แอป HBS 3 เป็นแอปแบบ One-stop service สำหรับโซลูชันเพื่อการสำรองข้อมูลของ QNAP NAS ซึ่งผมได้แนะนำไปให้รู้จักในตอนที่แล้ว และในตอนนี้ผมจะสอนวิธีใช้แบบคร่าวๆ ให้ได้อ่านกันนะครับ ที่บอกว่าคร่าวๆ ก็เพราะว่า การเซ็ตค่าสำหรับบริการที่แตกต่างกัน มันมีขั้นตอนแตกต่างกันออกไปน่ะ แต่ผมจะพูดถึงในภาพกว้างๆ ให้รู้ขั้นตอนคร่าวๆ กันครับ
ทำความเข้าใจเรื่องของ Backup กับ Sync ก่อน

HBS 3 รองรับรูปแบบการสำรองข้อมูลหลักๆ สองแบบ คือ Backup และ Sync ซึ่งความแตกต่างก็คือ Backup มันคือการสำรองข้อมูลที่แท้ทรูครับ เป็นการสร้างสำเนาของข้อมูลที่เรามี ไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจจะเป็น External HDD หรือ NAS อีกตัว หรือแม้แต่ Cloud storage ดังนั้น แม้เราจะลบข้อมูลต้นฉบับออก เราก็ยังคงเหลือข้อมูลในฝั่ง Backup อยู่ ส่วน Sync นั้น มันเป็นแค่การสร้างข้อมูลขึ้นอีกชุดไปยังจุดหมายปลายทาง แล้วทำให้แน่ใจว่าข้อมูลทั้งสองที่มันเหมือนกันเป๊ะๆ โดยจุดหมายปลายทางจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เหมือนการ Backup นั่นแหละ แต่ความแตกต่างคือ ในกรณีของ Sync นั้น หากเราลบไฟล์ต้นฉบับออก ไฟล์เดียวกันที่อีกฝั่งก็จะโดนลบออกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ การ Sync ข้อมูล มีอีกสามรูปแบบ คือ One-way, Two-way และ Active ครับ ความแตกต่างก็คือ
● One-way sync จะทำการซิงก์ข้อมูลจากต้นทาง (จุด A) ไปยังปลายทาง (จุด B) เพียงทางเดียว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ฝั่ง B จะไม่ถูกซิงก์กลับมาที่ฝั่ง A
● Two-way sync จะทำการซิงก์ข้อมูลทั้งสองทาง คือ จากต้นทาง (จุด A) ไปยังปลายทาง (จุด B) และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ฝั่ง B ก็จะถูกซิงก์กลับมาที่ฝั่ง A ด้วยเช่นกัน
● Active sync จะตรงกันข้ามกับ One-way sync คือ มันจะซิงก์ข้อมูลจากปลายทาง (จุด B) มายังต้นทาง (จุด A)
ทำการแบ็กอัพด้วย HBS 3
ก่อนอื่น ถ้าไม่มีแอป HBS 3 อยู่ใน QNAP NAS ของคุณ ก็ดาวน์โหลดมาจาก AppCenter ก่อนนะครับ จากนั้นเปิดแอปขึ้นมา แล้วไปที่ Backup & Restore แล้วก็จะเห็นสองปุ่ม คือ Backup now กับ Restore now แน่นอนว่าถ้าจะทำการ Backup ก็ต้องคลิกที่ Backup now สิ

การสร้าง Backup ถูกเรียกว่าเป็น Job ครับ ใน HBS 3 นี่ออกแบบ User Interface มาให้เข้าใจขั้นตอนการสร้าง Backup job ได้ง่ายๆ เลย โดยเริ่มจากกำหนดต้นทาง (Source folder) ว่าจะแบ็กอัพข้อมูลจากไหน เลือกได้หลายๆ โฟลเดอร์พร้อมๆ กันด้วยนะ เมื่อเลือกเรียบร้อยแล้ว ก็ Next เลย

ขั้นตอนถัดมาคือการเลือกจุดหมายปลายทาง ซึ่งมีตัวเลือกเยอะครับ ทั้ง NAS (ที่อยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน หรืออยู่นอกสถานที่ ต้องเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต) และ Cloud storage ต่างๆ ซึ่งรองรับพวกบริหารใหญ่ๆ ดังๆ เพียบ

