ด้วยความบังเอิญว่ามิตรรักแฟนทวิตเตอร์ของผมท่านนึงเป็นคนวงใน เขาเลยมาชวนผมไปทดลองนั่งรถเมล์ไฟฟ้า BYD K9 จากค่าย Loxley ที่จะนำมาเริ่มให้บริการ โดยเห็นว่าจะเริ่มจากสาย 149 พุทธมณฑลสายสอง – เอกมัย เลยขอเขียนเล่าประสบการณ์ และมาเม้าท์มอยกันหน่อยว่ารถเมล์ไฟฟ้านี่มันจะเวิร์กไหมถ้าเอามาใช้ในกรุงเทพฯ เพราะเท่าๆ ที่ได้ลองสอบถามดู มันยังอาจมีหลายๆ อย่างที่ติดขัดอยู่น่ะ

แน่นอนว่าในฐานะของคนที่เริ่มหันมาใช้ยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าอย่างสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า Ninebot Kickscooter MAX (และถ้าเกิดว่ารถยนต์ไฟฟ้ามันราคาถูกกว่านี้ และตอบโจทย์การใช้งาน ผมก็คงหันไปใช้ด้วยเช่นกัน) และบอกตรงๆ ด้วยเหตุที่ว่าผมได้พบได้เห็นรถเมล์บนท้องถนนพ่นควันดำอยู่บ่อยครั้งมาก (ซึ่งผู้เกี่ยวข้องภาครัฐก็มาตรวจสอบแล้ว ก็บอกว่าไม่พบ … อะนะ)

หลังจากที่ประเทศไทยเราตื่นตัวเรื่อง PM2.5 ไปเมื่อปีก่อน และก็มีคาดการณ์กันว่ามันจะกลับมาอีกครั้งเร็วๆ นี้ ถ้าเราคิดจะป้องกันในระยะยาวละก็ การลดมลพิษจากระบบขนส่งนี่ก็เป็นวิธีนึงที่สำคัญล่ะครับ โดยเฉพาะไอ้พวกที่มาจากรถเมล์รุ่นเก่าๆ ทั้งหลาย
ประสบการณ์การนั่งในฐานะผู้โดยสาร
บอกตรงๆ ว่าตอนที่รู้ว่าจะมีการนำรถเมล์ไฟฟ้า BYD รุ่น K9 ที่ทางบริษัท Loxley พยายามเอาเข้ามาจำหน่ายเมื่อหลายปีก่อน มาใช้กับรถเมล์สาย 149 นี่บอกตรงๆ ว่าแอบดีใจ และคาดหวังว่ารถเมล์สายอื่นๆ ทั้งของเอกชน และของ ขสมก จะหันมาพิจารณากันมากขึ้น


ในฐานะผู้โดยสาร รถเมล์ไฟฟ้าคราวนี้ มีทางขึ้นลงสองทาง ด้านหน้าและตรงกลางรถ เหมือนๆ กับรถเมล์รุ่นอื่นๆ ละนะ มีที่นั่งแบบสองฟาก แต่ละฟากก็นั่งได้แถวละ 2 ที่นั่ง รวมๆ แล้ว เห็นว่ามีที่นั่ง 35 ที่นั่งครับ ข้อสังเกตคือ พื้นที่ตรงกลางค่อนข้างแคบ ไม่เหมาะกับการยืน และมีพื้นที่บางส่วนถูกกันออกมาเป็นเหมือนกับพื้นที่วางกระเป๋า
มีราวจับ และมือจับสีเหลืองแขวนอยู่ตรงราวจับ เสมือนหนึ่งว่าผู้โดยสารก็ยังสามารถโหนรถเมล์ได้อยู่ แต่ด้วยพื้นที่จำกัด บอกเลยว่าไม่เหมาะแน่นอน แต่ที่เขายังมีราวจับให้เนี่ย ผมว่าเพราะต้องการให้ผู้โดยสารได้จับยึดเวลาที่ต้องเดินภายในรถระหว่างที่รถเมล์ยังเคลื่อนที่อยู่ เช่น ตอนที่จะเดินไปที่ประตู เมื่อกดออดว่าจะลงป้ายหน้า อะไรแบบนี้

