่าได้รับรู้ถึงความ “บาง” และ “เบา” ของมันอย่างเต็มที่จริงๆ ต้องยอมรับว่าสวยมาก

ผมแอบชอบการจัดวางเลนส์กล้องของ Huawei Mate 30 Pro ที่วางเลนส์ไว้บริเวณตรงกลางของด้านบนของตัวเครื่อง การจัดวางแฟลชและเซ็นเซอร์ มันทำให้เวลายกเจ้านี่ขึ้นมาถ่ายภาพแบบแนวนอน มันรู้สึกเหมือนกับว่าใช้กล้องดิจิทัลอยู่
สิ่งที่ขาดหายไปคือ ปุ่ม Volume ครับ ด้านข้างมันเหลือแค่ปุ่ม Power อย่างเดียว ทาง Huawei เขาตัดปุ่ม Volume ออกไปเฉย แล้วนำเสนอปุ่ม Volume แบบเสมือน ที่เรียกใช้งานได้ด้วยการแตะที่ขอบตัวเครื่องด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ เบาๆ สองทีติดกัน ผมแปลกใจมากว่าทำไมถึงเลือกที่จะตัดออก เพราะถ้าจะบอกว่าขอบจอโค้งทำให้ไม่มีพื้นที่วางปุ่ม แต่ปุ่ม Power มันก็ยังวางอยู่ได้ ฉะนั้นผมก็ยังมองว่าปุ่ม Volume ก็น่าจะเอามาวางไว้ด้านข้างได้เช่นกัน

การแตะขอบสองครั้งติดเพื่อเรียกใช้ปุ่ม Volume แบบเสมือน ไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายแบบสุดๆ แค่ต้องลองทำบ่อยๆ และจำไว้ว่า มันถูกออกแบบมาให้ใช้นิ้วโป้งเคาะมากกว่าครับ
ประสบการณ์การใช้งาน: ไม่มี Google Mobile Services แล้วเป็นยังไง?
บอกตรงๆ ว่า ไม่เจอกับตัวเอง อาจไม่รู้ตัวหรอกครับว่าการขาด Google Mobile Services แล้วมันเป็นยังไง เพราะเรา … อย่าเรียกว่าเคยชินเลย เรียกว่าเคยตัวแหละดีกว่า … เคยตัวกับการมี Google Mobile Services แล้วใช้มันบ่อยมากจนเราไม่รู้ตัว
สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ซิงก์พวกที่อยู่ติดต่อ (Contacts) ไปที่ Google Contacts พวกปฏิทินนัดหมายของพวกเราก็ด้วยเช่นกัน ไหนจะเรื่องดาวน์โหลดแอปต่างๆ อีก พอไม่มีอะไรพวกนี้แล้ว บอกเลยว่าสมาร์ทโฟนมันดูด้อยสมรรถภาพลงไปพอสมควรเลย

และจริงอยู่ครับที่ Huawei เองก็มาพร้อมกับบริการ Cloud services ต่างๆ ที่เข้ามาทดแทน Google Mobile Services ได้ แต่ปัญหาก็คือ เราไม่ได้ใช้บริการของพวก Google แค่บนสมาร์ทโฟนเท่านั้นน่ะสิ การที่ Huawei ไม่มี Google Mobile Services ก็เลยทำให้การเชื่อมต่อมันเหมือนถูกตัดขาด และคนที่จะรู้สึกได้เยอะกว่าเพื่อน คือคนที่ใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าหนึ่งเครื่อง หรือมีพวกแท็บเล็ตมาร่วมใช้ด้วย
แต่ก็เห็นมีหลายเว็บไซต์ที่แนะนำวิธีการติดตั้ง Google Mobiler Service นะครับ เหมือนวิดีโอ YouTube ด้านล่างนี่ แต่ขอย้ำไว้ว่า การติดตั้งอะไรแบบนี้ Do it at your own risk หรือ ต้องทำใจรับความเสี่ยงเอาไว้ด้วยนะครับ เพราะไฟล์พวกนี้อาจถูกปรับแต่งอะไรบ้างรึเปล่าเราก็ไม่รู้ และพวกวิธีการต่างๆ แบบนี้ บางวิธีมันก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการใช้สมาร์ทโฟนประมาณนึง
แต่ถึงจะไม่มี Google Mobile Services ก็เหอะ หลายๆ แอป ไม่ว่าจะเป็น โซเชียลมีเดีย หรือเกมต่างๆ เราก็ยังสามารถทำการติดตั้งได้ผ่านไฟล์ APK ขอเพียงแต่ว่าเราต้องมั่นใจว่าเราดาวน์โหลดมาจากแหล่งที่ไว้วางใจได้ (เช่นเคย Do it at your own risk)
ฉะนั้น สำหรับหลายๆ คนที่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องใช้บริการของ Google เต็มรูปแบบมาก ก็อาจจะเลือกดาวน์โหลดแอปเฉพาะที่ใช้งาน เช่น ผมอาจจะต้องมี Twitter, Facebook อะไรพวกนี้ ก็โหลดมาติดตั้งเอง ก็ยังได้อยู่ และถ้าใครจะช้อปออนไลน์ หรือต้องการใช้ Mobile banking พวกนี้เหมือน Huawei จะไปดีลกับนักพัฒนาเอาไว้แล้ว ก็เลยมีแอปให้ใช้อยู่ครับ

