โดยส่วนตัว ผมมีเครื่องสูบลมรถยนต์ ซึ่งเอามาใช้สูบลมรถจักรยานหรือจักรยานยนต์ได้ไม่มีปัญหา แต่ขัอจำกัดสำคัญของมันก็คือ ต้องเสียบปลั๊ก และปลั๊กที่ว่ามันคือปลั๊กไฟรถยนต์ฮะ ซึ่งมันไม่สะดวกอย่างแรง และแม้ว่าจะหาซื้อตัวแปลงไฟบ้านมาเป็นปลั๊กไฟรถยนต์ มันก็ใช้งานไม่สะดวกเท่าไหร่ เพราะจุดที่จะสูบลมล้อรถยนต์หรือรถจักรยาน มันไม่ได้มีปลั๊กไฟอยู่แถวนั้นอ่ะ ก็เลยหันมามอง Xiaomi Mi Portable Electric Air Compressor เครื่องสูบลมพกพา ขนาดกะทัดรัด ตัวนี้นี่แหละ แอบเล็งมานาน เพราะขนาดเล็กมาก และมีแบตเตอรี่ในตัว เวลาจะใช้งานไม่ต้องไปง้อปลั๊กที่ไหน และเมื่อซื้อมาแล้ว ก็ถือโอกาสรีวิวให้ได้อ่านกันครับ
ออกตัวล้อฟรีก่อน…
Xiaomi Mi Portable Electric Air Compressor ที่รีวิวให้ได้อ่านกันในบล็อกตอนนี้ ซื้อเอง ใช้เอง ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อสนับสนุนจากใครทั้งสิ้น ความเห็นใดๆ ที่ปรากฏในบล็อกตอนนี้ เป็นความเห็นของผมเองล้วนๆ
ใครสนใจอยากซื้อ มีลิงก์วาร์ปไปซื้อจาก Xiaomi Official Store ด้านล่าง ผมจะได้ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมาสมทบทุนซื้อ Gadget มารีวิวฮะ
มีอะไรให้บ้างในกล่อง Xiaomi Mi Portable Electric Air Compressor?
ภายในกล่องประกอบไปด้วยตัว Xiaomi Mi Portable Electric Air Compressor มีขนาดประมาณพาวเวอร์แบงก์ใหญ่ๆ ตัวนึง แล้วก็มีคู่มือการใช้งานหนาๆ เล่มนึง ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้หนาหรอก ที่มันหนาเพราะมันรองรับหลายภาษามากกว่า กับใบรับประกัน (Warranty notice) นอกจากนี้ก็มีถุงผ้าสำหรับใส่ตัวที่สูบลม และภายในถุงผ้ามันมีช่องเก็บของพิเศษ ที่เอาไว้สำหรับใส่สายชาร์จ Micro USB เส้นสั้นๆ กับหัวแปลมที่สูบลมเอาไว้สำหรับสูบลูกบอลครับ

ในคู่มือมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ วิธีการดูว่ายางรถหรือลูกบอลต้องสูบลมประมาณเท่าไหร่ และในกรณีที่เราหาไม่เจอว่ามันควรจะเป็นเท่าไหร่ มันก็มีตารางที่บอกตัวเลขคร่าวๆ ไว้ให้แล้วว่า อะไรควรสูบลมประมาณเท่าไหร่
การใช้งาน Xiaomi Mi Portable Electric Air Compressor

เจ้านี่ไม่มีปุ่มเปิดปิดครับ แค่ดึงสายสูบลมออกจากตัวเครื่อง (ฝั่งที่มีพลาสติกสีแดงอยู่รอบๆ) ออกมา มันก็จะเปิดเครื่องพร้อมใช้งานทันที ถือว่าเป็นการออกแบบที่ใช้งานง่ายมา

ปุ่มบนตัวเครื่องมี 5 ปุ่ม ดีไซน์คล้ายๆ ปุ่มบนเครื่อง iPod เลย แต่ละปุ่มทำหน้าที่แบบนี้ครับ
- ปุ่ม + และ – ที่อยู่ด้านบนและด้านล่าง เอาไว้ปรับตัวเลขแรงดันลมที่ต้องการ
- ปุ่มรูปพระอาทิตย์ที่อยู่ด้านซ้าย เอาไว้เปิด-ปิดไฟ LED ที่เอาไว้ส่องสว่าง เผื่อเวลาที่จะสูบลมตอนค่ำๆ มืดๆ

- ปุ่มลูกศรสองอันวิ่งเป็นวงกลม ที่อยู่ทางขวามือ เอาไว้สำหรับเปลี่ยนโหมดการสูบลม ซึ่งมี 5 โหมด คือ
- โหมดตั้งค่าเอง ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 3-150psi (เทียบเท่า 0.2-10.3 bar)
- โหมดสูบลมจักรยาน ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 30-65psi โดยมีค่าเริ่มต้นตั้งไว้ที่ 45psi
- โหมดสูบลมรถจักรยานยนต์ ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 1.8-3.0 bar โดยมีค่าเริ่มต้นตั้งไว้ที่ 2.4 bar
- โหมดสูบลมรถยนต์ ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 1.8-3.5 bar โดยมีค่าเริ่มต้นตั้งไว้ที่ 2.5 bar
- โหมดสูบลมลูกบอล ตั้งค่าได้ตั้งแต่ 4-16 psi โดยมีค่าเริ่มต้นตั้งไว้ที่ 8 psi
- ปุ่ม Start/Stop เอาไว้เริ่มหรือหยุดการสูบลม