เมื่อเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการสร้าง Storage space ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าบริการที่เราเลือกเป็นอะไร ก็จะต้องยืนยันตัวตนด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป เพื่อสร้างการเชื่อมต่อ API ระหว่าง HBS 3 กับบริการนั้นๆ
เลือกเสร็จแล้ว ก็เลือกโฟลเดอร์ปลายทาง และยืนยันการตั้งค่าโฟลเดอร์ต้นทางและปลายทางให้เรียบร้อย จากนั้นคลิก Select เพื่อยืนยัน
ถัดมาคือการตั้งกำหนดเวลาในการเริ่ม Backup job ซึ่งเลือกได้สามแบบ คือ
● Scheduler ซึ่งให้เราสร้างกำหนดการได้สูงสุด 30 กำหนดการ โดยแต่ละกำหนดการ สามารถตั้งเป็น
○ One-time รันครั้งเดียวแล้วจบกัน
○ Periodic รันเป็นประจำเมื่อถึงเวลาที่กำหนด โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะเว้นระยะเวลาระหว่างแต่ละ Job ไว้นานแค่ไหน เอาไว้ตั้งเวลาแบบ แบ็กอัพทุกๆ 1 ชั่วโมง และเว้นระยะเวลาระหว่างการแบ็กอัพแต่ละครั้งไว้ 3 ชั่วโมง อะไรแบบนี้
○ Daily กำหนดไปเลยว่าให้ทำการแบ็กอัพทุกวัน โดยแบ็กอัพเมื่อถึงเวลาที่กำหนด
○ Weekly กำหนดไปเลยว่าอยากจะแบ็กอัพทุกๆ วันอะไรของสัปดาห์ และจะแบ็กอัพตอนกี่โมง
○ Monthly กำหนดไปเลยว่าจะแบ็กอัพทุกๆ วันที่เท่าไหร่ของเดือน และจะแบ็กอัพตอนกี่โมง
● Run once after เอาไว้กำหนดให้ Backup job นี้เริ่มทำงาน เมื่อ Backup job อีกอันที่เราเลือกเอาไว้รันเสร็จสิ้น
● No schedule คือ ไม่กำหนดเวลาในการรัน สร้างขึ้นมาเพื่อใช้รันแบบ Manual แบ็กอัพเมื่อต้องการ

นอกจากนี้ เรายังสามารถเลือกทำ Versioning ได้ด้วย Version Management ครับ ซึ่ง Versioning คือ การสร้างแบ็กอัพเอาไว้เป็นชุด เพื่อใช้เรียกคืนได้ในภายหลัง จะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะกับพวกไฟล์เอกสารออฟฟิศ (Word, Excel, PowerPoint) ที่มักจะมีการอัพเดตบ่อยๆ มันจะช่วยให้เรามีตัวเลือกในการเรียกคืนข้อมูลได้ เช่น อยากเรียกคืนข้อมูลที่แบ็กอัพไว้เมื่อวาน หรือ เมื่อสองวันก่อน เป็นต้น
เราสามารถเลือกได้ว่าจะเก็บไว้กี่เวอร์ชัน หรือ เก็บไว้กี่วัน หรือเลือกใช้ฟีเจอร์ Smart versioning ของ QNAP NAS ที่เราจะมีตัวเลือกว่าจะเก็บเวอร์ชันไว้กี่ชั่วโมง กี่วัน กี่สัปดาห์ กี่เดือน

และสุดท้าย ก็คือการกำหนด Rules สำหรับการแบ็กอัพ ซึ่งมีดังนี้ครับ
● Method จะกำหนดฟิลเตอร์ (ตัวกรอง) ได้ คือ เอาไว้กรองไฟล์ที่อยากแบ็กอัพ ว่าต้องมีขนาดไฟล์ขั้นต่ำเท่าไหร่ หรือใหญ่ไม่เกินเท่าไหร่ ไฟล์ถูกสร้างมาช่วงไหน เป็นไฟล์ประเภทไหนบ้าง อะไรแบบนี้ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกบีบอัดข้อมูลที่แบ็กอัพได้ และเปิดใช้ฟีเจอร์ QuDedup เพื่อใช้ลดขนาดของไฟล์แบ็กอัพได้อีก (แต่จะมีผลทำให้ไม่สามารถกลับมาเปลี่ยนการตั้งค่าของ Version management ได้)
● Policies กำหนดนโยบายของการแบ็กอัพ เช่น ทำการเข้ารหัสข้อมูลไฟล์ก่อนที่จะแบ็กอัพ กำหนดแบนด์วิธที่จะใช้ในการแบ็กอัพ กำหนดว่าจะลบไฟล์ต้นฉบับทิ้งเมื่อแบ็กอัพเสร็จแล้ว เป็นต้น
● Options เอาไว้ตั้งค่าของ HBS 3 เกี่ยวกับเรื่องการเก็บ Log file และจะให้ HBS 3 ทำยังไงในกรณีที่ Backup job เกิด Error หรือ Failed
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว มันก็จะเข้าสู่หน้า Summary ถ้าไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงอีก ก็จบ เรียบร้อย จากนั้นก็เหลือแค่รัน Backup job นี้แบบ Manual หรือ ตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ตอนตั้งค่านั่นแหละครับ