แอปของ Google เองบางตัว เช่น Google Maps ผมลองดาวน์โหลดมา ก็ใช้ได้นะครับ แค่ไม่สามารถ Sign in เข้าบัญชีของ Google เพื่อทำการซิงก์ข้อมูลแผนที่ที่เคยทำไว้มาได้ก็เท่านั้น แต่ถ้าจะเอาไว้ใช้นำทาง สบายอยู่ครับ (ถ้าจะให้ Sign in ได้ ต้องหาทางติดตั้ง Google Services)
สรุปก็คือ ถ้ามีความพยายามพอ เราจะสามารถหาวิธีลงแอปที่เราอยากใช้ได้ และเราก็จะมีวิธีเข้าถึงบริการของ Google ด้วยช่องทางอื่นได้
ผมก็ยังคงไม่ชอบหน้าจอสมาร์ทโฟนแบบขอบโค้งอยู่ดี
อันนี้ความไม่ชอบส่วนตัวเลย ไม่รู้มีใครคิดเหมือนผมอีกบ้าง แต่ผมไม่ชอบขอบจอโค้งครับ มันดูสวย แต่มันใช้งานไม่สะดวก อันดับแรกเลยคือการพิมพ์ จอโค้งมันทำให้เวลาเราพยายามพิมพ์เร็วๆ แล้ว พวกตัวอักษรที่อยู่ตรงตำแหน่งโค้งของจอเนี่ย มันมักจะพิมพ์ไม่ค่อยติด
และพอเราได้หน้าจอแสดงผลแบบเต็มหน้าจอแบบนี้ ผมก็ไม่ชอบพวกปุ่มเสมือน สำหรับ Home, Back และ Recent apps แบบเดิมๆ ผมชอบที่จะเซ็ตให้มันไปใช้ Gesture navigation มากกว่า แต่ Gesture สำหรับ Back คือ การปาดจากด้านข้างของหน้าจอเข้ามาที่ตรงกลางหน้าจอ บนจอโค้ง ทำได้ไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ก็เลยกลายมาเป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้ผมไม่ชอบหน้าจอสมาร์ทโฟนแบบขอบโค้ง
กล้องดิจิทัลแบบ 4 เลนส์: ภาพถ่ายยังทำได้ดี สมเป็น Huawei
Huawei Mate 30 Pro มาพร้อมกล้อง 4 เลนส์ เซ็นเซอร์ 4 แบบ คือ
- 40 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง (Wide) f1.6
- 8 ล้านพิกเซล เลนส์เทเลโฟโต้ f2.4
- 40 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้างเป็นพิเศษ (Ultrawide) f.18
- 3D TOF
ในโหมด Photo (ออโต้) ภาพถ่ายจะใช้ข้อมูลจากเลนส์ 40 ล้านพิกเซล มุมกว้าง และเลนส์ 40 ล้านพิกเซล มุมกว้างเป็นพิเศษ เป็นตัวหลัก การซูมนั้น จะเป็นแบบ Hybrid คือ เอาข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของเลนส์เทเลโฟโต้มาประมวลผล เพื่อสร้างการซูมแบบที่ต่อเนื่องขึ้นมา เพื่อไม่ให้มุมกล้องเปลี่ยนไป เพราะการเปลี่ยนสลับเลนส์ และทำให้เราเลือกซูมได้มากกว่า 3x ที่เป็นระยะซูมแบบ Optical โดยสูงสุดไปได้ถึง 30x (3x Optical กับ 10x Digital)


แต่ในโหมด Pro นั้น จะเลือกได้สองแบบคือ ถ้าถ่ายแบบปกติ ก็จะเหมือนโหมดออโต้ คือ สามารถปรับระยะซูมได้ตั้งแต่ 0.6x ไปจนถึง 30x แต่ถ้าเราจะถ่ายรูปแบบ RAW มันจะไม่ใช้วิธีการเอาข้อมูลมาประมวล ดังนั้น เราเลยเลือกได้แค่ 0.6x, 1x และ 3x เป๊ะๆ เลย ตามความสามารถของเซ็นเซอร์แต่ละตัว ซึ่งความเห็นส่วนตัวของผม ยังไงซะ ภาพที่ได้จากเลนส์โดยตรง มันก็คมชัดกว่าภาพที่ได้จากการประมวลผลอะ