ด้านหน้ารถเมล์มีป้าย LED สำหรับแสดงข้อมูล ส่วนครึ่งหลัง สามารถเห็นข้อมูลได้จากจอ LCD TV ขนาดกะด้วยสายตาแล้วน่าจะ 22-24 นิ้ว โดยประมาณ ซึ่งเอาไว้ใช้ประโยชน์ในการแสดงข้อมูลป้ายรถเมล์ได้ว่ากำลังจะถึงป้ายไหน แล้วก็ระหว่างทางก็สามารถแสดงพวกโฆษณาต่างๆ ได้ เป็นการหารายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการได้

เบาะนั่งใช้วัสดุหุ้มเบาะที่ค่อนข้างดีทีเดียว ไม่ใช่ผ้า น่าจะเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย พวกรถโดยสารสาธารณะ มีโอกาสที่เบาะจะเลอะเทอะได้ การที่ไม่ใช้เบาะผ้า มันจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นอะนะ เบาะมันไม่แข็งมาก และก็ไม่นุ่มนิ่มเกินไป

แต่ระยะห่างระหว่างที่นั่งแคบไปนิด ถ้าใครคิดจะพกสกู๊ตเตอร์มาขึ้นรถเมล์ จะอึดอัดหน่อยครับ เวลาเอามานั่งด้วย และอย่างที่บอก พื้นที่ภายในรถค่อนข้างแคบแล้วถ้าเกิดจะให้ผู้โดยสารยืนโหนรถเมล์ มันไม่เหมาะกับการเอาสกู๊ตเตอร์ขึ้นมายืนโหนด้วยอย่างแน่นอน
ความเป็นไปได้ของการนำมาให้บริการในกรุงเทพ
รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน กับรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ความแตกต่างกันคือ ระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงเพื่อให้รถสามารถวิ่งต่ได้ครับ น้ำมันนี่เติมไม่กี่นาทีเต็มถัง พร้อมลุยต่อ แต่ไฟฟ้านี่ใช้เวลาชาร์จนานเอาเรื่องนะครับ (ยกเว้นจะมีระบบ Fast charge หรือ Quick charge)

ในส่วนของรถเมล์ไฟฟ้า BYD K9 นี่ ตามสเปกที่ผมได้มา แบตเตอรี่ความจุ 324 กิโลวัตต์ชั่วโมง มันใช้เวลาในการชาร์จราวๆ 5 ชั่วโมง (ใช้ระบบไฟฟ้า 3 เฟส กระแสสลับ กำลังไฟ 60 กิโลวัตต์) การชาร์จเต็มครั้งนึง ตามสเปกจะสามารถวิ่งได้ราวๆ 250 กิโลเมตรหรือไกลกว่านั้น และจากที่ผมได้พูดคุยกับคุณศุกรศิษฏ์ หริตวร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส แผนกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ฝ่ายพาวเวอร์ออโต้โมบิล ของ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เขาบอกว่าสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 350 กิโลเมตรเลยทีเดียว
หันกลับมามองการใช้งานจริงบ้าง รถเมล์ในกรุงเทพ มีทั้งแบบที่วิ่งไม่ไกลมาก และวิ่งโคตรไกลเลย เช่น สาย ปอ. 68 นี่วิ่งจากมหาชัยมาถึงบางลำภู ระยะทางเกือบๆ 50 กิโลเมตร แต่ยังไงๆ ซะ ผมว่ารถเมล์คันนึง วิ่งเที่ยวนึง (ไป-กลับอู่) ก็มีระยะซัก 50-100 กิโลเมตรแหงๆ และโดยเฉลี่ยแล้ว รถเมล์คันนึง ในวันนึงจะวิ่งได้ราวๆ 3-4 เที่ยว โดยประมาณ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ วิ่งเป็นระยะทางราวๆ 150-400 กิโลเมตรเลย
นั่นหมายความว่า ถ้าจะนำรถเมล์ไฟฟ้ามาใช้ ต้องวางแผนเรื่องการวิ่งให้ดี เพราะเราไม่สามารถวางใจให้มันวิ่งยิงยาวจนแบตเตอรี่ใกล้จะหมดสุดๆ ได้แน่นอน เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยมากที่ส่งผลต่อการใช้งานพลังงานไฟฟ้า เช่น พฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ การขับขี่ที่กระโชกโฮกฮาก รถที่ติดหนัก แอร์ที่ทำงานหนัก พวกนี้กินแบตเตอรี่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าวางแผนมาได้ดี ก็ย่อมสามารถทำได้ด้วยสเปกของรถเมล์ไฟฟ้า BYD K9 คันนี้