ด้านล่างของตัวเครื่องเนี่ย มีไฟ LED เอาไว้แสดงสถานะของแบตเตอรี่ ไฟสีขาวแสดงว่ามีแบตเตอรี่มากกว่า 50% แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นสีส้ม แสดงว่าแบตเตอรี่จะอยู่ระหว่าง 20% – 50% และหากขึ้นเป็นสีแดง แสดงว่าแบตเตอรี่เหลือไม่ถึง 20% ควรชาร์จแบตเตอรี่ได้แล้ว พอร์ตชาร์จก็มีฝาปิดมิดชิด อยู่ใกล้ๆ กับไฟ LED บอกสถานะแบตเตอรี่นั่นแหละ แบตเตอรี่มีความจุ 2,000mAh ถ้าจะชาร์จแบตเตอรี่ ให้ใช้ Wall charger ที่จ่ายไฟ 5V และไม่เกิน 2A นะครับ
ในการนำไปใช้สูบลม ถ้าไม่นับเรื่องสูบลมลูกบอลนะ เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มันหันมาใช้วาล์วแบบชราเดอร์ (Schrader valve) กันเป็นมาตรฐานแล้ว ฉะนั้น เราจึงใช้เจ้านี่ได้ทันที โดยไม่ต้องไปหาอุปกรณ์มาต่อเปลี่ยนหัวอะไรเลย

ผมลองเอามาสูบลมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter MAX ดูก่อน เวลาสูบลม ก็จะมีเสียงดังประมาณนึงให้หมาแมวสะดุ้งได้ฮะ ใช้เวลาสูบประมาณ 40 วินาทีต่อหนึ่งล้อ สูบสองล้อได้สบายๆ ไม่มีปัญหาอะไร

ถัดมา ลองเอามาสูบลมล้อรถยนต์บ้างครับ ที่ผมลองคือมิตซูบิชิ มิราจ ตั้งค่าสูบลมไว้ที่ 35psi ตามที่ปกติใช้งาน ตอนเสียบที่สูบลมเข้าไปพบว่า ลมยางเหลือ 30psi ครับ ตัวเครื่องสูบลม Xiaomi Mi Portable Air Compressor ใช้เวลาราวๆ 40 วินาทีในการสูบลมจาก 30psi ไปที่ 35psi สามารถสูบลมได้ 4 ล้อสบายๆ โดยที่แบตเตอรี่ก็ยังมีอยู่เหลือเฟือเลย
ตัว Xiaomi Mi Portable Air Compressor ออกแบบมาดีมาก จับถนัดมือ และมีรูระบายความร้อนด้านข้างเต็มไปหมด แต่เราก็ยังสามารถจับถือเจ้านี่ระหว่างที่สูบลมได้สบายๆ อยู่ และผมก็ขอแนะนำให้ถือมันเอาไว้เวลาที่สูบลมครับ เพราะตอนสูบมันสั่นๆ ถ้าวางไว้บนพื้น เดี๋ยวมันจะไปครูดจนตัวเครื่องเป็นรอย เสียดายอ่ะ (ฮา)
บทสรุปการรีวิว Xiaomi Mi Portable Air Compressor
จากการที่มันใช้เวลานานพอสมควรในการสูบลมจาก 30psi ไปเป็น 35psi ถ้าเกิดเราต้องใช้สูบลมล้อรถยนต์ที่แบนสนิทเลยเนี่ย ผมว่ารอนานเอาเรื่อง นานกว่าเครื่องสูบลมแบบที่ใช้ไฟรถยนต์มาก และผมไม่คิดว่าเจ้านี่มันเหมาะกับการพกพาไปเพื่อใช้สูบลมกรณีฉุกเฉินซักเท่าไหร่ ถ้าจะสูบลมรถยนต์กรณีฉุกเฉิน ผมว่าซื้อที่สูบลมแบบใช้ไฟรถยนต์ไปเลยดีกว่าครับ แต่เจ้านี่เหมาะมากสำหรับการพกไว้ใช้เติมลมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รถจักรยาน หรือแม้แต่รถยนต์ คือดีงามมาก
ถ้าจะถามผมว่า ผมไม่ชอบอะไรเกี่ยวกับเจ้านี่ ก็คงจะเป็นตรงที่มันใช้พอร์ต Micro USB ในการชาร์จแบตเตอรี่นั่นแหละ โดยส่วนตัวผมมองว่ามันควรจะเปลี่ยนมาเป็น USB-C ได้แล้ว