แน่นอนว่า Huawei Mate 30 Pro ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ถ่ายภาพได้สวยอยู่ อันนี้ผมไม่เถียง กล้องหน้าความละเอียด 32 ล้านพิกเซล ถ่ายภาพเซลฟี่ได้ความละเอียดแบบเต็มๆ มีเซ็นเซอร์ 3D TOF เอาไว้ช่วยเรื่องตอนสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อก (ซึ่งทำงานได้เร็วดี) และทำภาพ Portrait หน้าชัดหลังเบลอด้วย แต่สำหรับคนที่ชอบ Beauty mode ผมว่า Huawei เดี๋ยวนี้สู้ OPPO ไม่ได้อะ ดูทิศทางแล้ว Huawei พยายามจะไปแข่งกับ Apple ในแง่ของการถ่ายภาพสมจริงมากกว่าการปรับแต่งภาพให้ถ่ายภาพบุคคลออกมาสวยๆ เหมือนพวก OPPO และ Vivo ครับ ซึ่งสำหรับผม ผมไม่ติดปัญหาอะไร แต่สาวๆ นี่สิ อาจไม่ชอบ (ฮา)
ดูจากสเปกของ Huawei Mate 30 Pro แล้ว ตัวเซ็นเซอร์กล้องความละเอียด 40 ล้านพิกเซล สำหรับเลนส์ Wide และ Ultrawide และ 8 ล้านพิกเซลสำหรับเลนส์ Telephoto แต่ทว่า หากต้องการใช้โหมดซูม เราจะไม่สามารถถ่ายภาพ 40 ล้านพิกเซลได้ เพราะซอฟต์แวร์ต้องการความละเอียดสูงๆ เอาไว้เป็นข้อมูลในการปรับภาพ ผลก็คือ ภาพถ่ายในความละเอียดที่เป็น Recommend หรือ คำแนะนำของซอฟต์แวร์ของ Huawei คือ 10 ล้านพิกเซลครับ ซึ่งแอบน้อยกว่าพวกคู่แข่ง ที่มักจะถ่ายกันที่ 12 ล้านพิกเซล (กรณีสัดส่วนภาพ 4:3) หรือ 8 ล้านพิกเซล (กรณีภาพ Ultrawide) แต่ในแง่ของการใช้งาน 8-10 ล้านพิกเซลนี่เหลือๆ แล้วครับ (TV UHD 4K ความละเอียดก็ 8 ล้านพิกเซลนะ)
แต่ปัญหาใหญ่จริงๆ ของ Huawei Mate 30 Pro คือ คู่แข่งที่ก็มีความสามารถในการถ่ายภาพได้สวยสูสีกัน (ความสวยเป็นเรื่องที่ Subjective มาก แล้วแต่คนจะมองเลยครับ) ราคาก็ไม่ทิ้งกันมาก และที่สำคัญคือ คู่แข่งเขามี Google Mobile Services กันครบนี่แหละ ซึ่งผมมองว่า สิ่งที่ Huawei Mate 30 Pro เหนือกว่า ไม่ว่าจะเรื่องดีไซน์ เรื่องคุณภาพของภาพที่ถ่ายได้ มันไม่ได้ดีกว่าคู่แข่งแบบทิ้งห่างชนิดที่ว่าชดเชยการขาดหายไปของ Google Mobile Services ได้เลย บอกตรงๆ ว่า แอบเสียดายสมาร์ทโฟนดีๆ แบบนี้จริงๆ และก็ได้แต่หวังว่า เมื่อสงครามการค้าสงบลงมาแล้ว Huawei จะได้กลับมาใช้ Google Mobile Services ต่ออีกนะ
อย่างไรก็ดี Huawei ในประเทศจีนนั้นไม่น่าห่วง เพราะคนจีนไม่ได้พึ่งพาบริการ Google Mobile Services เป็นหลักอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ยอดขายของ Huawei Mate 30 Pro จะถล่มทลายในประเทศจีน เพราะคนจีนช่วยกันสนับสนุนเพื่อสู้กับสงครามการค้าครับ
บทสรุปการรีวิว Huawei Mate 30 Pro
มองในแง่ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่ Huawei เตรียมมาให้ Huawei Mate 30 Pro ถือว่าคุ้มราคาค่าตัว 28,990 บาท และจริงๆ ต้องถือว่าเป็นเรือธงที่ราคาโอเคทีเดียวเลยแหละ นี่ยังไม่นับของแถมที่จะได้ตอนซื้อ หรือพวกแพ็กเกจจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีก แต่ปัญหาเพียงหนึ่งเดียวที่สำคัญคือ การที่ไม่ได้มี Google Mobile Service แนบมาให้นี่แหละ ซึ่งแม้ว่าจะมีวิธีการที่จะแก้ไข(บางอย่าง)เพื่อให้เราลงแอปที่อยากได้ และไม่มีใน AppGallery ของ Huawei ได้ มันก็อยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงครับ
แต่ถ้าใครยังสนใจ และอยากได้อยู่ดี ลิงก์ด้านล่าง คือ Official Store บน Lazada ที่ตอนนี้ผ่อน 0% 10 เดือนได้ และได้ของแถมเป็นหูฟังไร้สายกับเคสด้วย และเช่นเคย ซื้อจากลิงก์นี้ คือการสนับสนุนบล็อกของผมไปในตัว เพราะผมจะได้ค่าขนมนิดหน่อย อิอิ