อย่างไรก็ดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถเมล์ไฟฟ้านี่ลงทุนค่อนข้างสูงครับ รถเมล์ไฟฟ้านี่คันนึงราวๆ 10 ล้านบาท ถ้าเอามาวิ่งด้วยค่าโดยสารแบบทั่วๆ ไป ตอบไม่ถูกเหมือนกันว่ากี่ปีจะคืนทุนได้ การที่จะให้เอกชนเข้ามาใช้ก็คงหนีไม่พ้นการรื้อฟื้นแนวคิด รถเมล์เกรดพรีเมียมอย่างพวกไมโครบัส หรือที่เรียกกันว่า ปอ.พ. (ปรับอากาศพิเศษ) แบบสมัยก่อน ที่เป็นรถนั่งอย่างเดียว แล้วเก็บค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสาย ซึ่งถือว่าแพงเอาเรื่อง เมื่อราวๆ 20 ปีก่อน

หลายๆ คนบ่นเรื่องการให้บริการของรถเมล์ในกรุงเทพ และแน่นอนว่ามีหลายคนที่บ่นเรื่องราคาค่าโดยสาร โดยเฉพาะตอนที่เพิ่งขึ้นราคากันหมาดๆ แต่ผมมองว่าส่วนนึงเป็นเพราะราคาที่เพิ่มขึ้น มันไม่ได้มีบริการที่ดีขึ้นเลย สภาพรถก็ยังเก่าเก็บอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นการมาของรถเมล์ไฟฟ้าใหม่เอี่ยม ถ้ามีการซ่อมบำรุงที่ดี มีการให้บริการที่ดี รถเมล์ไฟฟ้ามีการติด GPS ทุกคัน สามารถเชื่อมโยงกับแอปอย่าง VIABUS เพื่อให้สามารถแจ้งได้ว่ารถเมล์ตอนนี้อยู่ที่ไหน ห่างจากป้ายที่เรารออยู่ มีจำนวนรถเมล์ให้บริการที่มากพอ และเราไม่ต้องยืนโหนฝ่าการจราจรที่แสนสาหัส มันก็น่าจะทำให้ประสบการณ์ในการใช้บริการที่ดีขึ้นได้ ก็น่าจะยังมีผู้โดยสารที่พร้อมจะเปย์เงินค่าโดยสารที่แพงขึ้นอีกหน่อยล่ะนะ ในยุคที่เราดื่มชานมไข่มุกแก้วละ 40-100 บาท กาแฟก็ราคาเริ่มต้นที่ 90 บาท ก็ยังมีคนพร้อมดื่ม ถ้าของมันพรีเมียมพอ อะไรแบบเนี้ย
เป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีสาย 149 มาลองให้บริการ และผมเชื่อว่าถ้าสายนี้สามารถบริหารจัดการได้ดี และสามารถทำกำไรได้ ก็น่าจะมีอีกหลายคนที่สนใจ และทยอยมาเริ่มให้บริการด้วย และจะให้ดีที่สุดนะ ขสมก ก็ควรจะมาใช้บ้างครับ